xs
xsm
sm
md
lg

สกู๊ปพิเศษ : “ยายแฟง” หน้าตึง กระแทกเครื่องบูชาใส่ “สมเด็จโต” ! (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : “ยายแฟง” หน้าตึง กระแทกเครื่องบูชาใส่ “สมเด็จโต” !



เรื่องจริงนี้ เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 อาจไม่มีในละคร “คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่านไม่ใช่หงส์ ” ทางช่อง 3 หลังธุรกิจ “โรงแม่แฟง” ประสบความสำเร็จจากการทำหอนางโลมที่ตรอกเต๊า !
ในละคร รินลณี ศรีเพ็ญ รับบท “แม่แฟง” บุคคลในประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 3 เนื้อเรื่องในละครแค่อิงชื่อและสถานที่ อื่นใดเกิดจากจินตนาการขึ้นใหม่ทั้งหมด ! เพราะไม่เหลือหลักฐานใด
ยายแฟง เป็นบรรพบุรุษของ “ตระกูลเปาโรหิตย์” และศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เป็นลูกหลานสายตรงคนหนึ่งของยายแฟง!

“แม่แฟง” หรือ อำแดงแฟง เป็นหญิงไทย เมียเจ้าสัวเอี๋ยน (แซ่ตัน) บรรพบุรุษเจ้าสัวเอี๋ยนมีอาชีพทำสวนพลูอยู่ฝั่งธนบุรี เมื่อพระเจ้าตากสินต้องการที่ดินสร้างพระราชวัง จึงย้ายมาตั้งบ้านในฝั่งพระนคร ต่อมา ชาวบ้านเรียกซอยที่อยู่อาศัยของเจ้าสัวว่า “ตรอกอำแดงแฟง” ซึ่งทุกวันนี้ ไม่มีใครรู้ว่า ตั้งอยู่ในแห่งหน พิกัดใดของสำเพ็ง เพราะถูกไฟไหม้เยาวราชครั้งใหญ่ไปในสมัยนั้น
เจ้าสัวเอี๋ยนและอำแดงแฟง มีลูกสาว 2 คน คือ เอม กับ กลีบ !

ตอกเต๊า ซอยลับไม่แต่ลึก ตั้งอยู่ที่ เยาวราชซอย 8 เดินตรงอย่างเดียวจากซอยเล็กแคบแออัด มีรถ 3 ประเภทที่ผ่านได้คือ รถจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์ และรถเข็น เดินไม่ถึง 20 ก้าว ซ้ายมือ ผ่านวัดจีนแห่งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ “วัดบำเพ็ญจีนพรต” หรือ “ย่งฮกยี่” เดินเรื่อยบนทางแคบๆ จนสู่ทางที่กว้างขึ้น ขวามือจะพบ “ประตูสัมมุขาสังฆพัฒนา” ซึ่งเป็นประตูข้างของวัดกันมาตุยาราม เดินตรงไปจะทะลุถึงปากซอยเจริญกรุง 14 หรือซอยข้างขวาของร้านอาหารฮั่วเซ่งฮง

ในสมัยรัชกาลที่ 3 สำเพ็ง-เยาวราช เจริญมาก เพราะเป็นแหล่งตลาดจีนที่ผู้คนในหลายประเทศเข้ามาค้าขาย
ตรอกเต๊าที่ผู้ชายทุกคนรู้จักดี สมัยนั้นเป็นห้องแถวไม้เรียงยาวตลอดทั้งตรอก มีสำนักกิจการโคมเขียวหลายเจ้า แต่เจ้าที่ถูกพูดถึงจนเป็นตำนานในทุกวันนี้คือ “โรงแม่แฟง” สำนัก “คุณนายโสฯ” อันดับหนึ่งในสมัยนั้น แม้ว่า อาชีพหยำฉ่า สมัยนั้นจะถูกกฎหมาย สร้างภาษีให้กับรัฐ ปีๆหนึ่งไม่น้อยเลย แต่สังคมก็มักจะดูถูกหญิงงามเมืองพวกนี้ เธอมักจะโดนด่าอย่างดูถูกว่า “อีสำเพ็ง” !

โรงแม่แฟง ถ้าเทียบสมัยนี้ น่าจะมีกลิ่นของคลับเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ชั้นดีของคนมีระดับ ! เพราะแม่แฟง เมียเจ้าสัวเอี๋ยน มีบารมี ร่ำรวยเป็นทุนเดิม โรงแม่แฟงจึงนิยมจับจ่ายข้าวของเครื่องใช้อย่างดีมาประโคมสำนัก เพื่อบำรุง บำเรอทางอารมณ์ชายในหอนางโลม ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะเครื่องแป้ง น้ำอบ น้ำปรุง ที่นอน หมอนมุ้ง กระโถน ล้วนมีความสะอาดสะอ้าน และเป็นของดีต่างจากสำนักอื่น ยามค่ำคืน อุปมาเหมือนผู้ชายถูกเชื้อเชิญเข้าห้องหอกับลูกสาวคหบดี ยังไงอย่างนั้น ยิ่งลูกสาวแม่ไม่ต้องพูดถึง สวยเด็ดเผ็ดทุกนาง รวมถึงการแสดงที่คัดสรรมาแสดงให้นักเที่ยวชม ... ใครมาเที่ยวโรงแม่แฟง ย่อมแสดงถึงรสนิยมชั้นดี

รุ่นต่อมา ลูกสาวคนเล็กคือ แม่กลีบ มารับช่วงกิจกรรมของแม่แฟง ! ความเลอค่าไม่ยิ่งหย่อนกว่ารุ่นแม่เลย

แม่แฟง ทำบุญไม่เคยขาดตั้งแต่สมัยเปิดโรงแม่แฟง นำเงินส่วนตัว และเงินจากลูกสาวที่เคยทำงานในหอนางโลมและสมัครใจมาร่วมกันสร้างวัด ย่านพลับพลาไชย เรียก “วัดใหม่ยายแฟง” !

วัดใหม่ยายแฟง สร้างเมื่อปี 2376 ในสมัยรัชกาลที่ 4 นางใจฟู อิ่มบุญ ชื่นชมกับวัดที่ตัวเองสร้าง จึงได้นิมนต์ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) มาเทศน์ฉลองวัด ! นางแฟงถามถึงอานิสงส์ในการสร้างวัด ท่านว่า อานิสงส์บกพร่องไม่เต็มหน่วย เทียบเงินบาทได้แค่สลึงเฟื้อง! พูดตรงอย่างนี้ก็แทงใจดำน่ะสิ ! แม่แฟงหน้าแดง ตัวตึง หน้าเชิด มือไม้สั่น มือยกเครื่องบูชาถวายกัณฑ์เทศน์กระแทกลงกับพื้น ดังโครม ! วันนี้ พ.ศ. 2568 ... ถ้าใครได้เข้าไปในวิหารหลวงพ่อดำ วัดคณิกาผล จะเห็น “รูปหล่อหลวงพ่อโตประจันหน้าคนละฝั่งกับยายแฟง” ! ทางวัดรู้หรือเปล่า ขรัวโตกับอุบาสิกาแฟง เคยมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกันอยู่ !

ผ่านมาแล้วตั้ง 192 ปีแล้ว แหม ! ขรัวโตยังตามย้ำความอยู่ได้ ! ...

ไม่จบ ! ไม่ยอม .. แม่แฟงนิมนต์ทูลกระหม่อมพระ หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยผนวชมาแสดงธรรมเทศนาอีก ถามอีกที ย้ำอีกที ท่านว่า “สองไพ” ! น้อยกว่า สลึงเฟื้องอีก ....
โอ๊ย ! นายแม่แฟง ฟังแล้ว จะเป็นลมต้องเรียกยาหอมเป็นการด่วน!

ในฐานะของอุบาสิกา แฟงและเหล่าสตรีได้แสดงความเลื่อมใสในพุทธศาสนา หมายจะสร้างวัดเพื่อค้ำจุนและบำรุงพระศาสนา ปัจจุบัน ฐานะของ “ย่าแฟง หรือ ยายแฟง” ถูกล่าวถึง มีชื่อเสียงโด่งดังกว่าพุทธปฏิมาใดๆในวัดเสียอีก ในวันพิเศษ นานๆครั้ง ผู้มีจิตศรัทธา หรือลูกหลานที่เคยมาขอพรและลัมฤทธิ์ผลจะนำการแสดงมาถวายคุณยายแฟง และทีมงาน-นักแสดงจาก“คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่านไม่ใช่หงส์ ”ก็มาขอพรคุณยายแฟงที่นี่

ยายแฟงไม่เหมาะสำหรับชายแท้ แต่สาวๆที่มาวัดคณิกาผล จะมาเดี่ยว หรือมากลุ่ม พร้อมเพื่อนผู้หญิงและเพื่อนชาว LGBTQ+ สังเกตดูได้ ไม่ขี้เหร่นะจ๊ะ โถ...ลูกสาวแม่ ! หน้าตาดีทุกคน ยายแฟงให้คุณในเรื่อง “เมตตามหานิยม” มากกว่าอย่างอื่นใด ! อย่าลืมชุดบูชาขอพร ซึ่งมีดอกไม้ , น้ำอบ, หมากพลู, สร้อยมุก และถ้าสำเร็จเสร็จสมอารมณ์หมายอาจเพิ่มเงินเติมด้วย ตลับแป้ง เครื่องสำอาง ประทินโฉมหน้า รวมถึงชุดไทยสำเร็จรูปก็ยังได้ !

ฝ่ายลูกสาว “แม่กลีบ” เจริญตามรอยแม่ เริ่มสร้างวัดในปี 2407 (รัชกาลที่ 4) ใช้เวลา 12 ปีจึงแล้วเสร็จ ในปีพ.ศ. 2419 (รัชกาลที่ 5) ได้นิมนต์ “พระจีนอุปนันทะโก” จากวัดโสมนัสราชวรวิหารไปเป็นสมภาร ท่านจำพรรษาได้แค่ 4 เดือนก็ต้องเผ่น ! เพราะทนเสียงอึกทึกของดนตรีและการแสดงในหอบุปผชาติ และตลอดจนเสียงทะเลาะกันไม่ไหว !

ลูกชายนางกลีบชื่อ “กัน” หรือ พระดรุณรักษา รับราชการได้มีโอกาสติดตามกองทัพไทยไปปราบฮ่อที่หนองคาย กลับมาได้รับตำแหน่ง “หลวงบริคุตวรภัณฑ์” เจ้ากรมภาษี และได้ทูลถวาย “วัดยาย-วัดแม่” ให้เป็นวัดหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า วัดหลวงมีมากแล้ว แต่พระราชทานชื่อวัดทั้ง 2 แห่งว่า

“วัดคณิกาผล” - วัดที่สร้างจากผลประโยชน์ของนางคณิกา (โสเภณี)
“วัดกันมาตุยาราม” - วัดของมารดานายกัน (พระดรุณรักษา)

เหตุและผล จากชื่อวัดทั้ง 2 แห่ง ยังคงความหมายอยู่จนถึงวันนี้ !

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์

ริณลณี ศรีเพ็ญ จากละคร “คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่านไม่ใช่หงส์”

ริณลณี ศรีเพ็ญ ในบท “แม่แฟง-แม่เล้าตรอกเต๊า”

ละคร - แม่แฟงและสาวๆ โคมเขียว



ทีมงานขอพรที่อาคารย่าแฟง  หลังวัดคณิกาผล

ชุดบูชาย่าแฟง

“คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่านไม่ใช่หงส์” ละครพีเรียดสมัยรัชกาลที่ 3

ผู้มาขอพร “ย่าแฟง”

หุ่นครึ่งตัว ย่าแฟง บรรพบุรุษของ “ตระกูลเปาโรหิตย์

ถวายละครรำ ย่าแฟง

สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) บ่อน้ำมนต์ วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม

“อานิสงส์บกพร่องไม่เต็มหน่วย เทียบเงินบาทได้แค่สลึงเฟื้อง!” !?

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะผนวช

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ลูกหลานสายตรงของยายแฟง!

รูปหล่อยายแฟงในวิหาร นิยมไหว้ที่นี่ก่อนไปไหว้ที่ด้านหลัง

อาคารย่าแฟง  2523 หลังวัดคณิกาผล

ภาพที่ติดไว้ในวิหาร

อนุสาวรีย์คุณแม่กลีบ (ลูกสาวแม่แฟง) ผู้เป็นแม่ของ พระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี) ผู้สร้างวัดกันมาตุยาราม


กำลังโหลดความคิดเห็น