สกู๊ปพิเศษ โดย นรวัชร์ พันธ์บุญเกิด
อย่าปล่อยให้เสียง“โหมโรง เดอะมิวสิคัล” หายไป!
เริ่มต้นประโยคแรก ต้องบอกว่า #โหมโรงเดอะมิวสิคัล๒๕๖๘ สนุกกว่าเวอร์ชั่นเดิมเมื่อ 10 ปีก่อน แม้จะนึกไม่ออกว่า เวอร์ชั่นนี้ได้ตัดและเสริมอะไรเข้ามาบ้างก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จำได้แม่นยำคือ เพลง “เสียงนั้นเสียงหนึ่ง” ที่ร้องโดย “แนน” สาธิดา พรหมพิริยะ ที่รับบท แม่โชติ” มาตั้งแต่การแสดงครั้งแรกกับ “อาร์ม” กรกันต์ สุทธิโกเศศ - “เสียงไกลๆ เสียงนั้นเสียงหนึ่งที่นำฉันมา” เสียงของเธอหวานก้องไม่เหมือนใคร!
ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้ประพันธ์เพลง กล่าวถึงที่มาไว้เมื่อปี 2561ว่า “ตลอดบ่ายวันนั้นนอกกรุงเทพฯ ในวันที่ลมโชยมาจากภูเขาอย่างชื่นเย็น ภาพของชายหนุ่มที่ชื่อศรที่กำลังฝึกระนาดอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับความสับสนในตัวเอง โดยมีเสียงๆหนึ่งนำทางก็ปรากฏขึ้นในจินตนาการ และอีกไม่นาน ภาพของชายชราผมสีดอกเลา ผู้มีบรรดาศักดิ์ว่า หลวงประดิษฐไพเราะกำลังต่อสู้กับการละเลยรากแห่งวัฒนธรรมของทางการก็ปรากฏขึ้นอีก
ทั้งชายหนุ่มและชายชราคือคนๆเดียวกัน เขาคือ คีตกวีผู้มีเสียงๆหนึ่งนำทางมาตลอดชีวิต และคอยพร่ำเตือนให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน อย่าปล่อยให้เสียงนั้นหายไป ผมเองก็มีเสียงหนึ่งนำทางมาให้เขียนเพลงนี้ เสียงที่จับไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ทำนองมันเป็นอย่างไร แต่ผมก็เดินตามมา บางทีต้นเรื่องของการกำเนิดโหมโรงในฉบับภาพยนตร์ อิทธิสุนทร ผู้กำกับก็อาจจะมีเสียงหนึ่งนำทางมาให้เขาสร้างมันขึ้นมา” ....
หลังจากได้มีโอกาสชมใน “รอบมิตรสหาย” รอบแรก เมื่อปลายเดือนเมษายน ความประทับใจมาก ทำให้อยากรู้เรื่องราวเบื้องหลังของละครเรื่องนี้ จึงถือโอกาสไปซื้อสูจิบัตร เมื่อการแสดงรอบแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และถือโอกาสนำเรื่องราวบางส่วนจากสูจิบัตรเล่มนี้มาถ่ายทอดสู่กันฟัง
“สังข์” ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม ผู้กำกับฯ บอกว่า ขออุทิศความดีทั้งหมดของของละครเรื่องโหมโรง เดอะมิวสิคัล ให้กับอาจารย์ชูเกียรติ วงฆ้อง ครูดนตรีไทยของเขาที่จากไปเมื่อ5ปีก่อน และยังเล่าเรื่องวีรกรรมของเขากับเพื่อนๆตามประสาวัยคนองในชั่วโมงดนตรีไทย จนครูชูเกียรติถึงกับเอ่ยปากว่า “พวกเธอนี่มันคนรึควายนะ” ยกตัวอย่าง ความคะนอง เช่น เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่ม ฟาดผืนระนาดอย่างเมามัน ไม่ยั้งมือจนตะกั่วหลุด ทำให้อาจารย์ชูเกียรติต้องมานั่งลนไฟ ติดตะกั่วเป็นประจำ หรือพูดเสียงดัง ห้าวในชั่วโมงดนตรีไทย เป็นต้น
และเมื่อจะทำการรีสเตจ สังข์ เริ่มนำคลิปการแสดงเมื่อ 10 ปีที่แล้วมานั่งดู เพื่อตัดทิ้งทีละข้อ ทั้งบางฉาก และบางเพลงเพื่อให้เวอร์ชั่นนี้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มี 2 อย่างที่ไม่ตัดคือ ผู้ร่วมงานและนักแสดง!ถ้าจะปรับและเปลี่ยนก็ต้องมีเหตุผล ดังนั้น #โหมโรงเดอะมิวสิคัล๒๕๖๘ จึงการรวมญาติคือ การนัดพบของเพื่อนเก่าพี่แก่ การรวมตัวอีกครั้งของทีมงาน ทำให้บรรยากาศเมื่อ 10 ปีก่อนกลับมาอีกครั้ง
“โหมโรง” สร้างจากบทประพันธ์ของ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ที่ได้แรงบันดาลใจจากชีวประวัติของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง 2424 - 2497) เจ้าของฉายา “มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์” ผู้ผ่านยุคสมัยอันรุ่งโรจน์ของดนตรีไทยมาจนถึงในยุคปฏิวัติทางวัฒนธธรรม ที่แม้แต่การหยิบจับเรื่องดนตรีไทยมาบรรเลงยังถือเป็นเรื่องต้องห้าม
โหมโรง เดอะมิวสิคัล ถ่ายทอดเรื่องราวของ “ศร” นักระนาดเอก ผ่านสองยุคสมัยที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของดนตรีไทยและสังคมไทย ในยุครัชกาลที่ 5 ศรเติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี ด้วยความมุ่งมั่นและพรสวรรค์ เขาแสวงหาความเป็นเลิศจนพ่ายแพ้ให้แก่ขุนอิน ความพ่ายแพ้ครั้งนั้น ทำให้เขาเรียนรู้ว่า ดนตรีไม่ใช่การแข่งขันเพื่อเอาชนะใคร แต่เป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง
ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดนตรีไทยต้องเผชิญกับกฎข้อห้ามที่ออกโดยรัฐ ทำให้นักดนตรีขาดรายได้และถูกบีบบังคับให้ละทิ้งอาชีพ ท่านครู (ศรในวัยผู้ใหญ่) ยืนหยัดต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่า ความเจริญไม่จำเป็นต้องทำลาย
ปี 2528 เค้าโครงและเรื่องราวของนักดนตรีไทย “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ” ถูก ครูช่าง ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ดัดแปลงเป็นโทรทัศน์ทางช่อง 7สี เรื่อง “ระนาดเอก” นำแสดงโดย ศรันยู วงษ์กระจ่าง, สินจัย หงษ์ไทย, รัชนี ศิระเลิศ, ขนาภา ชุตาคม ฯ
ปี 2547 อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ นำเรื่องราวของท่านครู จากหนังสือชื่อ “หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์” ของสำนักพิมพ์ ศิลปวัฒนธรรม มาสร้างบทภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง”
ปี 2561 โหมโรง เดอะมิวสิคัล จัดแสดงครั้งแรก
ปี 2564 บทประพันธ์ “โหมโรง” ถูกดัดแปลงเป็นละครของสถานีไทยพีบีเอส และ “อาตู่” นพพล โกมารชุน มารับบท “พ่อครู” ในละครโทรทัศน์ เรื่องนี้
ปี 2568 โหมโรง เดอะมิวสิคัล รีสเตจในรอบ 10 ปี บทละครโดย โต๊ะกลม, ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม และ พิมพ์ไทย โลหิตคุปต์
นพพล โกมารชุน “ท่านครู” บอกว่า“ ที่สุดความยากคือ การถ่ายทอดจิตวิญญาณของบรมครูศิลปิน ท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ ให้ท่านผู้ชมเชื่อ, คล้อยตาม และซาบซึ้งสนิทใจ”
กรกันต์ สุทธิโกเศศ “นายศร” – ชีวิตของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (นายศร) ไม่เพียงดงามในฐานะอัจฉริยะแห่งดนตรีไทยเท่านั้น แต่ยังเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจอันเป็นสากล เป็นแบบอย่างของ “นักสู้” ที่ยืนหยัดเพื่อความรักในสิ่งที่ทำ แรงใจแบบนั้นไม่จำกัดอยู่แค่วงดนตรีไทย แต่มันเข้าถึงหัวใจของทุกคนที่กำลังฝ่าฟันเพื่อความฝันของตนเอง”
ไม่นับรวมตัวละครอื่นๆ ที่มาร่วมถ่ายทอดให้ละครเพลงเรื่องนี้สมบูรณ์แบบ และต้องยอมรับว่า “โหมโรง” เป็นบทประพันธ์อมตะอีกเรื่องหนึ่งของวงการ ที่ขับเคลื่อนชีวิตของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เพื่อไม่ให้ตายไปจากวงการดนตรีไทยและสังคมไทย!
ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/
#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์