Hana and Alice เป็นหนังเรื่องสุดท้ายในโครงการ Shunji Iwai’s Love Story - ซึ่งจัดฉายผลงานของชุนจิ อิวาอิ ที่โรงภาพยนตร์ลิโด เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนมาแล้ว เริ่มต้นด้วย All about Lily Chou-Chou มาถึง April Story และปิดโปรแกรมกับ Hana and Alice โดยไม่นับรวม Love Letter หนังเก่าเก็บที่ฉายไปเมื่อปีก่อน
เดาเอาว่าในบ้านเราคงมีแฟนของอิวาอิอยู่ไม่น้อย ที่ญี่ปุ่นนั้นถึงกับตั้งแฟนคลับของผู้กำกับหนุ่มคนนี้ขึ้นมาเลยทีเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร คนที่ได้ดูงาน (แม้เพียงบางส่วน) ของเขา น่าจะพอเข้าใจกันได้
ผมชอบ Hana and Alice ถึงเรื่องราวในหนังจะดูเบาบาง แต่มันก็ไม่ใช่ความเบาหวิวที่ไม่มีอะไรให้จับต้อง คงเพราะหนังเรื่องนี้มีที่มาจากเหตุผลทางการตลาด (อิวาอิพัฒนาจากหนังสั้นของตัวเขาเองที่ทำให้กับขนมเวเฟอร์ช็อกโกแลตยี่ห้อคิตแคต) มันจึงไม่มีความหนักหน่วงแบบไม่ประนีประนอมอย่าง Lily Chou-Chou หรือการทดลองทำอะไรใหม่ๆ อย่างในหนังสั้นเรื่อง Arita ติดจะใสๆ แบบการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงมากกว่า
จะว่าไปหนังของอิวาอิทุกเรื่องก็คล้ายการ์ตูนวัยรุ่นทั้งนั้น เขาไม่เคยไถลไปไหนไกลจากเรื่องราวของเด็กวัยนี้ - ทั้งในด้านที่สดใสหรือหม่นหมอง
ผมชอบวลีที่น้าทิวา สาระจูฑะ อธิบายความเป็นวัยรุ่นว่า แข็งกร้าว ทว่าเปราะบาง - และเห็นว่ามันเป็นการพูดถึงชีวิตช่วงหนึ่งของคนเราได้กระชับชัดเจนที่สุด ตอนนั้นเราเหมือนไม้อ่อนที่ไหวเอนไปตามแรงลมได้ง่าย จะดีหรือร้าย วัยรุ่นก็อ้ารับอย่างไม่มีอะไรปิดกั้น
ในขณะเดียวกันความเปราะบาง ก็ทำให้เมื่อมีอะไรกระทบใจ - รอยร้าวก็จะเกิดขึ้นโดยง่ายไม่ต่างกัน กลายเป็นรอยแผลเป็นที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักกี่สิบปี ก็คงจะลบไปจากใจได้ยาก
หนังของชุนจิ อิวาอิมักเป็นอย่างนั้น คือ พูดถึงช่วงเวลาที่เราอาจลืมไปบ้างแล้ว แต่เมื่อรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งก็ยังจดจำได้แม่นราวกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง สิ่งที่ผมชอบในตัวอิวาอิ คงจะเป็นเพราะเขาไม่ได้พูดในน้ำเสียงของคนที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้วกลับมามองวัยรุ่น ตรงข้าม หลายครั้งอิวาอิแทนตัวเองเป็นคนวัยนั้นเสียเอง - ที่เต็มไปด้วยคำถามต่อโลกและความรักอย่างคนที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ไม่มีคำตอบหรือปรัชญาอันใหญ่โตใดๆ เพื่อเทศนาสั่งสอน สรุปง่ายๆ คือหนังของเขายังมีส่วนเพ้อฝัน กุ๊กกิ๊กอยู่เยอะ - คาดว่าระหว่างการเติบโต เขาคงไม่ได้ทำวัยเด็กหล่นหายเหมือนผู้ใหญ่คนอื่นๆ
ในบรรดางานของชุนจิ อิวาอิที่ได้ดู ผมชอบ April Story มากที่สุด ตัดเหตุผลที่น่าเชื่อถือไป (ซึ่งไม่ค่อยมีหรอก) คงต้องบอกว่า เพราะรสนิยมส่วนตัวล้วนๆ ผมเห็นบางคนชอบ Swallowtail Butterfly (ที่ผมเองรู้สึกว่าหนังอลหม่านมากเกินไป) หรือไม่น้อยที่ชอบ Lily Chou-Chou (ผมดูแล้วรู้สึกเศร้ามหาศาล) และหลายคนที่ไม่ปลื้มอิวาอิเลย - เพราะเหตุผลทางความรู้สึกทั้งนั้น
April Story เป็นหนังเล็กๆ เรื่องราวไม่ใหญ่โต มันเกือบจะเป็นหนังที่ดูง่ายที่สุดของเขา เพราะพล็อตเรื่องดำเนินไปในทิศทางเดียว ไม่มีเงื่อนปมโลดโผนให้ขบคิดหรือชวนให้ประหลาดใจกันมากนัก ตัวหนังคืองานแบบ Coming-of-age ดีๆ นี่เอง พิเศษกว่าหน่อยตรงที่ มันไม่มีเรื่องร้ายแรงหรือความตาย - แบบที่หนังประเภทนี้เป็น - มาข้องแวะ
เดือนเมษายนในญี่ปุ่นเป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ต้นไม้ผลิดอกใบออกมาเต็มที่ และจะค่อยๆ ร่วงหล่นเพราะลมร้อน นิเรโนะ อึซึกิ (ทาคาโกะ มัตสึ) เข้ามาเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยโตเกียวปีการศึกษานี้ การย้ายจากฮอกไกโดมายังเมืองหลวงอันวุ่นวายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เธอต้องทำตัวให้ชินกับการอยู่คนเดียว ปรับตัวกับสภาพแวดล้อม ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ทุกอย่างดูเก้อๆ เขินๆ เหมือนสำเนียงพูดแปร่งๆ ของเธอ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรนัก
ชุนจิ อิวาอิ เล่า April Story ในช่วงต้นออกมาเป็นเรื่องของเด็กสาวที่พยายามเข้าหาโลกใบใหม่ซึ่งเธอไม่เคยรู้จัก มันเป็นมุมมองแบบฟุ้งฝันที่งดงาม กล้องช่วยสังเกตสังการายละเอียดต่างๆ อย่างใคร่รู้ แม้แต่การแนะนำตัวในชั้นเรียน ก็กลายเป็นเรื่องยิ่งใหญ่น่าตื่นเต้น
แต่แล้วเรื่องก็ค่อยๆ เฉลยว่า การเรียนรู้ที่จะอยู่ในโตเกียว ไม่ใช่เรื่องที่เด็กสาวคาดหวังไว้ตอนอยู่ที่บ้านเกิด ว่ากันตามตรง เธอแทบไม่คิดถึงเรื่องนี้เลย นิเรโนะตั้งใจสอบเข้าเรียนต่อที่นี่ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ถ้าได้บอกใครไป เขาคงหัวเราะเยาะในความโง่เง่าไร้เดียงสา
ตอนเรียนมัธยม เธอตกหลุมรักรุ่นพี่คนหนึ่ง แต่ความรักก็ไม่ได้รับการเปิดเผยเพราะความเขินอายของเธอเอง นิเรโนะได้ข่าวจากเพื่อนว่า เขาคนนั้นไปเรียนต่อในโตเกียว และทำงานพาร์ตไทม์ในร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่ง สิ่งที่เธอต้องการ คือขอให้ได้เห็นหน้าเขาอีกสักครั้ง พูดอะไรด้วยกันสักคำหรือสองคำ ต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโชคชะตา
ผมเคยคิดว่า การผจญภัยในเมืองใหญ่ช่วงต้นเรื่องของนิเรโนะ ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าการบอกเล่า “สิ่งที่จำเป็นต้องเกิด” ในการพูดถึงเด็กบ้านนอกเข้ากรุง แต่เมื่อดูซ้ำก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้วมันมีผลต่อการตัดสินใจในภายหลังของนิเรโนะ ที่จะรวบรวมความกล้าของตัวเอง (ให้ได้เสียที) เพื่อไปพบหน้าชายหนุ่มคนที่เธอแอบรัก
ไคลแมกซ์ของหนังคือเรื่องที่คนดูเดาได้เองอยู่แล้ว (และลึกๆ แล้วอยากให้เป็นอย่างนั้น) นิเรโนะเดินเข้าไปในร้านหนังสือนั่น ได้พบกับเขา พูดคุยกันนิดหน่อย และเซอร์ไพรส์เหลือเกินที่เขาเองก็จำเธอได้ว่า เป็นรุ่นน้องสมัยมัธยม
อิวาอิปล่อยฝนให้ตกในฉากนี้ เพื่อปลดปล่อยความคั่งค้างทั้งหลายที่อยู่ในใจของนิเรโนะออกมา เธอยืนตัวเปียกปอนกับร่มหักๆ คันหนึ่งอย่างไม่เกรงกลัวอะไรอีกแล้ว
เด็กสาวได้เติบโตจากการตัดสินใจในเรื่องไม่เป็นเรื่องของตัวเอง มันคงเป็นเหตุการณ์เล็กๆ หนึ่งในล้านเรื่องที่เกิดขึ้นในโตเกียวช่วงที่อากาศแปรปรวนเช่นนี้ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่นิเรโนะจะไม่ลืมไปตลอดชีวิต
ผมชอบหนังเพราะเหตุผลนี้ คือถ้าไปเล่าให้ใครฟังถึงพล็อตเรื่อง มันก็คงไม่น่าตื่นเต้นอะไรเลย เปรียบไปก็คงคล้ายเม็ดกรวดเล็กๆ สีตุ่นๆ ก้อนหนึ่ง
แต่ชุนจิ อิวาอิ เข้าใจว่าเม็ดกรวดก้อนเดียวก้อนนั้น - สำหรับบางคนแล้ว - มันคือ อัญมณีอันล้ำค่า