xs
xsm
sm
md
lg

The Mirror : เหยื่อบริสุทธิ์

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


**บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง**

อิหร่านเป็นประเทศที่เผชิญหน้ากับสงครามและความไม่สงบมายาวนาน ซึ่งแม้ตอนนี้ ความวุ่นวายต่างๆ นานาที่ยื้อไม่ให้ประเทศพัฒนาไปอย่างที่ควรจะเป็น – เริ่มมีแนวโน้มว่าจะดำเนินไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่อิหร่านก็ยังมีเงื่อนปมทางสังคมที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงมากกว่านั้น

สิ่งที่ทำให้คนทั่วโลกได้มีโอกาสรับทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของอิหร่านไม่ได้มาจากข้อเขียนของสื่อมวลชน หรือรายการโทรทัศน์ทางซีเอ็นเอ็น แต่น่าเหลือเชื่อว่า สื่อที่สะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ออกมาได้อย่างชัดแจ้งคือ ภาพยนตร์

เมื่อราวๆ 6-7 ปีก่อน นักดูหนังบ้านเราค่อนข้างเห่อหนังอิหร่านกันมาก แน่นอนว่ามันคงมาจากพื้นฐานที่ไม่มีใครคาดคิดว่า ประเทศที่ดูปิดกั้นอย่างนั้น จะผลิตผลงานชั้นยอดทางศิลปะออกมาได้

ประวัติศาสตร์หนังอิหร่านมีความเป็นมาที่ต้องย้อนหลับไปไกลหลาย 10 ปี คนทำหนังที่ตอนนี้กลายเป็นปรมาจารย์ไปแล้วอย่าง อับบาส เคียรอสตามี ก็ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มทำหนังในยุค 90 หากแต่ทำมาก่อนหน้านั้นแล้วไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี เพียงแต่เพิ่งได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติก็เท่านั้น

ชื่อของนักทำหนังชาวอิหร่านที่เกาะกลุ่มมาด้วยกันนอกเหนือจากเคียรอสตามีแล้ว ยังประกอบไปด้วย โมห์เซ็น มัคมัลบัฟ, มายิด มายิดี และ จาร์ฟา ปานาฮี โดยเฉพาะคนหลังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ผลงานของเขาน่าจะถูกพูดถึงในวงกว้างมากที่สุด เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ มองในแง่เนื้อหาและการนำเสอแล้ว งานของปานาฮีก็ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างหนังที่หนักมากๆ (ของเคียรอสตามีหรือมัคมัลบัฟ) และหนังที่เร้าอารมณ์มากๆ (ของมายิดี) มันมีลักษณะของความพอดี ที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้มากกว่า

หลังจากประสบความสำเร็จกับ The White Balloon ในปี 1995 ปานาฮีก็งานอีกชิ้นที่ออกมาในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในอีก 2 ปีถัดมา The Mirror ได้ผลตอบรับที่ดีไม่ต่างกัน ตัวหนังคว้ารางวัลจากเทศกาลใหญ่ๆ มาครองมากมาย เหมือนเป็นแรงโหมให้กระแสหนังอิหร่านพัดวีรุนแรงยิ่งขึ้น

น่าดีใจที่นักดูหนังบ้านเราจะมีโอกาสได้ชม The Mirror กันในโรงภาพยนตร์ (แม้หลายคนอาจเคยดูวิดีโอหนังเรื่องนี้กันมาบ้างแล้ว) ในเทศกาลหนังเด็กที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ จัดขึ้น แม้จะคล้อยหลังช่วงเวลาที่หนังออกฉายครั้งแรกถึง 8 ปีก็ตาม

The Mirror ยังมีส่วนเชื่อมโยงกับ The White Balloon อยู่ตรงที่หนังดำเนินเรื่องด้วยตัวละครเด็ก ในกรณีนี้ คือ มีนา เด็กหญิงชั้น ป.1 ที่กำลังนั่งรอแม่มารับกลับบ้านหลังเลิกเรียน ในขณะที่เพื่อนๆ กลับบ้านกันไปหมดแล้ว แต่ยังไม่มีวี่แววว่าผู้ปกครองของเธอจะมารับ

ด้วยสภาพการณ์ที่เต็มไปด้วยความทุลักทุเล – เธอตัวเล็กกระเปี๊ยกเดียว เครื่องแต่งกายและผ้าโพกหัวดูรุงรัง หนำซ้ำแขนข้างหนึ่งยังเข้าเฝือก ทั้งยังต้องแบกกระเป๋านักเรียนใบเขื่องไว้ด้วย – มีนาตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเอง เพราะทนรอไม่ไหว และอึดอัดจะนั่งคอยแล้ว

แต่ปัญหาก็คือ เด็กน้อยไม่แน่ใจนักว่า ทางกลับบ้านนั้นอยู่เส้นไหน จำได้แค่อนุสาวรีย์ที่อยู่ละแวกบ้าน ซึ่งบอกกับใครแล้ว ก็ไม่มีใครใคร่จะนึกออก เท่าที่ทำได้คือ ปุเลงๆ ตัวเองและสัมภาระขึ้นบนรถประจำทาง พลางส่ายตามองออกไปนอกกระจก เผื่อว่าจะพบกับอะไรที่พอจะคุ้นหูคุ้นตาบ้าง

หลังจากที่คนดูอมยิ้มมาตั้งแต่ต้นเรื่อง เพราะความน่ารักของหนูน้อยมีนา ถึงตอนนี้ก็ไม่มีใครขำออกอีกต่อไป การเดินทางกลับบ้านของเธอ มีความหวังริบหรี่ลง และเด็กน้อยก็เริ่มน้ำตาคลอเบ้า ยิ่งไปกว่านั้น คนรอบข้างก็ดูจะไม่มีใครที่คิดจะช่วยเหลือเธออย่างจริงๆ จังๆ

ปานาฮีหักมุมด้วยการให้มีนาหันมามองกล้อง และเสียงใครสักคนจากข้างหลังกล้องก็แทรกเข้ามาว่า “อย่าหันมามองกล้องสิมีนา” ไม่นานักเด็กน้อยก็ดึงผ้าโพกหัวและเฝือก (ปลอมๆ) ออกด้วยความหงุดหงิด และบอกไปว่า “หนูไม่ถ่ายแล้ว ไม่เล่นด้วยแล้ว” และเดินออกจากฉากไป

กลายเป็นว่าสิ่งที่คนดูได้ชมมาราว 30 นาทีนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่าง “สมมติ” มันเป็นเพียงหนังเรื่องหนึ่งที่มีเด็กน้อยมีนาเป็นนักแสดงนำ

สอบถามดูแล้ว ทีมงานก็พบว่ามีนาไม่สบอารมณ์ใครสักคนในกองถ่าย และเธอก็เหนื่อยล้าแล้วสำหรับการทำงานครั้งนี้ เธอยืนกรานว่าจะไม่เล่นหนังต่อ และบอกกับผู้จัดการกองถ่ายว่าจะกลับบ้านเดี๋ยวนี้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครมายุ่งกับเธอ

แทนที่จะงอนง้อเด็ก ซึ่งถือเป็นเรื่องสามัญสำนึก ผู้กำกับและทีมงานกลับปล่อยให้มีนากลับบ้านไปตามลำพัง เพราะบังเกิดไอเดียบรรเจิดว่า ในเมื่อถ่ายหนังไม่ได้แล้ว ก็เปลี่ยนมาถ่ายสารคดีว่าด้วยการกลับบ้านของมีนาเสียดีกว่า

และแล้วมีนาก็ได้เริ่มผจญภัยเหมือนหนังที่เธอเล่นอีกครั้งหนึ่ง โดยมีกล้องคอยจับภาพอยู่ห่างๆ ปานาฮีบอกกับคนดูอย่างอ้อมๆ ว่า สิ่งที่คนดูเห็นในหนังเมื่อครึ่งชั่วโมงแรก - ว่าไม่มีใครนึกจะสนใจเด็กน้อยนั้น มันไม่ใช่เรื่องที่แต่งขึ้น เพราะในสภาพความเป็นจริง ก็มีคนนับร้อยที่พร้อมจะเมินเฉย และเห็นว่า มันไม่ใช่ธุระของตัวเอง

มีคนหลายคนเข้ามาสอบถามมีนา แต่ก็ไม่มีใครจะถือเป็นธุระอย่างจริงจัง มีนาไม่สามารถพึ่งพาใครได้เต็มร้อย นอกจากตัวเธอเอง

การเดินทางในครึ่งหลังโลดโผนกว่าครึ่งแรกมาก เราได้เห็นมีนาเดินท่ามกลางการจราจรที่แออัด เห็นเด็กน้อยต่อรองราคาแท็กซี่ด้วยตัวเอง นี่ยังไม่นับว่า เธอเองก็ยังไม่แน่ใจว่า เส้นทางกลับบ้านนั้น มันอยู่ตรงไหนกันแน่

เห็นกันอย่างชัดเจนว่า คนที่เข้าข่ายใจร้ายหมายเลข 1 คือ บรรดาผู้คนเดินถนนที่ไม่มีใครคิดจะช่วยเหลือมีนาเลย ทุกคนห่วงแต่ธุระของตนเอง พ้นไปจากนี้แล้วก็จะต้องมองข้าม การถ่ายทอดสดการแข่งฟุตบอลนัดสำคัญ ยังจะได้รับความสนใจมากกว่าเด็กแปลกหน้าตัวเล็กๆ คนหนึ่งพยายามจะกลับบ้านเสียอีก

แต่ที่จะหลงลืม และละเว้นการถูกประณามไม่ได้เลย รวมถึงเข้าข่ายคนใจร้ายหมายเลข 2 คือคนทำหนัง ที่เฝ้าแต่มองเห็นความสำเร็จในงานของตัวเอง โดยไม่ได้นึกไปว่า เด็กตัวเล็กๆ อย่างมีนาจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง

สุดท้ายจริงๆ และคนดูเองก็นึกไม่ถึงก็คือ คนใจร้ายหมายเลข 3 จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากผู้ที่นั่งดูหนังเรื่องนี้ด้วยความสนุกสนานกลั้วเสียงหัวเราะ น้อยคนจะเอาใจมีนามาใส่ไว้ในใจของตัวเองว่า เด็กน้อยต้องลำบากใจแค่ไหนกับความพยายามเดินทางกลับบ้านในครั้งนี้

The Mirror พูดประเด็นใกล้เคียงกับ The White Balloon มาก ซึ่งปานาฮีพยายามบอกว่า นี่เป็นปัญหาเรื้อรังของอิหร่าน นั่นคือการที่ทุกคนมัวแต่นึกถึงผลประโยชน์ของตนเอง จนกระทั่งมองข้าม และบางครั้งก็ถึงขั้นทำร้าย คนรอบข้าง (หรือคนที่ด้อยกว่า) อย่างไม่รู้ตัว

หนังจบลงด้วยการค้างอารมณ์ไว้ ภาพของเด็กหญิงมีนาถึงบ้านอย่างปลอดภัย และแอบมองกล้อง (ซึ่งยังตามถ่ายเธอมาถึงหน้าบ้าน) จากประตูบ้านด้วยสีหน้าที่อธิบายไม่ได้

เด็กน้อยยังคงโมโห และตั้งคำถาม – ถึงใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ – ว่าผู้ใหญ่กลุ่มนี้กำลังทำอะไรกันอยู่ แล้วทำไมถึงได้ใจร้ายกับเธอนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น