xs
xsm
sm
md
lg

"พลาสม่า - หิน เหล็ก ไฟ" ความต่างของเลือดเก๋ากับเลือดใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"Recommended" มีงาน 2 อัลบั้มจาก 2 ค่ายลูกของอาร์เอสฯ มาแนะนำ

2 งานที่น่าสนใจ เพราะฝ่ายหนึ่งเล่นเยอะแต่กลับได้น้อย ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเล่นน้อยแต่กลับได้เยอะ

ชิ้นแรกออกมาค่อนข้างจะนานพอสมควร ชื่อว่า "พลาสม่า" (PLASMA) ซึ่งเป็นทั้งชื่ออัลบั้มและชื่อของวงที่ประกอบไปด้วย 5 สมาชิกอย่าง "โต๋ วิทู พูวิบูลย์" (ร้องนำ), "ใหม่ จำลักษณ์ ศักดาวุธ" (กีต้าร์), "กอล์ฟ ธวัชชัย พยุงวัฒนา" (กีต้าร์), "โอ๊ต ปวริศ สินสมุทร" (เบส) และ "เล็ก สิทธิเดช ชอบสระน้อย" รับหน้าที่ตีกลอง สังกัดค่าย "Genome records"

งานดนตรีเป็นแบบ(ป็อป)ร็อกที่มีส่วนผสมของความเป็นเฮฟวี่อยู่นิดๆ เปิดอัลบั้มกันด้วยเพลงที่กระแทกหูอย่าง "หูดับตับไหม้" ก่อนจะเปลี่ยนอารมณ์กันแบบสุดขั้วในเพลง "ที่รัก" เพลงโปรโมตซึ่งค่อนข้างจะคุ้นหูกันดีเพราะเปิดทางวิทยุกันบ่อยๆ

เบาลงไปอีกในแทร็กที่สามกับ "หน้าอกที่ไม่มีหัวใจ" แทร็กที่ 4 "อยากตื่น" เสียงโซโล่ล้อกันของกีต้าร์สองตัวตอนต้นเพลงเพราะดีทีเดียว ก่อนจะมาอุดหูอีกครั้งกับ "เซ็ง" ในแทร็กที่ 5

หน้าบี(ของเทป)เริ่มต้นด้วย "ไม่อยากตื่น" มีช่วงโซโล่กีต้าร์พอเป็นกษัยอยู่ช่วงหนึ่ง(ช่วงเดียว) น่าจะเป็นอีกเพลงหนึ่งที่ขายได้ แทร็กที่ 7 ใครไม่ชอบเสียงดังต้องเตรียมอุดหูเป็นครั้งที่ 3 กับเพลง "รักชาย" ในขณะที่แทร็กที่ 8 "สีดำบนผ้าขาว" ซาวนด์ที่ออกมารวมทั้งอารมณ์ของเพลงต้องบอกว่าเป็นแบบอาร์เอสซาวนด์แบบเต็มตัว ค่อนข้างจะต่างกับเพลงอื่นๆ ชนิดที่ไม่น่าจะมารวมอยู่ด้วยกันได้ ไม่ต่างอะไรมากนักกับอารมณ์ของเพลง "ปมปริศนา" ในแทร็กที่ 9

ขณะที่เพลงสุดท้าย "อ้วน" เพลงนี้แม้จะหลุดไปจากทุกๆ เพลงด้วยดนตรีแบบแจ๊ซแต่ก็เก๋ไก๋และชวนให้เพลินในอารมณ์ไมน้อยและเป็นการจบการฟังเพลงทั้งอัลบั้มที่ดีทีเดียว

ในส่วนของภาคดนตรี แยกเป็นเพลงๆ ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา ทว่าเมื่อเอามารวมๆ กันจนออกมาเป็นงานชิ้นใหญ่ทั้งหมดแล้วค่อนข้างจะน่าผิดหวังทีเดียว เพราะถึงแม้จะมีความพยายามกันสักเท่าไหร่ ทว่าสิ่งที่ออกมาดูเหมือนว่าจะไม่ได้แตกต่างไปจากความเป็นเพลงแบบอาร์เอสซาวนด์ รวมทั้งรูปแบบที่ออกมาก็ไม่ได้ต่างไปจากศิลปินวงอื่นๆ ของค่ายนี้สักเท่าไหร่

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือเรื่องของเนื้อร้องและเนื้อหาในแต่ละเพลงที่เกี่ยวกับความรักในรูปแบบที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งคอนข้างจะซ้ำๆ ซากๆ เป็นพิมพ์เดียวกับศิลปินของอาร์เอสส่วนใหญ่ ใช้คำที่เปรียบเปรยที่ค่อนข้างจะออกไปในคำพูดของตัวละครนิดๆ เช่น ขยะใจ, หน้าอกที่ไม่มีหัวใจ ฯ ที่ให้อารมณ์ห่างเหินไปจากความเป็นจริงพอสมควร

คำเหล่านี้ถ้าอยู่ในเพลงประเภทลูกทุ่ง ลูกกรุง คงจะฟังเพราะดี แต่ดูจะไม่เหมาะสักเท่าไหร่กับเพลงป็อปแบบนี้

ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือผิดอะไร เพลงก็ฟังได้ เพียงแต่มันไม่มีอะไรที่แปลกใหม่ เนื้อหาของเพลงไม่มีพลังเพียงพอที่จะเรียกความตื่นเต้นหรือสร้างความประทับใจให้กับคนฟังได้สักเท่าไหร่ ถ้าจะพูดกันง่ายก็คือไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเรียกเงินจากกระเป๋าของแฟนเพลงออกมาได้นั่นแหละ

ยิ่งเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่ไม่มีจุดขายอะไรมากมาย ไม่มีงบโฆษณาให้ ก็ยิ่งไปกันใหญ่

พอออกมาเป็นเช่นนี้ ผลที่ตามมาก็คืออาการความไม่เกิดประโยชน์อะไรจากความสามารถและทักษะทางด้านการเล่นดนตรีของแต่ละคน โดยเฉพาะสองมือกีต้าร์ทั้ง "ใหม่" และ "กอล์ฟ" ที่อยู่ในระดับที่เป็นถึง "ครู" ด้วยแล้วยิ่งน่าเสียดายมากๆ เพราะไหนๆ ก็มีโอกาสทั้งทีก็น่าจะปล่อยมันเต็มที่ไปเลย ไม่ได้เงิน แต่ได้กล่องก็ยังดี

ยิ่งพอรู้ว่ามีการพยายามที่จะทำให้ชื่อของวงมีที่มาที่ไปชนิดดูยิ่งใหญ่อลังการ ทั้งๆ มาจากชื่อจอทีวีก็ยิ่งน่าเห็นใจวงดนตรีวงนี้เข้าไปอีกกับวิธีคิดในการขายงานของค่ายเพลง

คนไหนของจริงคนไหนของปลอม คนไหนทำเพลงแบบจริงใจ คนไหนทำเพลงแบบมองธุรกิจเป็นหลัก เดี๋ยวนี้คนฟังเพลงเค้ารู้หมดแล้ว

ไม่ต้องสร้างภาพอะไรกันนักกันหนา...

จาก "พลาสม่า" มาถึงงานชุดใหม่ของ "หิน เหล็ก ไฟ" กับอัลบั้มชุดที่สามที่ชื่อว่า "Never Say Die" สังกัด "Real and Sure" ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกรุ่นเก๋า ทั้ง โป่ง ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ : ร้องนำ, โต นำพล รักษาพงษ์ : กีต้าร์, ป๊อบ จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย : กีต้าร์, รงค์ ณรงค์ ศิริสารสุนทร : เบส และปิงปอง ดำรงค์สิทธิ์ ศรีนาค : กลอง

ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของช่วงระยะเวลาที่ห่างหายมาจากชุดที่สอง(คนยุคเหล็ก : 2538)ของพวกเขานานร่วมทศวรรษเท่านั้นที่สร้างความรู้สึกตื่นเต้นและความอยากที่จะฟังงานในอัลบั้มชุดนี้ให้เกิดกับคอเพลงเฮฟวี่ เมทัลทั้งหลาย

หากแต่ในส่วนของเนื้อหาสาระของงานในอัลบั้มที่เต็มไปด้วยแง่มุมของการมองชีวิต บทเพลงที่ให้กำลังใจบวกกับแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็น "ศรัทธา" "ลุย" "อธรรม" "วันที่ยิ่งใหญ่" ฯ รวมถึงความปราณีตในการทำดนตรี ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นส่วนประกอบที่ทำให้หลายคนยอมควักเงินในกระเป๋าออกมาเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของงานชิ้นนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นเลย

นานทีเดียวที่บ้านเราไม่มีงานเพลงประเภทเฮฟวี่ เมทัล(แบบไม่ต้องมาถูแผ่นหรือแร็พโย่)ออกมาให้เสพสักเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติที่ค่อนข้างจะน่าแปลกใจทีเดียวทั้งที่ตลาดของคนฟังกลุ่มนี้ก็ใช่ว่าจะน้อยอะไร ทว่ากลับมีวงดนตรีในแนวนี้น้อยเหลือเกิน ชนิดที่ชวนให้คิดว่าหากมีใครกล้าที่จะทำออกมาแล้วติดหู น่าประทับใจ จนคอเพลงร็อกให้การต้อนรับแล้วละก็บอกได้เลยว่า "เกิด" และก็ "ขายยาว" อย่างแน่นอน

ลองไปนับๆ ดูว่าบ้านเรามีวงประเภทเฮฟวี่ฯ แบบเท่ห์ๆ โซโลกีต้าร์กันแบบยาวๆ นานเป็นนาทีๆ แบบนี้ สักกี่วงกัน ยิ่งถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่แล้วต้องบอกว่าไม่มีเอาซะเลย เนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นประเภทเดินตามกระแสของดนตรีตะวันตกซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพอทางนั้นเกิดอาการนิ่ง บ้านเราก็เลยเกิดอาการตัน

เอาเป็นว่าไม่ต้องการันตีหรือเชียร์อะไรกันให้มากมายสำหรับ "Never Say Die" ของ "หิน เหล็ก ไฟ" ชุดนี้ เพราะทั้งชื่อของอัลบั้มและชื่อของศิลปินล้วนการันตีระดับคุณภาพของงานได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น