xs
xsm
sm
md
lg

The Upside of Anger : ผลพวงแห่งความคับแค้น

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


เควิน คอสเนอร์ ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิตการทำงานกับ Dances with Wolves ในปี 1990 (หนังเข้าชิงออสการ์ 12 สาขา และคว้ามาได้ 7 โดย 2 ตัวในนั้นคือ รางวัลผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างของคอสเนอร์) และดูเหมือนหลังจากนั้น พระเจ้าก็ไม่หยิบยื่นรางวัลใดๆ ให้กับเขาอีก

งานหลายชิ้นต่อมาแทบจะกลายเป็นความล้มเหลวที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีเสียงตอบรับแง่บวกจากนักวิจารณ์ รวมถึงในด้านรายได้ก็ย่ำแย่พอกัน ที่สำคัญ – โดยเฉพาะกับงานอย่าง Waterworld (1995) และ The Postman (1997) มันเป็นหนังที่ลงทุนมหาศาล แต่กลับแสดงผลลัพธ์อันว่างเปล่า

เหตุผลง่ายๆ ที่อาจจะฟังไม่ได้ความนัก คือมันคงจะหมดช่วงเวลารุ่งโรจน์ของเขาแล้วจริงๆ เขาไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้ชมเหมือนในตอนปลายของยุค 80 รังสีของซูเปอร์สตาร์ค่อยๆ ซีดหาย แม้กระทั่งข่าวคราวซุบซิบ ก็แทบจะไม่อยู่ในสายตาของใครๆ อีก

ปมดังที่กล่าวมา ขัดแย้งกับวิธีการทำงานของคอสเนอร์พอสมควร เขายังคงรับเล่นหนังที่ไม่ได้ทำให้คนดูมองเห็นแง่มุมอื่นๆ ในตัวเขา บทนำหลายบทเป็นศูนย์กลางของเรื่องก็จริง แต่ก็ขาดทั้งความลึก (ที่จะโชว์ถึงศักยภาพทางการแสดง) และเสน่ห์ (ที่ทำให้คนดูเกิดหลงรัก) คอสเนอร์ยังคิดว่าตัวเองเป็น “ดารา” ต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นหลายต่อหลายคน ที่พยายามหาอะไรใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

The Upside of Anger คงไม่สามารถเรียกว่า “ความสำเร็จ” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก แม้คุณภาพหลายๆ ส่วนจะดูโดดเด่นน่าสนใจ แต่มันก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดี โดยเฉพาะกับเควิน คอสเนอร์ ที่กำลังเปิดเผยด้านอื่นๆ ในตัวเขาให้คนดูได้มองเห็น นั่นก็คือ แง่มุมความเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาๆ ไม่ใช่ฮีโร่ หรือไม่ใช่ตัวละครผู้มีบาดแผลร้ายแรง - แต่กลับจำเจซ้ำซาก

จะว่าไป บท เดนนี เดวีส์ ของคอสเนอร์ เป็นเพียงบทสมทบในเรื่อง เขาเป็นเพียงคนนอกของเรื่องราวที่มารับรู้ความหายนะของครอบครัววูล์ฟเมเยอร์ ซึ่งเป็นแกนหลักของเรื่อง

ผู้กำกับและเขียนบท ไมค์ บินเดอร์ ทำ The Upside of Anger ออกมาคล้ายกับหนังชวนหัวที่เกาะเกี่ยวพล็อตซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกสาว กับความรักของชายวัยกลางคนและสาวใหญ่ แต่เขาชาญฉลาดพอที่จะหลีกเลี่ยงความซ้ำซากจำเจของหนังในทำนองนี้ ด้วยการผ่อนคลายกับขนบเดิมๆ น้อยลง คนดูอาจสามารถคาดเดาเหตุการณ์ในหนังได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดแบบที่เราทำได้กับหนังโรแมนติกของเมก ไรอันหรือเคต ฮัดสัน

ตัวละครทุกตัวในหนังห่างไกลจากคำว่า สมบูรณ์พร้อม ว่ากันตามตรง ภายใน 15 นาทีแรก คนดูแทบจะไม่อยากยึดเหนี่ยวใครไว้ในอ้อมใจเลย ตั้งแต่ เทอร์รี (โจน อัลเลน) นางเอกของเรื่องที่เจ้าอารมณ์และไร้เหตุผลอย่างร้ายกาจ, ลูกๆ ของเธอทั้ง 4 ที่เกลียดแม่ตัวเองเข้าไส้ และเดนนี เดวีส์ (คอสเนอร์) อดีตนักเบสบอลที่หันมาเป็นนักจัดรายการวิทยุ แต่ก็เมาหยำเป ทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพาย

แต่ทีละน้อย บินเดอร์ก็เผยให้เห็นว่า ข้อบกพร่องของแต่ละคนในหนัง ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจหรือไม่สามารถทำความเข้าใจอะไรได้ ตรงข้าม พวกเขาเป็นมนุษย์ปกติแบบเราๆ ที่ยังจัดการกับอารมณ์และปัญหาได้ไม่ดีนัก ยังอยู่ในช่วงการประคับประคองชีวิต เพื่อให้ผ่านเวลาอันยากลำบากที่ประสบอยู่

เทอร์รีกลายเป็นแม่ที่โมโหร้าย เพราะแค้นสามีซึ่งหนีออกจากบ้านไปอย่างไร้ร่องรอย เธอเดาเอาเองเสร็จสรรพว่า ผัวตัวดีคงหนีไปกับเลขสาวชาวสวีเดนที่หายตัวไปพร้อมๆ กัน แต่คนที่รับกรรมอันเนื่องมาจากความไม่รับผิดชอบของผู้ชายคนหนึ่ง กลับเป็นลูกสาวทั้งสี่ เทอร์รีเอาขยะทางอารมณ์ที่ผลิดอกออกผลมาทิ้งลงกับลูกๆ อันถือเป็นกิจกรรมหลักๆ รองจากการเมาหัวราน้ำ

หนังเล่าเรื่องจากมุมมองของ ป๊อบอาย (อีแวน ราเชล วูด) ลูกสาวคนเล็กวัย 15 ของเทอร์รี เสียงบรรยายของเธอเป็นสิ่งที่ซ้ำซากที่สุดในหนัง แต่มันก็จำเป็นในระดับหนึ่งสำหรับหน้าที่การหยิบยื่นสาระสำคัญต่อคนดู ป๊อบอายมองดูแม่กับพี่ๆ ตีโต้ความโกรธใส่กันด้วยเครื่องหมายคำถาม ฉากหนึ่งที่น่ารักมากๆ เป็นตอนที่ทั้งหมดรับประทานอาหารกันอย่างพร้อมหน้า แฮดลีย์พี่สาวคนโตบอกกับแม่ว่า เธอตั้งท้องลูกคนที่สองแล้ว หลังจากที่เพิ่งคลอดลูกคนแรกได้ไม่นานนัก

ตามประสาคนปฏิกิริยาว่องไวอย่างเทอร์รี เธอชักสีหน้าทันที แต่ก็รู้ตัวว่าไม่ควร จึงเปลี่ยนเป็นเป็นยิ้มและพรั่งพรูความยินดีออกมาอย่างไม่เต็มใจนัก เพื่อกลับลำไม่ให้สถานการณ์แย่ลง

พี่น้องที่เหลือพากันหัวเราะพฤติกรรมของแม่ ที่ปิดความรู้สึกของตัวเองไม่มิด ส่วนป๊อบอายนั่งทำตาโต พลางถามว่า ตกลงแล้วทุกคนหัวเราะเรื่องอะไรกัน

ป๊อบอายเชื่อของเธอเองว่า เป็นธรรมชาติที่คนเรามักเลือกจะโกรธก่อนที่จะรัก และกว่าจะรู้ตัว ความโกรธก็ทำให้เรากลายเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวตนอันแท้จริงของเรา อย่างไรก็ดี เธอก็เชื่อว่าความโกรธในตัวของมันเองก็มีข้อดีอยู่ อย่างน้อยๆ มันทำให้เราได้เติบโตขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง แล้วเธอก็หักเหย้ำในตอนจบของหนังว่า ไม่แน่ใจว่านั่นเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะเธอเองก็เป็นแค่เด็กตัวน้อยๆ คนหนึ่งเท่านั้น

หนังลงท้ายอย่างไม่ชัดเจนนักว่า ทุกอย่างจะราบรื่นขึ้นหรือไม่ แต่คนดูก็เห็นแสงสว่างแห่งความหวังรำไรรออยู่ แม้จะรู้ดีว่า เทอร์รีคงจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้มากนัก เดนนียังกลายเป็นชายขี้เมาที่ไม่เอาไหน เด็กสาวทั้งสี่เอง ก็คงไม่มีใครได้ดั่งใจแม่เลยสักคนเหมือนเดิม

ผู้กำกับ ไมค์ บินเดอร์ กับนางเอกสาว โจน อัลเลน เคยร่วมงานกันในฐานะนักแสดงในหนัง The Contender (2000) มาก่อน และคงจะถูกใจกันตอนนั้นบินเดอร์เลยเลือกเธอมารับบท เทอร์รี ในหนังของเขา

อัลเลนไม่ใช่คนสวย แต่โดยอายุก็เกินแกงจะทำโรแมนติกแล้ว บทอาละวาดเธอคงเล่นได้ไม่เสียชื่อตัวเอง แต่คนดูก็ยังคลางแคลงใจว่า เธอจะเล่นบทเข้าพระเข้านางกับคอสเนอร์ได้อย่างไร

อัลเลนคงไม่คล่องขนาดจูเลีย โรเบิร์ตส์ก็จริง เธอดูเป็นคนธรรมดาๆ มากกว่า ฉากที่เธอและคอสเนอร์เล่นเอาเถิดท้าทายว่าจะมีเซ็กซ์กัน ทั้งที่ความจริงแล้วต่างฝ่ายต่างวิตกจริต เป็นหนึ่งในฉากที่เรียกเสียงหัวเราะได้มากที่สุดในหนัง

ไม่รู้จะลืมไปหรือยังว่า คนหนึ่งเคยเล่นเป็นถึง ไวแอตต์ เอิร์ป และอีกคนก็เคยเล่นบท แพทริเซีย นิกสัน



กำลังโหลดความคิดเห็น