xs
xsm
sm
md
lg

Wallace & Gromit in The Curse of the Were-Rabbit แอนิเมชั่นชั้นดีจากอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


อังกฤษถือเป็นประเทศมหาอำนาจก็จริง ทว่าในแต่ละปี เราก็ได้ดูหนังจากชาตินี้ในโรงภาพยนตร์น้อยมาก ยิ่งถ้ามันไม่ได้รับการจัดจำหน่ายจากสตูดิโอใหญ่ๆ ในฮอลลีวูด โอกาสก็มีสิทธิ์เป็นศูนย์

ถึงจะพูดภาษาอังกฤษไม่ต่างจากฝั่งอเมริกา แต่ลักษณะของหนังอังกฤษก็น่าจะอยู่ในหมวดหมู่ของหนังยุโรปมากกว่า กล่าวคือ หนังไม่เร้าอารมณ์เท่าฮอลลีวูด การเล่าเรื่องราบเรียบ มุขตลกส่วนใหญ่เป็นเสียดสี - ที่ถ้าไม่มีประสบการณ์ร่วมกันจริงๆ ก็จะไม่รู้สึกตามไปด้วย คนอังกฤษเป็นพวกวางมาด งานเลยไม่แมสและเข้าถึงคนทุกกลุ่มเท่าที่มันควรจะเป็น

ถ้าพูดถึงงานแอนิเมชั่นจากอังกฤษ ก็ต้องบอกว่า “ลืมไปได้เลย” คนไทยเรารู้จักงานอะนิเมะจากญี่ปุ่นและฮอลลีวูดมากกว่า นอกเหนือจากเหตุผลที่ว่ามันดูง่ายกว่าแล้ว ปริมาณการผลิตที่ส่งสู่สายตาผู้ชมอย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยสำคัญ

แอนิเมชั่นจากอังกฤษผลิตออกมาน้อย ทั้งๆ ที่ในสหราชอาณาจักรนั้นตัวมันเองก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีคนทำแอนิเมชั่นฝีมือฉกาจมากมาย คนที่เคยได้ชมผลงานอันแสนมืดหม่นของฟิล มัลลอย คงมีความรู้สึกเหมือนกันว่า ด้วยคุณภาพงานในระดับนี้ เขาควรเป็นที่รู้จักมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่เขาก็ยังโนเนมอยู่ดีในหมู่นักเสพงานแอนิเมชั่น

คนทำหนังแอนิเมชั่นอีกกลุ่มหนึ่งที่โด่งดังแต่เฉพาะในบ้านของตัวเอง คือ อาร์ดแมน สตูดิโอ (Aardman) สำหรับแฟนๆ เมื่อเทียบความสามารถแล้ว คนกลุ่มนี้ควรได้รับการเชิดชูเท่าๆ กับดิสนีย์, พิกซาร์ หรือจิบลินั่นเลย

อาร์ดแมนทำงานแต่ในอังกฤษ ส่วนมากแล้วเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดสั้น ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีบ้าง หรือรับผลิตหนังโฆษณาให้สินค้าต่างๆ บ้าง นำโดยหัวหอก 2 คน คือ ปีเตอร์ ลอร์ด และ เดวิด สพร็อกซ์ตัน

แต่อาร์ดแมนก็มาดังจริงๆ กับงานของเด็กใหม่คนหนึ่งในบริษัทที่ชื่อ นิก พาร์ก ซึ่งเริ่มมาฝึกงานที่นี่ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ พาร์กมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับงานเกินร้อย ไม่ค่อยกังวลเรื่องค่าจ้างมากไปกว่าการได้ทำงานในสิ่งที่ตนหลงใหล

เขาชื่นชอบการทำสต็อป-โมชั่น แบบเคลย์-แอนิเมชั่น มันยุ่งยากกว่าการ์ตูนเคลื่อนไหวปกติตรงที่ มันเป็น 3 มิติ วิธีการทำคือต้องสร้างโมเดลหุ่นขึ้นมา (ด้วยดินน้ำมัน) แล้วใช้กล้องถ่ายทีละเฟรม พร้อมๆ กับต้องควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นให้สอดคล้องกับจังหวะของการถ่ายภาพ

ด้วยหลักการภาพติดตา เมื่อนำฟิล์ม (ซึ่งถ่ายทีละเฟรมๆ) มาฉาย จะเห็นว่าโมเดลเหล่านั้นเคลื่อนไหวด้วยตนเอง นั่นหมายความว่า ทุกอิริยาบทที่เราเห็นในหนังแบบสต็อป-โมชั่นนั้น ผ่านมือของคนทำมาแล้วทุกรายละเอียด งานสต็อป-โมชั่นมีกระบวนการยุ่งยาก และแทบจะถูกกลืนหายไปกับกระแสเทคโนโลยีดิจิตอลแล้ว

นิก พาร์ก สร้างตัวละครนักประดิษฐ์สติเฟื่องที่ชื่อ วอลเลซ กับเจ้าสุนัขแสนรู้ กรอมิต ขึ้นครั้งแรกในปี 1989 (อันที่จริงต้องบอกว่าก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ เพราะเขาใช้เวลาทำอยู่ราว 6 ปี) ในหนังสั้นเรื่อง A Grand Day Out with Wallace and Gromit และได้เข้าชิงภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

วอลเลซกับกรอมิตปรากฏตัวอีกหลายครั้ง แต่ก็ในฐานะภาพยนตร์สั้นเท่านั้น จนกระทั่งอาร์ดแมนได้รับข้อเสนอจากดรีมเวิร์กส์ สตูดิโอของสตีเวน สปีลเบิร์ก ให้มาทำแอนิเมชั่นขนาดยาว และ Chicken Run ก็ประสบความสำเร็จอย่างดี สองคู่หูจึงมีโอกาสขึ้นจอใหญ่และด้วยความยาวที่มากกว่าครึ่งชั่วโมงอย่างแต่ก่อน

Wallace & Gromit in The Curse of the Were-Rabbit ยังคงเสน่ห์แบบที่เคยมีในหนังสั้นไว้ครบทุกอย่าง วอลเลซ เป็นนักประดิษฐ์ที่เก่งกาจแต่เชื่องช้า มีไอเดียดีๆ มากมาย แต่ก็นำมาบูรณาการไม่ค่อยเป็น ช่างจ้อและขี้ตื่น พูดง่ายๆ ว่าเป็นแหล่งรวมนิสัยน่ารำคาญๆ ไว้หลายเรื่อง แต่คนดูก็อดรักในข้อเสียนั้นไม่ได้

กรอมิตนั้นมีนิสัยตรงข้ามกับเจ้านายทุกอย่าง มันนิ่งเฉย แต่ก็เป็นสหายผู้รอบคอบ มีสติ จะพูดว่าฉลาดกว่าก็ได้ แต่มันก็ดูเจียมเนื้อเจียมตัว ปล่อยให้เจ้านายออกโรงเป็นพระเอกมากกว่าจะขโมยความเด่นมาเป็นของตน

สถานการณ์ที่คู่หูต้องเผชิญในหนนี้คือ การปราบเจ้ากระต่ายตัวน้อยไม่ให้เข้าไปทำลายพืชผักของชาวบ้าน ที่ตระเตรียมไว้สำหรับงานเทศกาล “ผักใหญ่ประจำปี” แต่เหตุการณ์ก็บานปลายไปอีก เมื่อจู่ๆ ดันมีอสุรกายกระต่ายออกอาละวาด

นิก พาร์กกำกับเวอร์ชั่นนี้ร่วมกับ สตีฟ บ็อกซ์ ลูกมือคนสำคัญ โดยให้ฝ่ายหลักทำหน้าที่หลักในการพัฒนาบท ส่วนพาร์กนั้นจะคอยดูภาพรวม พร้อมทั้งควบคุมในส่วนของการถ่ายทำ

ต้องบอกว่านี่เป็นการผนึกกำลังในการทำงานอย่างยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ที่แม้จะเทียบความหวือหวาแล้วอาจจะไม่เท่ากับงานจากฮอลลีวูดก็จริง แต่มันก็เต็มไปด้วยอารมณ์ขันอย่างมีชั้นเชิง เป็นการเรียกเสียงหัวเราะจากคาแรกเตอร์และสถานการณ์ในเรื่อง มากกว่าจะเป็นมุขตลกโดดๆ หนำซ้ำในหลายครั้ง ยังมีมุขตลกซุกซ่อนอยู่ โดยไม่เน้นออกมาจนเกินเลย แสดงให้เห็นว่าทีมเขียนบทเข้าใจลักษณะเฉพาะของวอลเลซและกรอมิตได้อย่างถ่องแท้ คนที่เคยชมฉบับหนังสั้นคงรู้ดีว่า พาร์กนิยมแทรกมุขตลกแบบผ่านเลยมากขนาดไหน

ในแง่ของงานสร้าง นิก พาร์กก็สามารถรักษามาตรฐานของตนไว้ได้ ความเคลื่อนไหวของกล้องและตัวละครดูราบรื่นไม่สะดุด หรือถ้ามันจะสะดุดอยู่บ้าง พาร์กก็แก้ตัวไปว่า นี่แหละเสน่ห์ของสต็อป-โมชั่นที่เขาตกหลุมรัก

พาร์กบอกอีกอย่างว่า ความไม่สมบูรณ์แบบคือการให้ภาพถึงชีวิต เขาจะรู้สึกดีมาก เมื่อคนดูสังเกตเห็นรอยนิ้วมือบนตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง เพราะนั่นคือ ร่องรอยที่บอกว่า พวกมันถูกทำด้วยมือ 2 ข้างของเขาจริงๆ

หลายคนบอกว่า แอนิเมชั่นทำง่ายกว่าหนังปกติมาก เพราะเป็นงานที่เราควบคุมได้เอง และไม่ต้องอาศัยทีมงานมากมายนัก แต่นับวัน ผมยิ่งจะเชื่อคำพูดนี้น้อยลงทุกที

Wallace & Gromit in The Curse of the Were-Rabbit นั้นทำให้รู้สึกว่า แอนิเมชั่นดีๆ นั้นทำยาก นอกจากต้องเตรียมทำบทให้ดีแล้ว ยังต้องคุมงานเทคนิคอันซับซ้อนให้ดีสอดคล้องกันด้วย นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความอดทนและใจที่ต้องให้ไปมากเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ เพื่อไม่ให้เกิดรู้สึกท้อขึ้นเสียก่อน

ซึ่งกรณีของอาร์ดแมนและหนังเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างของงานที่ผมให้ 10 คะแนนเต็ม



กำลังโหลดความคิดเห็น