เทศกาลภาพยนตร์ทรุฟโฟต์ - สุดสัปดาห์นี้ที่ "เฮ้าส์"
เป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็มนับจากวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (23 กันยายน) โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ จะจัดเทศกาล Truffaut's Film Festival ขึ้น ผมเอามาบอกกันก่อน (หรือย้ำกันอีกครั้งสำหรับท่านที่ทราบแล้ว) เผื่อจะสละเวลาว่างไปชมหนังดีๆ ที่หาดูไม่ง่ายนักในโรงภาพยนตร์
ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์เป็นใคร และเขาสำคัญจนถึงกับต้องมีการจัดฉายภาพยนตร์ของเขาอย่างเป็นวาระพิเศษอย่างนั้นเชียวหรือ
ตอบอย่างพื้นๆ - ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์เป็นผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่เสียชีวิตไปเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยโรคเนื้องอกในสมอง เขาเริ่มทำหนังในช่วงกลางทศวรรษที่ 50 เป็นหัวหอกของกลุ่มคนทำหนังคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศสที่นักวิจารณ์ยกย่อง และถ้าหากใครที่สนใจภาพยนตร์อย่างบ้าคลั่งสักหน่อย คงจะทราบดีว่า ชื่อของเขานั้นปรากฏอยู่ในตำราภาพยนตร์แทบทุกเล่ม
ทรุฟโฟต์เป็นนักดูหนัง เขาดูจนเรียกว่า "เสพติด" ถึงจะถูกต้องกว่า เริ่มดูตั้งแต่ 7 ขวบ เรื่องไหนที่ชอบก็ดูมันซ้ำๆ จนจำบทสนทนาได้ โดดเรียนมาดูหนังจนกระทั่งเลิกเรียนอย่างถาวรสมใจ พอโตเป็นหนุ่มก็เริ่มทำงานเป็นนักวิจารณ์ เมื่ออิ่มตัวก็มาเป็นคนทำเสียเอง เรียกได้ว่า เขาอยู่กับหนังมาตลอดชีวิต
นั่นคือการพูดถึงทรุฟโฟต์อย่างเรียบง่ายที่สุด เพราะเขายังเป็นอะไรที่มากกว่านั้นสำหรับคนดูหลายๆ คน เขาเป็นทั้งนักเล่าเรื่อง นักเดินทาง กวี และผู้สร้างแรงบันดาลใจ โดยใช้ภาพยนตร์เป็น "สื่อ"
ผมนั้นออกจะเขินๆ ตอนที่มีคนถามว่า ชอบผู้กำกับคนไหนเป็นพิเศษบ้างหรือไม่ - แล้วก็ต้องมีชื่อของ ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์รวมอยู่ในคำตอบนั้นด้วย (ตอบว่าไมเคิล เบย์หรือแอนดรูว เบลกยังจะสะดวกใจเสียกว่า)
ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดที่ชื่อของเขา กลับให้ภาพของคนทำหนังที่ลุ่มลึก ชั้นสูง และต้องใช้อุปกรณ์ปีนป่ายในการเข้าถึง (หนำซ้ำสายตาของผู้ถามเมื่อได้รับคำตอบ ก็จะออกมาทำนองว่า "หน้าตาอย่างแกนะเหรอ ดูหนังทรุฟโฟต์?") ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว หนังของทรุฟโฟต์ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย
ทรุฟโฟต์ไม่เคยใช้สัญลักษณ์พร่ำเพรื่อ เพื่อให้คนดูขมวดคิ้วทุกๆ 5 นาที มันไม่มีปรัชญาที่ยากเกินความเข้าใจ และ หนังของเขาก็มี "เรื่องราว" มากกว่างานของ ฌอง-ลุก โกดาร์ เพื่อนนิวเวฟด้วยกัน (แน่นอน มันง่ายต่อการเสพมากกว่ากันเยอะ) อีกทั้งทรุฟโฟต์ไม่ปฏิเสธการเร้าอารมณ์ หากมันต้องมีเพื่อการสื่อถึงสาระสำคัญอย่างครบถ้วน
ฉะนั้นผมต้องยืนยันว่าหนังทรุฟโฟต์นั้นดูง่าย แม้จะไม่กระชับฉับไวเหมือนอย่างหนังจากฝั่งอเมริกาก็จริง แต่เขาก็ชดเชยด้วยการให้รายละเอียดกับตัวละครอย่างถี่ยิบ มาพร้อมกับบรรยากาศและจังหวะเนิบนาบอันงดงามของชีวิต - อันเป็นจังหวะที่ไม่ว่าคนทำหนังจะเก่งขนาดไหนก็ไม่สามารถเลียนแบบเขาได้
มันเป็นงานที่ทุกคนควรจะได้รับรู้ ผมถึงกับแอบยกย่องอยู่ในใจคนเดียวว่างานของเขานั้นเข้าขั้น "มรดกโลก"
เทศกาลในครั้งนี้จะฉายงานของทรุฟโฟต์ 8 เรื่องด้วยกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องเด่นๆ ทั้งนั้น ได้แก่ หนังชุดอังตวน ดัวเนล 5 เรื่อง (จบชุด), Jules et Jim, Day for Night และ The Last Metro
ไม่แน่ใจว่าจะแนะนำเรื่องไหนดี เพราะมันน่าดูไปเสียทั้งหมด ตั้งแต่ The 400 Blows งานที่ถือเป็นปฐมบทของคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศส ซึ่งทรุฟโฟต์ดัดแปลงมาจากชีวิตของตนเอง (เขาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แต่ชีวิตของเด็กน้อยอังตวนก็ช่างคล้ายคลึงกับวัยเด็กของเขาเองอย่างเถียงไม่ขึ้น)
ดูจบแล้ววันรุ่งขึ้นก็มีตอนต่อ Antoine et Colette มาฉายทันที และได้ดูจนกระทั่งจบชุดในหนัง Love On the Run อันถือเป็นบทปิดท้าย
The 400 Blows หลายคนอาจจะรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ภาคต่อๆ มานั้น เนื่องจากมันไม่ได้รับการยกย่องเท่า จึงไม่ค่อยจะมีคนให้ความสนใจนัก หนังอาจจะเบากว่าภาคแรกสักหน่อย แต่มันดูผ่อนคลายสนุกสนานมาก พัฒนาการของอังตวน ดัวเนล (รับบทโดย ฌอง-ปิแอร์ เลโอด์ ตั้งแต่วัย 14 จนถึง 35) เป็นไปในทำนอง "พ่อปลาไหล" ที่ต้องตกม้าตายเพราะความ "ลื่น" ของตนเอง และสุดท้าย หนังก็ยังให้เห็นภาพการเติบโตของผู้ชายคนหนึ่งอย่างชัดเจนจนคนดูอดตกหลุมรักเขาไม่ได้
Day for Night น่าจะเป็นงานอีกชิ้นของทรุฟโฟต์ที่หลายคนน่าจะได้ดู (หรือเคยได้ยิน) กันแล้ว เพราะมีวีซีดีลิขสิทธิ์ในบ้านเรา หนังเล่าเรื่องของความวุ่นวายในกองถ่ายภาพยนตร์แห่งหนึ่งได้อย่างชวนหัวและโกลาหล (สตีเวน สปีลเบิร์กรักหนังเรื่องนี้มาก จนขนาดจัดให้มันเป็นหนังในดวงใจ) โดยทรุฟโฟต์มารับบทผู้กำกับจอมประสาทในเรื่องด้วยตัวเอง
The Last Metro ก็เป็นงานของทรุฟโฟต์อีกชิ้นที่ไม่น่าพลาด หนังเล่าถึงคณะละครแห่งหนึ่งที่ต้องดำเนินกิจการไประหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังปะทุ เฮ้าส์จะฉายหนังเรื่องนี้ด้วยฟิล์ม 16 มม. ฉะนั้นงานภาพอันยอดเยี่ยมของเนสเตอร์ อัลเมนดรอส (เขาเคยได้ออสการ์จาก Days of Heaven ของผกก.เทอร์เรนซ์ มาลิก) ก็จะได้แสดงศักยภาพของมันอย่างเต็มที่
และเรื่องสุดท้าย Jules et Jim ที่ดูเหมือนจะเป็นหนังโปรดของใครหลายคน - ก็จะฉายด้วยฟิล์ม 16 มม. เช่นกัน - ฌานน์ มอโร นางเอกของเรื่องรับบทแคเธอรีน หญิงสาวผู้ร่าเริงที่คว้าดวงใจของเพื่อนรักสองคนไปครอง ทรุฟโฟต์เล่าเรื่องก้อนสามเส้าของความสัมพันธ์ได้อย่างสะเทือนใจ ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยพลัง ซึ่งถ้าจะมีหนังสักเรื่องที่สามารถทำให้ภาพยนตร์กลายเป็นบทกวีที่ไพเราะด้วยท่วงทำนองได้ หนังเรื่องนี้ก็จะอยู่ในลำดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย
นักดูหนังส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ รวมทั้งตัวผมเองด้วย) อาจจะเคยเห็นภาพฌานน์ มอโรวิ่งเล่น หัวเราะหรือปั่นจักรยานจากจอโทรทัศน์ที่พ่วงกับเครื่องเล่นวิดีโอหรือดีวีดี การได้มาสัมผัสด้วยภาพที่เกิดจากฟิล์มภาพยนตร์จึงน่าจะเป็นความมหัศจรรย์ที่หาชมได้ไม่บ่อยนัก
หนังของฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์มีโมเมนต์ดีๆ อีกมากที่ถ้าหากได้ชมจากจอใหญ่แล้ว คงชวนให้เกิดความเต็มตื้นของอารมณ์ได้ดีกว่ารูปแบบอื่น (ส่วนตัวผมอยากดูฉากอังตวนกับเครื่องเล่นถังเหวี่ยงใน The 400 Blows มาก)
แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยๆ เทศกาลในครั้งนี้น่าจะทำให้เขาไม่เป็นคนแปลกหน้าของนักดูหนังบ้านเราอีกต่อไป หนำซ้ำอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆ อีกหลายร้อย เหมือนที่เขาเคยเป็นมาแล้วให้กับนักดูหนังทั่วโลกก่อนหน้านี้.