ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับวงการ(โรง)ภาพยนต์ในบ้านเราเลยทีเดียวกับการเกิดขึ้นของโปรเจ็กต์ "เฮาส์" ของบริษัท "เตมูจิน" ที่ได้เนรมิตรโรงภาพยนตร์ ยูเอ็มจี 4 และ 5 อาร์ซีเอให้กลายเป็น "บ้านของคนรักหนัง" โดยเฉพาะ
เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ( 9 กรกฎาคม) ด้วยความฮือฮาใน FILM BUFFET : ALL YOU CAN WATCH ที่สมาชิกสามารถเลือกชมภาพยนตร์จากโรงนี้ได้กว่า 150 เรื่องฟรีๆ...
ที่มาของโปรเจ็กต์นี้เป็นอย่างไร? อะไร คือ "เฮาส์"? Life & Entertainment มีคำตอบจากปากสามผู้ที่ให้กำเนิดอย่าง "อุ๋ย ชมศจี เตชะรัตนประเสริฐ" ทายาทคนสุดท้องของเจ้าของสหมงคลฟิล์ม "จ๋อง พงศ์นรินทร์ อุลิศ" และ "เต็ด ยุทธนา บุญอ้อม" มาพูดคุยอย่างเป็นกันเอง
เต็ด : "มันเกิดจากพี่และเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ใจตรงกันคืออยากทำโรงหนังที่ฉายหนังในแบบที่เราชอบดู เป็นหนังทุกรูปแบบ ทุกแนวเพียงแต่ว่าดาราอาจไม่ดัง ผู้กำกับไม่เป็นที่รู้จัก ไม่ใช่หนังที่ทำรายได้สูง ซึ่งหนังพวกนี้มีอยู่เยอะและหลายเรื่องทีเดียวที่เป็นหนังที่ดูแล้วสนุกมาก พอได้มาเจอน้องอุ๋ยนี่แหละครับที่ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว"
"ส่วนที่เหลือก็จะมีคุณจ๋อง พี่จ้อย (นรา - พรชัย วิริยะประภานนท์) ที่เป็นนักวิจารณ์ และก็มีคุณอิ๊ม (อรุณี ศรีสุข) ผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการหนังมานาน พอได้มามาพูดคุยกันก็เลยกลายเป็นโปรเจ็กต์หนังเล็กๆ ที่ฉายหนังในแบบที่พวกเราชอบดูกัน"
อุ๋ย : "ด้วยความที่บ้านทำธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และโรงหนังอยู่แล้ว และความที่อุ๋ยอาจจะทำคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับฟิล์มโปรเจ็กต์มากกว่าคนอื่นๆ มีความเข้าใจเกี่ยวกับหนังอาร์ตดีกว่าและด้วยความที่เป็นเหมือนโปรแกรมมิ่งคือคนที่วางโปรแกรม สเก็ตรูปทั้งหมด ประกอบกับเป็นจังหวะที่ตัวเองได้เริ่มติดต่อซื้อหนัง ไปช่วยเขาเลือกเรื่องว่าเอาเรื่องนี้มั้ยเราอยากทำ”
จ๋อง : "ในตอนแรกผมกับพี่เต็ดเคยคุยกันว่าเราอยากทำโน่นทำนี่กันมาเรื่อยๆ อย่างจอภาพเอวีดีขนาดยักษ์ยังคิดอยากจะทำกันเลย(หัวเราะ) นี่ถือเป็นอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่เราอยากทำกัน เพียงแต่คุยกันแล้วก็มักไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่ เพราะว่างานปัจจุบันก็แทบจะไม่มีเวลาว่างให้ทำอย่างอื่นเลย”
"โปรเจ็กต์นี้เป็นเรื่องที่คิดกันมาตั้งนานแล้ว มีการไปพูดคุยกับพี่อ้อม ดวงกมลอะไรกันต่างๆ อยากทำอย่างนี้กัน แล้วบังเอิญวันหนึ่งมาเจอกันเรื่องมันก็เลยเกิด"
ส่วนหนึ่งของความคิดก็มาจากเมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็กมัธยมขาสั้นคอซอง แอบหนีเรียนไปดูหนังกันบ่อยๆ นำ
ความรู้สึกตรงนั้นมาปรับใช้เพื่อความลงตัวที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เต็ด : "เราคิดว่าคงจะมีอีกหลายคนที่คิดเหมือนกัน เพราะเราเองก็ไม่ได้คิดประหลาดไปกว่าคนอื่นแตกต่างไปจากชาวบ้านสักเท่าไหร่อยู่แล้ว เราเชื่อว่าการที่เขามาดูหนังก็คงจะสนุกกับการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกันไปด้วย ไม่ใช่ว่าดูหนังเสร็จกลับบ้าน คือสามารถสิงสถิตอยู่ที่นี่ได้เป็นเวลานานๆ นั่งกินกาแฟ นั่งคุยกันต่อเพื่อดูหนังเรื่องต่อไป"
"ก็หาชื่อกันอยู่นานเหมือน ชื่อแปลกๆ สไตล์ญี่ปุ่นบ้าง เกาหลีบ้างแต่ก็ได้มานั่งคุยกันทั้งน้องอุ๋ย ทั้งคุณจ๋อง พี่นรา คุณอิ๊มว่าเราจะเอายังไงกันดี ซึ่งทุกคนก็ลงความเห็นที่ว่าเราเป็นคนไทยน่าจะใช้ชื่อที่เป็นไทยๆ แล้วสามารถสื่อให้เห็นจุดยืนของเราด้วย อยากให้มันแปลกแตกต่างตั้งแต่ชื่อไปจนถึงบรรยากาศภายใน ผลสรุปก็คือใช้คำว่าเฮาส์ที่แปลว่าบ้านซึ่งหลายคนที่ได้ฟังคงรู้สึกอบอุ่น"
อุ๋ย : "ขอเสริมนิดนึงตรงนี้ว่าที่ใช้ชื่อเฮาส์ เหมือนอย่างที่พี่เต็ดพูดว่าเราเก็บภาพบรรยากาศความรู้สึกเมื่อตอนที่เป็นวัยรุ่นไปเรียนหนังสือ ไปดูหนังชอบมาคุยกันว่าดูแล้วแต่ละคนรู้สึกอย่างไร แต่อย่างอุ๋ยจะมีความรู้สึกว่าอยากทำให้โรงหนังในความรู้สึกและคิดว่าคนทั่วไปน่าจะคิดเหมือนกันอยากให้คนที่เข้าไปมีความรู้สึกว่าเขากำลังนั่งอยู่ในบ้านด้วยบรรยากาศหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มีมุมจิบกาแฟ อ่านหนังสือ พูดคุยกันอะไรประมาณนี้"
"อันนี้เป็นความตั้งใจเลยค่ะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งโต๊ะ เก้าอี้ แม้แต่สีที่ใช้ทาจะเน้นเป็นโทนสีส้ม เหลือง ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงโรงหนังยูเอ็มจีเดิมที่เคยเป็นโรงหนังอยู่แล้วนำมาเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยให้เป็นในแบบที่เราต้องการและคิดว่าคนอื่นก็คงจะชอบด้วยเหมือนกัน ส่วนทำเลที่นี่เหมาะที่สุดเพราะเป็นที่ๆ ไปมาสะดวกไม่ลำบาก"
ด้วยความที่มีคอนเซ็ปต์เป็นโรงหนังอาร์ตคล้ายคลึงกับ "ลิโด้" ที่ฉายหนังแนวนี้โดยเฉพาะ จนดูเหมือนว่าจะไปก๊อปปี้เขามาหรือเปล่า?
จ๋อง : "คงไม่ได้คล้ายลิโด้คนเดียวด้วยมั้ง มันก็คล้ายโรงหนังทุกโรงแหละ เพราะโรงหนังเขาก็ฉายกันปกติอยู่แล้ว แต่มันก็ต้องมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ปกติเขาก็ฉายหนังคุณภาพกันนะ ไม่ว่าจะเป็นพวกซีเนเพล็กซ์ต่างๆนาๆ เขาก็พยายามฉายกัน แต่ผมว่าจุดที่มันต่างกันที่ชัดเจนก็คือโรงหนังนี่ฉายหนังที่เป็นฟอร์มเล็กโดยเฉพาะ อย่างที่พี่เต็ดบอกว่าคุณอาจจะไม่รู้จักแต่เรารู้ว่ามันดูแล้วสนุก"
"เราเสียดายหนังแบบนี้ที่มันที่มีอยู่ในโลกตั้งเยอะแยะ หนังอย่างทรอย อย่างสไปเดอร์แมนที่คนชอบดู ไม่มีปัญหาอะไรกับมัน แต่ขณะเดียวกันมันยังมีหนังที่เราไม่รู้จักมีโปรดักชั่นมากมาย อาจจะไม่ได้รางวัลอะไรมาเลยก็ได้แต่เราคิดว่ามันน่าฉาย นั่นมันคงเป็นจุดที่แตกต่าง ที่อื่นเขาจะฉายหนังที่มันดูหลากหลากหลายกว่านี้แต่เราจะเน้นฉายหนังเล็กอย่างเดียว"
อุ๋ย : "ในแค่ละเดือนเราจะมีการเปลี่ยนโปรแกรมหนังเพราะหนังที่เข้าฉายในเฮาส์ราม่าเป็นหนังก๊อปปี้เดียว ที่ต้องเปลี่ยนเพราะอย่างที่พี่เต็ด พี่จ๋องพูดไว้ก่อนกน้านี้ว่าหนังดีมีเยอะมากเราจึงอยากให้คนได้ดู จึงต้องพยายามสับเปลี่ยนหนังหลายๆ เรื่องแต่ละประเทศมาให้คนไทยได้ดูกัน"
เพราะเริ่มต้นด้วยใจ หน้าที่ของแต่ละคนจึงไม่ระบุตายตัวเน้นที่ความสามารถเฉพาะบุคคล
เต็ด : "คือตอนแรกก็ทำในส่วนที่เราถนัดก่อน แล้วค่อยขยับขยายไปช่วยงานทางด้ายอื่น ที่เป็นอย่างนี้เพื่อเปิดโอกาสให้บางคนได้เข้าไปเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างผม ผมก็จะทำในมุมที่ถนัด ในเรื่องการเป็นครีเอทีฟให้ แต่ในเรื่องของตัวเลขอุ๋ยเขาจะถนัดมากกว่าเพราะอยู่ตรงนี้มานานและตรงกับสาขาที่เรียนมาพอดี"
"ก็จะแตกต่างกันไป สมมุติเป็นเรื่องที่ต้องติดต่อกับสมาคมภาพยนตร์ต่างๆ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลหนังก็จะมีคุณอิ๊มเป็นคนดูแล เรื่องการจัดวางโปรแกรมก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพี่นราเพราะเขาเป็นนักวิจารณ์ จะรู้จักหนังเยอะ ก็รับผิดชอบโดยตรง ส่วนคุณจ๋องนี่ก็เป็นมนุษย์จัดการ ยกให้เป็นผู้จัดการทีม"
อุ๋ย : "หน้าที่ของอุ๋ยจริงๆ คือติดต่อวีซีดีเตอร์ทั้งหมดในกรุงเทพ จะไปกับพี่จ๋อง เข้าไปแนะนำตัวกับเขาบอกเขาว่าเราเป็นใคร เรากำลังทำโรงหนังแบบนี้นะถ้าเกิดว่าคุณมีโปรดักหนังที่น่าสนใจพอที่จะเข้าฉาย เรายินดีที่จะเป็นสื่อกลางให้คุณนำหนังเข้ามาฉายได้ นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องการต่อรองด้วยว่าจะฉายอะไรกันยังไง"
จ๋อง : "แน่นอนครับว่าเราต้องเลือกหนังดี ที่นี้ไอ้คำว่าหนังดีมันมีหลายแบบ ดีประเภทที่แบบว่าดูแล้วไม่สนุกเลย หรือหนังแบบที่จะทำให้ดูเข้าใจมันต้องมีพื้นฐานมาตั้งแต่ต้น และในเบื้องต้นของการทำโปรเจ็กต์นี้เราจึงเลือกหนังที่ดูแล้วเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เพราะเดี๋ยวจะไปทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้นไปอีก อีกอย่างก็เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้มีโอกาสดู สามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้ง่าย มันถึงจะทำให้คนดูหนังในแบบที่แตกต่างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ"
"คือเราจะสร้างแบรนด์ให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ก่อนว่าเราทำหนังแบบนี้นะ อยากให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาเขารู้เลยว่าถ้ารสนิยมแบบนี้แน่นอนว่าต้องเป็นเฮาส์ ในช่วงที่มีกระแสหนังเข้ามาเยอะแยะเหลือเกินที่นี่จะเป็นอีกที่หนึ่งที่จะมีหนังแบบอื่นให้เลือกดูกัน"
หันไปคุยกับทายาทคนเก่ง "อุ๋ย ชมศจี" ว่ากันว่างานนี้เจ้าตัวนั้นได้คำแนะนำจากอาจารย์ฝีมือเยี่ยมจากผู้เป็นพ่อนั่นเอง
อุ๋ย : "เขาให้คำแนะนำอยู่แล้วในแง่ของการทำงานปกติ ถ้าเกิดว่าติดอะไรก็ตามก็จะขอไปขอคำปรึกษา ในเรื่องของการทำเฮาส์เขาจะฟังเสียงเราง่ายมาก คือเราอยากทำโรงหนังก็จะเดินเข้าไปบอกว่าเรามีมุมมองความคิดอยากจะทำโรงหนังประมาณเท่านี้ ฉายหนังแบบนี้ มีคอนเซ็ปต์ มีจุดยืนอย่างนี้นะ และที่สำคัญคือมันเป็นโรงหนังของเรา มีข้อเดียวที่คุยกันเขาก็บอกว่าโอเคไปหาทีมมาแล้วกัน"
"เราเริ่มต้นจากการทำลิตเติ้ลฟิล์มโปรเจ็กต์ หลังจากนั้นโปรเจ็กต์หลังๆ เราก็มีส่วนร่วมมากขึ้นในการเข้าไปติดต่อซื้อหนัง แล้วหนังเรื่องนี้บางเรื่องไม่ได้เข้าฉายทั้งที่เป็นหนังดี มีสาระ แต่เป็นเพราะว่าเราไม่มีแชนแนลดีๆ เราไม่มีโรงภาพยนต์จะรองรับหนังเหล่านี้จนเริ่มมีความรู้สึกเสียดาย ก็เริ่มคิดว่าจะมีโรงหนังเกิดขึ้นมาสักโรงหนึ่งเพื่อที่จะรองรับหนังแบบนี้โดยเฉพาะ"
เงินลงทุน?
จ๋อง : "เราไม่ได้เอาเงินมาลงทุนกันนะครับ แต่เป็นการลงแรงมากกว่า เงินในเบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจากเสี่ยเจียง กู้เอา เพราะต้องหาเงินมาซับพอร์ทค่าใช้จ่าย เรารู้ว่าเราหวังจากยอดขายบัตรอย่างเดียวไม่ได้ เราเลยพยายามหาสปอนเซอร์จากที่อื่นมาซัพพอร์ทการทำงานของเรา คือโรงหนังของเราสองโรงจุคนได้ประมาณ 200 กว่าที่ ซึ่งเราก็ขายในราคาปกติธรรมดาทั่วไปไม่ได้ขายแพง เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้มันอยู่ได้นานๆ เรื่องของระบบสปอนเซอร์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ"
เต็ด : "คือมันมีหนังหลายเรื่องเหลือเกินที่ผมหรือว่าใครมีสิทธิ์ได้ดูแค่ในมิวสิควีดีโอ ในหนังวีซีดีทั้งๆ ที่เขาออกแบบเพื่อที่จะให้ดูหนังจอใหญ่ๆ อันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่คอหนังตัวจริงหรือผู้ที่สนใจจะมีโอกาสได้ดูหนังในหลายๆ แนวไม่ว่าจะเป็นหนังญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลี มาหาดูได้ที่นี่"
ความคาดหวัง
จ๋อง : "ประสบความสำเร็จคือมีคนดูหนังแบบนี้มากขึ้น และนั่นแหละคือสิ่งที่เราอยากให้มันเป็น และอาจจะมีคนอื่นที่คิดจะทำโรงหนังแบบนี้ขึ้นมาบ้าง อันนั้นผมรู้สึกดีนะ แสดงว่ามีคนเริ่มดูหนังเรามากขึ้น หลากหลายขึ้นสุดท้ายผมว่าคนเรามันน่าจะคิดอะไรได้มากขึ้น แข่งกับใครมั้ย ไม่น่าจะแข่ง เพราะว่ายังไม่มีใครทำแบบนี้ ซึ่งถ้าเกิดมีคนคิดอยากจะทำขึ้นมาจริงๆ ผมว่าไม่น่าจะมองว่าเป็นการแข่งขันนะ มองอีกด้าน ถ้ามีโรงหนังแบบนี้เกิดขึ้นเยอะคนที่จะได้รับผลประโยชน์ตรงนี้คือกลุ่มผู้บริโภค คนดูจะได้มีโอกาสดูหนังดีๆ มากขึ้น มีโรงให้เลือก คือพูดง่ายๆ มีทางเลือกมากขึ้น"
"กลุ่มคนดูเราไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกลุ่มไหนแน่นอนลงไป เรามีวัตถุประสงค์ที่ว่าไม่อยากให้หนังดีๆ แบบนี้ที่คนรู้จักแค่ไม่กี่คน หนังที่เอามาฉายสำหรับคนที่ติดตามข่าวหนังจริงๆ อาจจะในเว็ปไซต์ นิตยสารเกี่ยวกับหนังก็จะรู้จักดีอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องรอดู แต่วัตถุประสงค์เราคือคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวคราวเหล่านี้ ปกติก็ดูหนังที่เข้าฉายในหลายๆ โรง อาจจะอยากดูหนังในอีกรูปแบบหนึ่ง"
เต็ด : "เป็นผลดีต่อการหนังบ้านเราด้วย คือพอคนไทยดูหนังหลากหลายมากขึ้น คนไทยก็กล้าที่จะทำหนังในแนวที่หลากหลายมากขึ้นไปด้วย ทุกวันนี้หนังไทยบางเรื่องถ่ายทำเสร็จยังไม่ได้ฉายในบ้านเราเลย ธุรกิจหนังแบบนี้มันดีอย่างเวลาที่มันมีโรงหนังเพิ่มขึ้นก็จะไม่แย่งลูกค้ากัน เพราะมันฉายหนังกันคนละเรื่อง เพราะแต่ละโรงเป็นหนังโรงใครโรงมัน มีหนึ่งก๊อปปี้เดียวเท่านั้นมันยิ่งขยายกลุ่มคนดู ซึ่งถ้าไปได้ด้วยดีประสบความสำเร็จก็มีโครงการจะขยายออกต่างจังหวัดแน่นอน"
นอกจากเป็นโรงหนังที่ฉายหนังสนุกแล้วที่นี่ยังเปรียบเสมือนเวทีทดลองที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาหรือผู้ที่สนใจนำผลงานมาเผยแพร่ได้อีกต่างหาก
เต็ด : "คือมันเป็นเหมือนบ้านของพวกเขาที่เขามีสิทธิ์จะอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ จะมีหนังสั้น ที่ปกติจัดฉายกันในคณะคนดูไม่กี่คน แต่ที่นี่เรามีจอหนังขนาดใหญ่ มาฉายที่เราซิ เราสนับสนุนเต็มที่ หรือไม่อย่างนิทรรศการจัดที่คณะมีคนผ่านไปผ่านมาน้อย ตรงนี้เราก็มีพื้นที่ให้สำหรับคนที่มีความสามารถในเรื่องศิลปะได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ซึ่งน้องอุ๋ยจะเป็นคนที่คอยรับเรื่องตรงนี้อยู่"
อุ๋ย : "คิดว่าคงจะมีคนสนใจเยอะเราเลยจัดกิจกรรมนี้ไว้ เพื่อคนที่เขามีฝีมือแต่ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงศักยภาพของตัวเอง ตรงนี้เราพร้อมที่บริการ อุ๋ยจะนั่งเป็นคนคอยรับเรื่อง แล้วอาจจะมีน้องที่บริษัทเข้ามาคอยช่วยสัก 2 - 3 คน อาจจะต้องมีการจัดคิว แล้วก็ต้องดูที่ตัวผลงานด้วยว่ามีประโยชน์หรือมีส่วนสร้างสรรค์สังคมด้วยหรือเปล่า แต่ตรงนี้ก็อยากให้พี่ๆ น้องๆ ที่สนใจเข้ามาร่วมได้"
ฝากถึงคอหนังตัวจริง
เต็ด : "ก็อยากให้ลองมาดูกัน มาสัมผัสอะไรที่แตกต่างมากกว่าการดูหนังที่เราเคยไปดูตามโรงทั่วไป ถ้าคนไทยเปิดกว้างที่จะดูหนังในแนวที่หลากหลาย อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นหนังไทยอาจจะก้าวไปไกลกว่านี้ คนทำหนังก็จะกล้าทำหนังมากขึ้น แล้วสิ่งดีๆ ก็จะตกอยู่กับกลุ่มผู้บริโภค"
จ๋อง : "เหมือนพี่เต็ดครับ เราคอเดียวกัน(หัวเราะ) ก็อยากให้มาสนับสนุนกันเยอะๆ เราจะได้มีโรงหนังที่จะฉายหนังดีๆ แบบนี้หลายๆ โรงในประเทศไทย มองอีกมุมก็เป็นการช่วยเพิ่มความรู้ให้พวกเขา ที่สำคัญเลยคนที่รักหนังจริงๆ เขาจะมีที่ๆ จะได้แลกเปลี่ยนความคิด พูดคุยกันได้อย่างเต็มที่ เพราะที่นี่เราเปิดกว้างครับ"
อุ๋ย : "ที่นี่เราจะเป็นสื่อกลาง จัดสรรพื้นสำหรับคอหนังได้มารวมตัวกันดูหนัง ทำกิจกรรม แล้วเราก็ยังมีที่ๆ สามารถค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังได้อย่างเต็มที่ เป็นเหมือนห้องสมุด หนังดีมีคุณภาพของนักศึกษาไม่มีโอกาสฉาย นำมาเสนอกับเราเรายินดีเป็นสื่อกลางให้ค่ะ"
*****
(ติดตามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ www.houserama.com)