xs
xsm
sm
md
lg

Review ซีรีส์ : “The 8 Show: เกมโชว์เลือดแลกเงิน” ตีแผ่โลกทุนนิยม เพราะต้นทุนชีวิตเราไม่เท่ากัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





แม้เราจะเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ชีวิตของเราไม่เท่าเทียมกันอย่างแน่นอน กฎเกณฑ์แห่งโลกทุนนิยมแบบสุดโต่งนี้กำหนดว่าบางคน "สมควรได้รับ" มากกว่าคนอื่นๆ ต่อให้สิ่งนั้นจะไม่ยุติธรรมแค่ไหนก็ตาม ซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ของ Netflix ที่กำลังมาแรงอย่าง เกมโชว์เลือดแลกเงิน (The 8 Show-2024) ตอกย้ำประเด็นนี้อย่างชัดเจน เมื่อรายการ Reality Show เป็นการทดลองทางสังคมสุดแปลกประหลาด เพื่อให้คนแปลกหน้าที่สิ้นหวังในชีวิตต้องเผชิญหน้ากันเองในเกมการต่อสู้นองเลือด เพื่อพิสูจน์ว่า “เวลาคือเงิน” อย่างแท้จริง!

เบื้องหลัง Reality Show เกมโชว์เลือดแลกเงิน

จากเว็บตูน ‘Money Game’ ที่โด่งดังในโลกออนไลน์ทั้งในเกาหลีและต่างประเทศตั้งแต่ปี 2017 ผลงานของนักเขียน Jaehoon Seol และวาดภาพโดย Sangho Lee ด้วยกระแสความนิยมของเรื่องนี้ทำให้เว็บตูนได้รับรางวัล Grand Prize จาก Korea Webtoon Industry Awards 2018 และล่าสุด Netflix หยิบยกมาสร้างซีรีส์จำนวน 8 ตอน ผลงานของผู้กำกับฯ ฮันแจริม ที่เคยสร้างชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Emergency Declaration’ (2021) และ ‘The Face Reader’ (2013)

The 8 Show เป็นเรื่องราวของคนแปลกหน้า 8 คน ที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันภายในอาคารปิดตายสูง 8 ชั้น แต่ละชั้นมีห้องพักเพียง 1 ห้อง พร้อมพื้นที่ส่วนกลางที่มีสระว่ายน้ำ ร้านอาหาร และสนามเด็กเล่นให้พักผ่อนหย่อนใจ แต่ทุกอย่างก็เป็นการจัดฉากขึ้นมาทั้งสิ้น สระว่ายน้ำที่ไม่มีน้ำ ม้าหมุน สนามเด็กเล่น และอาหารก็เป็นเพียงพร็อพไว้ปาใส่กันเก๋ ๆ (แต่เจ็บจริงนะเออ) ซึ่งก่อนจะเข้าร่วมเกมทุกตัวละครต้องเลือกการ์ดที่มีตัวเลข 1-8 คนละหนึ่งใบ โดยมีเงินรางวัลสูงถึง 49.9 พันล้านวอน (ประมาณ 1,547 ล้านบาท) เป็นเดิมพัน พร้อมกติกาเริ่มต้นเพียง 3 ข้อ ซึ่งถ้าคุณไม่สนใจก็แค่รับเงินก้อนแล้วแยกย้ายกันไป แต่ทุกตัวละครกลับเลือกที่จะเข้าร่วมเกมด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ทว่าพอเข้าไปในบ้านกติกาก็เริ่มซับซ้อนมากขึ้น

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ตัวเลข 1-8 บนการ์ด เป็นการกำหนดห้องพักชั้นที่ 1-8 โดยเรียงตามลำดับ อาทิ เลข 1 = ห้องชั้น 1 ขึ้นไปจนถึงสวรรค์ชั้น 8 ขนาดของห้องและเงินรางวัลจะแปรค่าตามความสูงของห้อง คนที่อยู่ชั้น 1 จะได้รับเงินชั่วโมงละราว 30,000 วอน และต้องใช้ชีวิตภายในห้องพักกึ่งใต้ดิน (Semi-basement) เหมือนในหนัง ‘Parasite’ ส่วนห้องพักชั้นบนสุดก็จะได้ห้องขนาดใหญ่แบบห้องสวีทและได้รับเงินสูงสุดถึง 340,000 วอนต่อชั่วโมง

ทุกห้องพักจะไม่มีอะไรอยู่ข้างในเลยแม้แต่ห้องน้ำ ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็สามารถสั่งซื้อสินค้าและของจำเป็นได้ผ่านการตัดเงินภายในห้องพัก ซึ่งข้าวของก็จะแพงกว่าโลกภายนอกหลายเท่า คนที่มีเงินเยอะก็ซื้อได้แบบไม่ต้องกังวล นอนหายใจสวยๆ เงินก็เข้ามาชั่วโมงละเป็นแสนวอน คนที่ได้น้อยกว่าก็ต้องนอยด์เป็นธรรมดา เริ่มเห็นความไม่เท่าเทียมกันแล้วใช่ไหม?

อัตราส่วนทองคำ (Golden Ratio) และความไม่เท่าเทียมกันของสังคม

The 8 Show ยังนำ ‘อัตราส่วนทองคำ’ ที่ถูกขนานนามว่าเป็นอัตราส่วนที่งดงามและสมบูรณ์พร้อมที่สุดในธรรมชาติ เพื่อมาใช้ในการอธิบายขนาดของการ์ดทั้ง 8 ใบและจำนวนเงินที่แต่ละชั้นควรได้รับ รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในโลกทุนนิยม อย่างการเลือกการ์ดก็เหมือนการที่คนเราเลือกเกิดไม่ได้นั่นล่ะ อีกมุมหนึ่งการเลือกการด์ก็อาจจะสะท้อนภาพที่เรามองตัวเองได้เช่นกัน อย่างคนที่เลือกเลข 8 ก็อาจจะเป็นพวกหัวสูง หรือชอบความรู้สึกที่เหนือกว่าคนอื่น (Superiority Complex) ก็เป็นได้

แน่นอนว่า คนชั้น 8 ที่มีรายรับต่อวันมากที่สุดก็ใช้เงินปรนเปรอตัวเองได้มากกว่า ขณะที่คนชั้นล่าง ๆ ก็ต้องอยู่แบบกระมิดกระเมี้ยน จะซื้อของทีต้องคิดล้านตลบ บางคนเลือกซื้อหนังสือพิมพ์มาใช้แทนผ้าห่ม ขณะที่บางคนใช้เงินซื้อความสุขเล็ก ๆ อย่างกีตาร์ เมื่อคำนึงถึงภาระหนี้สินรุงรังในโลกแห่งความจริง ผู้เล่นจึงยอมอยู่อย่างลำบากตรากตรำในเกม เพื่อหวังจะนำเงินไปปลดหนี้และใช้ชีวิตสะดวกสบายในโลกภายนอก

ทีนี้ชั้น 8 นอกจากจะได้อภิสิทธิ์ที่เหนือระดับในหลายขุม แถมอาหารและน้ำดื่มวันละ 12 ชุด ก็ดันส่งไปที่ชั้น 8 แค่ห้องเดียว แถมยังครอบด้วยกติกา “ห้ามนำสิ่งของออกมานอกห้อง” พวกเขาจึงแก้เกมด้วยการให้คนชั้น 8 ส่งอาหารและน้ำดื่มผ่านลิฟต์ลงมาชั้น 1 เพื่อล้อมวงกินข้าวร่วมกัน (ซึ่งลิฟต์นี้ส่งของลงได้อย่างเดียว ส่งขึ้นไม่ได้ด้วย) พอทำอะไรขัดใจคนชั้น 8 ขึ้นมาก็ถึงขั้นอดข้าวอดน้ำกันทั้งตึกไปเลย (เพราะนางไม่แคร์เวิลด์) และที่น่าเห็นใจสุดคือคุณชั้น 1 ที่มีขาพิการทำให้เขาไม่ถนัดในการใช้แรงกาย เขาจึงอาสารองรับสิ่งปฎิกูลจากทุก ๆ ชั้น เรียกว่านอนดมกลิ่นอึกลิ่นขยะกันเลยทีเดียว

นอกจากอาหารและน้ำดื่มฟรี ทุกอย่างในเกมนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเงินเป็นทอง พวกเขาสามารถช้อปปิ้งได้ 2 ช่องทางคือ สั่งซื้อสินค้าภายในห้องพักที่ต้องแลกมาด้วยเงินรางวัลส่วนตัว หรือสั่งซื้อสินค้าบริเวณพื้นที่ส่วนกลางที่ต้องชำระด้วยเวลาในเกม ยิ่งซื้อมาก เวลายิ่งหมดไว แล้วใครจะยอม ในเมื่อพวกเขาอยากจะได้รับเงินรางวัลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มนุษย์ทั้ง 8 จึงต้องรวมตัวกันสรรหาทุกวิธีเพื่อเพิ่มเวลาในเกมให้มากที่สุด และเพื่อที่จะได้เงินรางวัลในห้องพักมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เอ๊ะ! ห้องพักชั้นสูง ๆ ก็ได้เงินมากกว่าชั้นล่างอยู่ดี ทีนี้ก็จะได้เห็นด้านมืดและไลฟ์สไตล์ของมนุษย์แต่ละชนชั้นกันแล้ว

แรกๆ พวกเขาพบว่า การเดินขึ้นลงบันได 8 ชั้นทำให้เวลาในเกมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หลายวันผ่านไปเวลาก็เริ่มไม่ขึ้นอย่างที่คาดเดา กระทั่งพวกเขาเริ่มชกต่อยกันเองโดยไม่ตั้งใจส่งผลให้เวลาพุ่งทะยานขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ และแล้วพวกเขาจึงเริ่มเข้าใจว่า สถานที่สุดแปลกแห่งนี้มีกล้องวงจรปิดที่ไลฟ์สดชีวิตของพวกเขาอยู่นั่นเอง...Bingo! ยิ่งทำให้ผู้ชมเอนโดรฟีนหลั่งมากเท่าไหร่ เวลาก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดนี้ มนุษย์ทั้ง 8 ต่างก็ระลึกชาติได้ว่า นี่ฉันกำลังเป็นซุปตาร์นี่นา! และแล้วกิจกรรมในการเอนเตอร์เทนคุณผู้ชมจึงเริ่มต้นขึ้น

สำรวจ 8 ตัวละคร สะท้อนคาแร็กเตอร์ของมนุษย์

ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเห็นอะไรซ้ำๆ ก็เริ่มจะจำเจ อย่างโชว์รูปแบบเดิม ๆ ที่เคยเรียกเวลาให้พุ่งก็กลายเป็นความน่าเบื่อไปโดยปริยาย ผู้เล่นทั้งหลายจึงต้องสรรหารูปแบบการโชว์ใหม่ๆ ที่รุนแรง ดราม่า และวาบหวิวมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแลกกับเวลา (เหมือนคนทำคอนเทนท์ดราม่า หรือแปลกประหลาด เพื่อเรียกยอดไลค์แบบไม่มีจริยธรรมทำนองนั้น) ชนชั้นสูงก็เริ่มจับทางผู้ชมได้ว่า ยิ่งเกมมีดราม่าและความรุนแรงมากเท่าไหร่ เวลาก็พุ่งทะยานเหมือนตัวเลขบิตคอยน์ พวกเขาจึงรวมหัวกันรังแกคนที่ด้อยกว่าและสรรหากิจกรรมโหดๆ มาเอาใจผู้ชมสายดาร์กมากขึ้น

The 8 Show เปรียบเปรยผู้ชมในเกมเหมือนผู้คนบนโลกใบนี้ เราต่างก็เป็นผู้ชมที่เลือกเสพความบันเทิงในรูปแบบแตกต่างกัน ยิ่งไม่เห็นหน้าค่าตาและไม่รู้จักตัวตนของผู้ชม คนเราก็สามารถเผยดาร์กไซต์ได้อย่างเต็มที่ ฟากผู้เล่นเกมก็เริ่มเผยดาร์กไซต์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผู้หญิงชั้น 8 เป็นตัวแทนความบ้าอำนาจ วัตถุนิยม และไร้มนุษยธรรม ขณะที่คนชั้นอื่นๆ ก็เป็นตัวแทนของผู้คนส่วนใหญ่ในโลกแห่งทุนนิยม

จากช่วงแรกๆ เราจะเห็นความสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่เมื่อรสนิยมของท่านผู้ชมเปลี่ยนแปลงไป เกมก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดกลุ่มผู้เล่นก็แบ่งเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน กลุ่มตัวร้ายนำทีมโดย “คุณชั้น 8” ศิลปินชาวสุขนิยม ผู้ทำทุกอย่างตามใจตัวเองโดยไม่แคร์ว่าคนอื่นจะเดือดร้อนหรือไม่ “คุณชั้น 6” อดีตนักกีฬาที่จมอยู่กับความสำเร็จในอดีต ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง และมักจะแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงมากกว่าใช้สมอง และ “คุณชั้น 4” วัยรุ่นสาวฝันอยากเป็นไอดอล ตัวแทนคนอยู่เป็นที่คอยประจบประแจงเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ

ส่วนคนกลุ่มใหญ่คือ “คุณชั้น 3” ตัวหลักของเรื่องและเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นออกไปตรงๆ แสวงหาการยอมรับ และเลือกที่จะก้มหน้ารับชะตากรรมดีกว่าหาเรื่องใส่ตัว “คุณชั้น 7” ผู้กำกับรายการทีวีสมองตัน ที่เป็นนักสังเกตการณ์และเป็นมันสมองของทีม “คุณชั้น 5” หญิงวัยกลางคนที่เชื่อคนง่ายและมองโลกในแง่ดีจนเกินไป แม้จะไม่มีพิษภัย แต่บางครั้งก็ใจอ่อนจนเป็นภัยกับผู้อื่น “คุณชั้น 2” สาวมาดเท่เป็นตัวแทนของนักต่อสู้เพื่อความอยุติธรรม และปกป้องผู้ที่อ่อนแอกว่า และ “คุณชั้น 1” ตัวตลกที่หาเงินมารักษาลูกและหาเลี้ยงครอบครัว เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานที่ทำทุกอย่างเพื่อปากท้อง

แม้บางตอนใน The 8 Show จะทำให้เรารู้สึกอึดอัดและอดรู้สึกเชื่อมโยงกับบางตัวละครไม่ได้ แต่ก็มันก็สะท้อนโลกทุนนิยมได้แบบแสบๆ คันๆ อย่างการที่คนส่วนใหญ่ต้องก้มหัวเป็นทาสให้กับมหาเศรษฐีหรือผู้มีอำนาจ การที่เราปิดตาข้างหนึ่งเพื่อทนเห็นผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น (แทนที่เราจะกลายเป็นเหยื่อ) รวมถึงเราอาจจะได้สำรวจตัวเองผ่านตัวละครทั้ง 8 ว่าในวันที่เรามีทั้งเงินและอำนาจ เราจะทำแบบนั้นหรือไม่?

ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า “ดูละครแล้วย้อนดูตัวเรา” ส่องโลกทุนนิยมและความไม่เท่าเทียมกันทั้ง 8 ตอนได้ทาง Netflix ซีรีส์ไม่เหมาะกับเยาวชนและคนที่กำลังจิตตก

ร้อยเรียงเรื่องราว : Rassarin
อ้างอิงเรื่องและภาพ : https://mydramalist.com/

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์
























กำลังโหลดความคิดเห็น