xs
xsm
sm
md
lg

P.S. : เรื่องรักที่ยังไม่แล้วเสร็จ/ธีปนันท์

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


ปีที่ผ่านมา โทเฟอร์ เกรซ ดาราหนุ่มจากซีรี่ส์ That’s 70s Show รับรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์แห่งชาติอเมริกา (NBR) กับผลงาน 2 เรื่อง คือ P.S. (ดีแลน คิดด์ กำกับ) และ In Good Company (พอล ไวต์ซ กำกับ) ในขณะเดียวกับที่สื่อมวลชนสายบันเทิงหลายสำนักก็คาดหมายว่า ถ้าเกรซยังคงรับงานแบบไม่หวังความดังแบบพลุแตก แต่เลือกเล่นหนังเล็กๆ เพื่อโชว์ความสามารถตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เขาจะกลายเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต

คนที่ได้ดูทั้ง P.S และ In Good Company คงจะเห็นพ้องว่านั่นไม่ใช่เรื่องที่กล่าวเกินเลย แม้เกรซจะไม่ได้มาพร้อมความสามารถโดดเด่น (หรือเกรี้ยวกราด) อย่างเห็นได้ชัด แต่ในบทง่ายๆ ธรรมดาๆ เขาก็ทำได้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติชนิดหาตัวจับได้ยากมากคนหนึ่ง

ใน In Good Company (มีโปรแกรมเข้าโรงสัปดาห์นี้) เกรซรับบทนำเต็มตัวเป็น คาร์เตอร์ ดูริเย นักการตลาดหนุ่มไฟแรงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในหน้าที่การงาน แต่กลับล้มไม่เป็นท่ากับการบริหารชีวิต คาร์เตอร์อาจเป็นตัวละครที่คนดูรังเกียจได้ในทันที ถ้าอยู่ในหนังที่เล่าถึงการชิงไหวชิงหริบในวงธุรกิจ โชคดีที่ In Good Company ของพอล ไวต์ซไม่ได้ไปเน้นตรงนั้นเท่ากับการให้ตัวละครเรียนรู้ที่จะมีความสุขจริงๆ กับชีวิต - ชายหนุ่มจึงไม่เพียงเป็นที่รักของคนดูเท่านั้น แต่ด้วยการแสดงของเกรซ, คาร์เตอร์ ดูริเอ จึงเป็นผู้โอบอุ้มหนังไว้ทั้งเรื่อง รับมือกับนักแสดงสมทบฝีมือจัดจ้านอย่าง เดนิส เควดและสการ์เลตต์ โยฮันส์สันได้อย่างสบายๆ

ส่วน P.S. นั้นยังไม่ได้ฉายในบ้านเรา (ข่าวว่ามีคนซื้อมาแล้ว) ที่อเมริกาหนังก็เงียบมาก ทั้งที่โดยศักยภาพของตัวงานแล้ว ยอดเยี่ยมขนาดเข้าชิงออสการ์บางสาขาได้อย่างสบายๆ นี่ทำให้ผมรู้สัจธรรมเกี่ยวกับออสการ์ได้อีกข้อหนึ่งว่า บางทีหนังดีก็ไม่มีประโยชน์ หากการประชาสัมพันธ์ (เพื่อเรียกร้องความสนใจจากกรรมการ) นั้นล้มเหลว

เกรซไม่ได้เล่นเป็นตัวนำโดยตรงใน P.S. เทียบสัดส่วนแล้วก็ออกมาน้อยกว่าดาราหลายคนในเรื่อง แต่บทของเขาก็เด่นพอให้จดจำ ว่ากันตามตรงมันเป็นบทที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวละครเอกในเรื่อง และมีอิทธิพลเหนือกว่าด้วย

P.S. สร้างจากนิยายของเฮเลน ชูลแมน (ชื่อเรื่อง P.S. I Love You) ซึ่งเล่าเรื่องของสาววัยกำลังขึ้นเลข 4 คนหนึ่ง ที่ได้พบกับเด็กหนุ่มซึ่งเธอเชื่อว่า เป็นคนรักสมัยไฮสกูลของตัวเอง - และเสียชีวิตไปกว่า 20 ปีแล้ว ผู้กำกับ ดีแลน คิดด์ ดัดแปลงบท (ร่วมกับชูลแมน) โดยตัดรายละเอียดหวานๆ ออกไปเสีย (ชื่อเรื่องเขาก็ตัดคำเลี่ยนๆ อย่าง I Love You ออก) หนังจึงไม่ใช่เรื่องของรักและการกลับชาติมาเกิดแบบตื้นๆ เท่านั้น แต่โดยรวมพูดถึงการสะสางอดีตอันฝังใจของผู้หญิงในวัยกลางคน และการเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า

คิดด์แนะนำคนดูให้รู้จัก หลุยส์ แฮร์ริงตัน (ลอรา ลินนีย์) ด้วยฉากที่เธอกำลังแต่งหน้าและยืนสำรวจตัวเองอยู่หน้ากระจก ซึ่งกลายเป็นเรื่องขำขันในเวลาต่อมา เมื่อคนดูพบว่า แม้หลุยส์จะมองตัวเองทุกวัน แต่เธอก็แทบจะไม่รู้จักตัวตนของเธอเองเลย เธออาจจะอายุราวๆ 40 ได้แล้ว แต่ข้างในนั้นคือเด็กหญิงวัย 18 ที่ดูเหมือนถูกอะไรบางอย่างกักขังไว้ ไม่ให้เกาะกงล้อของเวลาเพื่อเติบโตไปได้โดยสะดวก

ข้อพิสูจน์นี้มาจากการเล่นตลกของความบังเอิญ เธอทำงานเป็นผู้พิจารณารับนักศึกษาวิชาศิลปะที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และได้รับจดหมายจากเด็กหนุ่มที่ชื่อ เอฟ.สก็อตช์ ไฟน์สแตดต์ (เกรซ) ซึ่งทำให้เธอย้อนกลับไปนึกถึงรักแรกสมัยยังเรียนมัธยม ชายหนุ่มที่เธอหลงรักหัวปักหัวปำก็มีชื่อเดียวกันนี้ เขาชอบวาดรูป และเขียนอะไรมาในจดหมายด้วยสำนวนคล้ายๆ ที่เห็นนี้ด้วย หลังจากดูเอกสารอย่างผ่านๆ หลุยส์ตัดสินใจโทรหาตามเบอร์ที่แจ้งไว้ บอกให้เด็กหนุ่มรีบมาสัมภาษณ์ในวันรุ่งขึ้น

เหมือนจะเป็นการตอกย้ำความฟุ้งซ่านให้หนักแน่นขึ้นไปกว่าเดิม หน้าตาของเอฟ.สก็อตช์ละม้ายกับรักแรกของหลุยส์จนเล่นเอาเธอตั้งตัวไม่ติด หญิงสาววางตัวไม่ถูก ทำตัวซุ่มซ่ามราวกับเด็กสาวที่กำลังขวยเขินต่อหน้าคนรัก นี่ไม่ใช่ความฝัน แต่มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อเอฟ.สก็อตช์ คนนั้นได้ตายจากโลกนี้ไปแล้วด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาเดินทางย้อนเวลากลับมา หรืออะไรกัน

หลุยส์ไม่สามารถยับยั้งปากตัวเองไม่ให้ชวนเขาไปหาอะไรดื่มที่ห้องของเธอได้ การสัมภาษณ์จบลงด้วยการร่วมรักอย่างเร่าร้อนบนโซฟาในห้องรับแขกนั่นเอง มันเป็นเซ็กซ์ที่รวดเร็ว ปุบปับ และคล้ายกับเด็กๆ ที่หักห้ามใจตัวเองไม่ได้เอาเสียเลย จนกระทั่งเธอเองก็แปลกใจ

แต่เรื่องเซอร์ไพรส์ของหลุยส์ ยังไม่จบเพียงแค่นั้น ค่ำวันเดียวกัน เธอนัดกับ ปีเตอร์ (กาเบรียล เบิร์น) สามีเก่า ทานอาหารกันอย่างปกติที่เคยทำ เขาสารภาพกับเธอว่า สาเหตุของการหย่าร้างจริงๆ แล้วมันซับซ้อนกว่าที่เขาเคยบอกเธอในคราวแรก แต่มันมาจากอาการติดเซ็กซ์อย่างรุนแรงที่แก้ไขไม่ได้ แม้เขาจะพยายามบำบัดมากแค่ไหนก็ตาม หลุยส์ฟังแล้วก็เหมือนใจจะขาดอยู่ตรงนั้น เธอกลายเป็นคนโง่ที่รู้ว่า สิ่งที่เคยคิดว่ามันเป็นนั้น - เป็นเรื่องจอมปลอมมาตลอด หญิงสาวเริ่มเสียศูนย์ และหันไปพึ่งพิงความรักแบบเพ้อฝันกับเอฟ.สก็อตช์อย่างเต็มตัว

เรื่องคงจะง่ายกว่านี้ ถ้า มิสซี (มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน) เพื่อนสนิทของเธอ ไม่บังเอิญล่วงรู้ถึงความสัมพันธ์ลับๆ ของหลุยส์กับเอฟ.สก็อตช์ เพื่อนตัวดีจัดการนัดแนะเจอตัวกับเด็กหนุ่มเพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่า เอฟ.สก็อตช์ เป็นร่างที่สองของชายที่ครั้งหนึ่ง เธอกับเพื่อนเคยแย่งชิงกันมาก่อนจริงหรือไม่

P.S. ขมวดปมยุ่งเหยิงกว่าที่มันเริ่มต้นมาก การกลับมาของเอฟ.สก็อตช์ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเรื่องที่ว่า หลุยส์จะเชื่อว่าเขาเป็นคนรักคนเดิมหรือเปล่าเท่านั้น แต่เป็นการมาเพื่อสะสางอะไรบางอย่างที่ยังไม่แล้วเสร็จ หรือค้างคา - ที่ทำให้เธอติดอยู่กับอดีตและหลีกหนีไปไหนไม่พ้น

นอกจากจะรวบรัดส่วนโรแมนติกของเรื่องแล้ว ดีแลน คิดด์ยังให้น้ำหนักกับเหตุการณ์เหลือเชื่อต่างๆ อย่างแนบเนียน องค์ประกอบทุกอย่างในหนังเป็นธรรมชาติมากกว่าจะเป็นเรื่องที่ปรุงแต่งขึ้น เขาไม่พยายามทำให้เหมือนมีปาฏิหาริย์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่บอกว่าเรื่องบังเอิญมันเกิดขึ้นได้ และบางทีมันก็หลอกเราเสียจนหัวปั่น

ลอรา ลินนีย์ ได้บทนำไปเต็มๆ บทหลุยส์เปิดโอกาสให้เธอเล่นอะไรได้หลากหลาย และลินนีย์ก็ไม่ปล่อยให้หลุดมือแม้แต่ฉากเดียว ผมยกให้การแสดงของเธออยู่ระดับเดียวกับนิโคล คิดแมนใน Birth ซึ่งพล็อตเรื่องใกล้เคียงกัน - หนำซ้ำเธอยังดูผ่อนคลายกว่ามาก

ส่วนเกรซก็อย่างที่กล่าวไปแล้ว และคงจะไม่ต้องขายของกันอีกรอบ






กำลังโหลดความคิดเห็น