ตอนที่หนังเรื่อง Three Extremes ออกฉายเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ในบรรดาหนังสั้นสามเรื่อง ผมไม่ชอบ Dumplings ของผู้กำกับชาวฮ่องกง – ฟรุต ชาน มากที่สุด
คราวแรกผมก็เข้าใจเอาว่า อาจเพราะผมไม่เคยชอบงานของเขาเลย แม้มองตามเนื้อผ้าแล้ว งานที่ผ่านมาของชานจะจัดอยู่ในระดับดีและน่าสนใจ (Made in Hong Kong, Hollywood Hong Kong) มาตลอด
แต่พอดู Three Extremes อีกรอบก็ได้คำตอบว่า ตัวหนังนั้นไม่ไหวจริงๆ พล็อตเรื่องเชยมากเมื่อเทียบกับงานของ ทาคาชิ มิอิเกะ และ พัก ชานวุก (ผู้กำกับอีก 2 คนในหนังชุดนั้น) แถมอารมณ์ของหนังยังกระท่อนกระแท่น ทำให้มันดูมีช่องโหว่และรูกลวงเยอะอย่างไรชอบกลอยู่
อันที่จริง Dumplings ไม่ได้เป็นหนังความยาวแค่ครึ่งชั่วโมง แต่ฟรุต ชานทำหนังเรื่องนี้ไว้ยาวกว่านั้น จนมันเป็นหนังยาวปกติเรื่องหนึ่ง ต้องขอบคุณโรงภาพยนตร์เฮ้าส์ที่อุตส่าห์นำเอาฉบับเต็มมาให้ดู อย่างน้อยๆ ก็เพื่อให้ผมได้ทราบว่า เดิมแล้ว Dumplings เป็นงานที่ดี – ดีถึงขั้นที่ผมเปลี่ยนใจมาชื่นชมฟรุต ชานเลยทีเดียวครับ
ฟรุต ชานเป็นคนทำหนังที่เติบโตมาจากหนังอินดี้แท้ๆ ช่วงกลางยุค 90 งานของเขาบอกเล่าความเป็นไปของเกาะฮ่องกงอย่างตรงไปตรงมา แสดงออกด้วยเทคนิคหวือหวา ในขณะเดียวกันท่ามกลางความดิบเถื่อนนั้น เนื้องานของเขาก็ตั้งคำถามที่จริงจังต่อสังคม นอกเหนือจาก หว่องกาไว แล้ว คงจะเป็นเขานี้แหละที่ทำให้หนังฮ่องกงในตอนนั้น ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
เหตุที่ผมไม่ได้ปลื้มงานของชาน เพราะเขาเป็นคนชอบวางมาด บางครั้งก็ออกจะโชว์ออฟจนชวนให้หมั่นไส้ พูดง่ายๆ คือ ฟรุต ชานตั้งใจทำหนังดีเอาใจนักวิจารณ์มากเกินไป จนขาดความบริสุทธิ์และเป็นธรรมชาติ
กับ Dumplings ถือว่าเขาผ่อนคลายลงไปบ้าง อย่างน้อยๆ หนังเรื่องนี้ชานก็ไม่ได้เขียนบทและคิดเรื่องเอง อารมณ์ก็เรียกได้ว่านิ่งขึ้น สำหรับผมแล้วนับเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจไม่น้อย
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่หนังพยายามจะสื่อสารกับคนดูยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องราวร่วมสมัย อันเคยปรากฏในแบบต่างกรรมต่างวาระ – จากงานเก่าๆ ของเขา กล่าวคือ พูดถึงปัญหาของคนเมือง และชนชั้นกลางที่ต้องดิ้นรนในโลกทุนนิยมครองอำนาจ
ดูเหมือนชานจะให้สัมภาษณ์ไว้เองว่า ทัศนคติของโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าตกใจ ผู้คนให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์มากกว่าจะมองให้ลึกไปถึงแก่นแท้ของความสุข สังเกตกันดีๆ จะพบว่ามีโฆษณาเครื่องประทินโฉมแปะหราอยู่เกลื่อนเมือง จนสินค้าประเภทนี้กลายมาเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอีกประการหนึ่งไปเสียแล้ว
คนที่เป็นตัวยืนยันความคิดนี้ได้ดีที่สุดคือ คุณนายหลี่ (หยางเชี่ยนหัว) อดีตดาราดังที่กลายเป็นเศรษฐีนีรวยล้นฟ้า แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เธอมีความสุข วัยที่ร่วงโรยทำให้สามีปลีกตัวออกห่าง ชื่อเสียงที่เคยมีสมัยเข้าวงการมาใหม่ๆ ก็ผ่านพ้นไปนานแล้ว
ข่าวลือเรื่องฮะเก๋าสูตรเด็ดช่วยให้เธอใจชื้นขึ้นมาทันที อาหารอันโอชะของ ป้าเหมย (ไป่หลิง) จะคืนความสาวให้กับผิวที่หย่อนยาน จนมันจะเต่งตึงไม่ต่างจากเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
คนดูน่าจะรู้กันตั้งแต่ก่อนดูแล้วว่า ตำรับลับของป้าเหมยนั้น คือ เนื้อเด็กทารกที่หลุดออกมาจากท้องแม่ก่อนกำหนด หนังให้คุณนายหลี่ทราบความลับหลังคนดู แต่ก็ใช้เวลาเพียงไม่นาน ที่จะแสดงให้เห็นว่า เธอไม่เอาเรื่องนี้มาเป็นปัญหา ตราบที่มันยังสนองความต้องการของเธอได้
ฟรุต ชานจงใจขับเน้นให้ฉากการทำฮะเก๋าของป้าเหมย คล้ายเป็นพิธีกรรมอะไรสักอย่าง เสียงประกอบถูกดันให้ดังขึ้นรับกับมุมกล้องที่บิดภาพให้ดูเหยเกของ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ – ก่อให้เกิดอารมณ์วิปริต
เท่านั้นยังไม่พอ ฉากสะอิดสะเอียดที่แม้จะไม่ได้ให้เห็นกันตรงๆ แต่หนังก็บรรจงให้มันอ้อยอิ่งกินเวลายาวนานขึ้นจนชวนอึดอัด ล้อกันไปกับกิริยาท่าทางที่สดชื่นรื่นเริงอยู่ตลอดเวลาของป้าเหมย
หนังมีการล้อกันเรื่องอารมณ์ขัดแย้งเช่นนี้บ่อยครั้ง ที่เห็นกันง่ายๆ คือการออกแบบให้หนังมีโทนตัดกันอยู่สองสี ห้องเช่าของป้าเหมยจะอยู่ในเฉดเขียวทึมทึบ แต่เสื้อผ้าของคุณนายหลี่กลับฉูดฉาดแดงฉาน (พอๆ กับศพเด็กทารก)
ชานลำดับเรื่องราวได้น่าสนใจ ทันทีที่คุณนายหลี่สมหวังที่สามีกลับมาหาเธอ ดนตรีประกอบจังหวะคึกคักดังขึ้นก่อนจะตัดไปเล่าเรื่องของเด็กสาวที่มาทำแท้งและตกเลือดเสียชีวิตทันที
ในแง่หนึ่งมันคือการตั้งคำถามกับคนดูว่า ความสุขจอมปลอมนั้นดำรงอยู่เพียงประเดี๋ยวประด๋าว ก่อนจะนำเอาความโศกสลดมาสู่ อย่างที่เทียบกันไม่ได้ - - แล้วยังจะยอมแลกกันอีกหรือ?
องค์ประกอบหลายส่วนใน Dumplings ออกมาระดับพอดีๆ อย่างที่บอกไปแล้วว่าชานเองก็เบามือลงไปเยอะ โชคดีที่งานภาพของดอยล์ – ซึ่งมักจะโดดเด่นอยู่ตลอด – ก็ไม่ “ขโมยซีน” ไปมากนัก บางช่วงที่ต้องการการแสดงเพื่อผลักเรื่องไปข้างหน้า นักแสดงจึงได้โชว์พลังกันได้เต็มที่
โดยรวมแล้ว Dumplings เป็นหนังเขย่าขวัญที่น่าสนใจมาก แม้ว่าตัวหนังเองจะยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงตลอดเวลา ความกลัวเกิดขึ้นจากการไม่พยายามสร้างบรรยากาศจนเกินเลย แต่มันจะซึมซับลงในความรู้สึกเหมือนน้ำหยดลงบนทรายจนปริ่ม
ที่วิเศษและคาดไม่ถึงยิ่งกว่า เห็นจะเป็นอารมณ์เศร้าสร้อยซึ่งทำได้ยอดเยี่ยม ฉากท้ายๆ ของหนังเราจะไม่เห็นคุณนายหลี่ใส่ชุดสีจัดจ้านอีก เธอมาในชุดเขียวโทนเดียวกับป้าเหมย, แน่นอน – เธอได้กลายเป็นคนอีกคนหนึ่งอย่างสมบูรณ์
ฟรุต ชานจบหนังลงอย่างเรียบง่ายด้วยฉากแฟลชแบกงานแต่งงานของคุณนายหลี่เมื่อครั้งเธอยังสาว คงจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่คนดูได้เห็นเธอยิ้มอย่างมีความสุขที่สุด
น่าสลดตรงที่เราทราบกันดีว่า ความสุขนั้นจะไม่มีวันกลับมาอีก และคุณนายหลี่คนเดิม – ก็ได้ตายจากไปแล้ว