ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีสำหรับหนังไทยทุนสูงของค่ายสหมงคลฟิล์มฯ "ต้มยำกุ้ง" โดยจากการคำนวณแบบคร่าวๆ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท ยอดเงินจากการซื้อขายหนัง ค่าลิขสิทธิ์ในสินค้า-เกม หนังสือ และการทำตลาดทางด้านอื่นๆ แม้หนังจะยังไม่เข้าฉาย(11 สิงหาคม)แต่ "ต้มยำกุ้ง" ก็ทำเงินสะพัดไปแล้วกว่า 800 ล้านบาทเลยทีเดียว
ผลพวงจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศรวมทั้งความสนใจจากทางภาครัฐบาลกับการที่นายกฯ รัฐมนตรีได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการเปิดทำเนียบจัดงานเลี้ยงให้กับทีมงานรวมทั้งบริษัทสายหนังต่างๆ ทำให้ใครต่อใครเชื่อว่า "ต้มยำกุ้ง" คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ "อุตสาหกรรมหนังไทย" น่าจะได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐฯ มากขึ้นและเดินเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างแข็งแรง
อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า หากเป็นหนังไทยฟอร์มเล็กๆ เรื่องอื่นๆ ที่ไม่มีเงินถุงเงินถังเท่ากับ "ต้มยำกุ้ง" หรือหากไม่ใช่หนังของค่ายสหมงคล อินเตอร์ เนชั่นแนล ฟิล์ม ของ "เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ" ซึ่งอีกบทบาทต้องไม่ลืมว่าเจ้าตัวนั้นนั่งเก้าอี้เป็นนายกสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทยอยู่ด้วย หนังเหล่านั้นจะมีสิทธิ์มีอำนาจในการต่อรองต่างๆ หรือจะได้รับการเหลียวแลจากทั้งทางรัฐบาลรวมทั้งทางสมาคมฯ เท่านี้หรือไม่?
"แน่นอนครับว่าถ้าหนังไทยเป็นแบบต้มยำกุ้งได้ก็ดีสิครับ ทุกคนทุกเรื่องก็อยากให้ทางรัฐบาลหันมาสนใจอยู่แล้ว..." "วิสูตร พูลวรลักษณ์" จากไทเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ แสดงความคิดเห็น
"แต่ที่สำคัญก็คือทุกคนก็ต้องดูตัวเองด้วยว่าทุกคนทำอะไรอยู่ มันก็ต้องดูศักยภาพตัวเองด้วยมีความพร้อมมั้ย ไม่ใช่ว่าอยากเป็นแบบเขาแล้วจะให้เป็นแบบเขาได้เลย มันก็ไม่ใช่ ทำตัวเราเองให้ดีที่สุดก่อนให้เขามาช่วยน่ะครับ"
"ถ้ามองภาพรวมหนังไทย ตอนนี้ก็คืออย่างที่เคยบอกเอาไว้ว่าปีนี้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น 6 เดือนแรกมันดีกว่า 6 เดือนแรกของปีที่แล้ว แล้วจะว่าไปแล้วที่ผ่านมาถึงมีต้มยำกุ้งหรือไม่มีต้มยำกุ้งหนังของเรามันก็ออกสู่ตลาดโลกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้มยำกุ้งช่วยไปต่อยอดมันก็ทำให้ภาพของหนังไทยดูดีน่ะครับ"
ด้าน "สันต์ เปรสตันยี" ผู้อยู่ในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองถ่ายฯ บอกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลฯ เองไม่ค่อยจะสนใจในแวดวงภาพยนตร์ไทยสักเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่แต่ละปีจะมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจตรงนี้ไม่ใช่น้อย
"ผมว่าอันนี้เป็นจุดเริ่มต้นนะครับ ผมคิดว่าต้มยำกุ้งน่าจะทำให้รัฐบาลเห็นว่าภาพยนตร์ไทยสามารถเป็นแหล่งที่จะนำเงินเข้าประเทศได้มากพอสมควร ซึ่งในอดีตภาพยนตร์ไทยเนี่ยได้รับเกียรติหรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐน้อยมาก แทบจะเรียกว่าไม่ค่อยมีเป็นปรากฏการณ์เท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันจะทำให้มีคนที่อยากจะสร้างภาพยนตร์ดีๆ หรืออาจจะมีนายทุนที่อยากจะลงทุนสร้างภาพนยนตร์ไทยมากขึ้น"
"คนส่วนใหญ่นี่นะครับจะยังคิดอยู่เรื่อยเลยว่าภาพยนตร์ไทยน้ำเน่า ไม่ดี ซึ่งจริงๆ มันก็มีคละกันไป ภาพยนตร์ดีก็มี ภาพยนตร์ที่น้ำเน่าก็ยังมีอยู่ เพราะว่าเรายังจะมีคนดูส่วนหนึ่งที่ยังต้องการดูน้ำเน่า คุณจะไปว่าเขาไม่ได้เพราะคนเนี่ยรสนิยมมันไม่เหมือนกัน ถ้าเผื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างต้มยำกุ้งสามารถออกสู่อินเตอร์ฯ มาร์เก็ตได้รัฐบาลก็จะเริ่มมองแล้วครับว่า เอ๊ะ ทำไมมีเรื่องนี้เรื่องเดียว ทำไมยังไม่มีเรื่องอะไรมาก่อนหรือจะมีอะไรตามมาอีกมั้ย"
"อย่างต้มยำกุ้งที่ได้รับความนิยม ผมว่าเมืองนอกเขาอาจจะเบื่อภาพยนตร์จีนที่มันบู๊เหาะไปเหาะมา แล้วหนังแอ็กชั่นของเรามันก็โชว์ให้เห็นว่าคนไทยก็มีความสามารถในการแสดงภาพยนตร์แอ็กชั่นพวกนี้ได้ อย่างของผมก็มีภาพยนตร์ต่างงประเทศติดต่อมานะครับว่าจะมาถ่ายในบ้านเราแล้วก็จะขอผู้กำกับฝ่ายศิลป์ทางด้านแอ็กชั่นให้เข้ามากำกับเรื่องแอ็กชั่นให้เขาด้วย"
พิจารณาหนังไทยที่ออกสู่ตลาดต่างประเทศ จะว่าไปแล้วส่วนใหญ่ที่พอจะขายได้ ถ้าไม่ใช่ชื่อของผู้กำกับอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง, เจ้ย อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ชื่อของดาราอย่าง จา พนม ก็จะเป็นหนังผีเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่หนังซึ่งแสดงถึงวิถีหรือหนังตลก-ดราม่าแบบไทยๆ อย่าง "โหมโรง" หรือ "มหา'ลัย เหมืองแร่" เหล่านี้กลับไม่ค่อยจะได้รับความสนใจสักเท่าไหร่
"ผมว่าการประสบความสำเร็จของต้มยำกุ้งที่ออกไปทั่วโลกเนี่ยนะครับผู้ซื้อขายภาพยนตร์จะต้องเริ่มมองหาภาพยนตร์ไทย แล้วไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภาพยนตร์แอ็กชั่นหรืออะไรหรอก เพียงแต่ตอนนี้เขาชอบหนังไปทางแอ็กชั่นมากกว่า มันจะเป็นยุคของมันครับ ตอนนี้เนี่ยเป็นยุคของแอ็กชั่นแล้วต่อไปเป็นยุคคอมเมดี้ ต่อไปอาจจะไปเป็นเพลง อาจจะไปเป็นโรแมนติก"
ด้านผู้กำกับ "ต้อม ยุทธเลศ สิปปภาค" มองถึงเรื่องนี้ว่า...
"ผมว่าตลาดโลกมันแล้วแต่ละเทศกาลน่ะนะ ถ้าเกิดมองว่าเอาหนังไปขายเทกระจาดหนังแอ็กชั่นกับหนังผีก็ยังคงมาเป็นที่ 1 เพราะคอนเซ็ปต์มันสากลกว่า คนดูเสพได้ในระดับเท่ากัน หนังตลกยังมีปัญหาอยู่ในเรื่องของวัฒนธรรมหรือไดอะล็อก แต่อย่างหนังผีเนี่ยโผล่มาใครก็กลัว แอ็กชั่นซีนต่อยเตะเนี่ยรับรู้ได้ทันทีทันควัน"
"เพราะงั้นพอหนังที่มันเกี่ยวกับอะไรที่นอกเหนือจากนั้นมันเป็นเรื่องของส่วนตัว เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นตลาดอาร์ตไปเลย แต่อย่างเหมืองแร่ฯ มันก็ไม่ใช่ถึงขนาดหนังอาร์ตไปเลย มันเป็นหนังอีกแบบหนึ่งซึ่งคงต้องใช้เวลาในการทำการตลาดในต่างประเทศนะ เพราะว่าต่างประเทศมันก็จะมีตลาดของมัน อย่างกลุ่มเหมืองแร่มันก็น่าจะมีนะ แต่อาจจะแคบมากๆ ก็ได้"
"อย่างถ้าพูดหนังแอ็กชั่นแบบนี้เนี่ยก็ไม่ยาก ตอนนี้ผมว่าหลายฝ่ายก็คงพยายามรื้อฟื้นตำรามวยไทย จีน สตั๊นท์แอ็กชั่นไทย ก็คือว่าเราไม่จำเป็นต้องสลิงเหมือนจีนซึ่งเขาจะเก่งเรื่องสลิง แต่วัฒนธรรมของไทยคือ รำหัก รำโค่น คือเสี่ยงตายโดยการที่ไม่ได้ใช้สลิง ก็น่าจะเป็นคาแร็กเตอร์ซึ่งขายได้อยู่ ณ เวลานี้"
แม้จะได้กระแสความสนใจจาก "ต้มยำกุ้ง" ที่ทำให้ตลาดต่างประเทศหันหน้าเข้าหาหนังไทยมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าหนังไทยส่วนใหญ่จะขายได้ เพราะเหตุผลที่สำคัญอยู่ก็คือเรื่องของคุณภาพรวมทั้งแนวทางของหนังที่จะถูกกับรสนิยมของตลาดต่างประเทศหรือเปล่านั่นเอง
"แล้วแต่หนังนะ ผมว่าเขาไม่ได้ซื้อเพราะว่ามันเป็นหนังไทย ไม่ได้ซื้อเพราะว่ามันเป็นแอ็กชั่น เขาซื้อเพราะว่าหนังนั้นดีและหนังนั้นทำในสิ่งที่เขาต้องการจะซื้อรึเปล่า ฮอลลีวูดเองยังไม่มีอะไรการันตีเลยว่าหนังฮอลลีวูดจะไปได้นานขนาดไหน หนังจีนก็ยังไม่รู้ว่าจะไปได้นาน ทุกคนมีช่วงขึ้นและก็ลงทุกประเทศ"
"ต้องปรับอะไรเพื่อให้ขายได้มั้ย ผมว่าไม่ต้องปรับ วิธีที่ผิดก็คือการปรับรสนิยมให้เข้ากับต่างประเทศ เพราะต่างประเทศเขาต้องการเสพความเป็นออริจินัลอะไรก็แล้วแต่ที่เขาเรียก เพราะฉะนั้นวิธีการที่แบบว่าตำส้มตำโดยการผสมแครอทนี่อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดก็ได้ หรือสปาเก็ตตี้ขี้เมาอะไรนี่อีก จะทำขี้เมาก็ขี้เมาไปเลย ไม่ต้องมาสอดไส้อย่างนี้"
"ผมว่าเราไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย แต่อาจจะเพิ่มความชัดเจนของคนทำ เขาเรียกว่าให้คนทำชัดเจนมีตัวตน เป็นคนไทยก็ทำหนังแบบเป็นคนไทยชัดเจน คนไทยก็แอ็กชั่นได้ คนไทยก็ผีหลอกได้ หรือคนไทยก็ดราม่าได้ คือความเป็นไทยเนี่ยก็เป็นได้ทุกแบบเพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องไทยผสมอเมริกันเพื่อจะทำให้ขายได้ ไม่จำเป็นต้องเอานักแสดงหน้าเหมือนฝรั่งแล้วคิดว่าเขาจะซื้อ เขาไม่ซื้อหรอก ทำไมเขาต้องการคนหน้าไทยๆ หน้าแบบจา พนม ทำไมขาไม่ต้องการหน้าหล่อแบบวิลลี่ แมคอินทอชมั่ง"
"อันนี้เป็นเรื่องของตัวหนัง ส่วนเรื่องของการตลาดผมว่าเรากำลังอยู่ในเรื่องของการเรียนรู้นะ เราต้องไปลงในเรื่องของเบสิกการขายว่ามาตรฐานมันอยู่ไหน เพราะ 1 คือ คนไทยไม่รู้การตลาดยังไม่รู้ว่าข้างนอกเขาขายกินกันยังไง แต่ละบริษัทก็ส่งคนไปเรียนรู้กันก่อน ยอมเสียเงินที่จะจ้างคนไปเรียนรู้เส้นทางนี้ ตอนนี้ก็อาจจะโดนกินหัวคิวจากคนขายทั่วไปที่เขาเชี่ยวชาญในการตลาดโลกอยู่ แต่วันหนึ่งเราก็ต้องมีองค์กรของเราที่จะดูแลเอง"
มองภาพรวมของอุตสาหกรรมหนังไทยหลังจากความคึกคักของต้มยำกุ้งไว้อย่างไร?
"ภาพรวมก็คิดว่ามันคงจะยังขึ้นๆ ลงๆ อยู่ เพราะว่าหนังมันเป็นงานที่ทำขายแบบเทปไม่ได้น่ะ คือแบบเทปเอาเยอะได้ แต่หนังมันมีไม่กี่คนที่สามารถทำออกมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าผู้กำกับที่นับหัวได้ในบ้านเราก็จะมีแค่ประมาณ 10 คน อย่างนี้ปีหนึ่งก็ทำ 10 เรื่อง แล้วมันจะเป็นอุตสาหกรรมได้ไง เพราะฉะนั้นต้องสร้างคนใหม่ การสร้างคนใหม่คือการใช้เงิน แต่ละคนเนี่ยประมาณ 40 ล้านนะ ถ้าจะสร้างคนใหม่ 10 คนมันต้องใช้เงิน 400 ล้าน มันเป็นเงินที่มหาศาล ซึ่งก็ต้องหานายทุนที่ใจกว้างมากๆ แล้วก็ต้องใช้เวลา"