เทอรร์รี กิลเลียม เสียศูนย์ไปพอสมควรหลังจากหนังเรื่อง The Man Who Killed Don Quixote กลายเป็นโปรเจกต์ที่แท้ง ทั้งๆ ที่ปลุกปั้นถ่ายทำจนจวนจะสำเร็จอยู่แล้ว
คนที่ได้ดูสารคดีเบื้องหลังงานสร้างของหนังที่ทำไม่เสร็จเรื่องนั้น (ในชื่อ Lost In La Mancha) คงจะรู้สึกเห็นใจกิลเลียมไม่น้อยเลย แม้ส่วนหนึ่งจะต้องโทษโชคชะตาที่บันดาลอุปสรรคมาแบบพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัจจัยที่ทำให้หนังเรื่องนั้นล้ม มาจากความทะเยอทะยานส่วนตัวของกิลเลียมเองด้วย
เทอร์รี กิลเลียมเป็นคนทำหนังที่มาจากคณะตลกมอนตี ไพธอน – คอมเมดีปัญญาชนที่ร้ายและแสบมากกลุ่มหนึ่ง หนังของเขาเองก็มีลักษณะอย่างที่ว่านั้น คือเป็นงานที่มีทั้งอารมณ์ขัน ผสมอยู่กับองค์ประกอบดำมืดอันชั่วร้าย หลายหนที่มันหลุดออกจากระบบสุริยะไปแบบกู่ไม่กลับ บางคนถึงกับเรียกกิลเลียมว่า หนึ่งในคนทำหนังที่เพี้ยนมากที่สุดในโลก พอๆ กับเดวิด ลินช์, เดวิด โครเนนเบิร์ก หรือ อเลฮานโดร โจโดโรสกี (คือเป็นพวกที่มีโลกของตัวเองชัดเจน)
ความล้มเหลวของ The Man Who Killed Don Quixote บวกกับลักษณะนิสัยส่วนตัว ทำให้ข้อต่อรองของเขาและสตูดิโอในฮอลลีวูดเหลือทางเลือกไม่มากนัก - - นอกจากยอมจำนน, หนังเรื่อง The Brothers Grimm จึงเป็นงาน “เฉพาะกิจ” ที่กิลเลียมไม่ได้ตั้งใจจะทำ แต่เป็นการทำอย่างเสียไม่ได้ ตามคำขอร้องของมิราแม็กซ์ สตูดิโอ เพื่อแลกกับข้อเสนออันสดใสในอนาคต
บทหนังตั้งต้นเป็นฝีมือของเอห์เรน ครูเกอร์ มือเขียนบทที่ถือได้ว่า “ฮอต” พอดู ณ เวลานี้ เขาได้เครดิตเขียนบท The Ring ทั้งสองภาคไป (ทั้งๆ ที่คนซึ่งควรจะได้น่าจะเป็น โคจิ ซุสุกิ) ก่อนหน้าที่จะมาเขียนบทอย่างจริงจัง ครูเกอร์เคยชนะเลิศการประกวดบทภาพยนตร์ของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ - และหนังเรื่องนั้นคือ Arlington Road จนปูทางเขาไปสู่การเขียนบทหนังให้กับมิราแม็กซ์อีก 2 เรื่อง ได้แก่ Reindeer Games และ Scream 3
งานของครูเกอร์ไม่ใช่งานที่ดีจนโดดเด่น แต่ก็ไม่ใช่งานที่เลวแน่นอน มองในแง่การปรับขนบหนังระทึกขวัญแล้ว ก็นับว่าครูเกอร์เก่งกาจในการหลอกล่อคนดูพอสมควร หนังอย่าง Arlington Road, Reindeer Games หรือล่าสุด The Skeleton Key เป็นตัวอย่างได้ดี ว่าเขาถนัดในการทำลายความคาดหวังของผู้ชมมากขนาดไหน
ผมชอบงานเขียนของครูเกอร์ใน Scream 3 ทั้งๆ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มันออกจะเละเทะอยู่ไม่น้อยเลย หนังเรื่องนั้นคงไม่ถึงกับเป็นงานในเชิงโพสต์โมเดิร์นที่รื้อโครงสร้างหนังสยองขวัญกันขนานใหญ่ แต่ครูเกอร์ก็เอาองค์ประกอบหลายอย่างในหนังแนวนี้มา “โมดิฟายด์” ได้สนุกสนานมาก
กับ The Brothers Grimm ก็เข้าข่ายเดียวกัน ตัวหนังไม่ได้ยืนพื้นอยู่บนหลักฐานความจริงเกี่ยวกับพี่น้องกริมม์เลย พวกเขาไม่เคยออกผจญภัยต้มตุ๋นชาวบ้านแน่ๆ เผลอๆ อาจจะไม่เคยเดินทางไกลไปไหนนอกจากละแวกบ้านตัวเอง แต่ครูเกอร์ก็สร้างให้ เจคอบ และ วิลเฮม กริมม์ กลายเป็น 2 หนุ่มจอมกะล่อนที่ออกหลอกเงินชาวบ้าน ด้วยการอุปโลกน์ตนเองเป็นหมอผี
ข้อเท็จจริงเพียงไม่กี่อย่างที่ปรากฏในหนัง คือ เจค กับ วิล เป็นพี่น้องกัน และเจค กริมม์ผู้น้องเป็นคนที่ชอบเขียนบันทึกเรื่องเล่าท้องถิ่นเก็บไว้ด้วยความลุ่มหลง นอกเหนือจากนั้นเป็นการ “ยำใหญ่” เอาเทพนิยายของกริมม์ เรื่องโน้นเรื่องนี้มาร้อยเข้าด้วยกันกับแกนเรื่องซึ่งครูเกอร์วางขึ้นมาใหม่
เรื่องเริ่มต้นด้วยวีรกรรมทำเพื่อเงินของทั้งคู่ แต่ก็ถูกขัดขวางโดยนายพลเดอลาทอมบ์ แม่ทัพชาวฝรั่งเศสที่กำลังยึดครองเยอรมันอยู่ในเวลานั้น พี่น้องกริมม์โดนส่งไปล้างความผิด ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีข่าวว่าผีร้ายออกอาละวาดขโมยเด็กหญิงไปถึง 10 คนด้วยกัน
ทั้งวิลและเจคคิดว่า มันคงเป็นทริกตื้นๆ ของพวกต้มตุ๋นอีกกลุ่มหนึ่ง แต่แล้วก็พบว่า มันมีปิศาจอยู่จริงๆ และนี่จะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาจะได้ปราบผีอย่างมืออาชีพเขาทำกัน
ครูเกอร์คงจะบันเทิงมากทีเดียวในการหยิบสิ่งละอันพันละน้อยในนิทานของกริมม์มาปั่นรวมกัน ทั้งเรื่องของหนูน้อยหมวกแดง, ราพันเซล – หญิงสาวผมยาวบนหอคอย, สัตว์ป่าที่กลายร่างเป็นคนได้, เด็กน้อย 2 คนเข้าป่าแล้วใช้เศษขนมปังเป็นเครื่องมือกันหลงทาง, ซินเดอเรลลา และ เจ้าหญิงที่นอนหลับใหลรอคอยจูบจากรักแท้มาถอนคำสาป ฯลฯ
น่าเสียดายที่อะไรเหล่านั้น ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการอย่างอื่น นอกเหนือจากการเรียกเสียงหัวเราะ (ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง) การตีความที่ลงลึกไปกว่านั้น ดูจะไม่อยู่ในความสนใจของครูเกอร์สักเท่าไหร่
กว่าหลายทศวรรษที่นิทานกริมม์ถูกตีความด้วยทฤษฎีอันหลากหลาย ทั้งเรื่องนัยทางเพศ หรือความตาย ซึ่งในบางประเทศ (ในบางช่วงเวลา) งานของกริมม์กลายเป็นของต้องห้ามสำหรับสาธารณะ
สำหรับใน The Brothers Grimm เหมือนจะไม่มีอะไรที่เป็น “ของแสลง” เลย สิ่งที่ดูจะเข้าเค้ามากที่สุด คือแง่มุมเกี่ยวกับตัวพ่อของแองเจลิกา ที่หักหลังลูกสาวตัวเองเพราะหลงในความงามของราชินีปิศาจ แต่หนังก็ไม่เลือกที่จะเน้นไปจุดนั้นแบบเอาจริง
ฉะนั้นคนที่คาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรที่ “ไม่ธรรมดา” ในงานของเทอร์รี กิลเลียมชิ้นนี้ คงต้องบอกว่า อย่าตั้งความหวังไว้สูง เพราะครูเกอร์เองก็ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาเขียนบทหนังเรื่องนี้ให้ไดเมนชั่น ฟิล์มส์ (บริษัทลูกของมิราแม็กซ์) ตามใบสั่งที่สตูดิโออยากได้ เขาเองก็ไม่ได้นึกว่าใครจะเป็นคนมากำกับ
เหตุผลคล้ายๆ กับกิลเลียมที่มาทำหนังเรื่องนี้ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน มันไม่ใช่งานของเขาเอง และจุดมุ่งหมายของหนังเรื่องนี้คือ งานตลาดๆ หวังเก็บเงินเข้าสตูดิโอ
กิลเลียมอาจจะพยายามปรับให้งานมีลายเซ็นของตัวเองอยู่เหมือนกัน ทั้งการสร้างโลกที่บิดเบี้ยวของเทพนิยาย แต่ด้วยเส้นเรื่องที่แน่นหนาของบทซึ่งถูกวางไว้แต่แรก สิ่งที่กิลเลียม “เล่นสนุก” ได้ ก็แค่ทำให้งานภาพบิดเบี้ยวด้วยเลนส์ไวด์อย่างเดียวเท่านั้น
คนที่ติดตามความเป็นไปของตารางทำเงินคงทราบดีว่า หนังคว่ำไม่เป็นท่า รายได้ไม่พุ่งสูงเท่าที่คิดในตอนแรก และเสียงจากนักวิจารณ์ก็ไม่ใคร่จะชื่นชมอย่างเป็นมติเอกฉันท์ นับว่าน่าเศร้าอยู่ไม่น้อย
ผมเองก็สนุกกับ The Brothers Grimm ในระดับหนึ่ง คือ ถ้ามองว่านี่เป็นงานของเอห์เรน ครูเกอร์ ก็ถือว่าเสมอตัว แต่หากดูในฐานะที่มันเป็นงานของผู้กำกับเทอร์รี กิลเลียม ซึ่งเคยทำหนังอย่าง Brazil หรือ The Adventures of Baron Munchausen - - ก็ต้องถือว่าฟอร์มตก