ข่าวการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องของวัยรุ่นเป็นประเด็นร้อนมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมอดขำไม่ได้ที่จู่ๆ ก็มีผู้ใหญ่บางคนคิดว่า คงจะดีไม่น้อยถ้าเราหันมาจำกัดอายุ (และแน่นอน - สถานที่ด้วย) ให้กับเด็ก ว่า ควรมีอะไรกันตอนไหน ที่ไหนและเมื่อไหร่ รวมทั้งบอกว่าการปล่อยให้เด็กเรียนรู้นับเป็นเรื่องเลวร้าย - - ทำกันอย่างกับว่า พูดแล้วเด็กมันจะฟัง และคิดเหมือนกับว่าตัวเองไม่เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน
น่าแปลกที่ผู้ใหญ่ (ที่เป็นใหญ่เป็นโต) ในบ้านเรา กลับแสดงท่าทีไม่เข้าใจอะไรพวกนี้เลย ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เคยผ่านมันมาแล้วทั้งนั้น ผมยิ่งสงสัยว่า การเติบโตขึ้นมาในยุค 60 - 70's ไม่ได้ช่วยให้ทัศนคติหรือวิสัยทัศน์ของเขากว้างขวางขึ้นกว่าเดิมเลยหรือ เพราะสำหรับผมแล้ว การเกิดมาทันใช้ความหนุ่มสาวของตัวเองในช่วงเวลานั้น ถือเป็นเรื่องน่าอิจฉา เพราะเป็นช่วงที่เราจะได้เรียนรู้โลก ในขณะที่โลกก็เรียนรู้ตัวเองไปพร้อมๆ กัน
วัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า ฮิปปี (หรือที่ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ถอดความเป็นคำที่ไพเราะว่า บุปผาชน) ไหลไปตามกระแสที่เชี่ยวกรากของสังคม พวกเขาเรียกร้องเสรีภาพ เจอกับสงครามเวียดนาม กับลัทธิทางการเมืองที่เป็น "ทางเลือก" ทางความคิด พวกเขามีวู้ดสต็อก มีดนตรีร็อก หนังสือ หนังและยาเสพติด เรียกได้ว่า ไม่มีช่วงเวลาไหนที่หอมหวนสำหรับการเรียนรู้ชีวิตเท่ากับตอนนั้นอีกแล้ว
เป็นความจริงที่ว่า หลายรายสังเวยชีวิตให้กับการเรียนรู้ในครั้งนั้น แต่ส่วนใหญ่ก็ผ่านมันมาอย่างโชกโชนด้วยอารมณ์ที่ถวิลหา กิลเบิร์ต อแดร์ นักเขียนและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอังกฤษ เขียนประสบการณ์ช่วงนั้นลงในหนังสือหลายเล่ม แต่ที่ผมกำลังจะพูดถึง - และถือเป็นหนึ่งในงานที่โด่งดังที่สุดของเขา คือ งานที่ชื่อ The Holy Innocents ซึ่งแบร์นาโด แบร์โตลุชชี นำไปทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Dreamers เมื่อปีที่ผ่านมา
อแดร์ไม่ได้ยอมรับโดยตรงว่า เขาเขียนมันขึ้นจากชีวิตของตัวเอง แต่หลายส่วนในหนังสือกลับพ้องกับรายละเอียดในชีวิตจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ แมทธิว ตัวละครเอกในเรื่องเป็นเด็กหนุ่มชาวอเมริกันที่มาเรียนต่อในปารีส แต่ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการดูหนังที่ซีเนมาเธค (โรงภาพยนตร์ที่ฉายทั้งหนังคลาสสิก หนังนอกกระแส และหนังอาร์ต) ทิ้งโลกภายนอกที่แสนจะวุ่นวาย ไปกับโลกขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่กว้างใหญ่เกินกว่าที่เขาจะคาดคิด - ครั้งหนึ่งอแดร์ก็เป็นอย่างนั้น
พอมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ อแดร์และแบร์โตลุชชี ไม่ได้ปรับเปลี่ยนตัวแมทธิวมากนัก มันชัดเจนอยู่แล้วในแง่ของการเป็นตัวแทนผู้เขียนกับผู้กำกับ และแมทธิวก็บริสุทธิ์พอที่คนดูพร้อมจะเดินทางไปกับเขา
ตัวละครอีก 2 ตัวที่สำคัญไม่แพ้กัน เป็นฝาแฝดชายหญิงที่แมทธิวพบระหว่างไปดูหนัง - ซึ่งในนิยายชื่อ กีโยมและดาเนียล แต่หนังเปลี่ยนเป็น เธโอกับอิซาเบล - หนังให้ภาพของทั้งคู่ (ในสายตาของแมทธิว) ว่าค่อนข้าง "Cool" ทั้งเรื่องการแต่งตัวและการเข้าไปนั่งเก้าอี้ติดหน้าจอเสมอเวลาดูหนัง พร้อมกับสูบบุหรี่ไปด้วย
ทั้งสามคนมาพูดคุยและทำความรู้จักกันอย่างเป็นพิธีรีตอง ในวันที่มีการชุมนุมประท้วงหน้าซีเนมาเธค รัฐบาลปลดอองรี ลองกลัว (หนึ่งในผู้ก่อตั้งโรงหนังแห่งนั้น) ออกจากตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มหนุ่มสาวและคนรักหนังมากมายออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย หลังฝูงชนเริ่มปะทะกับเจ้าหน้าที่ แมทธิว เธโอและอิซาเบลแยกตัวออกมา แบร์โตลุชชีปล่อยเพลงธีมของ The 400 Blows - หนังเรื่องสำคัญของฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ - ให้ดังขึ้นคลอกับเสียงหัวเราะของทั้งสาม
ฉากต่อมาที่อธิบายบุคลิกของแมทธิวได้ดีมาก คือฉากที่เขาไปทานอาหารเย็นร่วมกับครอบครัวของเพื่อนใหม่ เด็กหนุ่มนั่งเล่นกับไฟแช็กอย่างสนุกสนาน เมื่อพบว่าความกว้างของมันมีขนาดพอดีกับความกว้างของลายบนผ้าปูโต๊ะ และยิ่งน่าประหลาดใจเข้าไปอีกเมื่อระยะห่างระหว่างจานที่วางอยู่ ก็มีความยาวเท่าๆ กัน
ฟังดูคล้ายกับเรื่องงี่เง่า แต่แมทธิวก็ดู "ตื่นเต้น" กับประสบการณ์ใหม่อันนั้นราวกับว่าคือการค้นพบอันยิ่งใหญ่ โดยที่ยังไม่รู้ตัวว่า นี่เป็นเพียงการโหมโรงเท่านั้น เขายังได้พบอะไรอีกเยอะที่คาดไม่ถึง
เรื่องเกินคาดเกิดขึ้นในคืนเดียวกัน เขานอนค้างที่นั่น และตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะต้องเข้าห้องน้ำ แล้วก็ได้เห็นเธโอและอิซาเบล นอนเปลือยร่างขนาบข้างอยู่บนเตียงเดียวกัน หลายวันต่อมา เธโอก็อธิบายเหตุผลที่ทำให้เขางุนงงยิ่งกว่าเดิม "เราเป็นแฝดสยาม ที่ร่างกายส่วนนี้ติดกัน" เธโอชี้นิ้วไปที่สมอง
เวลาว่างของทั้งสามหมดเปลืองไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง พวกเขาทายชื่อหนังกัน เถียงกันเรื่องหนัง (เธโอกับแมทธิวเถียงกันว่า ใครเจ๋งกว่ากันระหว่างบัสเตอร์ คีตันและชาร์ลี แชปลิน) ไปวิ่งแข่งที่ลูฟร์ เพื่อทำลายสถิติซึ่งตัวละครของฌอง-ลุก โกดาร์เคยทำไว้ในหนัง Band of Outsiders, พอสำเร็จ เด็กแฝดก็ตะโกนประโยค "นายเป็นพวกเรา!" พร้อมกับที่ประโยคเดียวกันนั้นจากหนังเรื่อง Freaks (หนังปี 1932 ของทอด บราวนิง) ปรากฏขึ้นมาสลับกัน - พวกเขากลายเป็น "แก๊งคนนอก" ในเวลาเดียวกันก็เป็น "พวกตัวประหลาด"
แมทธิว เธโอ และอิซาเบล ทั้งประหลาดและแปลกแยก การมาขลุกอยู่ด้วยกัน ทำให้ทุกอย่างเลยเถิดไปจบอย่างที่ทั้งหมดเองก็ไม่คาดคิด แมทธิวและอิซาเบลต้องร่วมรักกันเพราะแพ้เกมทายชื่อหนังของเธโอ แล้วหลังจากนั้น การร่วมรักของทั้งคู่ก็ไหลไปไกลเกินกว่าที่เป็นอยู่
แบร์โตลุชชี เปลี่ยนเนื้อหาในส่วนนี้เล็กน้อย ตามบทประพันธ์เดิมแมทธิวไม่เพียงร่วมรักกับอิซาเบล แต่กับเธโอ-เขาก็มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง แบร์โตลุชชีให้เหตุผลว่า เขาไม่ต้องการให้เรื่องมัน "เข้าป่า" ไปขนาดนั้น แค่สายตาของเธโอที่ลอบมองพี่สาวของตนเองเล่นรักกับชายหนุ่มมันก็เกินพอแล้ว
ในขณะที่คนดูยังสับสนว่า ความสัมพันธ์จะไปจบลงตรงไหน แมทธิวก็ค่อยๆ เผยความคิดของตัวเองออกมา เขาบอกอยู่หลายหนว่าไม่นิยมความรุนแรง และสาเหตุที่แท้จริงของการเดินทางมาปารีสไม่ใช่เพราะอยากมาเรียนภาษา แต่หนีอะไรบางอย่าง
เด็กหนุ่มอเมริกันในช่วงปี 1968 เดินทางออกจากบ้านกันมาก แต่น้อยคนจะมาที่ปารีส พวกเขามุ่งหน้าไปเวียดนาม ไปสู่สงครามที่ทั้งมิตรและศัตรูหน้าตาเหมือนกันแทบแยกไม่ออก เธโอด่าว่าแมทธิวเป็นพวกตาขาวที่หนีมา แต่อีกฝ่ายก็ยืนยันว่านี่เป็นวิธีการต่อสู้อีกแบบหนึ่ง
ฉากสุดท้ายของหนังเป็นการเดินขบวนประท้วงอีกครั้ง (เช่นเดียวกับที่ตัวละครได้พบและคุยกันเป็นครั้งแรก) แต่หน้าที่ของมันคือ บอกจุดยืนของตัวละครที่ต่างกัน หลังจากเรียนรู้อะไรบางอย่างมาร่วมกันระยะหนึ่ง แบร์โตลุชชีให้ตัวละครมุ่งหน้าสู่คนละทิศที่พวกเขาต่างเชื่อมั่น และเกือบจะแน่นอนว่า การตัดสินใจในหนนั้น ทำให้พวกเขาไม่ได้พบกันอีก
The Dreamers คล้ายจะเป็นหนังถวิลหาอดีต (Nostalgia) ของคนทำหนัง (และเจ้าของนิยาย) แต่คนรุ่นละอ่อนอย่างผมสารภาพตามตรงว่าสัมผัสกับส่วนนั้นได้น้อยมาก แต่กลับไปตื่นตาตื่นใจกับส่วนอื่นแทน แบร์โตลุชชีใช้องค์ประกอบของภาพยนตร์มาปรุงแต่งให้งานชิ้นนี้ท่วมท้นไปด้วยอารมณ์อันหลากหลาย ที่น่าชื่นชมคือเขาคารวะงานเก่าๆ ของผู้กำกับบรมครูอย่างพอดิบพอดีและได้จังหวะจะโคน
หลายคนอาจได้ข่าวหนังเรื่องนี้ (และรอคอย) ในเรื่องฉากเปลือยที่โจ่งครึ่ม คงต้องบอกว่าหนังมีส่วนอื่นให้น่าจับต้องด้วย แบร์โตลุชชีชี้แจงว่า เขาทำหนังเรื่องนี้เพื่อให้คนหนุ่มสาวยุคปัจจุบัน เข้าไปพบว่า คนรุ่นเขาพบเจอกับอะไรมาบ้าง ถึงแม้มองกันอย่างจริงจังแล้วมันไม่ใช่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ แต่มันก็เต็มไปด้วยอารมณ์ละเอียดอ่อน ที่คนรุ่นเขาพยายามทำความรู้จักกับมันอย่างเอาจริงเอาจัง
แม้จะไม่มีคำชี้แนะหรือข้อควรระวังที่ชัดเจน แต่ตัวเขาคงหวังไว้ลึกๆ ว่า จะได้เห็นเด็กรุ่นนี้กระโจนเข้าสู่การค้นหาแบบนั้นบ้าง - แม้เพียงครั้งเดียวในชีวิต.