คงไม่ต่างจากใครหลายคน ผมเองก็ชอบดูรายการ ทีวี แชมเปี้ยน มาก ไม่ว่าจะในกรณีตั้งใจรอดูหรือบังเอิญกดรีโมทผ่านมาเจอ ก็จะต้องได้ทึ่งกับความสามารถของคนญี่ปุ่นทุกครั้งไป
สิ่งหนึ่งที่เราได้ทราบจากรายการโทรทัศน์รายการนี้แน่ๆ คือ คนญี่ปุ่นเป็นคนเอาจริงเอาจัง แม้กับเรื่องเล็กน้อยที่เราๆ ต่างคิดว่าไม่เห็นมันจะสำคัญหรือเป็นประโยชน์อะไรตรงไหน แต่ถ้าลองว่าชอบหรือสนใจแล้ว พวกเขาก็ถือว่ามันเป็นศาสตร์ชั้นยอดหมด
ผมชื่นชมญี่ปุ่นตรงนี้ และพอหันมามองบ้านเราเองก็รู้สึกสะท้อนใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะนอกจากการทำอะไรให้ “ใหญ่ที่สุดในโลก” เพื่อบันทึกลงในกินเนส บุค - ดูเหมือนเราก็ทำอะไรกันไม่ค่อยจะเป็นอีก
หนังตระกูลหนึ่งที่ในความรู้สึกของผมคิดว่าไม่มีประเทศไหนทำได้ดีเท่ากับญี่ปุ่นอีกแล้ว ก็คือ หนังทำนอง "สู้เพื่อฝัน” ตัวละครเอกเป็นตัวที่สารรูปไม่เหมาะสมกับคำว่าชนะ เป็นรองในทุกด้าน ทั้งยังไม่เห็นหนทางว่า จะตะเกียกตะกายไปยังเส้นชัยได้อย่างไร
แต่พวก “ไอ้ขี้แพ้” ก็มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง ที่คนทั่วๆ ไปมักจะขาดกัน พวกเขามีวิญญาณของความพยายาม อาจเพราะว่าเคยแพ้มาแล้วจนชิน และไม่อยากฟูมฟายไปกับมันอีกก็เป็นได้ คนเหล่านี้จึงมักจะสู้ - สู้แบบคนไม่มีอะไรจะเสีย จนท้ายที่สุด ก็คว้าชัยชนะมาอยู่ในมือ
คนที่โตมากับรายการโทรทัศน์สมัย 20-30 ปีก่อน น่าจะเคยได้ดูหนังชุดญี่ปุ่นเกี่ยวกับกีฬา หลายๆ เรื่องที่เข้ามาฉายในบ้านเรา หรือคอหนังนอกกระแส ก็คงจะรู้จัก (และชอบ) งานของมาซายูกิ ซูโอะ เรื่อง Sumo Do, Sumo Don’t และ Shall We Dance? – เหล่านี้อยู่ในข่ายหนัง “สู้เพื่อฝัน” ด้วยกันทั้งสิ้น
หนัง 2 เรื่องนั้นของซูโอะ อำนวยการสร้างโดยโปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่ชื่อ โชจิ มาซูอิ ผมไม่ทราบว่ามาซูอิฝังใจอะไรนักหนากับหนังแนวนี้ แต่เขาก็ทำหนัง “สู้เพื่อฝัน” ออกมาอีกหลายเรื่อง เร็วๆ นี้ที่โด่งดังที่สุด ก็น่าจะเป็นหนังเกี่ยวกับนักเรียนชายมัธยมที่รวมหัวกันเป็นนักระบำใต้น้ำเรื่อง Waterboys ที่กำกับโดย ชิโนบุ ยางูจิ – ซึ่งได้ข่าวว่าคนดูบ้านเราก็ชอบกันมาก
ลากมาเสียไกลก็เนื่องจาก Swing Girls ที่กำลังจะพูดถึงเป็นงานชิ้นใหม่ที่ผู้กำกับยางูจิและผู้อำนวยการสร้างมาซูอิ ทำด้วยกันตามหลังความสำเร็จของ Waterboys น่าแปลกใจที่แม้จะคงขนบเดิมๆ ของหนังแนวนี้ไว้อย่างซื่อสัตย์ และแทบจะไม่มีอะไรใหม่เลย Swing Girls กลับประสบความสำเร็จในบ้านเกิดของตัวเองอย่างมหาศาล ยืนอยู่ในอันดับต้นๆ ของตารางทำเงินอยู่หลายสัปดาห์ ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงเลยสักนิด
กล่าวสำหรับตัวหนังเอง มันก็ไม่ได้ออกมาซ้ำซาก จนขนาดขี้ริ้วขี้เหร่ ตรงข้าม ในความจำเจนั้น คนทำก็เค้นเสน่ห์ส่วนตัวของมันออกมา และพาคนดูไปติดตามเรื่อง – ที่น่าจะเดากันออกอยู่แล้ว - ได้ตลอดรอดฝั่ง
Swing Girls เริ่มต้นด้วยสูตรง่ายๆ คือการแนะนำตัวละคร “ไม่เอาถ่าน” ให้คนดูได้รู้จัก สำหรับกรณีนี้ เป็นเด็กนักเรียนหญิง 13 คนที่ต้องมาเรียนซ่อมวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน กวาดสายตาอย่างปรานีที่สุด พวกเธอแทบไม่มีอะไรชวนมองเลย การที่ต้องมาเรียนซ่อมคงบอกอะไรได้ในระดับหนึ่ง
พอดีกับที่ระหว่างนั่งเรียนอยู่นั้น วงดุริยางค์ของโรงเรียน ซึ่งต้องเดินทางไปเป็นกองเชียร์ทีมเบสบอล เกิดลืมอาหารกลางวันไว้ ด้วยความที่ขี้เกียจเรียนเป็นทุนเดิม เหล่าสาวๆ นักสอบตกมืออาชีพ เลยคิดแผนชั่วด้วยการเสนอตัวเป็นคนแบกเสบียงไปให้กับวงดนตรีเสียเอง เพื่อใช้เป็นหนทางในการเลี่ยงเรียนวิชาเลขอันน่าเบื่อ
ด้วยความอิเหละเขละขละของพวกเธอ อาหารกลางวันไปถึงที่หมายในตอนเย็น และในสภาพที่เปื้อนโคลนดินเละเทะ เป็นเหตุให้วงดุริยางค์ทั้งคณะ ท้องเสียกันถ้วนทั่ว เว้นอยู่คนเดียวคือ “ไอ้ขี้แพ้” ตำแหน่งตีฉาบประจำวง ที่แย่งข้าวกล่องจากคนอื่นๆ มากินไม่ได้
พอเรื่องมาลงเอยอย่างนี้ สาวๆ ศุกร์ 13 จึงต้องมาเป็นนักดนตรีตัวสำรองให้กับวงดุริยางค์พร้อมกับหนุ่มนักตีฉาบไม่เอาไหน เพื่อเตรียมตัวสำหรับการไปเป็นกองเชียร์ทีมเบสบอลของโรงเรียนในนัดชิงชนะเลิศ
การฝึกซ้อมในช่วงต้นไร้วี่แววว่าจะคืบหน้า แต่ทีละน้อยคนทำหนังก็แสดงให้เห็นว่า เด็กๆ กลุ่มนี้พยายามจะเอาชนะสิ่งที่คนอื่นๆ ปรามาสไว้ แม้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ในการฝึกฝนจะไม่ได้ทำให้พวกเธอเล่นดนตรีดีขึ้นเลย แต่มันก็เป็นการขุดสมบัติที่แฝงเร้นอยู่ในตัวทุกคนให้งอกเงยขึ้นมา
เมื่อวงดุริยางค์ตัวจริงพักฟื้นจากอาการท้องร่วง และกลับมาทวงตำแหน่งของตัวเองคืน แทนที่สาวๆ ของเราจะแสดงอาการดีใจที่ไม่ต้องทนทู่ซี้ซ้อมดนตรีอีก พวกเธอกลับรู้สึกว่าชีวิตมีอะไรขาดหาย และก็คงจะเป็นดนตรีนั่นเอง ที่อาจจะช่วยเติมเต็มส่วนที่พร่องให้สมบูรณ์ได้
แก๊งสาวซ่าและหนึ่งหนุ่มจึงฟอร์มวงกันอย่างเงียบๆ เรียนรู้ไปด้วยกันตามมีตามเกิด การค้นพบดนตรีแจ๊ซแบบสวิง เป็นแรงผลักให้ทุกคน เกิดมีเป้าหมายบางอย่างในชีวิตขึ้นมา
Swing Girls เต็มไปด้วยมุกตลกเฮฮาอย่างที่หนังแนวนี้มักจะเป็น บางช่วงก็หลุดโลกออกแนวการ์ตูนปัญญาอ่อนไปเลยก็มี แต่ผู้กำกับยางูจิก็ไม่ได้ทำให้ส่วนนั้นมาบดบังก้อนที่เป็นสาระสำคัญของหนังจนหมด ฉากจบที่ทั้งวงได้มีโอกาสขึ้นไปเล่นบนเวทีของเทศกาลดนตรีนักเรียน เลยเป็นโมเมนต์ที่น่าประทับใจสำหรับตัวละครและคนดู
ไม่ทราบว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่ยางูจิก็เปิดเผยว่า นักแสดงทั้งหมดในหนังไม่ใช่นักดนตรีมืออาชีพ แต่เป็นเด็กมัธยมธรรมดาๆ ที่เขานำมาเวิร์กชอปก่อนมาถ่ายทำ เสียงดนตรีไม่ต่างจากแม่วัวร้องครางในตอนแรกและที่ได้ฟังกันอย่างไพเราะอิ่มเอมในช่วงท้าย ล้วนมาจากฝีมือของสาวๆ หน้าใสเหล่านี้ทั้งสิ้น
อย่างที่ย้ำไปในตอนต้นว่า Swing Girls ไม่ได้มีอะไรแผกต่างไปจากหนัง “สู้เพื่อฝัน” ที่เราดูกันมาแล้วเป็นสิบๆ เรื่อง แต่ด้วยจังหวะการเล่าเรื่องและการควบคุมสัดส่วนอารมณ์ขันกับดรามาเข้าด้วยกันอย่างพอดีๆ ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในงานชั้นเยี่ยมที่นักดูหนังไม่ควรพลาด
ผมไม่ทราบว่า บ้านเรายังมีวัฒนธรรมแบบขนนักเรียนไปดูหนังกันอีกหรือเปล่า นี่เป็นหนังที่สมควรจะทำอย่างนั้น ความสนุกสนานในเนื้อเรื่องให้ค่าตัวมันเองได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญเหนือไปกว่านั้นคือ หนังยังมอบแรงบันดาลใจขนานใหญ่ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนที่น่าจะรับเอาส่วนนี้ไปอย่างเต็มที่
สื่อบ้านเราไม่ค่อยป้อนอะไรอย่างนี้ให้กับเด็กๆ นัก เราไม่เคยบอกลูกหลานด้วยวิธีอันแยบยลด้วยว่า การสอบวิชาเลขตก การเอนทรานซ์ไม่ติด หรือการเจอรับน้องโหดๆ นั้นหมายถึงชีวิตต้องจบสิ้น
คนเราต้องมีดีอะไรสักอย่าง นั่นเป็นเรื่องจริง แต่ปัญหาก็คือ เราอดทนพอหรือยัง และเราพยายามกันมากพอแล้วหรือ?