xs
xsm
sm
md
lg

Oliver Twist : ฝันร้ายในวัยเยาว์ของโปลันสกี

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


โรมัน โปลันสกี มาเยือนเมืองไทยเมื่อเดือนที่แล้วในเทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับการมาเปิดตัว Oliver Twist งานใหม่ของเขา โดยทางเทศกาลก็ได้นำหนังเรื่องเก่าๆ ของเขามาฉายให้คอหนังได้ดูกันด้วย

น่าเสียดายที่วาระพิเศษนั้นถูกจัดขึ้นอย่างเงียบเชียบไม่เอิกเกริก อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าหากเป็นเทศกาลอื่น ผู้กำกับระดับโปลันสกีมาเยือน คงเป็นข่าวฮือฮามากกว่านี้ และน่าจะส่งผลให้นักดูหนังรุ่นใหม่ๆ ได้รู้จักกับงานคลาสสิกชั้นยอดของเขาบ้างไม่มากก็น้อย

โปลันสกีไม่ค่อยไปออกงานที่ไหน เขาค่อนข้างเก็บตัวเหมือนคนที่บาดเจ็บและต้องการพักฟื้นอยู่เงียบๆ ช่วงทศวรรษที่ 70 เป็นเวลาที่หนักหนาสำหรับเขา ถึงแม้เขาจะประสบความสำเร็จอย่างสูงกับ Rosemary’s Baby (1968) และ Chinatown (1974) แต่มันก็แลกด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว ชารอน เทต ภรรยาสาวแสนสวยของเขาถูกชาร์ลส์ แมนสัน ฆาตกรโรคจิตฆ่าขณะที่เทตกำลังตั้งท้องอ่อนๆ

เหตุการณ์ในครั้งนั้นแทบทำให้โปลันสกีเสียศูนย์ เขาทุ่มเทความรักทั้งหมดให้กับเทต และเมื่อมันหายไปอย่างกะทันหัน ชีวิตก็เหมือนว่างเปล่าไม่รู้จะเดินไปทางไหน หลังจากนั้นอีกราว 5 - 6 ปี เขาถูกแจ้งจับข้อหาข่มขืน ซาแมนธา ไกเมอร์ นางแบบสาวอายุ 13 ปี

โปลันสกีตัดสินใจออกจากโปแลนด์มาทำหนังในอเมริกาตอนปี 1968 ด้วยความหวังอันสดใส แล้วก็ต้องหนีออกจากประเทศแห่งนี้ หลังจากมีคดีความกับไกเมอร์ เขายืนกรานว่าไม่ได้บังคับขืนใจเธอ แต่ถึงอย่างนั้น ไกเมอร์ก็ยังเป็นผู้เยาว์เกินกว่าที่ศาลจะให้อภัยได้

สิ่งที่ถาโถมเข้าหาไม่ต่างจากมรสุมลูกใหญ่ที่กวาดทุกอย่างให้ราบเป็นหน้ากลอง แต่ชีวิตของโปลันสกีเคยเจออะไรที่สาหัสกว่านั้น ตอนเป็นเด็กเขาและครอบครัวถูกเกณฑ์เข้าค่ายกักกัน ด้วยความที่ตัวเล็กที่สุดในบ้าน เขาจึงต้องทำหน้าที่ลอดรั้วข้ามไปหาขนมปังจากนอกชุมชนชาวยิว เพื่อมาจุนเจือแม่และพี่น้อง หลังจากทุกคนถูกฆ่าตาย โปลันสกีก็มีฐานะไม่ต่างจากเด็กกำพร้าข้างถนน ที่ดิ้นรนหาทางเอาชีวิตรอดไปวันๆ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ครั้งหนึ่ง เขาเคยถูกพวกทหารนาซีใช้เป็นเป้ายิงปืน เขาลนลานหนีเอาตัวรอด ในขณะที่พวกนั้นส่งเสียงหัวร่อสนุกสนานที่เล็งไม่โดนเป้าเสียที

การเผชิญหน้ากับความตายและความโหดร้ายจากวัยเด็ก สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในหนังทุกเรื่องของเขา งานของโปลันสกีมักพูดถึงอำนาจที่มองไม่เห็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือคนที่ไร้ทางสู้ ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ นอกจากบทสรุปจะไม่ได้บอกว่าอำนาจนั้นเกิดจากอะไรแล้ว หลายครั้งอำนาจที่ว่านั่นก็เป็นสิ่งที่เข้าไปแก้ไขอะไรไม่ได้ด้วย

Oliver Twist คงเป็นหนึ่งในงานที่ดูเป็น “ส่วนตัว” มากที่สุดของเขา ไม่ใช่เพราะเหตุผลที่เขาบอกว่า อยากทำหนังเกี่ยวกับเด็กให้ลูกๆ ได้ดูเพียงแค่นั้น แต่หลายสิ่งที่หนูน้อยโอลิเวอร์ ทวิสต์ได้พบเจอนั้น ก็พ้องกันกับเรื่องจริงที่เขาเองก็เคยประสบมาเหมือนกัน

คนที่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้ของชาร์ลส์ ดิกเก้นส์ น่าจะพอทราบเป็นเลาๆ ว่า ถึงแม้มันจะมีตัวละครเอกเป็นเด็กน้อย แต่องค์ประกอบส่วนใหญ่ ไม่เหมาะกับเด็กเอาเสียเลย ผู้ใหญ่เกือบ 9 ใน 10 คนที่โอลิเวอร์ได้เจอ ไม่เคยมอบความเมตตาให้กับเขาอย่างจริงจังหรือเที่ยงแท้ ตรงข้าม พวกเขาคอยแต่จะรังเกียจ ข่มเหง และหาประโยชน์ โดยไม่รู้สึกสำนึกและละอายใจ

หนังเริ่มต้นเล่าเรื่องในตอนที่โอลิเวอร์ (บาร์นีย์ คลาร์ก) ถูกนำตัวจากบ้านเด็กกำพร้ามาอยู่ในโรงเรียนซอมซ่อแห่งหนึ่ง ที่หน้าฉากบอกว่าจะสอนหนังสือให้ความรู้แก่เด็ก ทั้งที่จริงแล้ว มันไม่ต่างจากโรงงานที่รีดเอาแรงงานจากเด็กๆ พวกนี้อย่างไม่เป็นธรรม

หลังจากถูกคาดโทษฐานที่ขออาหารเพิ่ม โอลิเวอร์ถูกขายให้กับร้านทำศพแห่งหนึ่งด้วยราคาเพียง 5 ปอนด์ แต่เขาก็อยู่ที่นั่นได้แค่ระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็ระหกระเหินไปลอนดอน หนังไม่ได้ให้เหตุผลที่แน่ชัดว่า โอลิเวอร์ไปลอนดอนทำไม แต่คนดูก็เข้าใจได้โดยปริยายว่า ไม่ว่าเด็กที่ไหนก็ต้องการหนีคนใจร้ายพวกนั้นให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ทั้งนั้น

ที่ลอนดอนก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไหร่ โปลันสกีได้ทำในสิ่งที่ดิกเก้นส์บอกเล่าไว้ในหนังสือ คือซอกหลืบของลอนดอนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ผู้คนกักขฬะ ทะเลาะต่อยตีกันอยู่ตลอดเวลา คนส่วนใหญ่เห็นแก่ตัว ไม่คิดจะสนใจใคร จะสนใจก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งประสบกับความชิบหายเท่านั้น

ที่นี่โอลิเวอร์ได้พบกับด็อดเจอร์ (แฮร์รี อีเดน) นักล้วงวัยกระเตาะที่เป็นลูกน้องของฟากิน (เบน คิงส์ลีย์) ชายชราหน้าตาน่าเกลียดที่คอยเสี้ยมสอนให้เด็กกำพร้าลักเล็กขโมยน้อย ธุรกิจของฟากินทำเป็นขบวนการ และเด็กใหม่อย่างโอลิเวอร์ก็เป็นเหมือนเพชรเม็ดงามที่ฟากินอยากจะเจียระไนให้มาเป็นลูกน้องในสังกัดของตัวเอง

น่าแปลกใจอยู่เล็กน้อยที่โปลันสกีมองตัวละครอย่างฟากิน ด้วยความเป็นธรรมกว่าที่ดิกเก้นส์เขียนไว้ในหนังสือ เขาไม่ได้ดูเป็นตัวร้ายจัดๆ แต่โปลันสกีชี้ให้เห็นว่า ฟากินเป็นชายแก่ที่น่าสงสารเพราะอยู่กับความโลภมาทั้งชีวิต จนคิดอะไรอย่างอื่นไม่เป็น เขาไม่ใช่คนที่ควรถูกพิพากษา หลายฉากจึงเป็นการแสดงความเป็นมนุษย์ของฟากินออกมาว่า ความจริงแล้วชายชราก็เอ็นดูโอลิเวอร์ไม่น้อย หนำซ้ำยังคอยดูแลเขาอย่างดี

โอลิเวอร์ ทวิสต์ถูกจู่โจมจากเคราะห์ร้ายตลอดเวลา จะมีช่วงที่ผ่อนคลายบ้างคือช่วงท้ายที่เด็กน้อยมาอยู่ในความดูแลของมิสเตอร์บราวโลว์แล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นช่วงสั้นๆ อยู่ดี

หนังให้โอลิเวอร์ได้เห็นความตายจะๆ ตาหนึ่งหน คือตอนที่บิล ไซค์ส (เจมี ฟอร์แมน) โจรใจหยาบถูกแขวนคอเพราะความสะเพร่าของตนเองระหว่างหนีตำรวจ ครั้งที่สองนั้นเป็นความตายที่ไม่ได้เห็นกับตาจริงๆ แต่ก็เจ็บปวดพอๆ กัน คือตอนที่เด็กน้อยเห็นเจ้าหน้าที่กำลังเตรียมเครื่องประหารอยู่ที่ลานกลางแจ้งเพื่อสำเร็จโทษฟากิน ต่อจากนี้โอลิเวอร์อาจได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีก็จริง ทว่าเรื่องร้ายๆ เหล่านั้นจะฝังใจเขาไปตลอดชีวิต

เป็นไปได้อย่างสูงว่า เหตุผลที่โปลันสกีบอกกับนักข่าวว่าเขาอยากทำหนังเด็กๆ ให้ลูกดู (อย่างเรื่องนี้นั้น) เป็นการบอกลูกๆ ทางอ้อมถึงสิ่งที่เขาเคยประสบ แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วอาจไม่ตรงตามนั้น แต่จิตใจอันเปราะบางของโอลิเวอร์ก็เกิดรอยร้าวไม่ต่างไปจากตัวเขา

ผมชอบ Oliver Twist ฉบับของโปลันสกี เพราะสุดท้ายแล้วหนังก็เจ็บปวดมากกว่าจะก่อให้เกิดความรู้สึกที่สุขสันต์ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็พยายามเลี่ยงไม่นำเสนอความรุนแรงตามอย่างที่ดิกเก้นส์ได้บรรยายไว้ในหนังสือก็ตามที

ดูแล้วก็นึกถึงงานเก่าของเขา ปี 1979 เรื่อง Tess (ดัดแปลงจากนิยายของโธมัส ฮาร์ดี) คือถึงแม้หนังจะจบลงพร้อมกับการสิ้นสุดของวิบากกรรม แต่บรรยากาศก็ช่างหดหู่และว่างเปล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น