xs
xsm
sm
md
lg

ซุ้มมือปืน : อุดมการณ์ตายไปแล้ว?!

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


สนานจิตต์ บางสพาน เป็นนักวิจารณ์ที่ทำงานอย่างหนักในช่วงปี 2530 - 2533 เขาสำรวจความเป็นไปของวงการภาพยนตร์ไทยอย่างต่อเนื่องและแข็งขัน ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปสำรวจข้อเขียนเก่าๆ ของเขาแล้วจะพบว่า มันเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์อันน่าจดจำและทรงคุณค่า

งานเขียนของสนานจิตต์ไม่ได้โดดเด่นในเรื่องการใช้โวหาร แต่มาทางซื่อๆ ตรงไปตรงมา บ่อยครั้งที่สไตล์แบบมะนาวแห้งแล้งน้ำ จะก่อให้เกิดข้อพิพาทในใจของคนอ่าน (หรือกระทั่งคนทำหนัง) โดยคุณค่าและความปรารถนาดีเหล่านั้นถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

ด้วยเหตุนี้เมื่อสนานจิตต์ผันตัวเองมาเป็นคนทำหนัง เขาจึงกลายเป็นคนที่ถูก “จับตา” มากที่สุด เมื่อเทียบกับบรรดานักวิจารณ์ด้วยกันที่เปลี่ยนสถานะของตนเองเพื่อเข้าสู่วงการ บ้านเรายังมีคนที่ชอบคิดว่า “ด่าคนอื่นนัก เก่งจริงมาทำหนังเองสิ (วะ)” อยู่เยอะ ไม่ยอมรับรู้ว่า “การวิจารณ์” และ “การทำหนัง” มันเป็นงานคนละศาสตร์กัน - เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้

ขังแปด งานชิ้นแรกของเขาเป็นงานที่มีข้อบกพร่องอยู่หลายจุด คนที่จ้องจะซ้ำเติมคงสะใจกันไปถ้วนหน้า ทั้งๆ ที่หากมองอย่างเป็นธรรมแล้ว หนังเรื่องนั้นยังมีอะไรให้น่าพูดถึงอยู่ไม่น้อยเลย

ความไม่ช่ำชองงานเทคนิคทำให้ ขังแปด ไปไม่ถึงจุดที่มันควรจะเป็น (หรือจุดที่ตัวผู้กำกับเอง-อยากให้เป็น) การเล่าเรื่องยังอ่อนชั้นเชิง หลายส่วนที่น่าจะใช้ประโยชน์จากภาษาหนัง ก็กลับออกมาแบนราบ นักแสดงต่อบทกันยาวนานคล้ายกับละครเสียมากกว่า

ที่ได้ยินคนพูดกันหนาหูก็คือ เนื้อเรื่อง บทสนทนา และการนำเสนอติดจะ “เชย” คำพูดที่มีในหนังชวนให้คิดไปว่าใครที่ไหนเขาพูดกันอย่างนี้บ้าง หรือมองอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่เห็นเหล่านั้นมันพ้นยุคไปแล้ว และเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่สามารถเชื่อมโยงได้

ทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏใน ซุ้มมือปืน - งานชิ้นใหม่ของสนานจิตต์ ก็ยังคงลักษณะเช่นที่ว่าไว้ แต่หลายอย่างก็ถือเป็นการก้าวกระโดดมาไกลมากจากขังแปด งานสร้างโดยรวมดูดีจนแทบจะหาจุดติติงใหญ่ๆ ไม่พบ การทำงานร่วมกันระหว่างตัวผู้กำกับเองและ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม (ผู้กำกับภาพ) ออกมาโดดเด่น ทั้งการจัดแสง การเคลื่อนกล้อง รวมไปถึงการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อสื่อความหมาย - ซึ่งหลายฉากทำออกมาได้ดีเยี่ยมจนน่าขนลุก

ตัวละครในหนังเรื่องนี้ยังคงเป็นแบบเดียวกับใน ขังแปด กล่าวคือ เป็นคนที่อยู่ในมุมอับของสังคม หลายตัวเป็นคนที่เคยผ่านอดีตอันปวดร้าว และเลือกวิถีชีวิตที่คนทั่วไปมองว่า “ไม่ปกติและน่ารังเกียจ”

สหายแทนไท (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ก็คล้ายกับ ดาวไสว ทั้งคู่เป็นปัญญาชนที่ต้องเผชิญกับความเลวร้ายบางอย่างจนชีวิตหักเหไม่อยู่บนเส้นทางเดิมอีก กล่าวถึงตัวสหายแทนไทนั้นเขาเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่หนังก็ละ (ไว้ในฐานที่เข้าใจ) ว่าเขาได้พบเจอกับอะไรบ้างในตอนที่เตลิดเข้าป่าไปกับพรรคพวก และนั่นเป็นเหตุผลหลักๆ ให้ในที่สุด เขาก็ต้องจบชีวิตตัวเองด้วยการเป็นมือปืนรับจ้าง

มีตัวละครอีกหลายตัวที่หนังไม่ได้พูดโดยตรง แต่ก็สามารถอนุมานได้ว่าเคยผ่านสงครามชีวิตกันมาอย่างสาหัสอยู่ และการทำตัวอยู่นอก (และเหนือ) กฎหมายคล้ายจะเป็นทางออกให้ได้ ทว่าหนังก็ตอกกลับอย่างเจ็บแสบ เมื่อบอกให้รู้ว่าในสังคมนั้นมีอำนาจที่มองไม่เห็นอีกมาก ที่เป็นตัวกำหนดให้เราไม่สามารถเลือกทางเดินของชีวิตได้

เรื่องราวในซุ้มมือปืน มีการวางกลในไกนอกอยู่หลายชั้น แต่น่าเสียดายที่บทยังไม่สามารถ “หมกเม็ด” รายละเอียดบางอย่างเพื่อให้คนดูรู้สึกว่าต้อง “คอยลุ้น” อย่างที่ควรจะเป็นได้ ซีเควนซ์บางช่วงบางตอนถ้าลองแยกออกเป็นส่วนๆ แล้วดี แต่ชั้นเชิงในการลำดับเรื่องราวให้น่าสนใจยังไม่ผ่าน

อย่างไรก็ดีนั่นไม่ใช่ข้อเสียหายที่ร้ายแรงนัก บทยังมีส่วนอื่นให้ชื่นชมอยู่มาก อาทิการเขียนบทสนทนา (แม้จะอดคิดไม่ได้ ว่ามันไม่ใกล้เคียงการพูดในชีวิตประจำวันเลย) ที่ยอกย้อนและแสดงความเก๋าออกมาอย่างสนุกสนาน (“ตกลงผู้พันจะให้ฉันเป็นงูหรือเป็นไก่?” / “ก็ในฐานะที่เจ๊เห็นทั้งตีนงูและนมไก่ เจ๊ก็ควรจะบอกข้อมูลมาเสียดีกว่า”)

บทสนทนาในหนังเรื่องนี้มาในทางโอลด์แฟชั่นอย่างเต็มที่ มันเกือบจะกลายเป็นความเชยที่สมบูรณ์ แต่นักแสดงส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้ก็พร้อมใจกันโอบอุ้มให้มันเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ไม่น่าตะขิดตะขวงใจได้

บงกช คงมาลัย เป็นส่วนที่ไม่น่าเชื่อถือที่สุดในหนัง แม้บางฉากเธอจะเล่นได้ดี แต่ด้วยวัยวุฒิ - ตัวเธอไม่เหมาะกับบทเอาเสียเลย มันผิดพลาดตั้งแต่การแคสติ้งแล้ว เช่นเดียวกับ ธนิตย์ จิตต์นุกูล ในบท กำนันเบิ้ม ที่ออกมาน่าขันมากกว่าจะเชื้อเชิญให้เกรงขาม นอกเหนือจากนั้นนักแสดงทั้งหมดก็ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างวิเศษ

โดยสรุป, ผมค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ถึงจะเห็นจุดขาดเกินอยู่บ้าง (อย่างที่กล่าวไป) และแม้จะอยากเห็นปูมหลังของตัวสหายแทนไทมากกว่านี้ (แค่การให้เขาอ่าน ฤทธิ์มีดสั้น - แค่นั้นยังไม่พอ)
หนังของสนานจิตต์ บางสะพานก็ออกมาคล้ายๆ กับงานเขียนของเขา คือมีลูกซื่ออยู่เยอะ ภาษาหนังเก่า (กระทั่งตัวหนังหนังเองก็ยังออกมาคล้ายแนวทางของ มาร์ติน สกอร์เซซี หรือ แซม เพคกินพาห์ มากกว่าจะออกมาฉับไวและหวือหวาอย่างหนังหลายเรื่องของคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ) คิดจะด่าอะไรก็ด่าออกมาตรงๆ ซึ่งก็สมควรแล้ว ที่เหน็บในหนังนี่ยังถือว่าน้อยไปเสียด้วยซ้ำ

ซุ้มมือปืนเป็นหนังที่พูดถึงอะไรบางอย่างที่เรารับรู้กันว่ามีอยู่ แต่ไม่เคยเห็นตัวตน ได้น่าพึงพอใจ นึกๆ ดูแล้วแทบไม่มีหนังไทยเรื่องไหนเลยที่หยิบยกเรื่องเหล่านี้มาเล่า บางทีมันคงไม่ใช่สิ่งที่คนรุ่นใหม่สนใจเสียแล้ว และมันคงเป็นความค้างคาใจของคนรุ่นๆ สนานจิตต์เอง

ผมชอบการถ่ายทอดความคิดแบบรุ่นสู่รุ่นอย่างนี้ เพราะมันทำให้รู้ว่าคนรุ่นก่อนเราคิดอะไรและรู้สึกกับมันอย่างไรบ้าง อย่างน้อยที่สุด มันก็น่านำมาปรับใช้กับชีวิตได้ โดยที่ผมไม่ต้องลงทุนไปถือปืนหรือเข้าป่าด้วยตัวเอง

กำลังโหลดความคิดเห็น