xs
xsm
sm
md
lg

ลิเกฮูลู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยนพวรรณ สิริเวชกุล

หากท่านใด เคยชมโฆษณาชิ้นหนึ่ง ที่พูดถึงสำนึกรักบ้านเกิด คงจะพอคุ้นกับเสียงร้องลิเกฮูลูนะคะ

ดิเกร์ หรือ ลิเก ฮูลู เป็นอีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรม ที่ทรงคุณค่าของพี่น้องไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้ของเรา และยังถือเป็นสายใยที่เชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างพี่น้องไทยมุสลิมและพี่น้องไทยพุทธ ที่สืบเนื่องมาเป็นศิลปะการแสดง ยี่เก หรือลิเก และ ลำตัด ของชาวภาคกลางนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยนะคะ

ดิเกร์ ลิเก และลำตัด เป็นตัวอย่างหนึ่งของการหยิบยืมแลกเปลียนวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ที่งอกเงย กลายมาเป็นศิลปะการแสดงรูปแบบใหม่ๆ นักวิชาการเองก็พยายามที่จะสืบย้อนที่มาของการแสดงทั้งสามนี้ คือ ดิเกร์ฮูลู ลิเก และลำตัด ซึ่งก็สันนิษฐานกันว่า สิ่งที่เป็นต้นเค้าแรกสุดของการแสดงนี้ก็คือ ซากูฮร ในภาษาฮีบูร ที่หมายถึง พิธีสวดเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าของชาวฮีบูร หรืออาจจะเป็น ซิกุร และ ซิกิร ในภาษาอาหรับ ที่หมายถึง พิธีสวดสรรเสริญพระอัลเลาะห์ ด้วยการกล่าวพระนามของพระผู้เป็นเจ้าซ้ำๆ จนกระทั่งเข้าสู่ภวังค์ และในขณะที่สวดผู้สวดก็จะโยกโคลงตัวไปมาด้วย

คำว่า ดิเกร์ นั้นกล่าวกันว่า เป็นศัพท์เปอร์เซีย และมีความเห็นอยู่ 2 ประการด้วยกัน คือ ประการแรก หมายถึงเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ปกติเป็นการขับร้องเนื่องในเทศกาลวันกำเนิดพระนาบี ชาวมุสลิมเรียกงานเมาลิด เลยพากันเรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า ดิเกร์ เมาลิด

ส่วนความหมายที่สองของดิเกร์ฮูลู ก็คือ กลอนเพลงโต้ตอบ ที่นิยมเล่นกันเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ บางท่านเล่าว่า ลิเกฮูลูได้รับแบบอย่างจากคนป่าเผ่าซาไก ซึ่งมีการเล่นอย่างหนึ่งเรียกตามภาษามลายูว่า มะนอฆอ ออแฆสาแก แปลเป็นไทยก็ว่า มโนราห์คนซาไก ค่ะ

ดิเกร์ฮูลูของไทยเรานั้น ถือเป็นการแสดงของชายไทยมุสลิม ที่รู้จักมักคุ้นกันเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า ดิเกร์ ก็อย่างที่บอกไปแล้วนะคะ ว่าเป็นศัพท์เปอร์เซีย มีความหมายสองประการคือ เพื่อสวดสรรเสริญพระเจ้า กับเพื่อเล่นเป็นกลุ่มคณะ โต้ตอบกัน ซึ่งในความหมายที่สองนี่เองที่ไปตรงกับตำนานลำตัดในภาคกลางของเรา ที่กล่าวเอาไว้ว่า ลำตัดมีต้นกำเนิดมาจากการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ค่ะ

ส่วนคำว่า ฮูลู อาจารย์วาที ทรัพย์สิน จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้สืบค้นและอธิบายเอาไว้นะคะว่า ฮูลู หมายถึง บริเวณต้นน้ำหรือหมู่บ้านในชนบท จากตำนาน พอจะสรุปได้ว่า ดิเกร์ฮูลู เกิดขึ้นครั้งแรก ที่ท้องที่เหนือลำน้ำ ที่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำปัตตานี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ฮูลู หรือทิศฮูลู

การแสดงลิเกฮูลูนั้น จะมีแม่เพลง 1 – 2 คน และลูกคู่ อีก 10 – 15 คน ลูกคู่นี่เองค่ะ ที่จะมีท่วงท่าแปลกๆ สวยงาม เลียนแบบมาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการทำมือโยกเหมือนลูกคลื่น การชักมือเหมือนลากอวนขณะจับปลา หรือปรบมือเป็นจังหวัดเร้าใจและท่วงท่าทีชวนให้ต้องทำตามค่ะ

นอกจากนี้ ดิเกร์ฮูลู ยังมีเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงจังหวะนะคะ ก็จะมี ฆ้อง 1 วง กลอง รำมะนา หรือ รือบานาอย่างน้อย1 คู่ โหม่ง 1 คู่ และลูกแซก อีก 1 คู่ บางคณะอาจจะมีขลุ่ยเป่าคลอขณะที่ลูกคู่ร้องค่ะเวลาแสดงก็จะสนุกสนานมากค่ะ การขับร้องมันจะขึ้นอยู่กับการด้นกลอนสดของผู้ร้องนำ ว่าจะมีไหวพริบในการแต่งเพลงได้เก่งขนาดไหนนะคะ

ส่วนเครื่องแต่งกายของคนเล่นคนร้องนั้น แต่เดิมผู้เล่นจะโพกหัว สวมเสื้อคอกลม นุ่งโสร่ง บางครั้งอาจเหน็บขวานไว้ประมาณว่าจะข่มขวัญคู่ต่อสู้นะคะ ในปัจจุบันมักแต่งกายแบบไทยมุสลิมทั่วไปหรือตามแบบสมัยนิยมค่ะ

เวลาจะร้องเล่น นั้น จะเริ่มด้วยการแสดงดนตรีโหมโรงเพื่อเร้าอารมณ์คนดู สมัยก่อนมีการไหว้ครูในกรณีที่มีการประชันกันระหว่างหมู่บ้าน หรืออาจมีหมอผีของแต่ละฝ่ายปัดรังควานไล่ผีคู่ต่อสู้ก็มีนะคะ

แต่ทุกวันนี้คณะลิเกฮูลูจะสู้กันด้วยศิลปคารมอย่างเดียว เมื่อลูกคู่โหมโรงต้นเสียงจะออกมาร้องทีละคน เริ่มจากการเล่าถึงวัตถุประสงค์ของการแสดง หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่เรื่องราว อาจจะเป็นเหตุการณ์บ้านเมือง หรือความรักของหนุ่มสาว หรือเรื่องตลก บางครั้งก็เป็นเรื่องราว กระทบกระแทก เสียดสีกัน หรือหยิบปัญหาต่าง ๆ มากล่าวเพื่อให้ผู้ชมชื่นชอบในคารมและปฏิภาณ

บทบาทของดิเกร์ฮูลู ในทุกวันนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและให้ความบันเทิงต่อสังคม ลิเกฮูลูแต่เดิม เป็นการละเล่นของกลุ่มคนที่พุดภาษายาวีเป็นหลัก เลยไม่ค่อยได้ออกมาแสดงให้คนส่วนใหญ่ได้ชม แต่ทุกวันนี้ ลิเกฮูลูปรับเปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษากลางมากขึ้น จึงเริ่มออกแสดงตามงานต่างๆ เป็นที่สนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ชมทุกครั้งไป.

พบกับรายการวิทยุ ต่างสมัย รอยไทย โดย นพวรรณ สิริเวชกุล
ได้ทุกวัน เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 20.00 - 21.00 น. ทางคลื่นสามัญประจำบ้าน FM 97.75 MHz

กำลังโหลดความคิดเห็น