กลางทุ่งนาที่ร้อนเดือดพล่านของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร ทอง (ชัยพันธ์ นินกง) และ สร้อย (เยาวลักษณ์ ตุ้มบุญ) กำลังจีบกัน อย่างชนิดที่ว่าหวานจนน้ำตาลท่วมทุ่ง ในขณะที่ แหยม (หม่ำ จ๊กม๊ก) น้าชายสไตล์จิ้มลิ้มคนเดียวของทอง ถูก เจ้ย (เจเนต เขียว) สาวหน้าคมคล้ำ คมขำ ทั้งตามตื๊อตามจีบ หลงรักสุดหล่ออย่างแหยม ชนิดหัวปักหัวปำ ทำให้แหยมรำคาญเป็นที่ซู๊ดดด...
ทั้งสี่เป็นอันรู้กันว่า เจ้ยหลงรักแหยมอย่างลงรากฝังลึก และพยายามทุกทาง ให้แหยมตอบรับน้ำใจอันนี้ แม้ว่าทองกับสร้อย จะช่วยลุ้นให้ทั้งคู่ลงเอยกันเสียที แต่แหยมก็ไม่เคยหันมาสนใจ
ถึงแม้ว่าเรื่องราวความรักของทองและสร้อย กำลังไปกันได้ด้วยดี แต่ทั้งคู่ยังคงต้องหลบๆ ซ่อนๆ เนื่องจาก คุณนายดอกท้อ (แวว จ๊กม๊ก) คุณป้าสุดเฉิงวับระดับไฮโซของสร้อยนั้น จงเกลียดจงชังความจนของทองมากเหลือเกิน ทำให้คุณนายดอกท้อเข้าขัดขวางทั้งคู่ทุกวิถีทาง แยกความรักของพวกเขาไปไกลถึงเมืองบางกอก ฝ่ายสาวๆ ต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานใจ เพราะพิษแห่งความคิดถึงทองและแหยม
กระทั่งวันหนึ่งสร้อยได้รับคำสั่งจากคุณนายดอกท้อกลับไปยังบ้านนอกด่วน เนื่องจากได้จัดงานหมั้นอย่างใหญ่โตให้กับสร้อย และพ่อยอดชายลูกชายกำนัน ที่แสนจะมั่งคั่งหล่อเข้มขึ้นอย่างกะทันหัน
ความรักระหว่างสร้อยและทอง จะสมหวังหรือไม่...แหยมและเจ้ยจะร่วมหอลงโรงกันได้หรือเปล่า?...
ด้วยเนื้อหาของหนังที่ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุการณ์แบบนับ 1 - 2 - 3 ดังนั้นอย่างเดียวที่ "หม่ำ จ๊กมก" (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา)ในฐานะของผู้กำกับฯ จะต้องทำให้ได้ใน "แหยม ยโสธร" ของเขานี้ก็คือการดึงให้คนดูยืนอยู่บนพื้นฐานของความตลกและสนุกไปกับมุกทั้งหลายที่ถูกใส่เข้าไปให้ได้
ที่เป็นรูปธรรมออกมาอย่างชัดเจนก็คือ สีสันของภาพ เครื่องแต่งกาย ทรงผม และการแสดงแบบโอเวอร์แอ็กติ้งของตัวละคร
การหยิบเอาเรื่องใกล้ตัวด้วยการนำเอาเรื่องราวของความเป็นท้องถิ่นของตัวผู้กำกับขึ้นมาขายคือจุดหลักของหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดภาษาอีสาน มุกทะลึ่งๆ ความซื่อ ความจริงใจๆ ทั้งหมดน่าจะกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้แหยม ยโสธรสร้างความประทับใจคนดูได้ไม่ยากนัก หากแต่เพราะการ "จงใจ" ที่จะเล่นมุกแบบ "บังคับให้ขำ" ในหลายๆ ฉากส่งผลให้อารมณ์ของหนังดูจะขัดๆ เกินๆ ขึ้นๆ ลงๆ รวมถึงการได้กลับไปยังความเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของนักแสดง(ตลก)หลายๆ คนและตัวผู้กำกับเองก็เหมือนกับการยกเอาตลกคาเฟ่ ตลกในรายการทีวี หรือเอาตลกละครไปเล่นในท้องไร่ท้องนาอย่างไรอย่างนั้น
แปลกออกมาจากทั้งธรรมชาติและคนในท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด
ที่ขาดหายไปในหนังเรื่องนี้ก็คือ "ความตลกที่เป็นธรรมชาติ " เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่ถูกจัดวางถูกเซ็ตขึ้นมาแบบจงใจกระทั่งบางครั้งเราจะเห็นว่าตัวละครดูร่าเริงจนเกินความเป็นจริงอย่างขาดเหตุผลรองรับ ตัวเอกอย่าง "ทอง" แม้จะดูซื่อ จริงใจ แต่ความซื่อที่ถูกวางไว้ไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ในการชวนให้คนดูเกิดความเห็นใจหรือลุ้นไปกับความรักระหว่างเขากับ "สร้อย" สักเท่าไหร่ ในขณะที่ตัว "แหยม" เองก็ดูจะแย่งซีนคนอื่นไปเยอะทีเดียว
มุกคำสบถแบบหยาบๆ รวมถึงการปรากฏตัวของผู้กำกับในฐานะของนักแสดงชนิดทำเอาตัวละครอื่นๆ ที่น่าจะเด่นในระดับเดียวกัน(หรือสมควรจะมากกว่าด้วยซ้ำ)กลายเป็นตัวประกอบเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้หนังอยู่ในภาวะความเสี่ยงพอสมควรเนื่องจากจังหวะการเล่นมุกของตลกคนนี้หลายคนเริ่มที่จะเดาทางได้ ที่สำคัญหม่ำก็ยังคงเป็น "หม่ำ จ๊กมก" ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาคุ้นมุกกันเป็นอย่างดี
เงื่อนไขของ "แหยม ยโสธร" จึงขึ้นอยู่กับกระแสความนิยมในตัวของหม่ำคนเดียวไม่ต่างอะไรมากนักจากหนังเรื่องแรกของเขาอย่าง "บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม" ที่ไม่อาจจะสรุปได้อย่างเต็มที่นักว่าความสำเร็จจากรายได้ของหนังทั้งสองเรื่องที่ออกมาอาจจะบ่งบอกถึงคุณภาพของตัวหนังหรือฝีไม้ลายมือในการกำกับของเขาอย่างชัดเจน
ไม่นับรวมถึงช่วงเวลาที่พอเหมาะพอเจาะจากความสำเร็จจากทั้ง "องค์บาก" และ "ต้มยำกุ้ง" ที่ออกมาก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม แม้อะไรหลายๆ อย่างจะดูค่อนข้างผิดฝาผิดตัวไปสักหน่อย แต่สิ่งที่ "แหยม ยโสธร" มีให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือเจตนาที่ดีของผู้กำกับที่ต้องการสร้างรอยยิ้มให้กับคนดูรวมไปถึงการบอกเล่าให้เห็นถึงของความน่ารักของวิถีและระบบความคิดของพี่น้องในภาคอีสาน
ใสซื่อไม่มีพิษมีภัย คิดอย่างไร พูดและแสดงออกมาอย่างนั้น
หลายมุก หลายสถานการณ์แม้คนนอกพื้นที่จะไม่ค่อยเข้าใจว่ามันน่าหัวเราะหรือน่าตลกขบขันตรงไหน แต่ที่เข้าใจได้อย่างไม่ยากเลยหลังจากหนังจบลงก็คือเหตุผลที่ว่าทำไมคนภาคนี้ถึงได้อารมณ์ดีและเป็นมิตรกับคนได้ง่ายเหลือเกิน
คำตอบอาจจะเหมือนกับตัวหนังที่ออกมาที่ว่า ทำไมจะต้องไปคิดอะไรให้มันสลับซับซ้อน...ปวดหัวเปล่าๆ