สกู๊ปพิเศษ
คืนความยุติธรรมแก่ข้าฯเถิด ! (ท้าวศรีสุดาจันทร์)
ประวัติศาสตร์ พงศาวดารและบันทึกคำให้การของฝ่ายไทยอาจจะไม่นับ “ท้าวศรีสุดาจันทร์” เป็นกษัตริย์ แต่ศาสตราจารย์ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผอ.ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
“ท้าวศรีสุดาจันทร์ ไม่ได้ขึ้นมาเป็นกษัตริย์ เพราะจารีตของอยุธยาไม่เป็นอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่ในพงศาวดารของพม่า ซึ่งได้เรื่องราวจากพงศาวดารไทย เค้ามาลิสต์รายชื่อของกษัตริย์อยุธยา ซึ่งมีตำแหน่งของ ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นตำแหน่งของท้าวศรีสุดาจันทร์ พม่านับเป็นกษัตริย์ให้ด้วย และผมเชื่อว่า เหตุการณ์ กรณีท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็นเรื่องที่สำคัญมากจริงๆ สร้างแรงสั่นสะเทือน ให้กับราชสำนักอยุธยา เพราะหลังจากนั้น เราไม่เห็นว่า มีผู้หญิงคนใดที่จะได้มีอำนาจ ขึ้นมาเทียบเท่าศรีสุดาจันทร์อีกแล้ว”
ติดตามชม กรุงศรีอยุธยา การชิงราชบัลลังก์และอิสตรี Back To Basics EP 24
https://www.youtube.com/watch?v=kn5XNO8ZtTA
เรื่องราวของ “ท้าวศรีสุดาจันทร์” หลักฐานน้อย มิใยต้องพูดถึงข้อเท็จจริงที่ยิ่งน้อยไปใหญ่ นักวิชาการมีข้อจำกัดในการค้นคว้ามาก มีแต่เรื่องที่ถูกเล่าขาน ต่อเติม เสริมแต่ง จนเป็นนิยายรักอิงประวัติศาสตร์ ฉบับ “เนื้อ นม ไข่” ไปมาก เรื่องที่นางถูกให้ร้าย ในข้อหาต่างๆ ใช่ว่า ผู้หญิงในประวัติศาตร์ชาติอื่น จะไม่เคยเจอ ! (แทบจะเหมือนกัน)
เรื่องของ “นางพระยาแม่อยู่หัว ท้าวศรีสุดาจันทร์”ผู้สำเร็จราชการ “พระยอดฟ้า” ยุวกษัตริย์ องค์ที่ 14 แห่งอยุธยา เป็นเรื่องของการตั้งสมมติฐาน และตีความเป็นส่วนใหญ่ !
“แม่หยัวเมือง-แม่อยั่วเมือง” กร่อนมาจาก “แม่อยู่หัวเมือง”
“ท้าวศรีสุดาจันทร์” คือ ตำแหน่ง !
ในกฎหมายทำเนียบศักดินาบอกไว้ว่า ตำแหน่ง ท้าวอินทรสุเรนทร์ , ท้าวศรีสุดาจันทร์, ท้าวอินทรเทวี และ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ทุกคนล้วนเป็นสนม !
พระไชยราชาธิราช ไม่มีโอรสที่เกิดจากมเหสี (อาจจะไม่มีมเหสี หรือมเหสีหาชีวิตไม่แล้ว) เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์มีโอรส 2 พระองค์คือ พระยอดฟ้า , พระศรีศิลป์ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น “สนมเอก” และเป็นที่โปรดปรานของพระไชยราชามาก
ตามบันทึกคำให้การของชาวกรุงเก่า พระไชยราชา มีมเหสีเพียง 2 พระองค์ คือ พระนางจิตรวดี และท้าวศรีสุดาจันทร์ เท่านั้น
“ราชาเหนือราชา” ตามคติความเชื่อเรื่องจักรพรรดิราช มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพื่อกระชับอำนาจและสร้างสิทธิ์โดยชอบธรรม เรื่องพระสนมสี่ทิศ เป็นการแสดง “อำนาจและการพึ่งพา” เพราะ สนมเอกตามตำแหน่งทั้ง 4 คน ล้วนมาจากราชวงศ์ต่างๆ เช่น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (สุโขทัย ทิศเหนือ) , ท้าวอินทรสุเรนทร์ (สุพรรณภูมิ ทิศตะวันตก) ท้าวอินทรเทวี (นครศรีธรรมราช ทิศใต้) และ ท้าวศรีสุดาจันทร์ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นักวิชาการเชื่อว่า มาจากราชวงศ์ละโว้ ทิศตะวันออก และพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยาก็มาจากราชวงศ์นี้ สนมสี่ทิศนี้ แสดงถึงการพึ่งพิงอำนาจของพระมหากษัตริย์อยุธยาโดยตรง
ตามความเชื่อเรื่องมาจากละโว้ ทำให้เรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเรื่องการเมือง ! มาเพื่อชิงเมืองที่เคยเป็นสมบัติของบรรพบุรุษตน
ราชาเหนือราชายังสอดคล้องกับคติพุทธที่รับเอาเทวดาตกสวรรค์ในศาสนาฮินดู (อย่าง พระอินทร์, พระพรหม) เข้ามามีบทบาทสำคัญในศาสนาพุทธ ตำแหน่ง “พระอินทร์” ตามคติพุทธ คือ เทวราชที่ยิ่งใหญ่กว่าเทวดาทั้งปวงในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระสนม 4 คน (สุธรรมมา, สุชาดา, สุนันทา และ สุจิตรา) จึงได้นำ “ราชา” ไปเปรียบเคียงหรือเทียบเท่าพระอินทร์นั่นเอง
เรื่องของ ท้าวศรีสุดาจันทร์ พูดอะไรกันบ้างใน ภาพยนตร์ - ซีรีส์ และ หนังสือ
หมวด หนัง , ซีรีส์ , ละครเวที
“แม่หยัว” (2024) ช่อง วัน 31
ซีรีส์ 10 ตอนจบ บวงสรวงที่ “ศาลนางพระยาเจ้าอยู่หัว ท้าวศรีสุดาจันทร์” วัดแร้ง (วัดร้าง) ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ รับบท “จินดา / ท้าวศรีสุดาจันทร์”
“ข้าเคยตั้งใจว่า ข้าฯจะชิงบัลลังก์อโยธยามาให้คนที่ข้าฯรัก แต่บัดนี้ ข้าฯเพิ่งเข้าใจ อำนาจ หากอยู่ในมือผู้ใด คนดีก็อาจเปลี่ยนเป็นคนชั่วได้”
ซีรีส์แม่หยัว ขึ้นหนังสือชี้แจงก่อนรับชมว่า
“ ซีรีส์แม่หยัว ประพันธ์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจ จาก ประวัติของท้าวศรีสุดาจันทร์ เหตุการณ์ ตัวละคร อุปนิสัย รายละเอียดต่างๆ ในเรื่อง เป็นการตีความ ต่อยอด หรือแต่งขึ้นใหม่ เพื่อความสนุกสนานในการรับชม ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ทั้งหมด ในเรื่องอาจมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์
แต่ผู้สร้างขอยืนยันว่า การสร้างซีรีส์เรื่อง แม่หยัว นี้มีเจตนาอันดี ที่นอกเหนือจากความบันเทิงแล้วยังต้องการให้ผู้ชมหันมาสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น หลังการรับชม หากผู้ชมมีความสนใจสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ จากผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา”
ชมซีรีส์ที่มีตัวละครชื่อเหมือนคนในประวัติศาสตร์ อาจจะสนุก ครบรสถึงใจ มีโครงเรื่องจริงเจือเข้ามาไม่ถึง 10 % ด้วยซ้ำ เมื่อตั้งใจทำแค่ 10 ตอน จึงมุ่งไปที่ตัวละครหลักไม่กี่ตัว (ท้าวศรีสุดาจันทร์, พระไชยราชา, ขุนวรวงศาธิราช, ขุนพิเรนทรเทพ, พระแก้วฟ้า) นอกนั้นเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นทั้งสิ้น ประวัติศาตร์เป็นเพียงไม้ประดับมีไว้สอดแซมในซีรีส์เรื่องนี้เท่านั้น ในทางธุรกิจ ตั้งเป้าหมายขายกับคนในโลกยุคนี้ นำเสนอ ปั่น และสร้างเรื่องราวให้เป็นที่พูดถึงในโชเชี่ยล
ปูพื้นด้วยเรื่องฮือฮา อย่าง “ท่าพับเป็ด” ! ในตำนาน ห้ามชี้เท้าไปทางเจ้าเหนือหัว เพราะเป็นดั่งสมมติเทพนั้น ละครในแนวพีเรียด เคยปรากฏท่านี้ในละคร “บุหลันมันตรา” (ยีน เกวลิน) มาก่อน และแม่หยัว(ใหม่ ดาวิกา) ในทางโยคะ ท่านี้คือ Supine Hero Pose ! ท่าพับเป็ด ถูกพูดถึงมาก ก่อนที่จะออนซีรีส์เรื่องนี้
พอเริ่มออนซีรีส์ เรื่องอื่นๆก็ตามมา
บุคลิกของกษัตริย์นักรบ “พระไชยราชา” (ธีรภัทร์ สัจจกุล) ถูกดีไซน์ให้เป็นคนที่มีบุคลิกไม่คงที่ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อารมณ์ขึ้น-ลง เป็นไบโพลาร์ หรือยังไง ? น้ำเสียงเหมือนจิ๊กโก๋ข้างวัด เสียงอ้อแอ้ จนไม่แน่ใจว่า เมาเหล้าหรือเทกยาตัวไหน ! พร้อมบวกด้วย อาการทางจิต สมัยก่อนใช้ดาบ สมัยนี้ก็ต้องโซ่ แส้ กุญแจมือ จากร้านเซ็กส์ชอป จอมซาดิสม์แน่ ! มีอย่างที่ไหน จะเสพสมยังแสดงอำนาจข่มขู่ว่าที่เมีย ที่ตะคริวจะกินขาอยู่แล้ว
“จินดา” (ใหม่ ดาวิกา) ชื่อสมมติ นามเดิมของตำแหน่ง “ท้าวศรีสุดาจันทร์” ที่ดูเหมือนฉลาด ! แต่ไม่เฉลียว เหลียวหลังมองคนรอบข้าง จริงๆ นางอ่อนไหวกับความรักมาก ถูกชักจูงจากความรัก นี่แหละ ความรักทำให้คนเธอตาบอด ถูกพ่อ (ออกพระลพบุรี – กบ ทรงสิทธิ์) วามน (ฟิล์ม ธนภัทร) หลอกใช้ เพราะทั้งคู่ประสงค์การขึ้นตำแหน่งกษัตริย์องค์ต่อไป หลังสิ้นพระไชยราชา แต่ยอมรับว่า ฟิล์ม ธนภัทร กาวิละ เล่นสายตากับอารมณ์ดีเหลือเกิน !
เรื่องเล่นเพื่อนในหมู่วังในเป็นเรื่องที่โจษจันกันมาก งานนี้จึงเติม หยอด เรื่อง “เล่นเพื่อน” ! เป็นจุดขายกับกลุ่ม “หญิงรักหญิง” จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ เล่นเพื่อน, เลสเบี้ยน , แซกฟิก เรื่อยไปจนถึงแหล่งที่ชายรักชายชอบไปกัน จนนึกว่าเป็นซาวน่าที่เกย์ ! ที่สำคัญ กลุ่มพราหมณ์หนุ่ม กินโปร์ตีนเวย์ จนชาวสีรุ้งอยากขึ้นสวรรค์บนดินซะงั้น เรียกว่า เทขายจนหมด ทุกเพศ !
วามนคือรักแรกของจินดา แต่ จินดาเป็นรักแรกของตันหยง (หรือ ท้าวอินทรเทวี) ต้องบอกว่า “นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล” สวยละมุนมาก ! งานนี้สมกับสโลแกนที่พูดบ่อยๆว่า อย่าไว้ใจ “ช่องวัน”
ทุกเรื่องถูกพูดถึงมากในโชเชี่ยล ! แต่มาตกที่นั่งลำบาก อยุธยาร้อนเป็นไฟ ! ยิ่งกว่าพม่าเผาเมือง เมื่อมีการใช้ยาสลบกับแมวดำ จนเป็นข่าวอยู่หลายวัน ข่าวต่อมาว่า คนที่วางยาสลบแมว ไม่ใช่สัตวแพทย์ แต่เป็นโมเดลลิ่งในกองถ่าย และเจ้าตัวเพิ่งวางยาสลบแมวครั้งแรก
เหลืออีก 3 ตอน จบแล้ว !
“แม่หยัว” สร้างแรงบันดาลของ เอกสารชื่อ The Voyages and Adventures of Ferdinand Mendez Pinto, the Portuguese - "การเดินทางและผจญภัยของเฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต ชาวโปรตุเกส" เรียกสั้นๆว่า “เอกสารปินโตโปรตุเกส” ซึ่งเขาเคยเดินทางมาเมืองสยาม 2 ครั้ง ครั้งแรก เข้ามาทางภาคใต้ และครั้งที่ 2 เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชยกทัพไปตีเชียงใหม่พอดี เอกสารชิ้นนี้ ถือเป็นเอกสารชั้นต้น ! (นางนันทา วรเนติวงศ์ ได้แปลจากภาษาอังกฤษ The Voyages and Adventures of Ferdinand Mendez Pinto พิมพ์อยู่ในเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 3 กรมศิลปากร พ.ศ. 2538)
เนื่องจากปินโตเป็นนักผจญภัย การบันทึกอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด หากแต่ได้ผสมผสานลีลาระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ! เหมือนนักเล่านิทานผจญภัย เรื่อง-ชาติอื่นๆ มีการถกเถียงกันว่า เหตุการณ์หลายอย่างไม่น่าเชื่อถือ หรือเกินจริง! ทำให้เขาได้รับฉายาว่าเฟอร์เนา เมนเทส มินโต (เล่นคำกับกริยาภาษาโปรตุเกสว่าmentirซึ่งแปลว่า "โกหก" แปลว่า "เฟอร์เนา คุณกำลังโกหกอยู่หรือเปล่า ฉันกำลังโกหก") แม้เรื่องทั้งหลายอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่ก็สอดคล้องไปกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
เรื่องบอกเล่าของปินโตมีสีสัน และเหมาะกับการนำมาแปรรูป ขยายความ และเล่าต่อเป็นอย่างยิ่ง นอกจากเรื่องวางยาพระไชยราชาแล้ว ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ของท้าวศรีสุดาจันทร์ กับคนส่งอาหารให้พระราชวัง ชื่อ ออกขุนชินราช , น้องเขย (นายจัน) ที่เป็นช่างตีเหล็ก และระบุวันสิ้นพระชนม์ 15 มกราคม พ.ศ. 2089 (ค.ศ. 1546) ซึ่งเป็นวันฉลองเทพเจ้าแห่งละอองของดวงอาทิตย์ (God of the Atoms of the Sun) ในวิกิพีเดีย บอก สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2091
ภาพยนตร์ “สุริโยไท” (2544) โดย ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล
หนึ่งในตัวละครของภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ สุริโยไท ผู้รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ คือ ใหม่ เจริญปุระ !
“พระองค์อย่าได้หมายขัดขวางให้ราชวงศ์อู่ทอง กลับมาครองอโยธยาอีกครั้ง อโยธยาจะต้องอยู่ใต้มหาเศวตฉัตรวงศ์อู่ทองชั่วลูกสืบหลาน บัดนี้สิ้นบุญราชวงศ์สุพรรณภูมิแล้ว พ่ออยู่หัวองค์ต่อไป จะต้องเป็นองค์ที่อยู่ในครรภ์ของหม่อมฉัน” (วลีเด็ดจากบทภาพยนตร์ของ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ต่อหน้าพระพักตร์พระไชยราชาธิราช ก่อนสวรรคต)
การวางยาพิษ พระไชยราชาธิราช ได้กล่าวไว้ใน เอกสารชื่อ The Voyages and Adventures of Ferdinand Mendez Pinto, the Portuguese - "การเดินทางและผจญภัยของเฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต ชาวโปรตุเกส" ท่านมุ้ย สร้างตัวละครสมมติ “พระมาตาหทัยยิกา” ซึ่งแสดงโดย พิศมัย วิไลศักดิ์ ย่าทวดสายอู่ทอง ที่แนะนำให้ ท้าวศรีสุดาจันทร์วางยาพิษพระไชยราชาเพื่อความปลอดภัยของท้าวศรีสุดาจันทร์ และลูกในท้อง
ส่วนเอกสารฝ่ายไทย พูดถึงการสวรรคตของพระไชยราชา ระหว่างเดินทางกลับอยุธยาบ้าง และ กลับมาแล้ว 2 เดือนก็มี ในฉบับอื่นๆ ยังมีเรื่อง พันบุตรศรีเทพ เป็นหมอผี , ผู้ขับดนตรี เห่กล่อม เป็นต้น
ละครเวที “ ข้(ฆ่) า ท้าวศรีสุดาจันทร์ไม่ผิด” ของคณะ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต / หม่อมหลวงวันรัชดา วรวุฒิ รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ , บทละครโดย ท.พ.อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ กำกับการแสดงโดย กษาปณ์ ปัทมสูต
“ไอ้ขุนอินทรเทพ ขุนพิเรนทรเทพ พระเฑียรราชา เราผู้เป็นเจ้าเหนือหัวพวกเจ้า จะขออยู่เพื่อตามจองล้างจองผลาญชีวิตพวกเจ้าสืบไป ตราบใด ความจริงแห่งเรา ยังไม่ถูกชี้แจง แถลงความโดยสัตย์ วิญญาณแห่งเรา ท้าวศรีสุดาจันทร์ จะขออยู่เพื่อแก้ความเหล่านั้น”
https://www.youtube.com/watch?v=FtK5aI1TOAs
กบฏท้าวศรีสุดาจัน (หนัง VCD ปี 2548) ยศวดี หัสดีวิจิตร รับบท “ท้าวศรีสุดาจัน” เป็นการร่วมมือของไทยกับสหรัฐอเมริกา เมื่อแรกตั้งชื่อตั้งใจใช้ชื่อ “กษัตริย์ผลัดแผ่นดิน” แต่ถูกติงจึงเปลี่ยนเป็น กบฎท้าวศรีสุดาจัน หลายฉากเกินจริง ผิดเพี้ยนจากประวัติศาสตร์หลายส่วน
หมวดหนังสือ เช่น
นวนิยาย “ท้าวศรีสุดาจันทร์” ของรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า เป็นเพียงนวนิยายซ้อนประวัติศาสตร์ ซึ่งรายละเอียดอาจเคลื่อนไปบ้าง แต่รักษาฐานเดิมไว้ เน้นความบันเทิงและอารมณ์คนอ่านเป็นหลัก ส่วนข้อเท็จจริงจากพงศาวดารและประวัติศาสตร์เป็นรอง ... ต้นเรื่องว่า “ศรีจันทร์” ลูกสาวชาวบ้านแขวงบางปะอิน เล่าความฝันประหลาดให้บ่าวฟังว่า นางเพลิดเพลินในสวนดอกไม้หอมหลากสีสัน มีเสียงดนตรีจากฟากฟ้า พร้อมบุรุษเทพองค์หนึ่งปรากฏกายชักรถม้าตรงมาที่ตัวนาง ... ส่วน คนรัก “พี่เทพ” ครองผ้ากาสาวพัสตร์ตั้งแต่เป็นสามเณร จนอายุครบบวชเป็นพระภิกษุ เชี่ยวชาญทะลุปรุโปร่งในภาษาบาลี สันสกฤต เจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงไหว้วานมาช่วยสอนสามเณรและลูกหลานชาวบ้านแถบนั้น
ท้าวศรีสุดาจันทร์ “แม่หยัวเมือง” ใครว่าหล่อนชั่ว ? สุจิตต์ วงษ์เทศ จัดพิมพ์มาหลายครั้ง เหมาะสำหรับการค้นคว้า-อ้างอิงและสืบค้นต่อ สุจิตต์ กล่าวไว้ในคำนำว่า
ท้าวศรีสุดาจันทร์ถูกพงศาวดารกล่าวหาว่า คบชู้ (คือ ขุนวรวงศาธิราช) , ฆ่าผัว (คือ สมเด็จพระไชยราชาธิราช), ฆ่าลูก (คือ พระยอดฟ้า), แล้วยังมีข้อหาอื่นๆอีกมาก
ถึงวันนี้ก็ยังไม่หมดข้อกล่าวหา และยังไม่มีใครเป็นทนายแก้ข้อกล่าวหาเหล่านั้นได้ นักประวัติศาสตร์และพงศาวดารตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จึงไม่ยอมรับนับขุนวรวงศาธิราชอยู่ในบัญชีกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา
ข้อกล่าวหาท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเรื่องราวเล่าขานที่รับรู้กันมาแต่เริ่มแรก มีทั้งบันทึกของชาวยุโรป และมีทั้งเอกสารพงศาวดารสยามจึงยากที่จะปฏิเสธได้ แต่หากยอมรับข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ ก็เท่ากับกล่าวโทษบุคคลในประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม และยังเท่ากับละเลยเหตุการณ์ในอดีตที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ ชีวิต และวิญญาณของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมือง ภายในราชวงศ์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น
เมื่อกลุ่มท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นฝ่ายปราชัย ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ต้องโดนประณามหยามเหยียดจากฝ่ายผู้มีชัยชนะ ในทางตรงข้าม ถ้าหากกลุ่มท้าวศรีสุดาจันทร์มีชัยชนะ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องถูกประฌามหยาดเหยียดไม่น้อยกว่ากัน หรืออาจจะโดนหนักกว่าก็ได้
เพื่อช่วยกันทำความเข้าใจกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์เท่าที่จะทำได้ ก็ต้องช่วยกันศึกษาพัฒนาการทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของกรุงศรีอยุธยาเสียก่อน (หมายถึง 7 บทในหนังสือ) ดังต่อไปนี้ 1. กรุงศรีอยุธยา (มาจากตระกูลละโว้-อโยธยา), 2. ท้าวศรีสุดาจันทร์ (ในบันทึกชาวยุโรป), 3. พงศาวดารและคำให้การ (บันทึกเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์), 4. กรมพระยาดำรง (ทรงอธิบายกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์), 5. ท้าวศรีสุดาจันทร์ (เชื้อสายราชวงศ์ละโว้-อโยธยา), 6. พันบุตร ศรีเทพ (ขุนชินราช หรือ พระวรวงศาธิราช), 7. การเมือง (เรื่อง ท้าวศรีสุดาจันทร์)
นอกจากนี้ ยังมี หนังสือชื่อ ท้าวศรีสุดาจันทร์ โดย บุญชัย ใจเย็น , ท้าวศรีสุดาจันทร์ แม่ยั่วเมือง โดย เวนิสา เสนีวงศ์ฯ
ผ่านเวลามาแล้วถึง 476 ปี กงล้อแห่งกาลเวลาที่หมุนไปข้างหน้า บดทับเรื่องราวของ “พระนาง” เพราะไม่มีใครอยากให้นางได้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ในพงศาวดารต่างๆ กล่าวถึงนางแตกต่างกันไป มีเพียงความสั้นๆไม่กี่บรรทัด ที่มาที่ไปไม่ชัดเจน ทำให้เรื่องของนางถูกตีความในทุกขั้นตอนของวงจรชีวิต ตั้งแต่เกิด รุ่งเรืองอำนาจ นางถูกกดต่ำด้วยอคติทางเพศ หญิงใจหยาบ บาปหนา มากชู้หลายรัก ฆ่าผัว ฆ่าลูก ขึ้นสู่อำนาจ มีเรื่องเดียวที่ชัดเจน คือ จุดจบของชีวิตพระนาง
เรื่องราวของนางเหมือนหนังที่ถูกฉายซ้ำด้วยข้อกล่าวหาเดิมๆ ศัตรูทางการเมืองของนางมีเยอะ ไม่ได้มีแค่กลุ่มของขุนพิเรนทรเทพเท่านั้น ข้อกล่าวหายังมีความคลุมเครืออยู่มาก ควรที่คนรุ่นใหม่จะตั้งสมมติฐาน สืบค้นกันต่อไป ทั้งจาก วัฒนธรรม , สังคม , การเมือง และคติความเชื่อในสมัยนั้น รวมถึงประวัติพระนางที่มีอยู่เพียงน้อยนิด ทิ้งอคติส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิมนุษยชน ไม่มีใครมีชีวิตสมบูรณ์เต็มร้อย ทุกคนย่อมมีข้อบกพร่องทั้งสิ้น “นางพระยาแม่อยู่หัว ท้าวศรีสุดาจันทร์”ก็เช่นกัน แต่นางพึงมีสิทธิ์ในความยุติธรรม และมีที่ยืนบนประวัติศาสตร์แผ่นดินไทยอย่างเต็มภาคภูมิ !
หมายเหตุ
กลุ่มต่อต้าน ได้ลวงขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ สู่เพนียดคล้องช้าง ขุนพิเรนทรเทพและพวกปิดล้อมหน้า-หลังเรือพระที่นั่ง ขุนวรวงศาธิราชถูกสังหารที่นี่ ส่วนท้าวศรีสุดาจันทร์อุ้มพระธิดาแนบอกวิ่งหนีจนมาถึงวัดร้าง บริเวณจุดตัดกับคลองปลาหมอกับคลองสระบัว ก็ถูกสังหาร เอาเศียรเสียบประจาน โยนพระวรกายทิ้งน้ำ
หลังสิ้นพระชนม์ของเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ขุนพิเรนทรเทพ ทูลเชิญพระเฑียรราชา ซึ่งบวชหนีภัยอยู่ที่วัดราชประดิษฐานขึ้นครองราชย์ นาม พระมหาจักรพรรดิ มี พระศรีสุริโยทัย เป็นอัครมเหสี ความดีความชอบในครั้งนั้น ขุนพิเรนทรเทพ ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก และทรงโปรดฯ ยกพระสวัสดิราช พระธิดาเป็น “พระวิสุทธิกษัตริย์” ให้เป็นอัครมเหสี
ต่อมา พระมหาธรรมราชา กษัตริย์องค์ที่ 17 แห่งอยุธยา (ปฐมกษัตริย์วงศ์สุโขทัย) มีโอรส-ธิดา คือ คือ พระนเรศวร (องค์ที่ 18) , พระเอกาทศรถ (องค์ที่ 19) และพระนางสุพรรณกัลยา ที่คนไทยรู้จักดี