xs
xsm
sm
md
lg

สกู๊ปพิเศษ : “บรรเจิดศรี ยมาภัย” อดีตคุณป้านักซิ่ง! ผู้ชอบดื่มโค้กกระป๋อง (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : “บรรเจิดศรี ยมาภัย” อดีตคุณป้านักซิ่ง! ผู้ชอบดื่มโค้ก (กระป๋อง)



ป้าบรรเจิดศรี ยมาภัย เป็นลูกพี่ลูกน้องกับ ผุสดี สังวริบุตร ภรรยาของไพรัช สังวริบุตร ดังนั้น “อาหรั่ง” ไพรัช สังวริบุตร คือ น้องเขย และผู้กำกับฯ ผู้ผลักดัน “ป้าศรี หรือ ยายศรี” บรรเจิดศรี ยมาภัยให้เข้าสู่การเล่นละครอย่างจริงจังเมื่ออายุ 50 ปี ตั้งแต่ละคร ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” ในปี 2524 แม้ว่าป้าจะเคยผ่านกล้องมาบ้างแล้ว ครั้งแรก แค่ตอนหนึ่งในละคร “กฎแห่งกรรม” ไม่มีบทพูด ตลอดเวลา 42 ปี (2524-2566) มีผลงานการแสดงละครราว 60 กว่าเรื่อง , ภาพยนตร์ 4 เรื่อง และมิวสิกวิดีโออีก 2 ชิ้น ได้รับรางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 5 ปี 2537 สาขา นักแสดงหญิงสมทบยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ “อำแดงเหมือนกับนายริด” ผลงานล่าสุด เราได้เห็นดวงหน้าคุณป้าใจดีคนนี้รับเชิญผ่านละคร “บุพเพสันนิวาส -พรหมลิขิต” ในบท “คุณยายนวล” ยายของเกศสุรางค์ อดีตข้าหลวงเก่าในวัง ที่ได้ถ่ายทอดวิชาเย็บปักถักร้อยให้เกศสุรางค์ตั้งแต่ยังเด็ก แต่ชีวิตจริง เธอคือ คุณแม่ของ “ศัลยา สุขะนิวัตติ์” นักเขียนบทโทรทัศน์ โดยเฉพาะละครพีเรียด ต้องยกนิ้วให้เธอ เธอเป็นผู้สร้างความโด่งดังให้กับละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ตั้งแต่ภาคแรก คือ “บุพเพสันนิวาส” นั่นเอง

วันนี้ ละครออนไลน์ ปัดฝุ่น บทสัมภาษณ์ของป้าศรี ที่ปรากฏในนิตยสาร IMAGE ปีที่ 10 ฉบับที่ 7 วันที่ 22 กรกฎาคม 2540 ที่เพจ “แต้ว บอกอ Model”สแกนมาให้อ่านกัน!

งานชิ้นนี้ เขียนไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อป้าศรีอายุ 98 ปี ...วันนี้ … อายุล่วง 100 ปี ( เสียชีวิต เมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567 เวลา 21.11 น.) วันนี้ “คุณยาย” มีเรื่องราวในอดีตจะเล่าให้ฟัง !

วัยเรียนและทำงาน

ป้าศรี เกิดเมื่อ 4 มิถุนายน 2468 มีพี่น้อง 8 คน แต่เสียชีวิตหมด วัยเด็ก คุณแม่ถวายป้าศรีให้เป็นลูกหลวงพ่อโสธร เธอจบชั้นมัธยมจากสตรีวิทยา ราชดำเนิน สมัครเข้าเรียนวิชาหนังสือพิมพ์ หลักสูตร 2 ปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดสอนวิชานี้เป็นปีแรก พอเรียนได้ปีเดียว ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงพักการเรียนไปเช่นเดียวกับเพื่อนในชั้นคนอื่นๆ พอสงครามสงบ แผนกวิชาหนังสือพิมพ์ก็ยุบ ทำให้การศึกษาของเธอจบลงแค่นั้น

ชีวิตการทำงานจึงเริ่มต้นเมื่ออายุ 18-19 ทำงานครั้งแรกที่แผนกก่อสร้างอาคาร ของ กทม. จากนั้นไม่นานก็แต่งงาน มีลูก มาทำงานอีกทีด้วยการเป็นอาสาสมัคร (ทำงานแบบไม่มีเงินเดือน) ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เตรียมอุปกรณ์ต่างๆที่ต้องใช้ในโรงพยาล รวมถึงส่งของขวัญให้ตำรวจตระเวนชายแดน จากนั้นมาทำงานในแผนกวิทยุโทรทัศน์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ จนเมื่อราวอายุ 30 มาเริ่มงานกับ USOM หรือ The United States Operations Mission to Thailand ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ทำงานที่นี่นานถึง 20 ปีจนเกษียณ เมื่ออายุ 50 ปี

ป้าศรีไม่ชอบอยู่เฉย ชอบทำอาหาร จึงมาเปิดร้านขายอาหารหน้าปากซอยบ้าน , เปิดร้านชื่อ ไพลิน แถวมหาวิทยาลัยหอการค้า ปี 2520 ประมูลร้านขายอาหารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตได้ ตอนนั้นมหาวิทยาลัยเปิดเป็นปีแรก ป้าศรีจึงเริ่มงานขายอาหารทันที ตื่นตั้งแต่ไก่โห่ตี 4 จ่ายตลาดเอง ซื้อโน่น นี่ นั่น ขับรถกระบะบรรทุกข้าวของ มาถึงมหาวิทยาลัยตอน 7 โมงเช้า ขายอาหารกว่าจะแล้วเสร็จ ... เก็บข้าวของ และขับรถกะบะคันใหญ่กลับบ้านก็ปาเข้าไป 3 ทุ่ม มีเด็กช่วยงานที่ร้าน 2 คน

คืนหนึ่ง ขับรถกลับบ้านกับเด็ก 2 คน รถวิ่งออกจากมหาวิทยาลัยมาตามเส้นทางปกติที่จะกลับบ้านย่านสาธรเหมือนทุกครั้ง ผ่านมาถึงโรงงานทอกระสอบย่านรังสิต จู่ๆ รถก็ลื่นไถลลงไปในคูน้ำแถวนั้น ไม่ใช่แค่รถของป้าศรีเท่านั้น ยังมีรถสิบล้ออีกคันที่แล่นมาและเจอในสภาพเดียวกัน รถทั้ง 2 คันต่างลงไปตะแคงอยู่ด้วยกันในคูน้ำ โชคดีที่รถต่างตะแคงกันอยู่คนละมุม ถ้ามามุมเดียวกัน เราคงไม่ได้เห็นบทบาทนักแสดงของป้าศรีเป็นแน่ ทันทีที่รถพุ่งลงน้ำ สักพักชาวบ้านหลายคนก็ฝ่าความมืดมาส่อง “ผลงาน” และถามว่า “เป็นอะไรมั้ย” ! ป้าศรีก็ส่งเสียงบอกปลอดภัยดี และไขกระจกพาตัวเองออกมา ... ป้าศรี มารู้ทีหลังว่า ที่บริเวณนั้น ชาวบ้านหวังจะปลดของผู้ผ่านทาง จึงราดน้ำมันไว้ตามเส้นทาง เจอกันบ่อย ! เหตุนี้ “แดง ศัลยา” จึงขอให้แม่เลิกขายอาหารเสีย !

Lifestyle ของป้าศรี

ตอนสาวๆ ป้าศรี จัดเป็น “สาวเปรี้ยว” ไม่ตกยุค สวมกระโปรงนิวลุค ซึ่งมีรูปทรงกลม บาน ย้วย มีบ้างที่นุ่งสั้น มินิสเกิร์ต แต่ไม่บ่อย ไม่สั้นมากเพราะขาไม่สวย ! หรือบางทีก็ใส่กางเกงรัดรูป ไม่มีจีบ ไม่ตีเกล็ด ซึ่งเป็นการโชว์สัดส่วนของผู้สวมใส่ได้ดี , ทุกวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ จะเต้นรำและเที่ยวพักผ่อนที่สถานตากอากาศบางปู ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวโก้เก๋ของหนุ่มสาวในยุคนั้น หรือ ไม่ก็นิยมไปเที่ยวกับเพื่อนที่ต่างจังหวัด เพื่อนคนไหนโทร.มาชวน ถ้าไม่ติดนัดอะไรที่ไหน พร้อมเดินทางตลอดเวลา เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆให้กับชีวิต กิจกรรมอื่นๆ เมื่อสมัยที่ยังไม่ได้เล่นละคร วันศุกร์ ไปดู “รายการ เพื่อผู้มีดนตรีกาล” ที่จะมีการเชิญนักร้องเก่าๆมาร้องเพลง, วันอาทิตย์ ชอบไปดู “ละครกรมศิลปากร” ที่โรงละครแห่งชาติเป็นประจำ หรือ เสาร์-อาทิตย์ ไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ถ้าออกจากบ้านแล้วล่ะก้อ ไม่ดึกไม่กลับ เปรี้ยวมั้ยล่ะ! ป้าศรีขับรถเป็นตั้งแต่สาวๆ เพื่อนเอารถจี๊ปมาฝึกให้ และกรุงเทพฯสมัยก่อน รถราบนท้องถนนยังไม่แน่นหนาอย่างทุกวันนี้ เมื่อถนนว่างจึงเป็นคนขับรถเร็ว ดูหน้าปัด ความเร็ว 140-150 กม. / ชม. จนต้องดึงสติกลับมา ผ่อนให้ช้าลง ! การขับรถเร็วนี่แหละ ทำให้เกิดฉายาและพูดถึงกันทั้งกองถ่าย !

ฉายา “ป้าซิ่ง ดื่มโค้กกระป๋อง”

เมื่อถ่าย “คู่กรรม” เมื่อปี 2533 (เบิร์ด ธงไชย - กวาง กมลชนก) ถ่ายกันที่โรงถ่าย ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี เลิกกองคืนหนึ่งเมื่อตอน ตี 1 ขบวนรถนักแสดง ป้าศรี เป็นคันแรก ตามด้วยรถของกวาง กมลชนกและคุณแม่ และรถของนักแสดงอื่นๆ ป้าศรีบอก “ขับตามกันมานะ” ! แล่นมาตามทาง ทุกคนเคร่งครัดเคารพผู้อาวุโส ไม่มีใครกล้าแซงรถป้าศรี ฝ่ายป้าศรีคิด ... ดึกแล้ว ทุกคนคงอยากถึงบ้านเร็วๆ นี่คงเกรงใจ ขับตามเราแบบนี้ คงถึงช้าแน่ ! ความคิดช้ากว่าขา เหยียบซะมิด รถหายไปในความมืด ไม่รอใครอีกเลย !

รุ่งขึ้น ข่าวเหยียบรถหายไปในความมืด รู้กันทั้งกองถ่าย ! “ปัญญา นิรันดร์กุล” นักแสดงในละครคู่กรรม เจอใครก็เล่าให้ฟังหมด เรียกฉายาป้าบรรเจิดศรี ยมาภัยแบบขำๆว่า “ป้าซิ่ง” !

“ป้าซิ่ง” ของแท้ ต้องดื่มโค้ก ต้อง “โค้กกระป๋อง” ด้วยนะ ... โค้กขวดไม่เอา ! ทานโค้กจนเหมือนคนติดกาแฟ ไปกองถ่ายก็จะเอาโค้กกระป๋องใส่กระติกไปดื่มด้วย

แสดงละคร เมื่ออายุ 50!

ตอนเล่น “คู่กรรม” นั้น ป้าศรี ผ่านละครมาแล้ว 9 ปี ... ย้อนกลับไป ตอนแรก ก่อนปี 2524 เด็กในกองมักจะกระแซะป้าศรีให้มาเล่นละครด้วยกัน “ไม่เอา เล่นไม่ได้” เป็นเหตุผลที่ป้าศรีวัย 50 บอกกับเด็ก แล้วที่สุด จึงถูกจับทดลองเป็นเรื่องแรก แค่ตัวประกอบไม่มีบทพูดในละครเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ในบทหมอหญิงเดินไปเดินมา ได้ค่าตัว 400 บาท ต่อมาเมื่อบทยากขึ้น ค่าตัวก็เพิ่มขึ้น

เว้นระยะจนถึงปี 2524 เริ่มจาก “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” เธอยืนยันด้วยเหตุผลเดิมๆ “ไม่เอา เล่นไม่ได้ ไม่ถนัด” จนทีมงานต้องหลอกล่อว่า “วางตัวไว้แล้ว หาคนอื่นไม่ทัน” ! ไพรัช สังวริบุตร ผู้กำกับฯและน้องเขยบอกว่า “ถ้าเล่นเรื่องนี้ได้ แสดงว่าเล่นได้” ! สังเกตได้ว่า อาหรั่งนิยมเอาญาติพี่น้องมาฝึกงาน ยกตัวอย่าง ลูกชายทั้ง 2 คน “สยาม -สยม” ถูกฝึกเล่นละครมาแต่เล็ก พอมาทำหน้าที่ผู้กำกับฯ ก็เข้าใจในตัวงานและคนที่เป็นนักแสดง ! เริ่มเอา “ป่าศรี” มาเล่นละคร จนพัฒนาเป็น “ผู้จัดการกองละคร และคุมการเงิน” ไม่ให้รั่วไหล ! หรืออย่าง “มนฤดี ยมาภัย , ไพโรจน์ สังวริบุตร” ก็อยู่ในข่ายนี้ , ในปี 2537 นำ “แดง ศัลยา” ให้เขียนบทโทรทัศน์ ละครสั้นเรื่องแรก คือ หลวงตา จนกลายเป็นนักเขียนบทมือหนึ่งในทุกวันนี้ ด้วยอาหรั่งคิดว่า วิชาเหล่านี้ไม่ไปไหนเสีย ยังไงก็ตกทอดอยู่กับลูกหลานของเรา !

ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ละครทดสอบของ “ป้าศรี” เป็นเรื่องแรก สอบผ่านดังที่อาหรั่งว่าไว้ เมื่อผ่าน ... ละครเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องจึงตามมา ถ้าเล่นบท “แม่” ก็จะมีลูกที่มีอายุสูงหน่อย , จากบท แม่ ก็เป็นบท “ยาย” เมื่อต้องเล่นกับนักแสดงรุ่นใหม่ๆ อาหรั่งเคี่ยวกรำถี่ๆ พร้อมหยิบยื่นละครใหม่ๆให้เล่นตลอดเวลา เพื่อฝึกฝนการแสดงให้มีความชำนาญ

เพื่อนดาราที่คุ้นเคย

ป้าศรี คุ้นเคยกับดารา ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง แต่รุ่นเล็กอาจจะห่างไปหน่อย! นักแสดงที่ป้าศรีเอ่ยถึงคือ “ดวงดาว จารุจินดา” ที่เป็นนักแสดงในดวงใจ บ่อยครั้งที่ป้าศรีขอให้ช่วยเรื่องการแสดง ออกแอกติ้งให้ชมเป็นแนวทางหน่อย ! ประสบการณ์ของดวงดาวมีมาก ทั้งการแสดง นักพากย์และมีชีวิตคลุกคลีกับวงการบันเทิงมาตลอด ถึงขนาด “ไม่ใช่บทของเขา เขาเล่นได้ พูดแทนคนอื่นได้”!

คนอื่นๆ เช่น เมตตา รุ่งรัตน์, สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต, เฉลา ประสพศาสตร์, น้ำเงิน บุญหนัก,ปรียานุช ปานประดับ , เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์, อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร, มาฬิศร์ เชยโสภณ ฯ

จนเมื่อป้าศรีแสดงละครได้คล่องแล้ว เป็นธรรมดาที่อยากแสดงความสามารถให้เหนือชั้นขึ้นไปอีก จึงบอกว่า อยากเล่นบทอื่นๆ ไม่อยากเล่นบท “แสนดี” ! คาแร็กเตอร์เดียว “ขอสักครั้งเถอะ” เจ้าตัวคิดว่าน่าจะเล่นได้ ! แต่อาหรั่งบอก “หน้าและเสียงไม่ให้” ! หลายคนคงจะเห็นด้วยกับความจริงในข้อนี้ !

ละครพีเรียด ยาก-ท้าทายที่สุด!

ไพรัช สังวริบุตร มีความเชี่ยวชาญตั้งแต่ภาพยนตร์จนถึงการสร้างละครทุกประเภท และ ดาราวิดีโอ มักจะมีละครพีเรียดฟอร์มยักษ์ที่เป็นจุดขายจนโด่งดังมาตั้งแต่อดีตหลายเรื่อง อย่างละคร “คู่กรรม” ถ่ายทำกันยาวนานราว 8-9 เดือน มีฉากยากท้าทายเช่น ฉากระเบิด , ลงท้องร่องหลบระเบิด ทุกอย่างที่เป็นละครพีเรียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน ป้าศรีว่ายากทั้งนั้น ตั้งแต่การแต่งกาย ห่มผ้าแถบ นุ่งโจงกระเบน ตกดึกยุงกัด เข้าห้องน้ำแต่ละครั้งก็ลำบากเพราะนุ่งโจงกระเบน ถ่ายทำกันที่โรงถ่ายลาดหลุมแก้ว กว่าจะเลิกกอง บางทีล่วงเลยถึงตี 2 กว่าจะถึงบ้านได้นอน เช้าวันใหม่ ต้องเข้ากองตั้งแต่ 9 โมงเช้า ชีวิตแบบนี้ นักแสดงกลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจไม่กลับบ้าน นอนค้างกันที่โรงถ่ายซะเลย กลับบ้านไปเอาเสื้อผ้า ที่นอนปิกนิก แล้วก็พักค้างกันที่กอง ... ละครพีเรียดแทบทุกเรื่อง อาทิ สายโลหิต, นางทาส ฯลฯ ส่วนใหญ่จะนอนกันที่กอง!

การร่วมงานกับ “ดาราวิดีโอ” ทำให้ป้าศรีได้เห็นและเรียนรู้รายละเอียดในการทำละคร อย่าง บนโต๊ะเข้าฉากละครจะมีฝุ่นไม่ได้เลย ถูแล้ว ถูอีก พื้นไม้กระดานก็ต้องถูกกันเป็นมัน รูปเจ้าของบ้าน และอื่นๆต้องเก็บจนเกลี้ยง พอถ่ายทำเสร็จ ทุกอย่างที่เก็บไว้ ต้องเอากลับมาใส่วางเหมือนเดิม ไม่ผิดที่ผิดทาง

คราวหนึ่ง ขาดคนคุมกองถ่าย ! ความที่ป้าศรีเป็นผู้ใหญ่ ละเอียด ละออ ทำให้หลานๆอยากได้มาสวมหน้าที่ “คุมกองถ่ายและถือเงินใช้จ่าย” ! ตั้งแต่ละคร “บ้านทรายทอง” (2530) อาหรั่งบอก “หาคนได้แล้วค่อยหยุด”! และคงเห็นว่า ป้าศรีมีอายุมากแล้ว อนุญาตเป็นพิเศษให้กลับบ้านได้ตั้งแต่เวลา 2-3 ทุ่ม แต่ความจริง ป้าศรีจะอยู่จนงานเสร็จสิ้น กลับบ้านตี 1-2 พร้อมทุกคน เพราะป้าศรีกลัวเด็กจะทำงานผิดพลาด จัดวางผิดที่ ทิ้งก้นบุหรี่ ทิชชู่ที่ใช้แล้วไม่เก็บ จะทำให้บริษัทฯเสียเครดิต และเป็นผลต่อการเช่าสถานที่ถ่ายทำนอกสถานที่ในวันข้างหน้า หรือ ต้องซื้อของเพิ่มเติมหลัง 2 ทุ่ม แต่คนถือเงินกลับแล้วก็จะเป็นปัญหาการทำงานอีก

หลังละคร “บ้านทรายทอง” ดาราวิดีโอ ตั้ง “โรงครัว” ทำข้าวกล่องส่งทุกกองถ่ายของละครทุกเรื่อง เพื่อมิให้เงินรั่วไหล เรื่องเล่าครั้งนั้นว่า วันหนึ่ง ป้าให้แม่บ้านนางหนึ่งไปนับทีมงานและซื้อข้าวห่อ นางนับได้ 80 คน ป้าศรีก็ให้เงินไป ! บังเอิญวันนั้นว่างๆ เลยไปนับหน่อย ปรากฏได้แค่ 70 คน เพื่อป้องกันเงินทองรั่วไหล โรงครัวก็เกิดขึ้น จากค่าอาหารวันละ 2-3-4 มื้อ / กอง เป็นค่าอาหารที่ต้องควักจ่ายถึง 7 แสนบาท/ เดือน แต่เมื่อตั้งโรงครัว ยอดการเงินลดลงมาถึง 3 แสนบาท !

รางวัล “นักแสดงหญิงสมทบยอดเยี่ยม”

แม้จะเล่นละครมา 60 กว่าเรื่อง ไม่เคยได้รางวัลใด แต่แสดงภาพยนตร์เพียง 4 เรื่องคือ คู่กรรม (2531) , อำแดงเหมือนกับนายริด (2537), เรือนมยุรา (2539) และสนิมสร้อย ป้าศรี ได้รับรางวัล “นักแสดงหญิงสมทบยอดเยี่ยม” จากชมรมวิจารณ์บันเทิง กับหนังเรื่อง “อำแดงเหมือนกับนายริด” ซึ่งกำกับการแสดงโดย เชิด ทรงศรี เรื่องนี้ บรรเจิดศรี ยมาภัยต้องรับบทยาย แสดงอารมณ์แรงๆ สมัยรัชกาลที่ 3 ในยุคที่สังคมไทยยังมีทาส ลูกชายจะเอาหลานไปขาย เอาเงินมากินเหล้า ! การแสดงฉากอารมณ์นี้ เทกแล้วเทกอีก 11 เทกก็ยังไม่ได้ จนเชิด ทรงศรีบอกให้พักผ่อน แล้วมาซ่อมวันหลัง พร้อมแนะนำว่า ให้ลองซ้อมกับหน้ากระจก ! ขณะขับรถกลับบ้านสาธร ก็ซ้อมบนรถ เพราะดึกแล้ว ไม่มีใครเห็น! หลายวันต่อมา บทนี้ถูกถ่ายกันอีกครั้ง เทกเดียวผ่าน ! ตากล้องยังไม่ค่อยแน่ใจ ขอเทกอีกครั้งเก็บไว้ เชิด ทรงศรีบอก “เดี๋ยวป้าเล่นไม่ได้อีก” !

เมื่อ “นักแสดงผิดนัด!”

คล้ายๆกับนักแสดงอาวุโสคนอื่นๆ ที่เคยพูดกันมาบ้างแล้ว ป้าศรีมีประสบการณ์ที่ได้พบเห็นในกองละครจะเล่าให้ฟัง
“เด็กสมัยนี้ บางคนใช้ไม่ได้เลย ผิดนัด 3-4 ชั่วโมง หรือครึ่งวัน” .... นัดถ่ายสองโมงเช้า ซึ่งหมายถึงว่า ทุกคนต้องถึงกองก่อน 1 ชั่วโมง เพื่อแต่งหน้าเตรียมตัว ทั้งกองติดอยู่คนเดียวมาเที่ยง ! จะไม่ถ่ายก็ไม่ได้ เพราะละครจะต้องออกอากาศแล้ว

ละครเรื่องหนึ่ง หลุยส์ สยาม สังวริบุตร เป็นผู้กำกับ นัดถ่าย สามโมงเช้า ! ดาราโทร.เข้ามาบอก “ท้องเสีย” ! สยามว่า “พี่คอยอยู่นะ” ผ่านเวลา โทร.เข้ามาอีก “ยังอยู่พัทยาเลยพี่ ขอเวลาหน่อยนะ จะรีบมา ไม่มีฉากอื่นถ่ายก่อนเหรอพี่” ... “ถ้ามารีบมา เรื่องถึงผู้ใหญ่แน่” ! หลุยส์ขู่ไป “ค่ะ พี่ หนูจะรีบไป” พอหลุยส์วางสาย สั่ง “เลิกกอง” ทุกคนกลับบ้านพักผ่อน !

ละครอีกเรื่อง นักแสดงผิดนัดไปแล้ว 3 ชั่วโมง โทร.มาบอก “ขอไปมหาวิทยาลัยหน่อย” โทร.มาอีกที 6 โมงเย็น ! เกิดอุบัติเหตุนิดหน่อย ขับรถเฉี่ยวเด็ก! ถึงกองถ่ายตอนสองทุ่ม ถาม “เกิดอุบัติเหตุที่ไหน” นางว่า “อนุสาวรีย์ชัยฯ” แต่ เส้นอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คือคนละเส้นทางกับที่มากองถ่าย ! แบบนี้ก็มี

การผิดเวลามากองถ่ายช้า ทำให้ทุกคนรอ และเวลาการทำงานของทุกคนจะถูกเลื่อนออกไป ... ทำให้เพื่อนนักแสดงและทีมงานคนอื่นๆพลอยเดือดร้อนไปด้วย เมื่อตอนถ่าย “เคหาสน์สีแดง” (2532) นักแสดงคนหนึ่งผิดเวลา 3 ชั่วโมง เจอ “ป้าทอง” สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต เรียกตัวมาด่าซะ ! “ด่าหยาบด้วยนะคะ แกใส่เลย คนนั้นเงียบ ไม่กล้าเถียงเลย” !

เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น

เมื่อสาวๆป้าศรีฟิตเปรี๊ยะ แข็งแรงและไม่เป็นอะไรเลย! ไม่ต้องอาศัยยาดม ยาหม่อง! แต่เมื่ออายุมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงของสังขารก็เริ่มเข้ามาเยือนซึ่งเป็นธรรมดาของวัยที่ล่วงเลย ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป ...

ป้าศรี ยกตัวอย่างเมื่ออายุ 72 ให้ฟังว่า “ถ้านักแสดงจำบทไม่ได้ก็ต้องเลิก แต่ถ้าขับรถไม่ได้ คนอื่นยังขับให้ได้”

เมื่ออายุมากขึ้น ป้าศรีต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง และต้องอยู่บ้าน ไม่ค่อยได้ซิ่งเหมือนตอนสาวๆ ไปไหนบางทีก็ต้องอาศัยลูกหลาน ไม่ได้ขับรถเองดังก่อน งานละคร แม้จะถูกรับเชิญไปเล่นบทเล็กๆน้อยๆ ก็ต้องไปกับลูกสาว อย่างตอนถ่ายละคร “บุพเพสันนิวาส , พรหมลิขิต” เมื่ออยู่บ้านก็อาจจะอ่านหนังสือ ดูทีวี ดูแลสัตว์เลี้ยง ปลูกต้นไม้ที่เบาๆหน่อย และมีความสุขที่ได้อยู่กับลูกหลาน

คนสูงอายุ ไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่ลูกหลานเอาอกเอาใจบ้าง ทักทาย ซื้อขนมมาฝาก ถาม “ทานข้าวได้มั้ย” ความสุขก็แค่นี้ ไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย

“เตรียมตัว เตรียมใจว่าวันหนึ่งเราจะต้องจากไป แต่หมดห่วงเพราะลูกๆมีงานทำแล้ว ตัดได้ มันเป็นธรรมดาโลก วันหนึ่งเราก็ต้องตาย เพียงแต่ขอว่า อย่าต้องทรมาน”

นี่คือ เรื่องราวของบรรเจิดศรี ยมาภัยที่เคยถูกบันทึกไว้เมื่อปี 2540 ในวัย 72 ปี ทว่าวันนี้ นักแสดงอาวุโสท่านนี้ อายุ 100 ปีได้จากเราและวงการบันเทิงไปแล้ว !

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์

จากละคร “สายโลหิต”

 บรรเจิดศรี ยมาภัย สมัยสาวๆ

บรรเจิดศรี ยมาภัย

“อาหรั่ง” ไพรัช สังวริบุตร

บ้านทรายทอง 2530  - มนฤดี ยมาภัย

คู่กรรม 2533 (เบิร์ด ธงไชย - กวาง กมลชนก)





ป้าศรี - กวาง กมลชนก

ละคร “สายโลหิต” (2538)



นางทาส (2536)

คาแร็กเตอร์ “นวล” ในละคร “บุพเพสันนิวาส”

นักแสดงรับเชิญ “บุพเพสันนิวาส”



กองถ่าย “พรหมลิขิต”

กับเบลล่า

กับปั้นจั่น

โปสเตอร์ “อำแดงเหมือนกับนายริด”

ป้าศรี - จินตหรา สุขพัฒน์ “อำแดงเหมือนกับนายริด”

ปวีณา - บรรเจิดศรี - ศัลยา

แม่-ลูก “บรรเจิดศรี-ศัลยา”

หน้าเปิด บทสัมภาษณ์ “ป้าศรี” ในนิตยสาร IMAGE


กำลังโหลดความคิดเห็น