ในบรรดาผู้กำกับที่เฝ้าเผาแผ้วขอบเขตของภาพยนตร์ให้กว้างขวาง บรูโน ดูมองต์ ถือเป็นน้องใหม่ที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างแข็งขัน
ด้วยงานเพียง 3 ชิ้น ดูมองต์สามารถเลื่อนชั้นตัวเองไปอยู่ในระนาบเดียวกับผู้กำกับชื่อดังหลายคน นักวิจารณ์ภาพยนตร์บางคนถึงกับยกย่องว่าเขาเป็นความหวังใหม่ของวงการหนังฝรั่งเศส แต่ไม่ว่าจะได้รับคำสรรเสริญมากแค่ไหนก็ตาม ผลงานเพียงหยิบมือนั้นก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย
The Life of Jesus (1997), Humanite (1999) และ Twentynine Palms (2003) สร้างสีสันให้กับงานเทศกาลใหญ่ๆ อย่างคานส์และเวนิซมาแล้ว ผมไม่ได้ดูเรื่องแรก เลยไม่สามารถบอกได้ว่ามันเป็นอย่างไร แต่สำหรับเรื่องที่สองและเรื่องล่าสุดนั้นได้ดูแล้ว - และก็ลืมไม่ลงเลยครับ
ต้องบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้ชอบงานของบรูโน ดูมองต์เป็นพิเศษ แต่ความชอบมันก็คนละเรื่องกับความน่าสนใจ จุดเด่นของดูมองต์ คือ เขานำคนดูไปเจอกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่ชวนให้เกิดข้อสงสัย (ผ่านวิธีเรียบง่าย) หลายหนถึงขั้นน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวเขาเองก็ไม่ชี้นำว่ามันเป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ และเพราะเหตุใดตัวละครในหนังของเขาถึงได้ทำอะไร “แปลกประหลาด” อย่างนั้น
มองตามเนื้อผ้าแล้วดูมองต์ไม่ใช่นักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ เขาก็เหมือนกับคนทำหนังยุโรปทั่วๆ ไป คือเล่าเรื่องไม่เก่งนัก - หรือบางทีเขาก็อาจจะต้องการปฏิเสธการเล่าเรื่องไปเลย - จึงทำให้คนดูเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนและไม่เข้าใจว่าหนังกำลังจะพาไปสู่จุดมุ่งหมายอะไร ที่ไหน อย่างไรและทำไม
แม้การเล่าเรื่องจะไม่มีอะไรคืบหน้า แต่ดูมองต์ก็ทนแทนคนดูด้วยการพาไปสำรวจการกระทำของตัวละครอย่างถี่ยิบ ครบถ้วนกระบวนความทั้งการรับประทานอาหาร, การขับถ่ายของเสีย การร่วมเพศและการพักผ่อน - อย่างจะแจ้ง
ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกให้หนักอกอีกครั้งว่า มันก็ไม่ได้ทำให้เราเข้าใจตัวละครมากขึ้น ดูมองต์ไม่ใช้ภาษาหนังอะไรเลยเพื่อที่จะบอกความต้องการส่วนลึกของตัวละคร คนดูเปรียบเสมือนคนที่ยืนดูอยู่ห่างๆ แต่ไม่สามารถเข้ามาคลุกวงในด้วย
ผมเลยอยากจะทึกทักเปรียบเทียบว่า การดูหนังของบรูโน ดูมองต์ ก็คล้ายกับการดูโชว์ของประหลาด (Freak Show) คนดูก็เลือกเอาเองว่าจะส่งเสียงอู้วอ้าหรือทอดถอนหายใจเพื่อปลงสังขาร
Humanite นั้นเล่าถึงคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงวัย 11 ขวบที่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ แสนเงียบเหงาแห่งหนึ่ง ตัวละครเอกเป็นนายตำรวจที่จำต้องสะสางคดีสะเทือนขวัญนี้ แต่แทนที่เราจะได้พบว่ากระบวนการสืบสวนเป็นเช่นไร ดูมองต์กลับพาคนดูตามดูพฤติกรรมของนายตำรวจว่าวันๆ เขาทำอะไรบ้าง (ทำสวน, ดูแลแม่แก่ๆ)
ผ่านไปครึ่งเรื่องก็พบว่าพระเอกของเราไปแอบชอบหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเป็นแฟนของเพื่อน ไปอีกสักระยะเราก็พบว่าหญิงสาวคนนั้นระทมทุกข์กับอะไรบางอย่างจนต้องใช้เซ็กซ์เข้ามาทดแทน พล็อตเรื่องเลยเถิดไปไกลจนลืมไปแล้วว่าเหตุการณ์ในตอนต้นเกิดขึ้นแบบไหน แล้วดูมองต์ก็วกกลับมาบอกคนดูอีกครั้งว่า ฆาตกรใจโหดคนนั้นถูกจับตัวได้แล้ว
ถ้าบรูโน ดูมองต์เป็นนักเรียนเขียนบทของปรมาจารย์เขียนบทสักคน เขาก็คงเป็นคนที่ย่ำแย่ที่สุดในชั้น พล็อตเรื่องของเขาแตกปลาย หนำซ้ำยังไม่ยอมหาเหตุผลหรือแรงจูงใจใดๆ มาอธิบายให้เกิดความกระจ่างขึ้น แล้วจบด้วยแนวทางที่ไม่ต่อเนื่องและไม่เร้าใจ
Twentynine Palms ก็เข้าข่ายนั้น พล็อตแทบจะไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไรเลยนอกจากชายหญิงสองคนมาพักผ่อนในโรงแรมจิ้งหรีดซึ่งตั้งอยู่ในแถบทะเลทรายอันห่างไกล พวกเขาพลอดรักกัน ร่วมรักกัน ทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง การทำพล็อตที่ไม่สนุกสนานซ้ำๆ กันถึง 2 ครั้ง ทำให้ผมสรุปว่าไม่ใช่เพราะดูมองต์เป็นคนเขียนบทที่แย่ แต่เขาน่าจะมีเหตุผลบางอย่างในการเลือกที่จะทำหนังอย่างนี้ออกมา
ตลอดเวลากว่าค่อนเรื่อง ทั้ง เดวิด และ คาเทีย ไม่บอกกล่าวอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับตัวเขาทั้งคู่เลย เราทราบเพียงแต่ว่าเดวิดเป็นช่างภาพและเขามาที่โจชัว ทรี เนชั่นแนล ปาร์กก็เพื่อการนั้น แต่เพราะคาเทียติดสอยห้อยตามมาด้วยอย่างไรไม่ทราบ เดวิดก็ไม่ได้ทำงานเลย เขามีเซ็กซ์กันตลอดเวลา หิวก็กิน เหนื่อยก็นอน
ระดับอารมณ์ของหนังราบเรียบ แน่นอนว่าจะต้องมีปฏิกิริยาของคนดูเกิดขึ้น บางคนอาจละความสนใจไปเลย ในขณะที่อีกฝ่ายเฝ้ารอด้วยอาการใจไม่ดี เพราะดูมองต์ทำให้หนังของเขา…ราบเรียบผิดปกติ
ผมอยู่ในกลุ่มหลัง เพราะเคยชินกับการที่หนังจะต้องมีลางบอกเหตุ (Foreshadowing) ว่าอะไรจะดำเนินต่อไปอย่างไร หนังฮอลลีวูดทำให้ผมมีนิสัยเสียๆ เช่นนี้ และดูมองต์ก็ดัดหลังคนดูที่เฝ้ารอด้วยผลลัพธ์ที่คุ้มค่า
มีอยู่ฉากหนึ่งที่ดูเผินๆ แล้วไม่มีอะไรน่าสนใจเลย แต่ผมกลับรู้สึกว่ามันเป็นฉากที่น่ากลัวเอามากๆ ทั้งคู่เข้าไปนั่งในร้านอาหารจีน เดวิดอยากกินแบบที่โต๊ะข้างๆ สั่ง แต่กวาดตาดูในเมนูเท่าไหร่ก็ไม่พบ เมื่อบริกรเดินมาเขาก็ไม่อยากถาม จนคาเทียรำคาญเป็นคนถามให้เสียเอง
บริกรเดินจากไปพร้อมเสียงหัวเราะคิกคักของทั้งคู่ คาเทียขำในความเคอะเขินของแฟนหนุ่ม แต่ถัดจากนั้นไม่กี่วินาที สาวสวยคนหนึ่งเดินผ่านโต๊ะและเดวิดก็เหลือบไปมองอย่างเสียไม่ได้แว้บหนึ่ง คาเทียหน้าถอดสีทันทีด้วยความหึง เธอไล่ให้เขาตามแม่คนนั้นไป
มันเป็นการเปลี่ยนอารมณ์แบบทันทีทันใด และเปลี่ยนแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย หนังจะเต็มไปด้วยอะไรแบบนี้อีกมาก ผมถึงได้บอกว่าไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย มันเหมือนกับว่า มนุษย์สามารถทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่มีเหตุผลมารองรับ แม้กระทั่งตัวเราเอง - บางครั้งก็ยังกะเกณฑ์อะไรได้ลำบากเหลือเกิน
ไม่ว่ามันจะเป็นการทดลองอย่างตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ Twentynine Palms ก็สร้างผลลัพธ์ใหม่ด้วยวิธีการที่เรียบง่ายอย่างประสบความสำเร็จ จนผมต้องจัดให้มันอยู่ในหมวดหนังสยองขวัญที่สร้างสรรค์ที่สุดในรอบปี
ที่ชื่นชมอีกอย่างหนึ่ง คือแม้บรูโน ดูมองต์จะเป็นนักปรัชญามาก่อน แต่งานของเขาไม่ได้สอดแทรกอะไรที่มันสูงล้ำจนจับต้องไม่ได้ ทั้ง Humanite และ Twentynine Palms พาผมไปพบกับอารมณ์ของมนุษย์ และพฤติกรรมที่แปลกประหลาดเกินจะคิดได้ ที่บอกกันว่าในตัวเรามีปิศาจสิงอยู่เห็นทีจะจริง และอย่างที่สุนทรภู่บอกว่าจิตใจเราคดเคี้ยวนั้น - ผมว่าคงจะน้อยไปด้วยซ้ำ
ดูหนังจบแล้ว ผมว่ามนุษย์เราไม่ใช่สัตว์ประเสริฐอะไรหรอก แต่คือ สัตว์ประหลาด!