xs
xsm
sm
md
lg

OLD BOY : ไม่อยากให้เรื่องนี้มีโชคร้าย

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


ผมขอเริ่มต้นด้วยการบอกก่อนว่า หนังเรื่อง Old Boy เป็นหนังที่ - ไม่ว่าใครก็ตาม - ควรหามาดูเป็นอย่างยิ่ง

เหตุผลสั้นๆ ก็คือ มันเป็นหนังที่สนุกมาก ถึงแม้ว่าหลายฉากหลายตอนจะเต็มไปด้วยความรุนแรงชนิดที่ต้องทำให้อ้าปากค้าง หรือบางองค์ประกอบในหนังอาจจะดูเหนือจริงไปบ้างก็ตามที แต่สำหรับผม - นี่เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่ใช้องค์ประกอบความเป็นภาพยนตร์อย่างถึงพร้อม และให้ความบันเทิงพอๆ กับที่กระตุ้นให้เราใช้ความคิดไปพร้อมๆ กัน

วงการหนังเกาหลีกระโดดไปไกลมาก จากเมื่อ 4-5 ปีก่อน คนทั่วโลกยังคงขมวดคิ้วสงสัยกันว่า ประเทศนี้ทำหนังกันด้วยหรือ? มาถึงวันนี้ใครที่ยังแสดงท่าทีอย่างนั้นอยู่ ก็ยอมรับเถอะครับว่า ตัวเองเป็นคนที่หลุดวงโคจรไปแล้วแบบไม่รู้ตัว

ผมเป็นคนหนึ่งที่เคย “ไม่ปลื้ม” หนังเกาหลีในช่วงแรก (หมายถึงช่วงที่กระแสหนังและละครเกาหลีกำลังได้รับความนิยมในบ้านเรา) เพราะคิดไปว่าหนังส่วนใหญ่ตั้งใจประดิดประดอยมากเกินไป อีกทั้งพัฒนาการของมันก็ดำเนินไปไม่ต่างจากฮอลลีวูด กล่าวคือ เน้นในทางการค้ามากกว่าที่จะคำนึงถึงแง่มุมใหม่ๆ ทางศิลปะ

กลายเป็นว่าผมคิดเองเออเองไปคนเดียว หนังเกาหลีชั้นดีมีอยู่ไม่น้อยเลย รู้สึกอับอายตัวเองมากที่เคยพูดพล่อยๆ ออกไป หลังจากได้ดูหนังอย่าง Chunhyang ของ อิม กวนเต็ก, Happy End ของ จอง จิวู, Wanee and Junah ของ คิม ยองกุน, งานของกว๊าก แจยัง (ผู้กำกับ My Sassy Girl) และ Sympathy for Mr. Vengeance ของ พัก ชันวูค

งานเหล่านั้นโดดเด่นและมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก โดยเฉพาะคนหลังสุด กับงานชิ้นล่าสุดของเขาเรื่อง Old Boy - ข้อแคลงใจเกี่ยวกับศักยภาพของคนทำหนังชาวเกาหลีที่ผมเคยมีก็หายไปหมดสิ้นหลังจากดูจบ

องค์ประกอบสำคัญในงานของพัก ชันวูคที่สังเกตง่ายที่สุด น่าจะเป็นระดับความรุนแรงของภาพและเนื้อหา รองรับด้วยงานสร้างชั้นดี (ทั้งงานออกแบบงานสร้างและการถ่ายภาพ) ที่สำคัญคือ เขาเป็นคนทำหนังที่เล่าเรื่องได้เก่งมากๆ

ใน Sympathy for Mr. Vengeance เรื่องของคน 2-3 คนที่ต้องมาฆ่ากันเพราะโชคชะตาเล่นตลกนั้น พัก ชันวูค ไม่พยายามเข้าข้างตัวละครตัวใด เขาทำให้ทุกคนน่ารังเกียจพอๆ กับที่น่าสงสาร เป็นงานที่น่าศึกษาไม่น้อย ในแง่ของการเล่นกับอารมณ์และความคาดหวังของคนดู

สำหรับ Old Boy ส่วนที่ว่าก็ยังมีอยู่ งานสร้างทั้งหมดดีเยี่ยม โดยเฉพาะฉาก- ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำให้เลือดกลายเป็นสีที่สวยงาม (ฉากไคลแมกซ์ดีไซน์มาเป็นสีเขียวเพื่อให้ตัดกับสีแดงของเลือดอย่างจงใจ)

แต่พล็อตของ Old Boy ดูจะหลุดโลกกว่าสักหน่อย (ตัวหนังดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนของ มิเนกูชิ โนบุอากิ และ สึชิยะ การอง) ประเด็นทางสังคมซึ่งเคยผูกอยู่อย่างเหนียวแน่นในงานชิ้นก่อนของพัก ก็เหมือนกับว่าโดนคลายปมให้หลวมขึ้น แต่เขาหันไปขมวดในส่วนของเรื่องราวให้ซับซ้อน ดึงความสนใจของคนดูตั้งแต่ต้นจนจบ

พัก ชันวูค เล่า 20 นาทีแรกของ Old Boy โดยการกระหน่ำคนดูด้วยเครื่องหมายคำถาม ชายขี้เมาที่ชื่อ โอ เทซู ถูกลักพาตัวในขณะที่เพิ่งถูกประกันตัวออกจากโรงพัก และกำลังจะกลับบ้านไปฉลองวันเกิดกับลูกสาว

หนังไม่บอกว่าใครนำตัวเขามา และห้องที่ขังเทซูไว้ ก็ดูเหมือนห้องพักมากกว่าจะเป็นคุกกักกัน อาหารจะมาส่งตรงเวลา วันแล้ววันเล่า เขาเฝ้ารอคำตอบว่า เพราะอะไรหรือใครกันที่โกรธแค้น - ถึงทำให้เขาต้องมาถูกขังอยู่อย่างนี้ …แต่ก็ไม่เคยได้รับ แล้วเมื่อเวลาผ่านไป 15 ปี จู่ๆ เขาก็ถูกนำตัวมาปล่อย

เช่นเคย พัก ชันวูค ยังไม่เฉลยว่าคนที่มีอำนาจเหนือกว่าผู้นั้นมีเหตุผลอะไรถึงได้ทำกับเทซูแบบนี้ เบาะแสต่างๆ ที่ให้มา ก็ไม่มากพอที่คนดูเอามาจะคาดการณ์อะไรได้ สิ่งที่ดีที่สุด - ซึ่งก็เหมือนการบังคับอยู่กลายๆ - ก็คือ ตามติด โอ เทซู ดูว่าเขาจะคลายข้อสงสัยของตัวเองอย่างไร

การสืบเสาะหาคำตอบ นำมาซึ่งการขุดคุ้ยเรื่องราวที่เทซูลืมไปหมดแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่ทั้งน่าเศร้าน่าอายที่พบว่า บางทีเราก็ทำอะไรร้ายๆ ไปโดยไม่ตั้งใจ และเรื่องเลวร้ายของคนอื่นเราเองก็พร้อมจะลืมมันไปโดยไม่รู้สึกติดค้าง

คำเฉลยมาถึงเมื่อหนังใกล้จะจบแล้ว และมันก็เป็นเรื่อง “การแก้แค้น” อย่างที่เทซูเคยเดาไว้จริงๆ พัก ชันวูคแสดงความเป็นตัวเองออกมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาทำให้คนดูกระอักกระอ่วนใจที่จะตัดสินว่า ใครถูกหรือใครกันแน่ที่ผิด ระหว่างนั้นก็อัดคนดูด้วยความรุนแรง (ที่สวยงาม) ไปพร้อมๆ กัน

มีคนเคยพูดเรื่องความรุนแรงในหนังมาแล้วมากมาย บางคนบอกว่า มันสามารถบำบัดด้านมืดของตัวเราเองได้ คนที่มองโลกในแง่ร้ายหน่อยคงคิดว่ามันอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ แต่บอกตรงๆ ว่าผมดูแล้วหงอเลยครับ ถ้าต้องมาเจอเรื่องร้ายๆ อย่างนี้ ผมก็ไม่กล้าทำเลวอะไรอีกแล้ว

ผมแปลกใจ เมื่ออ่านบทสัมภาษณ์ของพัก ชันวูคแล้วพบว่า ตัวเขาเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมากๆ เพราะหนังของเขาเป็นการมองเหตุการณ์ในแง่ร้ายอย่างถึงที่สุด ผลกรรมจากการกระทำของตัวละครอาจมีผลอยู่บ้างที่ทำให้เรื่องราวจบลงแบบโศกนาฏกรรม แต่ตัวที่มาเสริมก็คือ การคาดเดาไม่ได้ของโชคชะตา - ที่พักออกจะโน้มเอียงไปว่า มันเป็นแรงผลักสำคัญเหนือกว่าอะไรทั้งหมด

การโยนความผิดให้กับบางอย่างที่นอกเหนือการควบคุมนั้นชวนให้รู้สึกหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมจรรยาพอสมควร แต่ประเด็นของหนังไม่ได้อยู่ตรงนั้น พอๆ กับที่หลายคนมองว่า พัก ชันวูคหมกมุ่นอยู่กับการแก้แค้น - ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด

พัก ชันวูค นำการแก้แค้นและความรุนแรงมาผูกติดกันก็เพราะต้องการเชื่อมโยงว่า การยึดติดอยู่กับอะไรบางอย่างไม่นำพาอะไรมาสู่ตัวเราเลยนอกจากความทุกข์ เราอาจจะควบคุมโชคชะตาแย่ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้ก็จริง แต่เราเลือกที่จะเจ็บปวดกับมัน หรือหัวเราะกับมันได้

บทสรุปของ Old Boy อาจจะยังคงเครื่องหมายคำถามไว้ในใจของหลายๆ คน (ผมจะไม่เฉลยนะครับ ไปหาดูกันเองดีกว่า) แต่บางทีผมว่า การมีความสุขกับชีวิตของตัวเอง คือการรู้จักทำลืมๆ ไปเสียบ้างกับโชคร้ายของตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น