xs
xsm
sm
md
lg

A Sound of Thunder : สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน”

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


A Sound of Thunder ดูเป็นหนังเกรดบีมากๆ ทั้งๆ ที่องค์ประกอบหลายอย่างของมัน ไม่น่าจะชวนให้เป็นไปอย่างนั้น

หนังดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของเรย์ แบรดเบอรี นักเขียนอเมริกันชื่อดังคนหนึ่ง ตัวเรื่องมีไอเดียน่าสนใจ เป็นการจุดประกายความคิดสั้นๆ ให้คนอ่านตระหนักถึงการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของตนเอง ที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เราอาศัยอยู่

พล็อตเล่าเรื่องของการย้อนเวลาไปยังอดีตเมื่อ 65 ล้านปีก่อน และการไปแตะต้องสิ่งของในห้วงเวลาที่ผ่านเลย กลับส่งผลต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน

นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองโลกอนาคตในแง่ร้ายหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่งานหลายชิ้นของคนหลายคนก็เป็นอย่างนั้น อย่างไรก็ดี หากลองตั้งข้อสังเกตดูงานของทั้งไอแซก อาซิมอฟ, อัลดัส ฮักซ์เลย์, ฟิลิป เค.ดิก หรือแบรดเบอรีเอง คนเหล่านี้ไม่ได้กล่าวโทษเทคโนโลยี หากคือผู้ใช้มัน หรือมนุษย์เราเองต่างหาก ที่เป็นฝ่ายนำพาทุกอย่างไปสู่ความพินาศ

แบรดเบอรีเองก็เคยกล่าวไว้ชัดเจนในระดับหนึ่งว่า สิ่งที่สะท้อนผ่านงานของเขา ไม่ได้แสดงว่าตัวเขามีอคติ หรือสิ้นหวังกับอนาคต มันแทบจะไม่ใช่อย่างนั้นเลย เขาเขียนงานขึ้นเพื่อ “ปกป้อง” อนาคตด้วยซ้ำไป

ผมไม่เคยอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ของเรย์ แบรดเบอรี ดูหนังจบแล้วก็นึกอยากหามาอ่านเหมือนกัน จำได้ว่าตอนอ่าน Fahrenheit 451 แม้จะไม่ประทับใจเท่าไหร่ แต่โดยรวมมันก็เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่อ่านเพลินใช้ได้

แบรดเบอรีอาจถูกมองว่าเป็นพวกทำงานจับฉ่าย เพราะนอกจากเขียนนิยายหรือเรื่องสั้นเป็นอาชีพหลักแล้ว เขายังเขียนบทละคร, บทหนังโทรทัศน์ และอีกจิปาถะ เป็นพวกปั่นงานไว ไอเดียบรรเจิด ย่อมต้องถูกแขวะว่าทำงานลวกๆ อย่างเสียไม่ได้

แต่ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนจะมีสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ยกย่องว่า นี่คือนักเขียนที่จุดประกายความคิดอันเป็นประโยชน์แก่คนอเมริกันมากที่สุด ในศตวรรษที่ 20 ไม่มีนักเขียนคนไหนอีกแล้วที่จะมอบทั้งสาระและความเพลิดเพลินให้แก่คนอ่านได้ในระดับที่สูสี

ไม่ทราบว่าเป็นเพราะดัดแปลงมาจากงานของนักเขียนดังหรือเพราะอะไร A Sound of Thunder เลยถูกตั้งความหวังไว้ในระดับหนึ่ง แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา พูดสั้นๆ แล้วคือความล้มเหลว หนังไม่ทำเงินเลยที่อเมริกา วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่าย (ในอเมริกา) ไม่ได้เป็นผู้สร้างเอง ยังถูกหางเลขจากนักวิจารณ์ไปด้วย

ปัญหาหลักๆ ของหนัง A Sound of Thunder คือ งานสร้างที่ดูราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ (หนังใช้เงินลงทุนไปเพียง 30 ล้านเหรียญ – ถือว่าน้อยมากหากเทียบมาตรฐานหนังฮอลลีวูดทั่วๆ ไป) สัตว์ประหลาดที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ดูหลอกตา ขนาดที่ว่าสารคดีสัตว์โลกล้านปีของบีบีซี ยังจะดูดีเสียกว่าเป็นสิบๆ เท่า

โลกอนาคตในหนังก็ไม่ต่างกัน การแมตช์ภาพตัวละครกับฉากหลังทำออกมาไม่สมจริง กลายเป็นว่าสิ่งที่หนังต้องการจะโชว์ออฟ กลับเปลี่ยนเป็นเรียกเสียงหัวเราะแค่นๆ จากคนดูแทน

นั่นคือการมองลักษณะทางกายภาพของหนังด้วยสายตา ยังไม่นับว่า บทหนังพาคนดูไปพบกับความบังเอิญในทุกๆ 20 นาที และการคลี่คลายที่ไม่ต้องอาศัยเหตุผลหนักแน่นอะไรนัก ผลที่ออกมาคือ มันช่างเป็นงานที่อ่อนยวบยาบในแง่ความสมจริง ทั้งยังไม่สัมฤทธิผลในการชักจูงคนดูให้รู้สึกผูกพันกับตัวละคร

โชคยังดีที่ผู้กำกับ ปีเตอร์ ไฮแอมส์ เดินเรื่องไว และไม่เยิ่นเย้อกับรายละเอียดอะไรจนมากความ หนังเลยไม่มีจุดที่น่าเบื่อให้คนดูรู้สึกหาว เรียกได้ว่าพ้นจากสัตว์ประหลาดตัวโน้น ก็มาเจอกับสัตว์ประหลาดตัวนี้ทันที สนุกไปราวกับซื้อตั๋วแพกเกจพิเศษของดรีมเวิร์ลด์อย่างไรอย่างนั้น

ตัดความงี่เง่า (ที่มีอยู่ราว 50 เปอร์เซ็นต์) ออกไปเสีย ผมยังชอบไอเดียหลายอย่างในหนัง ทั้งการพามหาเศรษฐีไปทัวร์โลกล้านปีแบบซาฟารีเพื่อล่าไดโนเสาร์ เศรษฐีคนหนึ่งพูดกับเพื่อนว่า “แกจะรวยไปหาสวรรค์อะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อเอาเงินไปซื้อในของที่คนอื่นเขาซื้อไม่ได้” - เป็นประโยคที่ทั้งขบขัน และเสียดสีทัศนคติของคนรวยได้เจ็บๆ คันๆ ดี

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาสู่ปัจจุบันที่จะออกมาในลักษณะของระลอกคลื่น (ผมเข้าใจว่าน่าจะมาจากความคิดของแบรดเบอรี) คลื่นแต่ละลูกก็จะวิวัฒนาการสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจากสายต่ำสุดมาสูงสุด – หนังเองก็ใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขนี้ได้ดีทีเดียว

ผลสรุปที่ออกมาก็คือ A Sound of Thunder เป็นหนังเกรดบีที่ดูสนุกใช้ได้ (อันนี้ขอเตือนไว้ก่อนว่า ต้องกระโดดข้ามข้อเสียของความเป็นเกรดบีของมันให้ได้เสียก่อน) แถมยังเอิกเกริก โฉ่งฉ่าง ครื้นเครงดูเป็นลิเกกันดี อย่างน้อยๆ มันก็สนุกกว่าหนังเกรดเดียวกันอย่าง The Cave ที่เพิ่งลงโรงฉายบ้านเราไปก่อนหน้านี้

ผมเชื่อว่าหนังมีความเป็นไปได้ที่จะทำเงินในบ้านเรา อันนี้ไม่ได้พูดขึ้นมาลอยๆ เพราะเห็นหนังสัตว์ประหลาดที่เจ๊งมาแล้วทั่วโลกแต่คนดูหนังชาวไทยก็ให้การโอบอุ้มอย่างดีเสมอมา อันนี้ก็ไม่ได้พูดขึ้นมาเพื่อประชดประชันใดๆ ทั้งสิ้น หลักฐานก็มีให้เห็นกันอยู่

ดีเหมือนกันที่อย่างน้อย A Sound of Thunder ก็ยังอุตส่าห์ไม่ลืมย้ำประเด็นให้ขบคิดว่า เราทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของโลกกันทั้งนั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรกับโลกอย่างไรก็ได้ แต่หมายถึงความรับผิดชอบที่ต้องมีในระดับเท่าๆ กัน

พูดง่ายๆ ว่านี่เป็นการคืนกำไรแก่แฟนหนังเกรดบีโดยถ้วนทั่ว


กำลังโหลดความคิดเห็น