เป็นตัวของตัวเองจนต้องปรบมือให้เลยดีทีเดียวสำหรับพลพรรค "สิบล้อ" ของหนุ่ม "เล็ก ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์" กับเพื่อนๆ ทั้ง 4 ที่ประกอบด้วย สุทธิพงศ์ แจ่มจำรัส (ใหม่), ทองปอนด์ ระเบียบโอษฐ์ (ปอนด์), พรนิรันดร์ ปานศิลา (โด้) และพลกฤษณ์ วิริยานุภาพ (เอ)
ย้อนไปตอนที่พวกเขาออกงานชุดแรกชื่อเดียวกับวงในปี 2544 มีหลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่า สิบล้อคันนี้คงจะจอดป้ายอยู่แค่นั้นเนื่องจากการนำเสนอตัวตนด้วยภาพของความเซอร์ ความดิบของพลรรคสิบล้อในความรู้สึกของใครหลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ออกมาจากใจสักเท่าไหร่ เหมือนกับการเล่นๆ ของคนมีกะตังค์มากกว่า
ที่สำคัญก็คือคนขับเองดูเหมือนว่าจะมีอาการของคน "เมา" อย่างเต็มเปี่ยม ขนาดที่ว่าร้องเพลงยังเสียงอ้อๆ แอ้ๆ แถมแนวดนตรีร็อกแอนด์โรลกึ่มๆ ด้วยคันทรี่สำเนียงยุค 70 นั้นก็ดูออกจะเชยเกินไปสักหน่อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับวงอื่นๆ ที่กำลัง "แร๊พฮอป" โย่ๆ เย่ๆ รวมทั้งพวกที่กำลังถูแผ่นกันจนมือหงิกมืองอ
ว่าไปแล้ว "สิบล้อ" ก็เหมือนกับระบบอะนาล็อกที่หลงมาเกิดในยุคดิจิตอลซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะเอาตัวรอดได้ แต่โชคดีที่เรื่องของเพลงเป็นเรื่องของรสนิยม "สิบล้อ" ของหนุ่มเล็กเลยขับมาได้เรื่อยๆ จนถึงบริษัท "มอร์ มิวสิค" ก่อนที่จะมีอัลบั้มที่สอง ”มนต์รักสิบล้อ” ออกมาในปี 2546 ด้วยแนวทางเดิมๆ ของตนเองทว่า "ปราณีต" ขึ้นกว่าชุดแรกมากนัก...
แถมชุดนี้ยังมีเพลงโดนใจบรรดาหนุ่มเซอร์ พวกจิ๊กโก๋อกหักอย่าง "ความลับในใจ" อีกต่างหาก
กับ "เสียงเพลงสิบล้อ" ในชุดที่สาม(พ.ศ.2547) ดนตรีแม้จะดูจัดจ้านเข้มข้นขึ้น ลูกโซโล่ยาวขึ้น ทว่าโดยรวมๆ แล้ว สิบล้อคันนี้ก็ยังคงเป็นสิบล้อคันเดิม ด้วยคอนเซ็ปต์ของการทำงานที่สื่อออกมาแบบเข้าใจง่ายๆ สำเนียงแบบเดิมๆ เนื้อหาที่บอกเล่าดูจริงใจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเรื่องของความรักในแง่มุมต่างๆ
ชุดนี้มีเพลงน่าฟังหลายเพลง อย่าง "รักเป็นเช่นไร" ที่อาจจะเหมือน "รักทรหด" ของคาราบาวไปนิด แต่ฟังแล้วได้ข้อคิดดีทีเดียว เช่นเดียวกับ "คิดสั้นทำไม" หรือจะเป็นเพลงจังหวะสนุกๆ อย่าง "รักต้องพิสูจน์" "นักดาบ" ในขณะที่เสียงร้องของหนุ่มฮิวโก้นั้นแม้จะไม่ถึงขนาดที่เมามาย แต่ก็ต้องบอกว่ายังไม่สร่าง
อาจจะมีทั้งคนที่ชอบและก็คนที่ไม่ชอบ ทว่าโดยรวมแล้ว "สิบล้อ" คันนี้ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่มากมายอะไรเลย
ยิ่งถ้ามองว่านี่คือสิบล้อของไฮโซด้วยแล้ว มันช่างเชิญชวนให้ขึ้นไปนั่งอยู่ไม่หยอก
*****
อีกหนึ่งอัลบั้มบนแผงเทปที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ "รวมบทเพลง 100 เพลงเอก สุนทราภรณ์" โดย "โรส วิดีโอ"
กับราคา 1,199 บาท ที่ติดอยู่กับปกอาจจะดูสูงเอาการ แต่ถ้ามองว่านี่คืองาน "ชั้นครู" นี่คืองานของวงดนตรีที่เป็น "ตำนาน" รวมไปถึงปริมาณของสินค้าที่ประกอบด้วย ซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอย่างละ 4 แผ่น หนังสือรวบรวมเนื้อเพลงทั้ง 100 เพลงแล้วต้องบอกว่าคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม
การเรียงเพลงตามโดยไล่ตามลำดับตัวอักษรอาจจะทำให้อารมณ์ในการฟังเกิดการสะดุดไปบ้าง บางคนเพลิดเพลินกับแทงโก้อยู่ดีๆ อาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นรำวง, บางคนเต้นลีลาศอยู่ดีๆ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนมาเอื้อนลูกคอเพลงลูกกรุงแทน แต่ก็ถือว่าสะดวกในเรื่องของการค้นคว้า/ศึกษา
ยิ่งถ้าใครอยากจะรู้ว่าการ "ร้องเพลง" จริงๆ (จากนักร้องรุ่นเก่าๆ ทั้ง ชรินทร์ นันทนาคร,โฉมฉาย อรุณฉาย,ดาวใจ ไพจิตร,ธรรมรัตน์ นวะมรัตน์ ฯ) ที่ไม่ใช่การ "บ่น" "พึมพัม" หรือว่า "แหกปาก" นั้นเป็นอย่างไร? ทำไมคนรุ่นพ่อ - แม่ ของเราถึงได้ติดอกติดใจนักหนาก็ต้องซื้อมาพิสูจน์
ส่วนใครที่กลัวว่าเพลงเก่าแล้วเสียงจะย่ำแย่หรือเปล่า? หมดห่วงได้เพราะการบันทึกเสียงชุดนี้ออกมาค่อนข้างดีและใสปิ๊งทีเดียว
บนปกอัลบั้มอาจจะเขียนบอกไว้ว่าอัลบั้มนี้ควรค่าแก่การสะสม แต่เชื่อเถอะว่าซื้อไป "ฟัง" จะได้ประโยชน์และเพลิดเพลินอารมณ์กว่า