xs
xsm
sm
md
lg

สกู๊ปพิเศษ : สิ้นเสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย “ผ่องศรี วรนุช” ราชินีลูกทุ่งคนแรก! (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : นรวัชร์ พันธ์บุญเกิด

สิ้นเสียงรถด่วนสายลูกทุ่งขบวนสุดท้าย “ผ่องศรี วรนุช” ราชินีลูกทุ่งคนแรก!



ผ่องศรี วรนุช ผ่านชีวิตมาแล้วถึง 86 ปี เธอเต็มไปด้วยประสบการณ์ ความสำเร็จ และริ้วรอยแห่งการสู้ชีวิต ในฐานะผู้หญิงบ้านนอก ยากจน ดิ้นรนพาตัวเองจนได้รับฉายา “ราชินีลูกทุ่งคนแรก”และศิลปินแห่งชาติ (สาขาเพลงลูกทุ่ง) ปี 2535
นี่เป็นเพียงบางมุมของชีวิตเธอ ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง...

ผ่องศรี วรนุช ลูกพ่อฉากและแม่เล็ก เกิดเมื่อ 5 มิถุนายน 2482 ที่เรือนแพริมน้ำเจ้าพระยา ต. คุ้งสำเภา จ.ชัยนาท มีพี่น้อง 6 คน เธอเป็นลูกคนที่ 5 ฐานะทางบ้านยากจน มีลูกหลายคน ปากกัดตีนถีบ ตอนเด็กเรียนที่ วัดศรีสิทธิการาม (วัดแก่นเหล็ก) ต้องเดินทางไป-กลับราว 20 กิโลเมตร เธอชอบเรียนหนังสือ ขอแม่เรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนมโนรมย์สุวรรณอนุสรณ์ และสุดแค่นั้น ไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะไม่เอื้ออำนวย จึงช่วยแม่ทำมาค้าขายเลี้ยงครอบครัวด้วยการเอาผลไม้ และขนม ลงเรือไปขายที่ตลาดเช้า

เริ่มต้นตาม “คณะละครเร่ หนู สุวรรณประกาศ”
ละครเร่ “คณะคุณหนู สุวรรณประกาศ” มีชื่อเสียงจากเพชรบุรี มาเปิดวิกที่ อ. มโนรมย์ ผ่องศรีไม่มีเงินซื้อตั๋วดูจึงไปเกาะรั้วคอยส่องละครที่เล่นอยู่ข้างใน, บางคืนเจอคนรู้จัก วิ่งเข้าไปจับมือ “พี่ไปดู หนูไปด้วย”, ถ้าคนเก็บตั๋วเห็นจะโดนแกะมือออก บอก อีหนู ...อย่ามาเนียน! , บางคืนมีคนใจดี ซื้อตั๋วให้ คณะละครมาเปิดการแสดงราว 1 เดือน เธอไปดูทุกคืนจนรู้จักกับเจ๊หมวย ตัวละครหนึ่งในคณะ เจ๊หมวยถามและฟังชีวิตลำบากยากแค้นที่เธอเล่าให้ฟัง จึงสงสาร กวักมือเรียกให้มานั่งหลังอยู่ข้างฉาก
เจ๊หมวยถามขึ้นในวันหนึ่งว่า “มาอยู่คณะละครด้วยกันมั้ย ?”
“เขาจะรับฉันหรือ ฉันยังเด็กอยู่เลย เจ๊หมวย”
“ไม่เป็นไร เจ๊จะพูดกับคุณหนูให้”
แล้วเจ๊หมวยก็พูดกับคุณหนูเจ้าของคณะให้ คุณหนูถามผ่องศรีว่า
“แล้วเธอจะอยู่ได้หรือ คณะละครไม่ได้อยู่เป็นที่เป็นทางนะ ตระเวนแสดงไปเรื่อย”
“ได้ค่ะ” ผ่องศรี ยืนยัน
รุ่งขึ้น ผ่องศรีพาแม่เล็กมาคุยและฝากกับคุณหนูอย่างเป็นทางการ ...

“สโนไวท์” รันทด !
ปีแรกของชีวิตละครเร่ ผ่องศรีเป็นเด็กรับใช้ทั่วไปในคณะที่อายุน้อยสุด มีหน้าที่ วิ่งซื้อบุหรี่ , โอเลี้ยง, ข้าวของให้พี่ๆในคณะละคร เธอไม่เคยย่อท้อกับชะตากรรมที่ต้องนับหนึ่งแบบนี้ ! วันหนึ่ง คุณหนู เจ้าของคณะได้ยินเสียงร้องที่โดดเด่นของผ่องศรี จึงสนับสนุนให้ร้องเพลงหน้าม่านบ้าง คอยชักฉากละครบ้าง บางคราวก็ให้เล่นเป็นตัวประกอบ จนมีบทพูดนิดๆหน่อยๆ และพัฒนามาเล่นบทนางเอก เป็น“สโนไวท์”

ต่อมา ความเด่นของผ่องศรีถูกรุ่นพี่ในคณะสกัดดาวรุ่ง มีการกลั่นแกล้ง, ตบจิกตี ถึงขั้นคร่อมตัวจะเอาเตารีดร้อนๆมานาบหน้าเธอ วุ่นวายไปทั้งคณะละคร เจ๊หมวยไปแจ้งตำรวจ มาสอบปากคำ ลงบันทึกประจำวัน ผ่องศรีบอกไม่เอาเรื่องคู่กรณี เพราะไม่อยากให้คณะละครมีปัญหา ! รุ่งขึ้น คุณหนู มาที่โรงละครถามว่า “เรื่องอะไรกัน” วัลลภ วิชชุกร พระเอกละคร และสามีคนแรกของผ่องศรีว่า “ มีเรื่องกันหลายครั้งแล้ว ทำกันถึงขนาดนี้ ผมเบื่อ ผมจะลาออก ! ” เธออยู่คณะละครเพียง 2 ปีเศษ

วัลลภให้ผ่องศรีไปเก็บข้าวของเข้ากรุงเทพฯกับเขา ชีวิตกรุงเทพฯ ทั้งผัว-เมียยังไม่มีงานทำ วัลลภจึงแก้ปัญหาด้วยการพาเมียไปอยู่กับพี่ชาย ชื่อหมอพิพัฒน์ ที่ตาคลี บอกพี่ชายขอฝากเมียไว้ 7-8 วันแล้วจะมารับ ! ผ่องศรีอาศัยและช่วยงานต่างๆในบ้านพี่ชายสามี เธอเฝ้าคอยจนผ่านไปนานถึง 9 เดือน !

“เขาคงไม่มารับหนูแล้ว หนูจะกลับบ้านไปหาแม่” ผ่องศรีตัดพ้อกับชีวิต
หมอพิพัฒน์ โทร. ติดต่อญาติที่กรุงเทพฯ ให้ช่วยตามหาอดีตพระเอกละคร วัลลภ วิชชุกร เย็นวันรุ่งขึ้น เขาโทร.มาหาพี่ชาย “เขาจะกลับไปหาแม่แล้วนะ เอ็งมารับไปด้วย”
“อีกหนึ่งอาทิตย์ผมจะขึ้นไปหา !” วัลลภว่า ... หนนี้ แม่ของผ่องศรีมาด้วย และให้สร้อยทอง น้ำหนัก 1 สลึงติดตัวลูกสาวไว้ บอกว่า ถ้าอยู่กรุงเทพฯ มันลำบากก็อย่าฝืน ให้ขายทองเป็นค่ารถแล้วกลับมาอยู่ที่เรือนแพ !

วัลลภพาผ่องศรี รู้จัก “ครูเพลง” ในวงการ !
วัลลภ วิชชุกร รู้ว่า จุดแข็งของผ่องศรี วรนุช คือ น้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ! จึงพาไปรู้จักกับครูเพลงหลายคน อาทิ ครูมงคล อมาตยกุล, ครูป. ชื่นประโยชน์ , ครูไพบูลย์ บุตรขัน, ประเทือง บุญยะประพันธ์ พร้อมแนะนำกำกับว่า เป็นเด็กแก้วเสียงใส มีเสน่ห์ มรรยาทดี ! เผื่อว่า ครูจะกรุณาเรียกใช้เวลามีงานอัดเสียง ! ...

เธอได้ติดตามพี่ๆในวงการไปโชว์เสียงร้องเพลงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งที่ยังไม่ได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงใด ผ่องศรีมีโอกาสร้องเพลงกับวงดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น วงราชาแมมโบ้ ของสุเทพ ศรวิจิตร , วงบางกอก ชะชะช่า ของชุติมา สุวรรณรัตน์ กับสมพงษ์ วงศ์รักไทย, วงกรุงเทพฯ แมมโบ้ ของบังเละ วงศ์อาบู หรือ ดำริห์ วงศ์อาบู

ผ่องศรี เก็บหอมรอมริบจากการใช้ชีวิตในคณะละครและการร้องเพลง จนปี พ.ศ. 2500 ไปซื้อเพลง “หัวใจไม่มีใครครอง” ของ สุรพล พรภักดี มาให้ครูมงคล อมาตยกุล เรียบเรียงเสียงประสานให้ อัดแผ่นเสียงเพลงแรก หน้า 1 เป็นเพลง “ชาละวัน” ของโกมินทร์ นิลวงศ์ ส่วนหน้า 2 เป็นเพลงของเธอ คนรู้จักเพลง แต่ไม่มีใครรู้จักตัวนักร้อง ! เงินกำไรจากแผ่นเสียงเพลงแรก ก็มาทำเพลงที่ 2 โดย วัลลภ วิชชุกร สามี เป็นคนเขียนเพลง “วิวาห์ราตรี” ให้ และอีกด้านของแผ่นคือเพลง “ฉางกาย” ของโกมินทร์ นิลวงศ์

เพลง “วันวิวาห์” หรือ “วันฮันนีมูน” บันทึกเสียง ปี 2502 ร้องคู่กับวัลลภ วิชชุกร ผู้เป็นสามี

“ไหนว่าไม่ลืม” ปฐมบทเพลงแก้เกี้ยว
ก่อนปี 2500 – 2506 จะเรียก “เพลงไทยสากล” ยังไม่แบ่งแยกลูกทุ่งและลูกกรุง บางทีก็เรียกง่ายๆว่า เพลงตลาด, เพลงชีวิต จน 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม โดย จำนง รังสิกุล เป็นผู้คิดคำ ประกอบ ไชยพิพัฒน์ นำไปตั้งชื่อรายการว่า “เพลงลูกทุ่ง” และ เป็นผู้จัดรายการ นับจากนั้น กลุ่มนักร้องก็ถูกแบ่งเป็นนักร้องลูกทุ่งและลูกกรุงอย่างชัดเจน
ในช่วงปี 2500 มีนักร้องที่ฉายแววโดดเด่นในวงการเพลงหลายคน เช่น คำรณ สัมบุญณานนท์, สมยศ ทัศนพันธ์, เฉลิมชัย ศรีฤาชา, สุรพล สมบัติเจริญ, ก้าน แก้วสุพรรณ แม้ทุกคนจะมีแผ่นเสียงของตนเอง ก็ยังไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้าง !

สุรพล สมบัติเจริญ ยุคแรก บันทึกเสียงที่ห้าง ต. เง็กชวน แต่ดังเพลงเดียวคือ “ชูชกสองกุมาร” ต่อมาย้ายมาบันทึกเสียงที่ห้างกมล สุโกศล ในปี 2502 พอมีเพลงเด่นแต่ไม่ถึงกับดัง ! เช่น โดดร่ม, ผู้แพ้รัก, ใครอยากเป็นแฟน, ลืมไม่ลง

สุรพล สมบัติเจริญ ติดใจในน้ำเสียงของผ่องศรี วรนุช จากเพลง หัวใจไม่มีใครครอง, วิวาห์ราตรี, แฟนเก่าแฟนใหม่, เจ็ดราตรี เมื่อมีโอกาสได้เจอกัน จึงทาบทามให้มาบันทึกเสียงกับห้างคาเธ่ย์ ตรามงกุฎ ของนายห้างประเสริฐ ที่ล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น
วาระนั้น สุรพล สมบัติเจริญ และครูสำเนียง ม่วงทอง ได้เขียนเพลง “ไหนว่าไม่ลืม” ให้ผ่องศรีบันทึกเสียง ในปี 2503 ต่อมาวงการเพลงเรียกเพลงประเภทโต้ตอบชาย-หญิงนี้ว่า เพลงแก้เกี้ยว !

“น้ำคำผู้ชายพูดง่ายฟังยาก (ผู้ชายนะโธ่ผู้ชาย)
พูดจาซ้ำซากปากว่าไม่ลืม (ปากว่าไม่ลืม ไม่ลืม)
พอมีรักสองมาครองอกเขา
ก็พลันทิ้งเราเปลี่ยนใจหลงลืม
นี่แหละนิสัยผู้ชายชอบลืม (ผู้ชายนะโธ่ผู้ชายไม่ทันเท่าไหร่ก็ลืม)”
>> https://www.youtube.com/watch?v=8pPZOCqHf98

เพลงแก้เกี้ยวของผ่องศรี วรนุช
เพลง “ไหนว่าไม่ลืม” กลายเป็นเพลงดัง ! ทั้งยังฉุดเพลง “ลืมไม่ลง”
“ไม่ลืม
ไม่ลืมไม่เลือนเหมือนเดือนคู่ฟ้า
ไม่ลืมรสรักที่เคยฝากฝัง
ไม่ลืมความหลังที่เคยผ่านมา
จวบจนชีวาสิ้นก็ไม่ลืม”

>>https://www.youtube.com/watch?v=AI9R_qrFSoM ที่สุรพลเคยบันทึกเสียงไว้เมื่อปีที่แล้ว ให้ขึ้นมาดังตีคู่อีกครั้งหนึ่ง รายชื่อเพลงแก้เกี้ยวบางส่วนของสุรพลและผ่องศรี อาทิ ลืมไม่ลง – ไหนว่าไม่ลืม / สวยจริงๆ – สวยจริงหรือคุณ / แก้วลืมดง -สาลิกาลืมไพร / น้ำค้างเดือน 6 - น้ำค้างเดือน 7 / คนใต้ใจซื่อ – สาวเหนือเบื่อรัก / น้ำตาผัว - น้ำตาเมียหลวง / พี่ยังไม่แก่หรอกน้อง – แก่จะตายอยู่แล้ว / หนาวจะตายอยู่แล้ว – เห็นหัวใจพี่แล้ว / ลูกแก้วเมียขวัญ - อาลัยรัก
เพลงแก้เกี้ยวทำให้ผ่องศรี เป็นเจ๊ดันในวงการให้นักร้องชายอีกหลายคน ประสบความสำเร็จในการร้องเพลงประเภทนี้ ดังเช่น ก้าน แก้วสุพรรณ (น้ำตาลก้นแก้ว-น้ำตาลก้นเปรี้ยว / โสนน้อยเรือนงาม- โสนน้อยครวญ) , ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย (รักพี่จงหนีพ่อ- รักน้องต้องหนีแม่ / สัจจะของชาวนา – สัจจะของสาวชาวนา / ขันหมากมาแล้ว-มาแล้วหรือพี่), นิยม มารยาท (บ้านนาสัญญารัก-รักพี่ตามสัญญา), ชัยชนะ บุญนะโชติ (กระท่อมปลายนา-ราชินีบ้านนา / ดอกดินถวิลฟ้า - ดอกฟ้ามาสู่ดิน) สมานมิตร เกิดกำแพง (แม่เตยหนามคม- พ่อเตยต่ำเตี้ย) (// 30A สมานมิตร) รวมทั้งนักร้องชายในยุคต่อมา เช่น สายัณห์ สัญญา (กินอะไรถึงสวย , กินข้าวกับน้ำพริก / ลานเทสะเทือน-ลั่นทมคืนทุ่ง / จำปีลืมต้น - จำปาคืนต้น / หนุ่มยโสธร-สาวยโสธร / เพราะฉันโง่ซิ-เพราะฉันโง่กว่าเธอ) , ศรชัย เมฆวิเชียร (อ้อนจันทร์- จันทร์อ้อน / พายงัด-ผู้ชายพายเรือ), ไวพจน์ เพชรสุพรรณ (หนุ่มนารอนาง-สาลิกาคืนถิ่น / พายเรือเกี้ยวสาว-พายเรือแก้เกี้ยว)

ปี พ.ศ. 2505 สุรพล สมบัติเจริญ ได้หยิบเอาเพลงแก้เกี้ยวอย่าง “น้ำตาเมียหลวง” และ “น้ำตาผัว” มาผูกเรื่องเป็นละครเพลง
“คุณเห็นดีแล้วหรือคุณเจ้าขา ที่คุณนำเมียน้อยมา บูชาเหนือเมียและลูก คุณทำอย่างนี้ คิดหรือว่าคุณทำถูก คุณไม่รักเมียรักลูก สิ้นความพันผูกลูกน้อยตาดำดำ”
ผ่องศรี วรนุช รับบท “เมียหลวง” , วันทนา สังกังวาน รับบท เมียน้อย” ส่วน “สุรพล สมบัติเจริญ” รับบท “สามี”

“เมียจ๋าหันหลังฟังผัวสักนิด ที่ผัวหลงเดินทางผิดคิดชั่วปลีกตัวเหินห่าง ผัวช่างเลวร้ายทำลายรักไปนอกทาง หลงควงเมียน้อยแนบข้างผัวไม่ควรสร้างให้หมางใจเมีย”

บทบาทการแสดงบนเวที เรียกว่า สุด ! เพราะมีบทเมียน้อยลงไม้ลงมือ และลงเท้ากับเมียหลวงซะด้วย รันทด จริงๆ

“แก้วลืมดง-สาลิกาลืมไพร” ด่ากันฉ่ำจนวันสุดท้าย!
ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยึดอำนาจทำรัฐประหาร ได้ประกาศกฎอัยการศึก สั่งห้ามทหารออกนอกกองบัญชาการ สุรพล สมบัติเจริญเป็นข้าราชการในสังกัดกองดุริยางค์กองทัพอากาศ ส่งผลให้งานที่รับไว้ ต้องพักการแสดงหยุดวงชั่วคราว สุรพล อนุญาตให้ผ่องศรีร้องกับวงอื่นได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่วงกลับมาเปิดการแสดงเหมือนเดิมต้องกลับมา เป็นสัญญาที่ให้กันไว้ ! แต่เมื่อถึงคราวที่สุรพลเปิดเวทีอีกครั้ง ผ่องศรีไม่มาตามนัด เนื่องจากติดธุระ อ้างว่าไม่ทราบ !? เรื่องนี้ ทำให้สุรพลโกรธมาก และคงจะยัวะมากถึงที่สุด เพราะผ่องศรีเป็นนักร้องแม่เหล็กตัวหนึ่งของวง !
ถึงขนาดสุรพล ลุกขึ้นมาให้ทำนองและเขียนเพลง “แก้วลืมดง” เสียดสี ด่าฉ่ำ เปรียบเปรย แดกดันทุกประโยค ! ... https://www.youtube.com/watch?v=x_TNAhr6imU

“สมหัวใจเจ้าแล้ว แม่นกแก้วที่ลืมดง ข้าอุตส่าห์ปราณีถนอม เลี้ยงดูให้เจ้าอยู่ในกรง ป้อนน้ำป้อนข้าวเจ้ายังทำข้าลง ถลาบินจากกรงหลงเพลินไม่กลับคอน
สมหัวใจเจ้าแล้วแม่นกแก้วที่แสนงอน ปีกเจ้ากล้าขาแข็งค่าตัวแพงแล้วสินะหล่อน ถึงได้ลืมบ่อนลืมคอนที่เคยโผลง”
แม้ในยามกินแหนงแคลงใจกัน ก็ยังอุตส่าห์มีเพลง “แก้” ! ครูสำเนียง ม่วงทอง ที่เคยเขียนเพลง “ลืมไม่ลง- ไหนว่าไม่ลืม” แนะนำให้ สมโภชน์ เสลากุล แต่งเพลงแก้ เพลงแก้ “สาลิกาลืมไพร” แต่งโดย ก้าน แก้วสุพรรณ https://www.youtube.com/watch?v=7LDyd7g7AVU เพื่อนรักร่วมวงของสุรพล ที่คิดเพียงว่า เป็นเพลงแก้ เท่านั้น ไม่ใด้คิดพัวพันถึงความไม่พอใจของสุรพลที่มีต่อผ่องศรี วรนุช ส่งผลให้สุรพล ไม่คุยกับก้านหลายเดือน จนแม่ของสุรพลต้องมาเคลียร์เอง

นอกจากนี้ การที่ผ่องศรี ไม่กลับมาร้องเพลงให้กับสุรพล อาจจะเป็นเพราะ ที่อื่นให้ค่าตัว 500 บาท แต่สุรพลให้เธอแค่ 300 บาทก็เป็นได้ !

ความสัมพันธ์ที่ไม่เหมือนเดิมนี้ ก็อยู่จนวาระสุดท้ายของสุรพล สมบัติเจริญ ที่ถูกยิงเมื่อ 16 สิงหาคม 2511 ณ วิกแสงจันทร์ หน้าวัดหนองปลาไหล นครปฐม

ผ่องศรี วรนุช หัวหน้าวงลูกทุ่งหญิงคนแรก
หลังเพลง “กลับบ้านเถิดพี่” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2508 เธอตัดสินใจตั้งวงดนตรีลูกทุ่งของตัวเอง วงผ่องศรี วรนุชเป็นวงแรกของเมืองไทยที่มี “หัวหน้าวง” เป็นผู้หญิง ! เส้นทางการทำวงดนตรีไปได้สวย ได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม ใครอยากจะเป็นนักร้องวงผ่องศรีไม่ง่าย ทุกอย่างต้องแน่น เป๊ะ ! เริ่มต้นฝึกตีฉิ่ง ตีฉาบ ตีกลองทอมบ้า เพื่อให้รู้ว่า จังหวะเพลงเป็นอย่างไร ? เวลาร้องเพลงจะได้ไม่คร่อมจังหวะ ต้องรู้จักเสียงตัวเอง รู้จักตัวโน้ต พอรู้เรื่องจังหวะแล้วก็จะเข้าสู่การฝึกหัดเต้นรีวิว เพื่อเวลาเป็นนักร้องจะได้รู้จักการเคลื่อนไหวบนเวที การที่ผ่องศรีมีพื้นฐานการเต้นรีวิวในคณะละครเร่ อีกทั้งชอบดูหนังต่างประเทศและละครโทรทัศน์ เธอจึงจดจำท่าเต้นและแบบเสื้อผ้ามาสร้างงานใหม่ๆตามแบบฉบับของเธอ
นอกจากนี้ วงผ่องศรี จะใช้ทีม “ชายจริง-หญิงแท้” มาเต้นรีวิวประกอบเพลง ถือเป็นทีมเต้นที่เด่นดังที่สุดในอดีต นำทีมเต้นโดย สายัณห์ สัญญา, สกล อลงกรณ์, พนมวัลย์ บ้านบึง ฯลฯ นักเต้นรีวิว คือจุดเริ่มต้นของ “หางเครื่อง” ในวงต่างๆของยุคต่อมา
เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2509 ผ่องศรี วรนุช ก้าวไปสู่การเป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นเวลานานถึง 34 ปีเต็ม
ร่องเสียงของผ่องศรี วรนุชมักจะถูกนักร้องรุ่นหลังๆนำไปใช้ในการขึ้นเวทีประกวด และร้องเพลง ไม่ว่าจะเป็น เรียม ดาราน้อย, ชูศรี ทองแย้ม, ละอองดาว-สกาวเดือน โสธรบุญ, ยุพิน แพรทอง, บุปผา สายชล ,พุ่มพวง ดวงจันทร์, ดุจเดือน ดารา,น้ำอ้อย พุ่มสุข แม้แต่ ดาวใจ ไพจิตร เมื่อเข้าสมัครเป็นนักร้องประจำวง สุนทราภรณ์ ก็ยังใช้เพลง “น้ำตาเมียหลวง” ร้องให้ครูเอื้อฟัง จนได้เป็นนักร้องสมใจ

ชีวิตคู่ของผ่องศรี วรนุช นอกจาก วัลลภ วิชชุกรแล้ว ยังมี เทียนชัย สมยาประเสริฐ (นักแต่งเพลง, นักดนตรี,นักร้อง), ราเชนทร์ เรืองเนตร (นักดนตรี) อีกด้วย

ผ่องศรี วรนุช เคยฝากตัวเป็นลูกบุญธรรมของ (หม่อมพ่อ) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช โดย วิทยา และเพลิน โชคปัญญารัตน์ (บริษัทแป้งเด็กน่ารัก)เป็นผู้พาไปพบท่าน และครั้งนั้นมี หม่อง ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอ ชุด ราชินีคืนทุ่ง (2532) และราเชนทร์ เรืองเนตร สามีของผ่องศรี วรนุช ติดตามไปด้วย (ไม่มีรายละเอียด นอกจากรูปถ่ายเท่านั้น)

หลังการเสียชีวิตของราเชนทร์ เรืองเนตร เธอย้ายมาอยู่ที่ อ.สามพราน นครปฐม และสร้างวิมานในฝันของเธอเป็น “หอศิลปินแห่งชาติ ผ่องศรี วรนุช” เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นที่เก็บสะสมผลงาน ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย , ผลงานเพลง รวมถึงสร้างหุ่นเหมือนจริงขนาดเท่าตัวเธอ เพื่อทักทายแฟนเพลงที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ !

รางวัลเกียรติยศ
รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2509 จากเพลง "กลับบ้านเถิดพี่" และ พ.ศ. 2522 จากเพลง "โธ่ผู้ชาย" รับจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

รางวัลเสาอากาศทองคำ 3 ปีซ้อน เมื่อ พ.ศ. 2518 จากเพลง "กินข้าวกับน้ำพริก" พ.ศ. 2519 จากเพลง "เขามาทุกวัน" และ พ.ศ. 2520 จากเพลง "จันทร์อ้อน"

รางวัลพระราชทานพิเศษจากพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะนักร้องลูกทุ่งหญิงเกียรตินิยมยอดเยี่ยม ชนะเลิศเสาอากาศทองคำ 3 ปีซ้อน เมื่อ พ.ศ. 2521 ได้รับรางวัลในปีนี้แต่ละสิทธิ์ จากเพลง "สาริกาคืนถิ่น"

กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานรางวัลจากเพลง "ไหนว่าไม่ลืม", "ฝากดิน" และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2534 จากเพลง "ด่วนพิศวาส" รับจากพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ประกาศเกียรติคุณพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะนักร้องผู้ขับร้องเพลงใช้ภาษาไทยได้ถูกต้อง และ ชัดเจน เมื่อ พ.ศ. 2534

รางวัลพระราชทาน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2535 จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม รับจากพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

รางวัลบุคคลทรงคุณค่าวงการบันเทิง สาขาดนตรี จากงานสยามดารา สตาร์ส อวอร์ดส์ 2015

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์









คำประกาศเกียรติคุณ ศิลปินแห่งชาติ

แม่เล็กกับผ่องศรี วรนุช

บรรยากาศเรือนแพ วิถีชีวิตของครอบครัวผ่องศรี

คุณหนู สุวรรณประกาศ (สวมแว่น)และอรัญญา นามวงศ์ ภายหลังมาเล่นภาพยนตร์หลายเรื่อง ภาพนี้จากเรื่อง “มรดกท่านผู้หญิง”

“วัลลภ” วิชชุกร สามีคนแรก - พระเอกละคร-นักแต่งเพลง และนักร้อง

แผ่นเสียงแผ่นแรก “หัวใจไม่มีใครครอง” และแผ่นที่สอง “วันวิวาห์” (ร้องคู่กับสามี) ประกบกับนักร้องชายชื่อ “โกมินทร์ นิลวงศ์” ในเพลง “ชาละวัน (แผ่นแรก)  และ ฉางกาย” (แผ่นที่สอง)

ถ่ายคู่กับครูสำเนียง ม่วงทอง ผู้แต่งเพลง “ไหนว่าไม่ลืม” ดังจนฉุดเพลง “ลืมไม่ลง” ของสุรพลให้กลับมาดัง จนเกิดเพลงโต้-ตอบ เรียก “เพลงแก้เกี้ยว”  ในวงการเพลงลูกทุ่ง

สุรพล สมบัติเจริญ

สุรพล สมบัติเจริญ

สุรพล-ผ่องศรี ฉายา  “ราชาและราชินีเพลงลูกทุ่ง”

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

สุรพล สมบัติเจริญกับเครื่องแบบกองทัพอากาศ และรถเวสป้า

ปกแผ่นเสียง น้ำตาเมียหลวง , ไหนว่าไม่ลืม

เมียน้อย (วันทนา สังกังวาน) ลงตีนกระทืบเมียหลวง (ผ่องศรี วรนุช) บนเวที ในละครเพลง “น้ำตาเมียหลวง”

ภาพชุดละครเพลง “น้ำตาเมียหลวง” บนเวที ที่แสดงโดย สุรพล สมบัติเจริญ, ผ่องศรี วรนุช และ วันทนา สังกังวาน

สุรพล สมบัติเจริญ หัวร้อน ! แต่ง – ร้องเพลง “แก้วลืมดง” ด่า ผ่องศรี แสบทุกประโยค !

เพลงโต้ตอบ หรือเพลงแก้เกี้ยวของสุรพล-ผ่องศรี

เพลงโต้ตอบ หรือเพลงแก้เกี้ยวของสุรพล-ผ่องศรี

ผ่องศรี วรนุช นักจัดรายการนานถึง 34 ปีเต็ม

วงดนตรี ผ่องศรี วรนุช หัวหน้าวงเป็นผู้หญิงคนแรกของไทย !







ผ่องศรี วรนุช กับหม่อมพ่อ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

หุ่นผ่องศรี ขนาดเท่าตัวจริงใน “หอศิลปินแห่งชาติ ผ่องศรี วรนุช” นครปฐม


กำลังโหลดความคิดเห็น