xs
xsm
sm
md
lg

Scoop พิเศษ : 5 เรื่องจริงอิงประวัติศาสตร์ใน “Heeramandi: เพชรงามเมือง” เกร็ดที่ถูกลืมของโสเภณีผู้กอบกู้อิสรภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ใครที่ยังติดใจกระแส “คังคุไบฟีเวอร์” จนเคยสร้างมีมไปทั่วโลกเมื่อสองปีก่อน คุณต้องไม่พลาด ‘Heeramamdi’ ซีรีส์ของ สัญเจย์ ลีลา บันสาลี (Sanjay Leela Bhansali) ผู้กำกับฯ และผู้อำนวยการสร้างคนดีคนเดิม เพิ่มเติมคือฉากที่อลังการแบบสวยจึ้ง สงครามอันดุเดือดของโสเภณี การต่อสู้เพื่ออิสรภาพ และความงดงามของศิลปะการร่ายรำแบบยุคโมกุลที่หาชมยาก ทั้งเสื้อผ้า หน้าผม และฉากหรูหราอลังการมีรสนิยม จนใช้คำว่า “สวยเว่อร์” ได้เปลืองมาก แต่สำหรับผู้ชมที่ชื่นชอบการร้องเพลง เต้นรำ วิ่งไล่จับกันหลังต้นไม้คงต้องผิดหวังสักหน่อย เพราะซีรีส์เรื่องนี้ทำออกมาได้แพงมากจริง ๆ

ก่อนจะพาคุณเข้าสู่วังวนสงครามโสเภณี เรามาทำความรู้จัก 5 เรื่องจริงอิงประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกไว้ในซีรีส์เรื่องนี้กันสักหน่อย ส่วนคนที่ดูแล้วดูอีกอยากมาหาข้อมูลเพิ่มเติมก็เมามันกันได้เลย เอาล่ะ! ดนตรีพร้อม เสื้อผ้าปัง ควีนส์พร้อมร่ายรำ... เหล่าตัวมัมแห่งหิรามันดีจะร่ายมนต์จนคุณประทับใจ

1.บันสาลี ผู้กำกับฯ ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ Bollywood เปลี่ยนไป๊

หลังจากได้รับเสียงชื่นชมถล่มทลายจากภาพยนตร์เรื่อง ‘คังคุไบ’ (Gangubai Kathiawadi-2022 : หญิงแกร่งแห่งมุมไบ) ผลงานของผู้กำกับฯ มือรางวัล บันสาลี ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลระดับโลก BAFTA Awards 2022 (British Academy Television Awards) และกวาดรางวัลใหญ่มาแล้วจากหลายเวที บันสาลี จึงเป็นที่รู้จักจากผลงานการสร้างหนังและซีรีส์แนวย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ได้อย่างหรูหราอลังการรัชดาลัย

กลับมาปีนี้ เขาตีแผ่วิถีชีวิตอันหรูหราฟู่ฟ่าของโสเภณีแห่ง ‘หิรามันดี’ (ในที่นี้ขอเรียกพวกเธอว่า ‘ควีนส์’) ช่วงเวลาของยุค ‘บริติชราช’ ที่อินเดียตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ทำให้ Heeramandi : เพชรงามเมือง เป็นซีรีส์เรื่องแรกที่บันสาลีทำให้ Netflix และได้รับเสียงชื่นชมทั้งงานภาพสวยเว่อร์วัง ดนตรีประกอบไพเราะ และวิธีเล่าเรื่องน่าติดตาม อัดแน่นด้วยความรัก สงครามแม่เล้า การชิงดีชิงเด่น การทรยศหักหลัง จนถึงการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากอังกฤษที่กดขี่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีของชาวอินเดียในยุคนั้น แม้นักวิจารณ์บางคนจะมีความเห็นตรงกันว่า หิรามันดี ที่บันสาลีถ่ายทอดออกมาในซีรีส์จะดูสวยงามและยิ่งใหญ่กว่าในเรื่องจริงไปบ้าง แต่ก็ไม่ค้านสายตาและเรื่องราวก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบุคคลจริงในช่วงเวลานั้นอีกด้วย

ก่อนเกิด Heeramandi บันสาลีได้สร้างชื่อเสียงในการทำให้บทต่าง ๆ จากประวัติศาสตร์มีชีวิตขึ้นมาผ่านวิสัยทัศน์ด้านภาพยนตร์ของเขา ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างน่าเกรงขามบนจอภาพยนตร์ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาในรูปแบบของ Bajirao Mastani ในปี 2015 และ Padmaavat ในปี 2018 เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เช่นเดียวกับโปรเจ็กต์ก่อนหน้านี้ของเขา ฉากที่หรูหรา ฉากที่ได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ และเรื่องราวที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งหน้าของ Heeramandi ปัจจุบัน Heeramandi ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อย่านโคมแดงแห่งลาฮอร์ เคยเป็นศูนย์กลางของศิลปินที่วัฒนธรรมเจริญรุ่งเรือง หลังจากการมาถึงของอังกฤษในอินเดียก่อนเอกราช พื้นที่ดังกล่าวก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าประเวณีและการแสวงประโยชน์อย่างรวดเร็ว ในการให้สัมภาษณ์กับ TIME Bhansali กล่าวว่าเขาต้องการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงใน Heeramandi ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ให้ความบันเทิง

2.กาลครั้งหนึ่งศิลปวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองใน “หิรามันดิ”

ย้อนกลับไปในยุคสมัยโมกุล (Mughal Era) ที่ปกครองอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ไว้อย่างยิ่งใหญ่และมั่นคงที่สุดตลอดช่วงเวลาแห่งการปกครองในศตวรรษที่ 16-18 ย่านการค้าหิรามันดีแห่งเมืองลาฮอร์ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) ที่มีกำแพงสูงล้อมรอบเมือง เดิมเป็นศูนย์กลางของดนตรี การเต้นรำ และวัฒนธรรมในยุคโมกุล (Mughal Era)

หิรามันดี มีจุดเริ่มต้นมาจาก Hira Singh นายกรัฐมนตรีในสมัยของมหาราชารันชิตซิงห์ (ค.ศ.1780-1839) เริ่มแรกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นตลาดการค้าธัญพืชและพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม จึงคราคร่ำไปด้วยผู้คนทุกวรรณะและดึงดูดให้โสเภณีจากภูมิภาคต่าง ๆ มารวมกันในหิรามันดี โสเภณีหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ทาวาอีฟ” (Tawaifs) เป็นศิลปินที่ได้รับการฝึกฝนศิลปะการร่ายรำ การร้องเพลง และการเอาอกเอาใจมาอย่างดี (เฉกเช่นเดียวกับเกอิชา) เพื่อให้ความบันเทิงแก่ราชวงศ์และชนสูง การแสดงของพวกเธอยังเป็นการเฉลิมฉลองมรดกทางวัฒนธรรมอันมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดของยุคโมกุลอีกด้วย

บันสาลีและทีมงานถ่ายทอดหิรามันดีได้อย่างสวยงาม โดยเฉพาะ “มุจเราะห์” (Mujra) การแสดงนาฏศิลป์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคโมกุล กระทั่ง British Colonial Rule ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาถึงลาฮอร์ ทำให้พื้นที่นี้เปลี่ยนเป็นย่านโคมแดงภายใต้การปกครองของอังกฤษ ก่อนที่ย่านโคมแดงจะถูกปิดตัวในปี 1990 และกลายเป็นสตรีทฟู้ดชื่อดังของปากีสถานในปัจจุบัน

3.หิรามันดิอมทุกข์ ในยุคการปกครองของอาณานิคมอังกฤษ

การล่มสลายของหิรามันดีมีจุดเริ่มต้นจากการมาเยือนของชาวอังกฤษ ซึ่งนำแนวคิดเรื่องศีลธรรมแบบชาวตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ ผลักดันหญิงสาวในหิรามันดีให้ตกต่ำลงสู่สถานะ ‘โสเภณี’ ยิ่งไปกว่านั้น เราจะได้เห็นการพึ่งพาของเหล่าแม่เล้าที่มีต่อราชวงศ์และชนชั้นสูง

ตัวเด่นในเรื่องนี้คือ มัลลิกาจาน (รับบทโดย มานิชา โคราลา) แม่เล้าผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในหิรามันดี เธอเป็นควีนส์มัมตัวแม่ที่มีลูกสาว 2 คน ส่วนลูกชายคนโตถูกตระกูลขุนนางพรากไปจากอกตั้งแต่แบเบาะ ทำให้มัลลิกาจานโกรธแค้นแม่เล้าเรฮาน่า (รับบทโดย โซนักชี ซินฮา) จนพลั้งมือฆ่าเธอ โดยมีขุนนางชั้นสูงที่อุปถัมภ์รู้เห็นเป็นใจ และยึดเอาหิรามันดีและควาบการ์ (ซ่องใหญ่ใกล้กัน) ไว้ในครอบครองของมัลลิกาจาน

มัลลิกาจาน เป็นควีนส์มัมที่ผลักดันลูกสาว 2 คนสู่จุดสูงสุดของวงการ ทว่าพี่สาวคนโตอย่าง บิบโบจาน (รับบทโดย อาดิติ เรา ไฮดารี) แม้จะได้ดีเป็นว่าที่ควีนส์และเป็นหญิงงามเมืองอันดับหนึ่งของหิรามันดี แต่เธอก็มีจิตใจรักชาติและคอยเป็นสายลับให้กับกลุ่มกบฎ ส่วนลูกสาวคนเล็กอย่าง อาลามเซบ (รับบทโดย ชาร์มิน ซีกัล) สาววัยรุ่นช่างฝันที่อยากจะพบรักแท้และเป็นนักประพันธ์มากกว่าโสเภณี เธอจึงบ่ายเบียงพิธีสละพรหมจรรย์มาตลอดจนกระทั่งพบรักกับหนุ่มสูงศักดิ์รูปงาม ทว่าเมื่อชายหนุ่มรู้ว่าเธอเติบโตมาในซ่อง ท่าทีคลั่งรักของเขาก็แปรเปลี่ยนเป็นรังเกียจขึ้นมาทันที แต่สุดท้ายก็ลงเอยกันอยู่ดีแหละวัยรุ่น

เมื่อตำรวจอังกฤษเข้ามาปกครองหิรามันดี บิบโบจานก็พาตัวเองเข้าไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้บัญชาการสูงสุดเพื่อสืบข่าวจากฝ่ายอังกฤษ ส่วนมัลลิกาจานก็รับศึกสองด้าน ฝั่งหนึ่งคือผู้กองชาวอังกฤษใจอำมหิตที่ย่ำยีศักดิ์ศรีของเธอ และอีกฝั่งคือ ฟารีดัน (รับบทโดย โซนักชี ซินฮา) ลูกสาวของเรฮาน่า ที่เธอฆ่าแม่แล้วส่งฟารีดันเข้าซ่องตั้งแต่ยังเด็ก ฟารีดันจึงมาทวงคืนหิรามันดีด้วยเล่ห์กลแสบ ๆ คัน ๆ เราจึงได้เห็นการชิงไหวชิงพริบของควีนส์รุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ พร้อมกับพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ ของเหล่าหญิงสาวในหิรามันดี ทั้งพิธีกรรมสละพรหมจรรย์ พิธีประมูลพรหมจรรย์ การเต้นรำครั้งสุดท้ายของโสเภณีที่ลงจากตำแหน่ง

ซีรีส์เผยให้เห็นจุดสูงสุดของหิรามันดีก่อนจะเข้าสู่ยุคเสื่อมเมื่ออังกฤษเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อย่านนี้ เช่นเดียวกับการตกต่ำของซ่องโสเภณีระดับราชวังของมัลลิกาจาน จนทำให้เหล่าโสเภณีต้องตกระกำลำบาก ทั้งขุนนางและชนชั้นสูงปฏิเสธการอุปถัมภ์พวกเธอเพื่อเอาตัวรอด และทำให้พวกเธอต้องเข้าร่วมกลุ่มกบฎเพื่อทวงคืนอิสรภาพ หลังจากอังกฤษเข้ามาปกครองหิรามันดีจึงต้องเปิดประตูต้อนรับผู้คนที่ไม่ใช่ราชวงศ์และชนชั้นสูง และโสเภณีบางคนก็หันไปหาเส้นทางอื่นในการดำรงชีวิต

4.ความรักของโสเภณี และพิธีสละพรหมจรรย์กับราคาที่ต้องประมูล

หนึ่งในพิธีกรรมสำคัญของโสเภณีแห่งหิรามันดีมีชื่อว่า ‘Nath Utrai’ เป็นพิธีกรรมที่หญิงสาวต้องถอดห่วงจมูก สวมกำไลข้อเท้า และเตรียมตัวสูญเสียความบริสุทธิ์ให้กับผู้ประมูลที่ให้ราคาสูงสุด เพื่อเข้าสู่ความเป็นโสเภณีชั้นสูงภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์ พิธีสละพรหมจรรย์เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจทั้งฝั่งโสเภณีและชนชั้นสูง เพราะพวกเขาจะได้รับชมการแสดงที่งดงามตระการตา พร้อมกับโยนถุงเงินหนัก ๆ เข้าไว้เพื่อแสดงเจตจำนงค์ที่อยากจะครอบครองพรหมจรรย์ของหญิงสาว

ในเรื่องนี้เราจะเห็นแม่เล้ามัลลิกาจานพยายามให้อาลามเซบเข้าสู่พิธีสละพรหมจรรย์ โดยเธอได้จับคู่อาลามเซบ กับทัชดาร์ (รับบทโดย Taha Shah) ดีกรีนักเรียนอังกฤษและบุตรชายมหาเศรษฐีเจ้าของโรงแรมหรูในหิรามันดี ผู้ที่ต่อมาได้เข้าร่วมกลุ่มกบฎ ทั้งอาลามเซบและทัชดาร์ต่างก็หลงใหลในบทกวีและตามหารักแท้เช่นเดียวกัน โดยที่ไม่รู้เลยว่า รักแท้ที่ตามหาก็มีมัลลิกาจานและย่าของทัชดาร์เป็นกามเทพจับคู่ให้แล้ว

นัยหนึ่งของพิธีสละพรหมจรรย์เป็นการประกาศให้สังคมรับรู้ว่า ทั้งทาวาอีฟและบุตรชายของชนชั้นสูงต่างก็บรรลุนิติภาวะกันแล้ว ภายใต้การปรนนิบัติอย่างดีที่สุดของโสเภณีในครอบครอง พวกเขาจะได้รับความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย สบายใจ และการดูแลเอาใจใส่อย่างดีที่สุด

ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็พร้อมจะเปลี่ยนใจจากพวกเธอทันทีหากมีโสเภณีที่สาวและสวยกว่า ปล่อยให้ความรักของโสเภณีเป็นดังสินค้าที่เสื่อมมูลค่าตามกาลเวลา จะเห็นได้จากรักแท้ของโสเภณีเบอร์ต้นที่เลือกจะจบชีวิตเมื่อผู้อุปถัมภ์เข้าพิธีแต่งงาน หรือโสเภณีรุ่นลูกที่แย่งผู้อุปถัมภ์ไปจากแม่แท้ ๆ ของตัวเอง รวมถึงผู้อุปถัมภ์ของบิบโบจานที่แม้ทั้งคู่จะรักกันมากแค่ไหน แต่เมื่อบิบโบจานต้องอำลาเวที เขาก็ตีจากไปอุปถัมภ์ฟารีดันทันที

5.การต่อสู้ของหญิงงามเมือง และเรื่องราวที่ถูกลืมเลือน

หนึ่งในเหตุผลที่บันสาลีหยิบยกเรื่องราวของ Heeramandi มาถ่ายทอดเป็นซีรีส์ เพราะเขาได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของ Tawaif Azizan Bai ซึ่งช่วยเหลือกลุ่มกบฏท้องถิ่นในการลุกฮือเมื่อปี ค.ศ. 1857 บันสาลีมุ่งมั่นอย่างมากที่จะนำเสนอเรื่องราวของโสเภณีที่ถูกลบเลือนในหน้าประวัติศาสตร์ และสอดแทรกเรื่องราวการต่อสู้ของเธอไว้ในตัวละครบิบโบจาน

บันสาลีไม่ได้พูดถึงการล่มสลายของอาณาจักรโสเภณีในหิรามันดี และเลือกที่จะแสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองในยุคเฟื่องฟูของพวกเธอ วิถีชีวิตอันหรูหราฟู่ฟ่าของโสเภณีชั้นสูง ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ บันสาลียังมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของโสเภณีที่ไม่ค่อยมีคนจดจำในฐานะสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มต่อสู้เพื่ออิสรภาพ โดยมีบิบโบจานทำหน้าที่เป็นสายลับสองหน้า ผู้บริจาคทรัพย์สิน ให้ที่พักพิง และเสียสละจนนาทีสุดท้ายของชีวิต

บันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวถึง Azizan Bai หญิงสาววัย 25 ปีที่ใช้ชีวิตแบบสายลับสองหน้า สำหรับคนทั่วไปและหน่วยงานของอังกฤษ เธอเป็นเพียงนักเต้นระบำที่ให้ความบันเทิงแก่คนรวยและเป็นเด็กสาวที่มีไหวพริบสูง นอกจากนี้ เธอยังเป็นตัวอย่างที่ดีของความรักชาติ อาซิซานทุ่มเทให้กับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคณะปฏิวัติ อนุญาตให้พวกเขาใช้บ้านของเธอเป็นสถานที่จัดการประชุมลับและเป็นเซฟเฮาส์ในเวลาเดียวกัน ก่อนที่เธอจะเข้าร่วมการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของอินเดียเต็มตัว

ในท้ายที่สุด อาซิซานถูกทหารอังกฤษจับตัวในฐานะกบฎ แต่เธอก็ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจและอิทธิพลของอังกฤษ อาซิซานถูกประหารชีวิตด้วยการระดมยิงของทหารอังกฤษและเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 25 ปี ว่ากันว่า วินาทีสุดท้ายของชีวิตเธอจ้องมองเข้าไปในดวงตาของทหารอังกฤษโดยไม่ประหวั่นพรั่นพรึง ก่อนที่ร่างกายของเธอจะชุ่มโชกไปด้วยเลือดจากห่ากระสุน นั่นทำให้ชื่อเสียงของเธอได้รับการจดบันทึกในประวัติศาสตร์การต่อสู้มาจนถึงปัจจุบัน

แม้บันสาลีจะนำเสนอแง่มุมสงครามระหว่างโสเภณีที่ฟาดฟันกันดุเดือดจนเกือบนาทีสุดท้าย แต่แล้วบันสาลีก็ขมวดเรื่องราวของพวกเธอเข้ากับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวอินเดียได้อย่างสง่างามในตอนจบ เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ 8 ตอนที่ควรค่าแก่การสตรีมมิ่ง โดยเฉพาะภาพความสวยงามของศิลปะการร่ายรำ ดนตรี บทกวี การแต่งกาย และวัฒนธรรมอันหลากหลายของชาวอินเดีย ที่บันสาลีชุบชีวิตของผู้หญิงที่ถูกลืมเลือนไปตามประวัติศาสตร์ให้กลับมาโลดแล่นอย่างงดงามอีกครั้ง

ไม่เชื่อลองดูตัวอย่าง Heeramandi : เพชรงามเมือง ทาง Netflix

ร้อยเรียงเรื่องราว : Rassarin
อ้างอิงเรื่องและภาพ :
https://www.netflix.com/th/title/81122198
https://www.thehindu.com/entertainment/movies/heeramandi-the-diamond-bazaar-series-review-sanjay-leela-bhansalis-dazzling-soap-opera/article68127732.ece
https://scroll.in/reel/1067158/heeramandi-review-lahore-luxe-tawaif-saga-runs-on-empty
https://www.radiotimes.com/tv/drama/heeramandi-diamond-bazaar-netflix-trailer-newsupdate/
https://www.etvbharat.com/en/!entertainment/heeramandi-song-tilasmi-bahein-out-sonakshi-sinha-spells-magic-in-latest-track-composed-by-sanjay-leela-bhansali-enn24040302184

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์


























กำลังโหลดความคิดเห็น