xs
xsm
sm
md
lg

รำสาก เรือมอันเร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย นพวรรณ สิริเวชกุล

แคแจ๊ด คือคำเรียกเทศกาลสงกรานต์ ของพี่น้องไทยเชื้อสายเขมร ที่อาศัยอยู่เป็นส่วนมากทางภาคอีสานใต้นะคะ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุรินทร์ คนไทยเชื้อสายเขมรดูจะเป็นอันดับต้นๆ มากกว่าจังหวัดอื่น

ช่วงเทศกาลแคแจ๊ด นี้เองค่ะ ที่ชาวไทยเชื้อสายเขมร จะมีการละเล่นชนิดหนึ่งที่แตกต่างไปจากที่อื่น นั่นก็คือ การละเล่น เรือมอันเร หรือ ลู๊ดอันเร

คำว่า ลู๊ดอันเร เป็นคำเรียกดั้งเดิม ลู๊ด หมายถึง การเต้น หรือกระโดด ส่วนคำว่า อันเร นั้นแปล ว่า สาก ค่ะ ช่วงหลังๆ มีการพัฒนาการละเล่นจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า เรือมอันเร ซึ่งคำว่า เรือมนั้น แปลว่า การรำ เรือมอันเร หรือลู๊ดอันเร มีความหมายที่ใกล้เคียงกัน คือหมายถึง การเต้นสากหรือการรำสาก นั่นเอง

ความเป็นมาของเรือมอันเร ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร แต่จากการพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ในจังหวัดสุรินทร์ ก็ได้ความว่า เรือมอันเร มักจะเล่นหลังจากเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว คือประมาณ เดือนห้า ซึ่งก็ถือว่าเป็นเทศกาลปีใหม่ของพี่น้องชาวไทยเขมรในจังหวัดสุรินทร์ไปด้วยนะคะ

สมัยก่อนเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวจากนามาแล้ว ผู้ใหญ่ก็มักจะใช้ให้สาวๆ ในบ้านมาตำข้าว โดยใช้เวลาค่ำหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจประจำวันแล้ว มาตำ เวลาตำข้าว มักจะตำร่วมกันประมาณ 2 – 4 คน เสียงสากกระทบกับครกต่ำข้าวเป็นจังหวะ พาให้หนุ่มๆ เข้ามาเกี้ยวพาราสี ถือเป็นการพบปะระหว่างหนุ่มสาวในสมัยนั้น ก่อให้เกิดท่วงทำนองดนตรีและการร้องเล่นเพลง จนกระทั่งกลายมาเป็น การละเล่น ลู๊ดอันเร สืบมาถึงปัจจุบัน

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ แคแจ๊ด นี่เอง ชาวบ้านจะพากันหยุดงานอย่างน้อยก็ 3 วัน เพราะถือว่าช่วงนี้เป็นวันสำคัญประจำปีเลยทีเดียว คนเฒ่าคนแก่จะเรียกลูกหลานตัวเองให้มาร่วมสนุกสนานรื่นเริง ให้หายเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน หนึ่งในการละเล่นช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือแคแจ๊ด ของชาวไทยเชื้อสายเขมรก็คือ ลู๊ดอันเร หรือ เรือมอันเร นี่เองค่ะ

แต่ก่อน ลู๊ดอันเร หรือ เรือมอันเร นี้ มักเป็นการจับกลุ่มเล่นเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ฝ่ายชายเป็นได้เพียงผู้ชม จนกระทั่งจังหวะสุดท้ายของการเข้าสาก ผู้ชายจะเข้าไปทำให้บรรยากาศครึกครื่นขึ้นกว่าเดิม ด้วยการแต่งตัวเลียนแบบผู้หญิงแล้วไปเล่นท่าโลดโผนถือเป็นการสิ้นสุดการเล่นเรือมอันเร

ช่วงนี้เองที่ผู้ชาย จะสามารถแสดงท่าทางพลิกแพลงต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ตัวเองพ้นจากจังหวะที่ถี่กระชั้นของสากที่กระทบกัน

เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการละเล่นเรือมอันเร ส่วนใหญ่จะเป็น ตรัว หรือซอ ของเขมร , สกวรหรือกลอง นะคะ บางทีก็จะหา เครื่องประกอบจังหวะอื้นๆ เท่าที่หาได้ในหมู่บ้าน เช่น ปี๊บ กะลา หรือ เครื่องเคาะประเภทไม้ไผ้ ส่วนใหญ่ชุดดนตรีที่ใช้เล่นประกอบ มักจะเรียกรวมกันไปว่า กันตรึม และทุกคนจะตี เคาะ ปรบมือ ส่งเสียงหยอกเย้าในวงรำ กันอย่างสนุกสนาน

ทุกวันนี้ เรือมอันเร หาดูค่อนข้างยากขึ้นกว่าแต่เดิมมาก เนื่องจากทุกวันนี้ ชาวบ้านไม่ต้องตำข้าวกินเอง อีกทั้งส่วนใหญ่ หนุ่มสาวก็ออกไปหางานทำนอกหมู่บ้าน โอกาสพบกันระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวก็เปิดกว้างขึ้นกว่าแต่เดิมมากนัก ความสำคัญของเรือมอันเร ในอดีตที่เป็นงานสำคัญแห่งปี หรือโอกาสเดียวที่หนุ่มสาวจะได้เกี้ยวพาราสี ก็จางหายไป

จะมีก็เพียงบางหมู่บ้านในสุรินทร์เท่านั้น ที่ยังพอจะอนุรักษ์การละเล่นนี้ไว้ให้ลูกหลานของตัวได้เรียนรู้ถึงประเพณีดั้งเดิมของตัว
ทุกวันนี้ เรือมอันเร หรือ ลู๊ดอันเร ก็กลายเป็นบทเรียนหนึ่งสำหรับนักศึกษานาฏศิลป์และผู้ที่สนใจในศาสตร์พื้นบ้านไปแล้วเท่านั้น.

พบกับรายการวิทยุ ต่างสมัย รอยไทย โดย นพวรรณ สิริเวชกุล
ได้ทุกวัน เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 20.00 - 21.00 น. ทางคลื่นสามัญประจำบ้าน FM 97.75 MHz

กำลังโหลดความคิดเห็น