xs
xsm
sm
md
lg

ธรรพ์ณธร ทุ่มเท : ความทุ่มเทที่(ไม่)สูญเปล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แจ้งเกิดอย่างงดงามกับงานร็อกจัดจ้าน "TNT" ในปี 2539 โดยมีเพลงเด็ดอยู่ที่ "ร่ำลา" ด้วยน้ำเสียงที่หลายๆ คนบอกว่าละม้ายกับ "เป้ ไฮร็อก" บวกกับ "โป่ง ปฐมพงษ์" จนคว้าเอารางวัลสาขาศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยมและศิลปินชายร็อกยอดเยี่ยมจากเวทีสีสันอะวอร์ดมานอนกอด ไม่นานเท่าไร "อู๋ ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์" ก็มีชื่อไปเป็นศิลปินของค่ายอาร์เอสฯ

พ.ศ.2542 จากความแรงของ "นกกระดาษ" ได้ส่งผลให้งานชุดใหม่ของเขา "คนธรรพ์ณธร" ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีก่อนที่เจ้าตัวจะคว้าเอารางวัลสีสันอะวอร์ดสาขาศิลปินชายร็อกยอดเยี่ยมมาครองเป็นครั้งที่สอง พร้อมกับมีงานพิเศษคู่กับสาว "โฟร์ท" ชื่อว่า "FIRE & ICE" ออกมาในปีเดียวกัน

"ธรรพ์ณธร ทุ่มเท" ชุดนี้เป็นงานเพลงชุดใหม่ของเขากับการก้าวข้ามค่ายจากอาร์เอสฯ สู่ใต้ชายคา "จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" ในสังกัดของ "อากู เรคคอร์ด" มี "ภิทรู พลชนะ" รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ หลักๆ เป็นการนำเอาเพลงเก่าของ "บิลลี่ โอแกน" มาทำใหม่และเพิ่มเพลงใหม่เข้าไปอีก 2 เพลง โดยรวมจะเป็นเพลงแบบบัลลาร์ด เน้นความเข้มแต่หวาน ละมุน ฟังได้เรื่อยๆ

เปิดอัลบั้มด้วย "วันนั้น...วันนี้...วันไหน" การขัดของกีต้าร์กึ่มๆ แนวเร็กเก้ชวนให้ยกไหล่ขึ้นตามตามจังหวะ แทร็กที่ 2 "ทุ่มเท" แปลกแตกต่างจากเพลงอื่นๆ ในเรื่องของการดีไซน์เนื้อหาของเพลงโดยใช้การเปรียบเทียบ การเขียนเพลงโดยเน้นการสัมผัสและภาษาซึ่งให้กลิ่นของความเป็นเพลงเก่าแต่เก๋ไก๋ไม่เบา อาทิประโยคที่ว่า...ใยน้ำใจเชือดเฉือน แท้จริงบิดเบือน ลืมเลือนกันเพียงง่ายดาย...หรือจะเป็นท่อนฮุกที่ว่า...เหมือนเขียนลงบนหาดทราย แล้วกลับจางหายละลายล่มจม หัวใจฉันเลยตรอมตรม เพราะหลงคารมของเธอร่ำไป...

แทร็ก 3, 4, 5 "ละอองดาว", "คำมักง่าย", "ฝังลงในพื้นดิน" ฟังทีละเพลงน่าจะเพลินและกินใจกว่าการที่จะมาฟังติดๆ กันเพราะอาจจะทำให้หลับเอาได้ง่ายๆ แทร็กที่ 6 เพลงใหม่ "คนที่เธอไม่รัก" โดดเด่นด้วยการเดินเบส แซม/ตอดด้วยเสียงกีต้าร์และเสียงสังเคราะห์ที่สร้างความแปลกหูได้ไม่น้อย ในขณะที่ "เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม" เมโลดี้ยังคงเป็นแบบเดิมแต่หนักแน่นขึ้นเช่นเดียวกับ "ยังดีอยู่" รวมทั้ง "หมื่นล้านเพลง" ก่อนจะปิดท้ายอัลบั้มด้วยความซึ้งของ "ได้แค่รู้" เพลงที่เจ้าตัวบอกว่าตรงกับชีวิตจริงของตนมากๆ

อย่างหนึ่งที่ต้องทำใจสำหรับศิลปินที่นำเอาบทเพลงเก่ามาทำใหม่ก็คือ การถูกเอาไปเปรียบเทียบกับของเก่ายิ่งถ้าไม่ใช่เพลงของตนเองด้วยแล้วต้องคิดหนัก เพราะหากทำดีก็เสมอตัวแต่ถ้าทำไม่ดีเป็นต้องโดนถล่มเละเทะ

ชุดนี้อยู่ในเงื่อนไขแรกแต่ค่อนข้างมีแนวโน้มไปในทางที่น่าชม ตั้งแต่การเลือกเพลงที่มีทั้งคุ้นหูและไม่คุ้นหูแต่เนื้อหาดี ในส่วนของดนตรีที่ดูจะใส่ใจและปราณีตเอามากๆ มีการเปลี่ยนทำนองในบางช่วงรวมถึงใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามาเพิ่มสีสันจนทำให้เสียงดนตรีกว้างและจัดจ้านมากยิ่งขึ้นแต่โดยรวมยังคงรักษาอารมณ์แบบเดิมๆ เอาไว้ไม่ถึงกับสร้างความแปลกแตกต่างจนทำให้แฟนเดิมๆ รับไม่ได้

ในขณะที่เสียงร้องของหนุ่มอู๋เองซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่แล้วก็ไม่ครางฮู่ๆ ฮู้ๆ ฮือๆ เหมือนเมื่อก่อน และที่ต้องปรบมือให้ดังๆ ก็คือการใส่ใจในเรื่องของอักขระ การออกอักษรควบกล้ำทั้ง ร และ ล ไม่ออกเสียง ท เป็น ช ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความไพเราะลดลงไปแม้แต่นิดเดียวตรงกันข้ามฟังแล้วรื่นหูและเข้าท่ามากกว่าการออกเสียงแบบที่นักร้องรุ่นใหม่ๆ นิยมกันด้วยความเข้าใจว่าเท่ห์ ไพเราะ และทันสมัยเสียเต็มประดา

แต่ยิ่งมีข้อดีมากเท่าไหร่ความน่าเสียดายก็มีมากขึ้นเท่านั้น เพราะอย่างหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ นี่คือ(การทำงานบน)เพลงของคนอื่นซึ่งในแง่ดีแง่หนึ่งอาจจะติดหูและจำได้ง่าย ทว่าในเรื่องของความตื่นเต้นและความประทับใจนั้นเป็นเรื่องที่บอกว่าเกิดขึ้นได้ยากอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ถ้ามาคิดกันว่านี่คือการเปิดตัวโดยอาศัยหลักของความคุ้นหู บวกกับความตื่นเต้นที่ได้จากการฟังเพลงใหม่ที่มีอยู่สองเพลงในอัลบั้มชุดนี้แล้วก็ต้องว่า...อนาคตของหนุ่มอู๋ที่อากูฯ แห่งนี้ดูท่าจะสดใสอยู่พอสมควรทีเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น