xs
xsm
sm
md
lg

มหา’ลัย เหมืองแร่ : เกียรติของคน ต้องขุดเอง

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


ผมตั้งใจจะไม่เขียนถึงหนังเรื่อง มหา’ลัย เหมืองแร่ ของ จิระ มะลิกุล เพราะคิดเอาเองว่า เมื่อถึงเวลาที่หนังออกฉายจริงๆ ตัวมันคงกลายเป็นกระแสที่โด่งดัง ใครต่อใครคงพากันพูดถึงหนังเรื่องนี้จนเฝือแล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องมาพูดซ้ำๆ กันอีกหลายรอบ

แต่อย่างที่ทราบกันว่า ผลลัพธ์ออกมาในทางตรงข้าม กระแสของหนังเงียบกว่าที่ผมคาดไว้ สิ่งที่นึกไว้ว่าเคยเกิดขึ้นกับ โหมโรง มันก็ไม่ปรากฏกับมหา’ลัย เหมืองแร่ แม้แต่กับงานชิ้นก่อนของจิระอย่าง 15 ค่ำเดือน 11 หนังเรื่องนี้ก็ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น

สุดวิสัยที่ผมจะประมาณ ว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร แต่ก็นับว่าน่าเสียดายมาก หากหนังที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและข้อคิดเรื่องนี้จะถูกหลงลืมไปโดยไม่มีใครสนใจจะเข้าไปดู ทั้งๆ ที่ – ในความเห็นส่วนตัวของผม – มันเป็นหนังที่ดูง่าย ชวนให้ซาบซึ้ง และไม่ยากเลยที่จะทำให้คนดูรู้สึกตกหลุมรัก

ผมชอบหนังเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกตัวหนังยังมีบางจุดที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือความจริงแล้วอาจจะไม่ใช่ปัญหาของตัวหนังเลยก็ได้ ผมเคยอ่านหนังสือมา แล้วก็ดันจินตนาการไปล่วงหน้าแล้วว่า ตอนนี้ๆ ต้องออกมาแบบนี้ พอมันผิดเพี้ยนไปจากความคิด ก็เกิดอารมณ์ขัดแย้งเล็กๆ อยู่ข้างใน

สรุปแล้ว ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังโดยตรงเพียงประการเดียว ตัวผม (ในฐานะคนดู) ก็คงมีส่วนบ้าง ที่สลัดความคาดหวังส่วนตัวไปไม่พ้น

งานเขียนของอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นหนังสือที่ไม่ว่าจะหยิบมาอ่านกี่ครั้งก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อ เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจหาตัวจับยาก สำนวนโวหารถึงพร้อม ขนาดเอาไปเป็นแบบเรียนวิชาภาษาไทยยังได้ มีความจริงใจใสซื่อ แต่ในขณะเดียวกันมันก็โรแมนติก มีอารมณ์ถวิลหาสิ่งที่ล่วงเลยผ่านพ้นเจืออยู่จางๆ และตัวหนังสือของอาจินต์เองก็ไม่เคยขาดแคลนอารมณ์ขัน

โจทย์ของจิระนั้นยากเหลือเกิน การดัดแปลงเรื่องสั้นจำนวนกว่า 100 เรื่องที่เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ไม่ได้ปะติดปะต่อ มาเป็นหนังความยาว 2 ชั่วโมง ต้องอาศัยการ “ยำ” เรื่องที่ดี ตัวผู้กำกับเขาแก้ปัญหาด้วยการขึ้นโครงใหม่เสียเอง ด้วยการเปรียบเทียบชีวิตวัยหนุ่มของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ใช้ไปในเหมืองแร่ จ. พังงา ให้ไม่ต่างกับการใช้ชีวิตการศึกษาในมหาวิทยาลัย

ถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และแน่นอนว่า โครงที่ว่านั้นก็ทำให้ตัวผู้กำกับ ทำงานง่ายขึ้นกับการเกลี่ยเรื่องราวให้จบลงภายในระยะเวลาอันจำกัด

ปีแรกของอาจินต์ในเหมืองคือปัญหาเรื่องการปรับตัวล้วนๆ ส่วนปีที่ 2 หนังก็จับไปที่พัฒนาการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอกและผองเพื่อนร่วมงาน ปีถัดไปอาจินต์ก็เจอปัญหาที่หนักหน่วงขึ้น จนกระทั่งดำเนินไปสู่ปีที่ 4 หรือปีสุดท้าย ที่มีบททดสอบยากๆ ของชีวิตรอเขาอยู่

มองโดยรวมแล้วก็ต้องบอกว่าจิระทำได้ค่อนข้างดี แม้หลายฉากหลายตอน การเชื่อมต่อเรื่องราวยังไม่ “เนียน” เท่าที่ควร ด้วยพล็อตเดิมที่แยกเป็นเอกเทศออกจากกัน ทำให้บางจุดดู “โดด” ออกมาอย่างเห็นได้ชัด จนถึงขนาดไปแย่งชิงความเด่นที่ควรจะเกิดขึ้นในตอนท้าย และเป็นเหตุให้ไคลแม็กซ์ดูแผ่วไปจากที่มันควรจะเป็น

ส่วนที่ผมติดอีกอย่างหนึ่ง คือการปูพื้นชีวิตช่วงต้นก่อนจะเข้าเหมืองของอาจินต์อย่างรวบรัดตัดความ ในต้นฉบับเรื่องสั้นชุดแหมืองแร่ อาจจะไม่ได้เน้นย้ำตรงจุดนี้ก็จริง แต่มันก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นเงื่อนไขที่จะต้องบอกกับคนดูว่า อะไรบีบบังคับให้เด็กหนุ่มในเมือง ยอมมาลำบากในที่ไกลปืนเที่ยงอย่างนี้

คนดูรับทราบเพียงว่า อาจินต์ถูกพ่อส่งมาดัดสันดาน แต่ก็ไม่ทราบอย่างจริงจังว่า อะไรทำให้เขาถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัย จนถึงขั้นท้อแท้ต่อชีวิต และเลิกหัวรั้น ยอมอยู่ในอาณัติของผู้เป็นพ่อ

ในหนังสือ “วัยบริสุทธิ์” ที่อาจินต์เขียนเล่าชีวิตวัยเด็กของตนเอง ได้มีการอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขาและพ่อไว้สั้นๆ - ผมขอคัดลอกมาดังนี้

“ข้าพเจ้าล้มเหลวในการเรียนช่างอย่างไม่เป็นท่า พ่อมากรุงเทพฯ พบข้าพเจ้าเรียนคำนวณเวลาและส่วนคูณหารอยู่ในสนามม้า เรียนเรขาคณิตชั้นสูงจากการวิ่งของลูกบิลเลียด เรียนวิธีกะจังหวะอยู่หน้าโรงจำนำ พ่อไม่ได้พูดอะไรสักคำเดียว เราก็รู้กันด้วยภาษาเงียบ ภาษาของสายโลหิต พ่อไม่เคยเฆี่ยน ข้าพเจ้ากลัวยิ่งกว่าถูกเฆี่ยน เพราะแทนที่จะเจ็บที่ร่างกายของข้าพเจ้า มันกลับไปปวดร้าวที่ประสาทอันมีค่า คือนัยน์ตาของพ่อ”

นั่นเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้อาจินต์เดินทางไปพังงา นอกเหนือจากไปเพื่อประชดชีวิตตามประสาคนหนุ่มเลือดร้อนผู้ล้มเหลวไปเสียทุกอย่าง เพียงย่อหน้านั้นย่อหน้าเดียว มันก็เต็มไปด้วยพลังอัดแน่นของอารมณ์ ผมเลยค่อนข้างเสียดายที่หนังเลือกที่จะละส่วนนี้ไว้ โดยเล่ามันแค่ 2 – 3 นาที

พ้นไปจากข้อติติงต่างๆ ที่กล่าวมา ผมก็ไม่รู้สึกติดขัดอะไรอีก หนังมีงานสร้างที่ดีมาก (ทั้งงานภาพโดย ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ และออกแบบงานสร้างโดย เอก เอี่ยมชื่น) การคัดเลือกตัวแสดงก็เช่นเดียวกัน ว่ากันตามตรงผมออกจะแปลกใจอยู่ไม่น้อย ที่ได้เห็นตัวละครอย่าง นายฝรั่ง, ไอ้ไข่, พี่จอน หรือใครอีกหลายคนในหนังสือ ดูมีชีวิตเลือดเนื้อขึ้นมาจริงๆ เหล่านักแสดงเองก็เล่นกันได้อย่างลื่นไหลเป็นธรรมชาติ

ปัญหาเรื่องการแสดง เป็นโรคร้ายเรื้อรังในหนังไทยที่บางทีมักแก้กันไม่ตก แต่มหา’ลัย เหมืองแร่ ไม่ได้สะดุดในจุดนั้น (แม้แต่นักแสดงหน้าใหม่อย่าง พิชญะ วัชจิตพันธ์ ผู้รับบท อาจินต์ ก็ทำได้ดี) การแสดงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้คนดู “เชื่อ” เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเจอ ความเชื่อนี่สำคัญนะครับ ลองว่าคนดูไม่เชื่อเสียแล้ว หนังก็ไม่สามารถพาคนดูไปไหนได้เลย

แต่คุณค่าที่แท้จริงของมหา’ลัย เหมืองแร่ อยู่ตรงที่มันบอกเล่าสัจธรรมบางอย่างของชีวิต และเสนอแนะให้คนดูหันมามองย้อนตัวเอง ผมเข้าใจว่ากว่าร้อยละ 90 ทุกคนคงเคยเจอปัญหาแบบอาจินต์ คือผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นที่สับสน เคว้งคว้าง และตั้งคำถามว่า ตัวเองควรเดินไปทางไหนดี

เกียรติของคนเราสำหรับอาจินต์แล้ว อาจไม่ได้มาจากวีรกรรมที่มโหฬารใหญ่โต แต่มันคือการมองเห็นคุณค่าเล็กๆ น้อยๆ ของตนเอง และการให้ความนับถือต่อผู้คนรอบข้าง

เด็กส่วนใหญ่มักไม่มองในจุดนี้ เช่นกันกับที่ผู้ใหญ่ในบ้านเรา ก็มักไม่สอนเด็กๆ ในเรื่องนี้ด้วย นับวันเราก็ทำให้สังคมมองคุณค่ากันที่วัตถุกันไปหมด

สิ่งที่มหา’ลัย เหมืองแร่บอก เป็นข้อคิดที่ง่ายที่สุด ธรรมดาที่สุด และก็ดีที่สุดด้วยครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น