พิเชษฐ กลั่นชื่น นำ “Cyber Subin” นาฏศิลป์ไทยร่วมสมัยระหว่างมนุษย์ และ AI
เพราะเราไม่อาจแช่แข็งวัฒนธรรมให้อยู่คงที่ไปตลอดกาล
นาฏศิลป์ไทยตายไปแล้ว! ความเชื่อนี้จะถูกท้าทาย และขบถโดย“Cyber Subin” การแสดงที่หลอมรวมนาฏศิลป์ไทยกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) บนแนวคิดที่ว่ามรดกทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีพลวัต และมีชีวิตชีวา โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น
ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภูมิใจนำเสนอ Cyber Subin
(ไซเบอร์ สุบิน) โดย พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี (Pichet Klunchun Dance Company) การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยที่ร่วมสร้างสรรค์ระหว่างมนุษย์นักเต้น และ AI ณ ศูนย์ศิลปการละคร สดใส พันธุมโกมล ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 20 ก.พ. - 23 ก.พ. นี้
Cyber Subin เป็นผลงานของศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2549 “พิเชษฐ กลั่นชื่น” นักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นร่วมสมัยชาวไทยที่มีชื่อเสียง เเละได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ในด้านการตีความนาฏศิลป์ไทยแบบใหม่ ผู้ซึ่งใช้เวลาร่วม 20 ปี ในการพัฒนาโปรเจกต์ “หมายเลข 60” เพื่อถอดรหัสท่ารำ “แม่บทใหญ่” ออกเป็น 6 องค์ประกอบสำคัญ ก่อนจะมาร่วมมือกับ นักวิทยาศาสตร์ไซบอร์ก และนักวิจัยปฏิสัมพันธ์มนุษย์-AI “พัทน์ ภัทรนุธาพร” จาก MIT Media Lab ประเทศสหรัฐอเมริกา นำผลงานมาผสมผสานกับเทคโนโลยี Cybernetic เพื่อนำเสนอศักยภาพของการบูรณาการมรดกทางวัฒนธรรม ให้เข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อขยายขอบเขตการแสดงออกทางศิลปะไทย และต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิม ให้ดำรงอยู่ในบริบทร่วมสมัย
พิเชษฐ กล่าวถึงผลงานนี้ว่า เขาใช้เวลา 15 ปีแรกในการสร้าง Diagram ของนาฏศิลป์ไทยจนเสร็จ เสมือนรหัสทางพันธุกรรมของนาฏศิลป์ไทย (แม่บทใหญ่) ที่มีมาอย่างยาวนานแต่ไม่เคยเขียนถอดออกมา ได้เป็น 6 องค์ประกอบหลัก ที่ทำให้นาฏศิลป์สามารถพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ และ อีกกว่า 5 ปี ในการต่อยอดนำไปสู่การสร้างโปรเจค Cyber Subin โดยการแสดงนี้ พิเชษฐ ให้คำจำกัดความของผู้แสดงว่าเป็น “นักเต้น” ซึ่งนำแสดงโดยนักเต้นจาก “พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี” และนักเต้นต่างชาติซึ่งมาจากฮ่องกงและไต้หวัน พร้อมร่วมกับนักเต้นปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีก 1 สมองกล
“ระดับความว้าวของมันน่ะ คือวิธีการที่มันจะเกิดขึ้นในเวที มันมีความสมบูรณ์มาก เพราะมันเรียลไทม์ และมีการตอบโต้กันแบบ ทันทีทันใดนะ ซึ่งมันทําได้ยากมาก แล้วเกิดขึ้นได้ยากมากเลย โดยเฉพาะในงานที่เป็นการแสดงสด เพราะมันได้รับคำสั่งเดี๋ยวนั้น และถูกป้อนข้อมูลโต้ตอบกันไปมาเดี๋ยวนั้น ผ่านระบบไซเบอร์เนติกส์”
การแสดง Cyber Subin ได้รับทุนสนับสนุนในระดับนานาชาติ จาก National Theater & Concert Hall ประเทศไต้หวัน และเทศกาล Indonesia Bertutur ประเทศอินโดนีเซีย และเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลศิลปะ 2024 Taiwan International Festival of Arts (TIFA) ที่ประเทศไต้หวัน จำนวน 3 รอบ ก่อนจะจัดแสดงที่ เทศกาล Indonesia Bertutur บาหลี อินโดนีเซีย โดยมีผู้ชมกว่า 1,000 คน สร้างเสียงฮือฮา และผลตอบรับชื่นชม จนได้รับเกียรติให้เป็นการแสดงเปิดในงานเทศกาล Holland Festival ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้อีกด้วย สำหรับประเทศไทย พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี ได้นำการแสดง Cyber Subin จัดโชว์ครั้งแรกในเทศกาล “สนามเด็กเล่น” ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยะวัฒน์ ธรรมกุลางกูร ว่าที่หัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแสดง Cyber Subin ว่า “ศิลปะการแสดงในปัจจุบัน ไม่ได้ถูกจำกัดรูปแบบอยู่ในขนบเดิม ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่สามารถขยายการสร้างสรรค์ไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ อันไร้ขอบเขต ผลงานนี้คือหนึ่งในตัวอย่างผลงานที่ล้ำหน้าของวงการศิลปะการแสดงไทย สามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีของโลกอนาคต สะท้อนให้เห็นศาสตร์การเรียนรู้ศิลปะการละครในพื้นที่ของกาละและเทศะร่วมสมัย ที่มีความลื่นไหล เปิดกว้างต่อวิถีการสร้างสรรค์ในขนบที่หลากหลาย และเชื่อมโยงองค์ความรู้ข้ามศาสตร์ผสานศิลป์ ซึ่งพันธกิจหนึ่งของภาควิชาศิลปการละคร อักษรฯ จุฬาฯ ก็มุ่งส่งเสริม และผลักดันการเรียนรู้สร้างสรรค์ศิลปะการละครที่จะตอบโจทย์วิถีของโลกอนาคตด้วยเช่นกัน”
การแสดง Cyber Subin จัดแสดงทั้งหมด 4 รอบ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. - 23 ก.พ. 2568 ณ ศูนย์ศิลปการละคร สดใส พันธุมโกมล ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดจองบัตรวันนี้ ทาง Ticketmelon.com บัตรราคา 1,000 บาท (นักเรียน นิสิต นักศึกษา 400 บาท) #CyberSubin #comtemporarydance #DramaArtsChula
รอบการแสดงเวลา 19.30 น. / วันพฤหัส-ศุกร์
รอบการแสดงเวลา 14.00 น. / วันเสาร์-อาทิตย์ (พร้อมเสวนาหลังการแสดง)
มารู้จักกับ Cyber Subin
Cyber Subin (ไซเบอร์สุบิน) : บทสังเขป
เกี่ยวกับ Cyber Subin
Cyber Subin เป็นการร่วมมือระหว่าง พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี (Pichet Klunchun Dance Company) ร่วมกับ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัยปฏิสัมพันธ์มนุษย์-AI จาก MIT Media Lab ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ โรงละครและหอแสดงคอนเสิร์ตแห่งชาติไต้หวัน (National Theater & Concert Hall: Taiwan), กระทรวงวัฒนธรรมอินโดนีเซีย, และเทศกาล Holland Festival (เนเธอร์แลนด์) จุดประสงค์ของผลงานชิ้นนี้คือการมุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์ไทยผ่านเทคโนโลยี Cybernetics (ไซเบอร์เนติกส์) เพื่อขยายขอบเขตของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้ก้าวไกลกว่าอดีตที่เคยเป็น
Cybernetics คืออะไร?
Cybernetics เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมและการสื่อสารในระบบของสิ่งที่มีชีวิตและเครื่องจักร เพื่อทำความเข้าใจว่า ระบบต่างๆ ทำงานและปรับตัวอย่างไร ผ่านข้อมูลย้อนกลับ (feedback) เช่น ร่างกายของมนุษย์จะมีสมองคอยควบคุมร่างกายโดยรับข้อมูลจากประสาทสัมผัส แล้วส่งคำสั่งให้กล้ามเนื้อทำงาน
Subin (สุบิน): ในภาษาไทยหมายถึง “ความฝัน”
หนึ่งในแรงบันดาลใจของการแสดงชุดนี้ มาจากตอนหนึ่งในมหากาพย์รามายณะที่กล่าวถึง “ทศกัณฐ์” ผู้เป็นราชาแห่งยักษ์ที่ต้องต่อสู้กับภาพหลอนจากความฝันของเขาเอง “พิเภก” ผู้เป็นน้องชายและนักพรตได้ตีความความฝันนั้นว่า เป็นลางบอกเหตุถึงสงครามมหาวินาศที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำพาอาณาจักรยักษ์สู่ความล่มสลาย ทศกัณฐ์ปฏิเสธคำเตือนนี้ และขับไล่พิเภกออกจากอาณาจักร ทำให้พิเภกกลายมาเป็นพันธมิตรของพระราม ซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้และการสิ้นชีพของทศกัณฐ์ในที่สุด
ความฝันของศิลปินผู้สร้างสรรค์ Cyber Subin คือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการหลอมรวมตำนาน วัฒนธรรม และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะหาแนวทางในการปรับปรุงวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน ให้เข้ากับโลกปัจจุบันมากขึ้น ถือเป็นบทใหม่ของโปรเจกต์หมายเลข 60 ของพิเชษฐที่ถอดรหัสพันธุกรรมของนาฏศิลป์ไทยออกมาได้เป็น 6 องค์ประกอบหลัก (พลังงาน, วงกลมและเส้นโค้ง, จุด, ความสัมพันธ์ของร่างกาย, พื้นที่ว่างโครงสร้างท่า, และ เคลื่อนย้ายความสัมพันธ์) และนำ 6 องค์ประกอบหลักมาตีความใหม่เป็นภาษาที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ (สร้างอัลกอริธึม) เรียนรู้และสามารถให้สอดคล้องกับทฤษฎี Cybernetics เพื่อแยกและประกอบการเคลื่อนไหวแบบไทยดั้งเดิมใหม่ในรูปแบบอวตารเสมือนที่สามารถเต้นเคียงคู่กับนักเต้นมนุษย์ได้แบบเรียลไทม์
ผลงานชิ้นนี้ชวนผู้ชมตั้งคำถามถึงเสรีภาพของมนุษย์ในระบบ Cybernetics ความเป็นไปได้ที่มนุษย์กับเครื่องจักรจะร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และบทบาทของเทคโนโลยีในการจินตนาการ ถึงมรดกทางวัฒนธรรมในอนาคต
บทสัมภาษณ์ พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน Cyber Subin
“ทฤษฎีของผมคือการเต้นในรูปแบบของ Cybernetics ที่สร้างสรรค์ขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่นักออกแบบท่าเต้นกำหนดขึ้น ใน Cyber Subin ผมจึงพยายามทดสอบแนวคิดนี้ด้วยการให้มนุษย์เคลื่อนไหวร่วมกับระบบ Cybernetics ในเครื่องจักร ซึ่งในโครงการนี้คือ AI
ร่างกายมนุษย์มีความสามารถในการเคลื่อนไหวได้แทบจะไร้ขีดจำกัด การเต้นแบบดั้งเดิมสอนให้เราเคลื่อนไหวในวิธีต่าง ๆ แต่ก็มีข้อจำกัดในแบบแผนที่กำหนดไว้ ขณะที่หลักการ “หมายเลข 60” ได้เปิดโอกาสให้เราสร้างสรรค์วิธีการเต้นได้หลากหลายรูปแบบ โดยมีพื้นฐานจากการเคลื่อนไหวของการรำไทยแบบดั้งเดิม
ผมหวังว่าการรำไทยแบบดั้งเดิมจะสามารถเติบโตต่อไปในอนาคต แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงอนาคตที่เต็มไปด้วยคอมพิวเตอร์ได้ แต่หากการเต้นสามารถพัฒนาไปพร้อมกับคอมพิวเตอร์และ AI ควบคู่กับร่างกายมนุษย์ จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และสำหรับสิ่งนี้ ผมรู้สึกขอบคุณ พัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab ที่ได้ร่วมงานกันเพื่อทำให้วิสัยทัศน์ของ Cyber Subin เป็นจริง
ในขณะที่ศิลปินมนุษย์มีสัญชาตญาณและสัมผัสทางศิลปะที่ช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน เราอาจใช้ความสามารถนี้ควบคู่กับอัลกอริธึม การเขียนโค้ด และการเขียนโปรแกรม เพื่อสร้างสรรค์การเต้นรูปแบบใหม่ ๆ อาจเป็นไปได้ว่างานศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิมสามารถพัฒนาไปสู่อนาคตด้วย AI และเทคโนโลยีเครื่องจักร แต่สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยจินตนาการอันกว้างไกล ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด และสัญชาตญาณศิลปะของมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญ”
ประวัติของพิเชษฐ กลั่นชื่น และ พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี
พิเชษฐ กลั่นชื่น เป็นศิลปินนักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ พิเชษฐเริ่มฝึกนาฏศิลป์ไทย โดยเฉพาะโขน ตั้งแต่อายุ 16 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขานาฏยศิลป์ไทย จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิเชษฐได้ผสมผสานนาฏศิลป์ไทยดั้งเดิมเข้ากับการเต้นร่วมสมัย และได้สร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์มากมาย เช่น “I am a Demon” และ “ขาวดำ”
ในปี พ.ศ. 2546 พิเชษฐก่อตั้ง “พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี” ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างสรรค์ผลงานการแสดงศิลปะและฝึกฝนนักเต้นรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานนาฏศิลป์ไทย คณะนี้ได้แสดงผลงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผลงานชิ้นสำคัญ ได้แก่ “ขาวดำ: Black and White” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก โขน, “เต้นรำกับความตาย: Dancing with Death” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก ผีตาโขน และ “หมายเลข 60: No. 60” ซึ่งได้นำท่ารำแม่บทใหญ่มาวิเคราะห์และถอดรหัสใหม่ออกมาเป็นทฤษฎี หมายเลข 60 ของคอมพานี
พิเชษฐได้รับรางวัลและเกียรติยศมากมาย เช่น ปี 2549 รางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง, ปี 2551 รางวัล ‘Routes’ ECF Princess Margriet Award for Cultural Diversity จาก European Cultural Foundation ซึ่งมอบให้แก่ศิลปินที่ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม, ปี 2555 รางวัล เครื่องราชอิสริยาภรณ์สาขาศิลปะและอักษรศาสตร์ ชั้นอัศวิน (Chevalier of the French Arts and Literature Order) จากรัฐบาลฝรั่งเศส สำหรับผลงานสรรค์สร้างซึ่งส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะนานาชาติ และ ปี 2557 รางวัล John D. Rockeller 3rd Award จาก Asian Cultural Council สำหรับคุณูปการที่สำคัญต่อการสร้างความเข้าใจ การปฏิบัติ หรือการศึกษาด้านทัศนศิลป์หรือศิลปะการแสดงของเอเชียในระดับนานาชาติ
ทีมงานสร้างสรรค์
นักออกแบบท่และกำกับท่าเต้น: พิเชษฐ กลั่นชื่น
ผู้สร้างสรรค์ร่วม: พิเชษฐ กลั่นชื่น, พัทน์ ภัทรนุธาพร
นักเต้น: ผดุง จุมพันธ์, ธรรศ จงจัดกลาง, ชาง-หง ชุง (Chang Hung Chung) , คิงไฟ ซาง King Fai Tsang)
ผู้กำกับเพลง AI และผู้ประพันธ์เพลง: ลำธาร หาญตระกูล
นักวิทยาศาสตร์ไซบอร์ก/นักวิจัยปฏิสัมพันธ์มนุษย์-AI: พัทน์ ภัทรนุธาพร
นักเทคโนโลยีสร้างสรรค์: ภูมิปรินทร์ มะโน, ชยภัทร อาชีวระงับโรค
ผู้สร้างแอนิเมชัน 3D: ปิยพร พงษ์ทอง
นักออกแบบแสง: เรย์ ซาง (Ray Tseng)
ดรามาเทิร์ก: ฮาว เงียน ลิม (How Ngean Lim)
โปรดิวเซอร์: โศจิรัตน์ สิงหลกะ
ผู้จัดการเวที: จิรัช เอี่ยมสอาด