แม้จะประสบความสำเร็จในเรื่องของรายได้ ทว่าในเรื่องของเสียงวิจารณ์ที่มีต่อหนังของ "ต้อม ยุทธเลิศ สิปปภาค" แล้วดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่เดินสวนทางกันอยู่พอสมควรดูได้จากผลงานที่ผ่านๆ มาของเขาทั้ง "มือปืน โลก พระ จัน", "สายล่อฟ้า", "บุปผาราตรี", รวมทั้ง "กุมภาพันธ์"...
รับทรัพย์แต่มักจะไร้กล่อง
หลายครั้งหลายคราที่มักจะมีบทวิจารณ์เขียนถึงงานของผู้กำกับคนนี้ว่าเป็น "หนังตลาด" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งโจทย์วิพากษ์ในเรื่องของความมี "คุณค่า" ของตัวหนัง ทว่าต้อมเองดูจะไม่ใส่ใจสักเท่าไหร่หากแต่เมื่อใดที่เขารู้สึกว่าตนเองโดนล้ำเส้นและเป็นการวิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรมผู้กำกับคนนี้ก็จะลุกขึ้นมาตอบโต้ชนิดที่ใครได้ยินได้ฟังเป็นต้องสะดุ้งกับถ้อยคำที่ค่อนข้างจะรุนแรงจนเป็นที่มาของฉายา "ผู้กำกับปากจัด" ของเขา
จะบอกว่าต้อมเป็นลูกรักของนายทุนแต่เป็นลูกเมียน้อยในสายตาของนักวิจารณ์คงไม่ผิดนัก
อะไรที่ทำให้เขาเป็นคนสไตล์นี้? อะไรที่อะไรที่ทำให้ต้อมกระโจนเข้าหา "มีด" ที่สื่อฯ มักจะหยิบยื่นให้หากต้องการที่จะได้ข่าวแรงๆ สักชิ้นหนึ่ง?(โดยเฉพาะข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับนักวิจารณ์) ผู้ชายคนนี้เกลียดการวิจารณ์มากๆ เลยใช่มั้ย? บทสนทนาจากนี้ไปน่าจะพอตอบคำถามดังกล่าวได้บ้าง
โปรเจ็กต์หนังเรื่องใหม่ "อีติ๋มตายแน่" ไปถึงไหนแล้ว
"อยู่ในขั้นตอนเขียนบทยังไม่เสร็จ คนเขียนบทคืออุดมกับน้องชื่อชนก เป็นหนังล้อเลียนหยิกแกมหยอกสไตล์อุดม แต้พานิช ตอนนี้ผมเข้าข่ายเป็นผู้กำกับเต็มตัวมากกว่า ไม่ได้ทำงานหลายหน้าที่ กำกับอย่างเดียว"
แค่ชื่อคงไม่แคล้วที่จะถูกมองว่าเป็นหนังตลาด?
"อ้าวก็มันตลาด เดี๋ยวนะเรื่องชื่อเรื่องเนี่ยะมันกำหนดไม่ได้นะว่าอะไรตลาดไม่ตลาด อย่างหลวงพี่เท่งตลาดเหรอ ผมว่ามันอาร์ตนะ หลวงพี่เท่ง หลวงพี่ (หัวเราะ) ผมว่าชื่อมันไทยดี เหมือนอย่างอีพริ้งคนเริงเมือง ไอ้พวกอีๆ ทั้งหลาย สมัยก่อนเขาจะชอบคือยุคสมัยมันไม่เหมือนกันคำว่าอีของยุคนี้กับอีของยุคโน้นมันต่างกัน"
"ภาษามันไม่ดิ้นนะแต่สันดานคนทัศนะคติของคนมันเปลี่ยน ดังนั้นภาษาไม่น่าจะเป็นความผิด แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปน่าจะเป็นในเรื่องของวัฒนธรรมอะไรมากกว่า"
ได้ชื่อว่าเป็นหนังของ "ต้อม ยุทธเลิศ" ต้องมีเสียดสี
"มันเป็นพฤติกรรมของคนไทย พฤติกรรมของอะไรมากกว่าเอามาล้อเล่น อำกัน ผมไม่คิดว่าจะเป็นการสร้างศัตรูนะ มันเป็นเรื่องของการอำขำๆ มันไม่ใช่เรื่องของการด่า มันเป็นเรื่องพฤติกรรมชวนตลกของมนุษย์ คนไปดูก็ชวนตลกไปด้วยแค่นั้นเอง มันไม่น่าจะเป็นหนังจิกตีหรือว่าแร้งทึ้งใครขนาดนั้น"
กลัวว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิ์คนอื่นมั้ย?
"หนังมันไม่ใช่ทีวี มันเป็นเรื่องสบายๆ มาก ทีวีมันดูฟรีมันจะส่งคลื่นบุกเข้าไปถึงบ้านดังนั้นทีวีมันควรมีการไตร่ตรองหรือมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ เพราะมันเลือกกลุ่มเป้าหมายไม่ได้ แต่คนที่จะเข้าไปดูหนังยุทธเลิศมันต้องคิดแล้ว ไม่ใช่ไม่ศึกษา ควรจะศึกษาก่อนแล้วควรจะรู้ว่าสไตล์ยุทธเลิศเป็นยังไง แต่ถ้ารู้แล้วยังเข้าไปดูแล้วทุกข์ทรมานก็ต้องด่าคนที่เข้าไปดูเอง เพราะหนังก่อนจะไปดูมันยากนะ ไม่ใช่มันส่งมาให้ดูที่บ้าน แต่มันต้องวางแผนต้องจองตั๋ว"
"เราไม่ได้ทำหนังไปยัดใส่ใครคนดูเป็นคนเดินเข้ามาเอง ควรจะศึกษาผู้กำกับควรจะศึกษาตลาดแนว เหมือนคุณจะไปเล่นกีฬาคุณก็ต้องแต่งชุดกีฬาไปเล่น แต่ถ้าไปเล่นแล้วคุณใส่สูทก็คือคุณไม่เตรียมตัว มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างงี่เง่า การดูหนังไม่เตรียมตัว กีฬายังต้องเปลี่ยนชุดดูหนังคุณก็ต้องเซ็ต"
มีคนบอกดูหนัง "ยุทธเลิศ" แล้วไม่ค่อยได้คุณค่าอะไร แค่ตลกไปเรื่องๆ?
"ช่วยไม่ได้เป็นความผิดของคุณเอง คุณไม่ดูตาม้าตาเรือ ยุทธเลิศ ทำหนังมาตั้งเยอะแล้วนะ ไม่ได้เยอะมากหรอก แค่ประมาณ 4 - 5 เรื่อง ถ้าผิดหวังกับหนังของเขาก็ไม่ควรไปทุกข์ทรมานเลยไม่มีใครบังคับ แล้วในโรงหนังมันมีให้เลือกเยอะมากนะมีทั้งหนังฝรั่ง หนังจีน แต่หนังของผมแปลกอย่างหนึ่งว่าคนไม่ชอบแต่อยากดู แล้วออกมาโวยวาย เอ๊ะยังไงของมัน"
"เพราะนั่นคุณดูหนังไม่เป็นไง คือความผิดอยู่ที่คนดูแล้วออกมาโวยวาย ดูหนังไม่เป็นนี่หว่า คุณดูหนังแบบเห็นดังๆ หน่อยเข้าไปดูเขาเรียกว่าดูหนังตามกระแส ไม่ได้ดูตามรสนิยมตัวเอง"
"แต่เดี๋ยวนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ความเป็นตัวของตัวเองจะมีเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนซึ่งมีแนวเดียว เดี๋ยวนี้มีเด็กแนว เด็กไม่แนว เด็กแฟชั่น คือจะมีแบบนี้ ทุกอย่างมันไม่มีประเภทจำพวก แต่มันมีแนวทางของมันเอง คือมันเป็นรสนิยมทางศิลปะทางความคิดซึ่งแต่ละแนวมันจะไม่เหมือนกัน ถ้ารู้ว่าผู้กำกับหนังคนนี้ทำหนังสนุก คุณก็ควรจะไปดูอย่างนี้ แต่ถ้าไม่สนุกคุณอย่าทุกข์ทรมานเพราะเขาทำเหมือนเดิมแหละ ไม่ค่อยเปลี่ยน"
เป็นคนที่เดินสวนทางกับนักวิจารณ์เป็นประจำ
"นักวิจารณ์บางคนไม่ชอบหนังพี่ แต่ดูทุกเรื่อง ไล่มาทุกเรื่องอันนี้ก็ไม่ดีอันนั้นก็ไม่ เฮ้ย มันบ้าหรือเปล่า แล้วใครหลอกมึงเข้าไปดูเหรอวะ มันตลก อย่าพยายามทำให้หนังเป็นสิ่งจับยัดหนังไม่ใช่สิ่งจับยัด อย่างบอกว่าผู้กำกับทำแล้วไม่คิดคนที่เข้าไปดูนั่นแหละต้องคิด เพราะมันผ่านการคิดแล้ว ตอนที่โฆษณาก็ไม่ได้โปรโมตชวนเชื่ออะไรกันมากมาย"
"อย่างไอ้เกี๊ยง (นันทขว้าง สิระสุนทร) มันดูหนังไม่เป็น ดูหนังด้วยรสนิยมและอคติอย่างแรง คือมันตามดูหนังพี่ตลอดมันไม่เคยบอกว่าดีเลย แต่มันก็ตามเข้าไปดู มันเหมือนร้านอาหารร้านหนึ่งทำไม่ถูกปากมันแต่มันก็ตามเข้าไปกิน แล้วก็ออกมาด่า ตามเข้าไปกินแล้วก็ออกมาด่า บอกว่าไม่มีคุณค่า แล้วการวิจารณ์แบบนี้มันมีคุณค่าหรือเปล่า การวิจารณ์อย่างเกี๊ยงนี่มีคุณค่าพอหรือเปล่า"
แต่นักวิจารณ์หลายๆ คนก็ได้รับการยอมรับ...
"พี่ก็เป็นผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับคนหนึ่ง...(หัวเราะ) แล้วไงล่ะ คุณวัดจากอะไร รสนิยมส่วนตัวหรือ คือมันไม่ค่อยแฟร์ถ้าเกิดคนที่ดูหนังพี่ผันตัวเองมาเป็นนักวิจารณ์หมดมันก็ไม่แตกต่าง นึกออกมั้ย บอกว่าไร้คุณค่าพูดกันแบบนี้มันพูดจากวนตีน ทุกคนมีดีมีเลวทั้งนั้น"
ดูเหมือนจะไม่ชอบการวิจารณ์ที่ออกไปในทางที่ไม่ดี
"ผมไม่ชอบคนที่มีความคิดที่เป็นลบ ในความรู้สึกของพี่คนหนึ่งทำงานสร้างสรรค์แต่คนวิจารณ์เขาสร้างสรรค์งานตัวไหน นอกจากพยายามสร้างสรรค์ในงานที่สร้างสรรค์มาเลยพูดได้ว่าเป็นงานที่สร้างสรรค์ คือมันต้องวัดกันที่ตัวตนว่าเขาสร้างสรรค์งานอะไรที่เรียกได้ว่าดี ถ้าเกิดวันนึงผมบอกว่างานของเกี๊ยงผมเอาตีนเขียนก็เท่ากับเกี๊ยงเลยนะ อยากให้ผมพูดอย่างนั้นเหรอ ฝากถามด้วยว่าอยากให้ผมพูดอย่างนั้นกับงานเขาใช่มั้ย"
"บางทีมันเป็นอะไรที่ซับซ้อนผมไม่เข้าใจ นี่เป็นงานชิ้นหนึ่งซึ่งภาพยนตร์ไม่น่าจะไปทำร้ายใครได้นะเพราะมันเป็นสื่อที่อยู่ในโรงที่คุณต้องเดินเข้าไปหามันเอง คุณอย่าทุกข์ทรมานเพราะคุณเสือกเดินเข้าไปหามันเองแล้วคุณไม่ศึกษา อย่างคำว่าไม่มีคุณค่านี่มันเป็นคำพูดที่ค่อนข้างจะเลวนะ งานวิจารณ์บางทีมันเป็นงานที่ดี มันก็อยู่ที่คน คนที่นิสัยไม่ดีมันก็ทำให้งานวิจารณ์นี่เลวได้เหมือนกัน เพราะมันเอางานวิจารณ์ไปทำเลวๆ สนองความต้องการของตัวเอง สนองรสนิยมของตัวเอง"
"เขาทำสนองรสนิยมของเขาแต่มันอาจไม่ถูกปากคุณมันผิดถูกเหรอ มีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่านี่พูดยาก อย่างเด็กเขาต้องกินของหวานมันอาจไม่มีคุณค่าต่อผู้ใหญ่อยู่แล้ว แต่บางทีน้ำตาลช่วงวัยเด็กมันต้องการมาก ร่างกายของคนไม่เหมือนกัน พอพูดเรื่องพวกนี้แล้วแบบเขาเรียกว่าตัดสินด้วยการเอาตัวกูเป็นใหญ่ ทำตัวเป็นทนายทั้งที่ไม่มีใครแต่งตั้ง"
"เหมือนคนบ้ากับคนไม่บ้า สมมติว่าคนที่เป็นด็อกเตอร์อาจจะไม่มีความสุขเท่ากับคนบ้าที่ไม่มีการศึกษาเลย แล้วถามว่าความสุขคืออะไร เอ้าสมมติว่าความสุขของเราอยู่ที่ทำงานร่ำรวยจนไปซื้อที่อยู่สงบ แต่ชาวนาเขาอยู่อย่างสงบของเขามานานแล้ว แล้วแบบไหนเรียกว่าความสุข คุณค่าก็เหมือนกันมันเป็นเรื่องของบุคคลๆ หนึ่ง มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ"
"งานที่มีคุณค่า ณ วันนี้อาจจะไม่มีคุณค่ากับคนอีก พ.ศ.หนึ่ง งานที่ไม่มีคุณค่าตอนนี้อาจจะเป็นที่ชื่นชอบของคนอีกยุคหนึ่ง คือเรื่องคุณค่ามันพูดกันยาก เอางี้ ถ้าพูดในทางวิทยาศาสตร์ ถ้าคนหัวเราะมันหลั่งสารที่ดีออกมากับที่เวลาคนหงุดหงิดมันก็จะหลั่งสารอะไรออกมา แบบนี้ก็แสดงว่าการได้หัวเราะเป็นสิ่งที่ไร้สาระมันก็ไม่น่าจะใช่นะ เพราะเวลาคนหัวเราะมันอาจจะทำให้เขาอายุยืนซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องไร้สาระ"
หลายคนมองว่าหนัง ยุทธเลิศ เป็นหนังตลาด...
"ทุกคนเป็นหนังตลาดหมด ถามซิว่าหนังใครไม่เรียกว่าหนังตลาด อย่าบอกว่าหนังเป็นเอก(เป็นเอก รัตนเรือง)ไม่ใช่หนังตลาด เมื่อไหร่ที่คุณเก็บตั๋วแล้วขายในโรงหนังป็อปคอร์นมันคือหนังตลาด แต่ตลาดคุณมันเล็กไง มันหากินทั้งนั้น เกี๊ยงก็หากินบนงานเขียนอย่าบอกว่าเขียนเพื่องานศิลปะ โคตรจะทำงานเพื่อเงินเลย มันไม่แตกต่างกัน พอคุณทำงานเพื่อเงินคุณไม่แตกต่างกัน แล้วถ้าเกิดอันนี้ไม่ดีสำหรับคุณก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่ดีสำหรับคนอื่นเขา"
"คือสิ่งที่ไม่มีคุณค่าสำหรับคุณไม่ใช่ว่าจะไม่มีคุณค่าสำหรับคนอื่นเขา แล้วการที่บังอาจหรืออวดดีไปบอกว่านั่นไม่ดี ไม่มีคุณค่า มันเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างเลวทรามในความรู้สึกของผม แต่ไม่มีใครพูดไง"
ดูเหมือนจะมีอคติกับนักเขียนวิจารณ์สมัยนี้ ว่าไม่มีความเป็นกลางในงานเขียนของตัวเองสักเท่าไหร่?
"มันไม่คำว่าเป็นกลางอยู่แล้วเพราะมันยึดตัวเองเป็นหลัก คนไม่มีคำว่าเป็นกลางหรอก ผู้พิพากษายังขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของประเทศนั้นเลยเพราะฉะนั้นความเป็นกลางมันไม่มี และในเมื่อความเป็นกลางไม่มีก็อย่าทำ พี่ไม่ได้มองว่าการวิจารณ์เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์อะไร มันก็แค่คนแนะนำอาหารซึ่งอยู่ในโลกของธุรกิจต้องมีเครื่องหมายชิม มันเคยมีถึงขนาดที่ว่าใครอยากให้กูชมก็ต้องมาจ่ายเงินกูนะ หรือทำตัวสวนกระแส คือมันมีวิธีหากินหลายรูปแบบก็แล้วแต่ว่าคนดีหรือคนเลว"
"บางทีไอ้พวกสื่อถ้ามันตกอยู่ในมือคนดีมันก็ดีไป อยู่กับคนนิสัยเหี้ยหน่อยทำให้พูดจาดึงอะไรของตัวเองเป็นหลักไปหมด คำว่าสายกลางแม่งไม่เคยมีเลย ผมรู้สึกว่ามันบังอาจไปนิดกับการนั่งอยู่เฉยๆ แล้วมาตรัสรู้ทุกอย่างมันเป็นเรื่องของความอวดดีมากๆ"
แสดงว่าต้องมีมารยาท
"คนเราไม่มีสิทธิ์ทำกันแบบนี้ มารยาทมันต้องมี นักวิจารณ์มันต้องมีมารยาทนะเพราะอาชีพตรงนี้มันล่อแหลมเพราะคุณใช้ความคิดคุณมาตัดสินคนอื่น ผู้พิพากษายังต้องไปสอบ ต้องเรียน คุณแม่งเดินเข้าไปสมัครงาน มันไม่แฟร์ ผู้กำกับกว่าจะทำได้ กว่าจะผ่าน นักวิจารณ์บางคนพอไปทำหนังแล้วเห็นมั้ย เข้าใจแล้วครับ"
"คุณทำงานด้วยความไม่เข้าใจแต่ถ้าคุณมาบอกว่าเราทำงานด้วยความไม่เข้าใจเราจะเตะเอา เราอยู่ในสถานที่ๆ เข้าใจ แต่เขาไม่เข้าใจและไม่เข้าใจตัวเองด้วย ไม่ได้พูดถึงการวิจารณ์หนัง แต่มารยาทมันต้องมี"
เป็นที่น่าสังเกตว่าใครที่ได้มาเล่นหนังของ "ต้อม ยุทธเลิศ" ทุกคนมักจะกลายเป็นนักแสดงคิวทองที่ผู้จัดละครหรือผู้กำกับหลายคนต้องการตัวขึ้นมาทันที
"คือหนังของผมมันไม่มีคุณค่า มันก็เลยดังมั้ง(หัวเราะ)...อย่าง เมย์ ,เต๋า,โหน่ง ฯลฯ เราไม่ได้เซ็ตว่าหนังเรื่องจะต้องเป็นเขา หรือต้องเป็นคนนั้นคนนี้นะ มันต้องขึ้นอยู่กับคาแรกเตอร์มันจะตรงกันหรือเปล่า ซึ่งก็อีกนั่นแหละเวลาที่ดูนักแสดงผมไม่ได้ดูคนเดียว ทีมงานหลายฝ่ายมาช่วยกันดู ช่วยกันเลือกว่าใครน่าจะเป็นคนที่เหมาะสม แต่พอออกมาแล้วเขาจะดังหรือมันเซ็กซี่มันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้"
ว่ากันว่าผู้ชายคนนี้เก่งมากในเรื่องที่จะทำให้สาวๆ ในหนังของตนเองเซ็กซี่ได้โดยที่ไม่ต้องแก้ผ้า มีเคล็ดอะไรหรือเปล่า?
"มันเป็นมุมมอง เป็นรสนิยมส่วนตัว ผมก็จะดูว่าน้องคนนี้เป็นไง ซึ่งส่วนใหญ่เวลาเอาไปให้คนอื่นเลือกเขาก็โอเค ผมไม่ได้ตัดสินคนเดียว เหมือนบทก็เหมือนกันให้คนอื่น คือถ้า70 เปอร์เซ็นต์ก็คือไป"
"ทำไงไม่รู้นะ แต่มันเป็นเรื่องของรายละเอียด มองยังไง เท่าไหร่ถึงจะพอ พอของพี่กับพอของคนอื่นไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ของพี่ไม่เคยถอด มีชุดว่ายน้ำเดินขึ้นจากสระนิดหน่อย บางซีนในเรื่องมีแค่หัวโผล่เข้ามา อย่างบางคนบอกว่าผมทำหนังให้อารมณ์เกินไปก็ต้องให้ตัด ทั้งๆ ที่หนังไม่โป๊นะ แต่เซ็กซี่ไป"
"เคยเข้าไปดูในโรงหนังนั่งหน้าเด็กวัยรุ่นแล้วแบบว่าเขานั่งซี๊ดๆ เราก็เฮ้ย มันรู้สึกขนาดนั้นเลยเหรอ เราไม่รู้ เพราะตอนกำกับมันไม่ใช่ภาพที่ปรุงแต่งขนาดนี้ ตอนนี้ก็เข้าใจ แต่มันอาจจะเป็นมุมซึ่งมุมของเรามันอาจเป็นมุมที่เซ็กซี่สำหรับคนหมู่มาก แต่ส่วนใหญ่นักแสดงที่เลือกก็จะเลือกให้ตรงกับคาแรกเตอร์มากกกว่า ไม่ได้เน้นเซ็กซี่อะไรกันมากมาย"
"ผู้หญิงเรียบร้อยก็เซ็กซี่ได้ ในมุมของผมผู้หญิงเรียบร้อยยิ่งเซ็กซี่ อย่างแป้งเนี่ย(อรจิรา แหลมวิไล) มันมีฉากหนึ่งที่เขาเล่นแล้วมันโดนใจผู้ชายทุกคน ผมก็ไม่เข้าใจว่าไปโดนอะไรนักหนา คือเจอผู้ชายทุกคนจะวิ่งเข้ามาหาแล้วบอกว่าพี่โอ๊ย โดน โดนอะไรอย่างนี้ทำหน้าตาแบบน่าเกลียดมาก หื่นมาก"
"บุปผาราตรี เฟส 2" รายได้ดี แต่เสียงวิจารณ์ไม่ดี จะมีผลในการตัดสินใจว่าจะทำต่อไปหรือเปล่า?
"ภาคสามอาจจะยังไงไม่รู้ เขาเรียกว่าเป็นโปรเจ็กต์เดียวที่มีหนังภาคต่อของพี่ ถ้าเกิดเราสนุกที่จะทำแล้วนายทุนเขาให้ก็ทำ คือแล้วแต่เราว่าคิดอะไร มันอยู่ที่เรา บางทีอาจจะหยุดอยู่แค่นี้ อีก 4 ปีค่อยกลับมาทำใหม่ก็ได้ เพราะมันเป็นโปรเจ็กต์ที่เล็กๆ แต่มีสไตล์ นายทุนไม่มีทางเจ็บปวดกับโปเจ็กต์นี้ อัตราเสี่ยงไม่ค่อยมี"