แม้จะมีงานออกมามากมายหลายอัลบั้มให้เลือก ทว่า ก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควรที่จะหางานเพลงป็อปของศิลปินไทยที่พอจะเรียกได้ว่ามีความแปลกแตกต่าง ดูดีมีสไตล์ และน่าฟัง
ที่สำคัญคุ้มกับเงินราคากว่าร้อยที่จะต้องควักเงินจ่ายออกไป ในสภาพที่สังคมเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงเช่นนี้
"แบชเชอร์" (BASHER) กับอัลบั้ม "BASHER" และสาวน้อยวัย 19 "มาร์ดี้ - พิชานุช อัสดรธีรยุทธ์" กับอัลบั้มที่ชื่อว่า "อิน มาย เบดรูม" (In My Bedroom) คือ 2 อัลบั้มของงานที่ Recommended ขอจัดให้อยู่ในอัลบั้มส่วนน้อยที่มีคุณสมบัติอย่างที่ว่า
เริ่มกันที่ศิลปินกลุ่ม "แบชเชอร์" ที่ประกอบไปด้วยหนุ่มโสดสามคนด้วยกันคือ ปั้น เจษฎา ลัดาชยาพร (ร้องนำ), นัส อรรถพล กุมภานันท์ (กีตาร์ริธึ่ม) และ โฮม ศิวพร ห้วยหงษ์ทอง (กีตาร์โซโล) สังกัดค่ายมิวสิคบั๊กส์ ของ "เอก ธเนศ วรากุลนุเคราะห์" มี "ชนินทร์ วรากุลนุเคราะห์" รับหน้าที่ดูแลและฟูมฟัก
พลิกดูรายละเอียดการทำงานต้องบอกว่าน่าชื่นชมทีเดียวกับการเข้าไปมีส่วนร่วมเกือบๆ จะทุกงานเพลงในงานชุดนี้ทั้งในส่วนของการทำดนตรี การเขียนเนื้อร้อง ดนตรีเป็นป็อปร็อกประเภทที่เรียกกันในสมัยนี้ว่าโมเดิร์นร็อก ซึ่งดูจะเป็นแนวทางถนัดของค่ายมิวสิคบั๊กส์นี้ไปเรียบร้อยแล้ว
เพลงช้าทั้ง หัวใจในกำมือ, เกินเลย, เสียดายของ, พรุ่งนี้ของเรา ค่อนข้างจะฟังแล้วติดหูได้ง่ายกว่าเพลงเร็วอย่าง SURE หรือว่า ชัดชัด จุดเด่นที่น่าสนใจนอกจากในเรื่องของซาวนด์ดนตรีที่ค่อนข้างจะสดก็คือเสียงร้องของหนุ่มปั้น โดยเฉพาะเพลงโปรโมต หัวใจในกำมือ นั้น ใครคิดจะร้องตามคงยากพอสมควรกับการใช้เสียงเดี๋ยวสูง เดี๋ยวต่ำ รวมถึงการร้องแบบหลบเสียง ซึ่งวิธีการเช่นนี้หากใช้ไม่มากนักฟังแล้วเพราะและเก๋ดี
ทว่า ในชุดนี้ใช้วิธีร้องแบบหลบและโหนเสียงค่อนข้างจะเยอะจนเกินความจำเป็นไปนิด และก็ดูเหมือนว่ามันได้กลายวิธียอดฮิตในการทำเพลง ทำดนตรี ของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว
ทั้งที่ในอดีตผู้ที่เขียนทำนอง-นักร้องนักร้องส่วนใหญ่จะพยายามหลีกเลี่ยงการร้องในลักษณะเช่นนี้ เพราะเสียงที่ออกมาฟังแล้วเหมือนเสียงที่ถูกบีบส่งผลให้ไม่มีพลัง
โดยภาพรวมแล้วต้องบอกว่า BASHER ถือว่าเป็นอัลบั้มแรกที่เปิดตัวทั้งในส่วนของวงและค่ายมิวสิคบั๊กส์ในยุคที่บรรดาศิลปินดังวงอื่นๆ ที่พอจะขายได้ทั้ง "บิ๊กแอส" รวมทั้ง "บอดี้สแลม" ต่างพากันเดินเข้าสู่สังกัดที่ใหญ่กว่าได้อย่างดีทีเดียว
หากฟูมฟักกันดีๆ เชื่อว่า อัลบั้มชุดที่สองของพวกเขาน่าจะกลายเป็นอีกสีสันหนึ่งของวงการ ที่ใครหลายคนคงจะจับตามองอยู่ รวมทั้งไม่แน่เหมือนกันว่าหนึ่งในบรรดาผู้ที่จับตานั้นอาจจะรวมถึงแมวมองของค่ายเพลงใหญ่ๆ ที่คอยฉกศิลปินที่มี "แววดัง" เข้าสังกัดตนเองอยู่ด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งเพลงป็อปที่น่าสนใจก็คือ "อิน มาย เบดรูม" (In My Bedroom) ของสาววัย 19 ที่ชื่อ "มาร์ดี้ พิชานุช อัสดรธีรยุทธ์" สังกัดจีราฟเรคคอร์ด มี "ฉ่าย สมชาย ขำเลิศกุล" ดูแล ในขณะที่ "ปริญญา เหรียญพาณิชย์" และ "ธัชมนต์ ตันติวียวรงค์" รับหน้าที่โปรดิวเซอร์
เป็นงานอะคูสติก ป๊อป ที่มีทั้ง อาร์แอนด์บี, คันทรี, ฟังก์ รวมอยู่ด้วย มีเพลงที่ฮิตติดหูเด็กวัยรุ่นบ้านเราไปแล้วคือ "คิดถึง อยากเจอเธอ" "ขอ" "ลืมไปแล้ว" รวมทั้ง เพลงสนุกๆ อย่าง "โลกส่วนตัว"
หลายเพลงของงานในอัลบั้มชุดนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นลักษณะนิสัยของเจ้าของอัลบั้ม ที่ค่อนข้างจะมีความมั่นใจ มีจินตนาการที่สูงอยู่พอสมควร ซึ่งในโลกส่วนตัวนั้นล้วนเต็มไปด้วยความสดใส เป็นโลกส่วนตัวที่เต็มไปด้วยเรื่องราวดีๆ ส่งผลให้คนที่ฟังเพลงชุดนี้อารมณ์ดีตามไปด้วย
ประวัติของสาวน้อยคนนี้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงของดนตรีต้องถือว่าไม่ธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนดนตรีมาตั้งแต่ 7 ขวบ เคยมีประสบการณ์การเล่นดนตรีไทยอย่างระนาด (และขลุ่ยอีกเล็กๆ น้อย) รวมทั้งเป็นลูกศิษย์ (กีต้าร์) ของนักร้องสาวเสียงดี "อัยย์ พรรณี"
ที่สำคัญงานเพลงชุดนี้เจ้าตัวไม่ได้แค่ทำหน้าที่คนร้อง หรือว่าเอากีต้าร์มาสะพายเอาเท่เพื่อโปรโมตเท่านั้น ทว่า เจ้าตัวยังมีส่วนร่วมในการทำทำนอง รวมถึงแต่งเนื้อร้องในงานชุดนี้ในหลายต่อหลายเพลง ซึ่งแม้ว่าปกของอัลบั้มอาจจะดูแล้วเลอะเทอะไปหน่อยด้วยรอยขีดๆ เขียนๆ เสียงร้องอาจจะฟังแล้วแง๊วๆ เหมือนแมวไปบ้าง แต่ก็เหมาะสมกับวัยและเนื้อหาคอนเซ็ปต์ของเพลง
ของแถมที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ที่สำคัญของ In My Bedroom คือการได้มือกีต้าร์อะคูสติกฝีมือดี "ชีพชนก ศรียามาตย์" มาร่วมงานในเพลง คิดถึง...อยากเจอเธอ, รักเธอไม่เปลี่ยนไป และ ขอ ซึ่งเสียงกีต้าร์ฟังแล้วโดดออกมาจากเพลงอื่นๆ ชนิดได้ยินอย่างชัดเจน ใครที่ชอบสำเนียงและการเกากีต้าร์ของหนุ่มคนนี้รับรองได้ว่าไม่ผิดหวัง
เป็นงานเพลงที่ฟังแล้วโอกาสที่คุณจะเกิดอาการหลงรักสาวน้อยคนนี้มีอยู่สูงทีเดียว