สกู๊ปพิเศษ : นับถอยหลัง “คอนเสิร์ต 90 ปี บูชาพ่อครู รักษ์ รักพงษ์” !
เตรียมการมานาน! ก่อน “สมณะโพธิรักษ์” จะละสังขารด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 “คอนเสิร์ต 90 ปี บูชาพ่อครู รักษ์ รักพงษ์” นี้ จัดให้ชมฟรีในวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายนนี้ ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมบริการอาหารมังสวิรัติ แจ้งให้ทราบว่า บัตรเต็มนานแล้ว! บนเวที... ประกอบด้วยนักร้องอมตะ รุ่นใหญ่และนักร้องจาก The Golden Song ตลอดจน ญาติธรรมทั้งหลาย งานนี้ “หนึ่ง จักรวาล เสาธงยุติธรรม” รับหน้าที่เรียบเรียงเสียงประสานและมิวสิกไดเร็กเตอร์ โครงการนี้ได้จัดทำ MV เพลงเด่นๆหลายเพลงเผยแพร่ในช่องทางของ ชุมชนชาวอโศก ซึ่งหาชมได้ทางยูทูป
ผลงานเพลงของท่านจะถูกหมุนเวียนนำมาเรียบเรียงเสียงประสาน , ขับร้อง ด้วยนักร้องต่างๆอยู่เสมอ สืบกันต่อมา...
ในวาระนี้ “ละครออนไลน์” ยกตัวอย่าง เพลงและนักร้องกิติมศักดิ์ที่ถูกเชิญมาร้องเพลงดังปรากฏในมิวสิกวิดีโอ
MV. เพลง บูรณภาพ
ชื่อเพลง “บูรณภาพ” เป็นเพลงสุดท้ายที่พ่อครูสมณะโพธิรักษ์แต่งเสร็จเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2561 ขับร้องโดยกลุ่มนักร้องกิติมศักดิ์ ได้แก่ นันทวัน เมฆใหญ่ (สุวรรณปิยะศิริ) ซึ่งเคยร่วมงานกับรัก รักพงษ์ในสมัยสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม, วงจันทร์ ไพโรจน์ , อุมาพร บัวพึ่ง และทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล MV เพลงนี้ ถ่ายทำกันที่ “วังวรดิศ” ซึ่งเป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ชื่อเพลง “คนโลกเก่า” เป็นเพลงที่พ่อครูแต่งเสร็จเมื่อ 12 มิถุนายน 2528 ขับร้องโดย ศรีไศล สุชาตวุฒิ
ชื่อเพลง “แม่จ๋า” แต่เดิมในปี 2510 ใช้ชื่อ “แม่มูล” ขับร้องโดยเกศิณี วงศ์ภักดี เพื่อเป็นเพลงประกอบละครวิทยุเรื่อง “แม่มูล” ของสุภัทร สวัสดิรักษ์ เรียบเรียงเสียงประสานโดย ชอุ่ม สาณะเสน การทำ MV. ครั้งนี้ ใช้ชื่อเพลง “แม่จ๋า” ขับร้องโดย อุมาพร บัวพึ่ง
ชื่อเพลง “ผู้แพ้” แต่งเสร็จเมื่อ 28 กันยายน 2497 ขณะเรียนเพาะช่าง ครั้งนี้ เวอร์ชั่นแรก ขับร้องโดย วินัย พันธุรักษ์ และอีกเวอร์ชั่น “ขับร้องหมู่” ด้วยศิลปินเก่าและใหม่ นำโดย อุมาพร บัวพึ่ง และทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล และ 2 นักร้องจากเวที The Golden Song ภูริช ปริวิสุทธิ์ , ชมพู่ ภาพตะวัน
ชื่อเพลง “ธารสวาท” แต่งเสร็จเมื่อ 23 พฤษภาคม 2498 ขับร้องโดย บูม วรากร , แจน สาธิตา
ชื่อเพลง “ผู้ครองรัก” แต่งเสร็จเมื่อ 25 มิถุนายน 2499 ขับร้องโดยแชมป์จาก The Golden Song ซีซั่น 1 และ2 “โชคชัย หมู่มาก และ สรวีย์ ธนพูนหิรัญ”
ชื่อเพลง “คนเอ๋ยคน” แต่งเสร็จเมื่อ 2509 ขับร้องโดย โชคชัย หมู่มาก
ชื่อเพลง “ชื่นรัก” แต่งเสร็จเมื่อ 14 กรกฎาคม 2512 เป็นหนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “โทน” ครั้งนี้ขับร้องโดย สรวีย์ ธนพูนหิรัญ
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของมิวสิกวิดีโอ ที่จัดทำในครั้งนี้ ....
งาน “คอนเสิร์ต 90 ปี บูชาพ่อครู รักษ์ รักพงษ์” วันที่ 2 มิถุนายน เวลา 14.00-17.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บริการอาหารมังสวิรัติ ตั้งแต่ 10 โมงเช้า
อย่างที่บอกว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้ เป็นการรวมพลของศิลปิน 2 รุ่น นักร้องอมตะรุ่นใหญ่ อาทิ วงจันทร์ ไพโรจน์, นันทวัน เมฆใหญ่ (สุวรรณปิยะศิริ), ศรีไศล สุชาตวุฒิ, วินัย พันธุรักษ์, ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล, พญ. พันทิวา สินรัชตานันท์, อุมาพร บัวพึ่ง, นนทิยา จิวบางป่า, ปาน ธนพร, กันยารัตน์ กุยสุวรรณ, กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ , ขวัญรวี กาญจนะผลิน
นักร้องของ The Golden Song ประกอบด้วย แอ๊ค โชคชัย, ผิงผิง สรวีย์, วิน วศิน, โตโต้ ธนเดช, สุทธินันท์ จันทระ , เอฟ รัฐพงศ์, เมจิ ภัทรานิษฐ์, บูม วรากร, จักร พรหมมินทร์, ชมพู่ ภาพตะวัน, พลอย พลอยไพลิน, แจน สาธิตา, ภูริช ปริสวิสุทธิ์
สกู๊ปชิ้นนี้ “ละครออนไลน์” จะพาคุณไปรู้เรื่องราวชีวิตของ “รัก รักพงษ์” กับผลงานบันเทิงในอดีต ! ....
ก่อนจะเป็น “รัก รักพงษ์”
สมณะโพธิรักษ์ หรือญาติธรรมเรียก “พ่อครู” เกิดมาชื่อ “สไมย์ จำปาแพง” ต่อมา ท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสโส (อ้วน) วัดบรมนิวาสฯ ตั้งชื่อให้ว่า “มงคล รักพงษ์” ชื่อเล่นว่า “แป๊ค” แต่ชื่อที่รู้จักกันดีในวงการคือ “รัก รักพงษ์” เป็นชื่อที่ท่านเปลี่ยนด้วยตัวเอง! เมื่อเรียนชั้นปีที่ 5 โรงเรียนเพาะช่าง ท่านมีความสามารถและถนัดในงานการประพันธ์ ทั้งร้อยแก้ว, ร้อยกรอง และบทเพลง
เด็กชายแป๊ค เกิดเมื่อ 5 มิถุนายน 2477 ที่ศรีสะเกษ เป็นลูกของพ่อทองสุข แซ่โง้ว เมื่ออายุไม่ถึงขวบก็เสียพ่อ แม่บุญโฮม พรหมพิทักษ์ แต่งงานใหม่กับสิบโทบุญเฉย รักพงษ์ ท่านเป็นพี่ชายของน้องต่างพ่อถึง 6 คน แม่บุญโฮมเป็นคนค้าขาย หาเงินเก่ง แม้จะมีฐานะดีในระยะแรก ต่อมาถูกโกงหลายครั้ง ประกอบกับเป็นวัณโรค ยังผลให้แม่บุญโฮมเสียชีวิตตอนอายุ 45 ปีในปี 2498 ปีนั้น ท่านเรียนที่เพาะช่าง และต่อมาได้ดูแลเลี้ยงดูน้องๆ เป็นพี่ชายที่น้องๆนับถือมาก ตั้งแต่เด็กทำงานหาเงินทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ ไม่ว่าจะเป็นการเข็นถ่าน, หาบขนมถ้วย, ขายห่อหมก, แบกของ, ขายไอศกรีมหลอด จนเมื่อเข้ามาอยู่กทม. ยังเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์และเป็นครูสอนพิเศษ
มงคล รักพงษ์ มาเรียนที่ที่โรงเรียนเพาะช่าง ในช่วงปี 2496-2500 จนจบปี 5 แผนกวิจิตรศิลป์ และในปีสุดท้ายนี้เอง เขาได้เปลี่ยนชื่อด้วยตนเองจาก “มงคล รักพงษ์” มาเป็นชื่อ “รัก รักพงษ์”
แต่งเพลงตั้งแต่เรียนมัธยม!
เพลงแรกในชีวิตนักแต่งเพลงคือ “ผู้หลอกลวง” ตอนนั้นเขาเรียนชั้นมัธยมปีที่6 ที่โรงเรียน เบญจมหาราช โรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี จนมาเรียนที่เพาะช่างได้แต่งเพลง“ดรุณวอลทส์” ให้เป็นเพลงประจำชมรม “ดรุณสาร” , แต่งทำนองเพลง “มาร์ชศิลปกรรมนำชาติ” ให้ โรงเรียนเพาะช่าง ปี 2497 ( คำร้อง บทพระราชนิพนธ์ ร.6), ในปี 2510 เขียนเพลง “ไม่ลืมบางมด” ให้วิทยาลัยเทคนิคบางมด และให้ 2 นักร้องประกวดของช่อง 4 ในกลุ่ม “ขวัญดาว” ที่เขาให้การสนับสนุนคือ เกศิณี วงศ์ภักดี ร้องในจังหวะบลู และ จันทรา คชหิรัญ ในจังหวะโบเลโร
ครั้งหนึ่ง เขาเขียนคำร้องเพลง “กลางไพรสณฑ์” โดยใช้ชื่อ “ยุบลรัตน์” เสร็จในปี 2494 ส่งเข้าประกวด ผลการตัดสินในเดือนมีนาคม 2495 เพลงนี้ได้รางวัลที่ 1 คู่กับเพลง “วาสิฏฐีจำแลง” ของ ศักดิ์พิศิษฎ์ พิจิตรคุรุการ หรือ ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ครูเพลงท่านหนึ่งของวงสุนทราภรณ์ นั่นเอง
รัก รักพงษ์ มีนามปากกามากมาย สำหรับงานเขียนต่างๆ เช่น มงคล พงษ์มงคล (ประเภทเบื้องหลังข่าว), รุ้ง รังรักษ์ (คอลัมนิสต์ข่าวสังคมและบันเทิง), โพธิรักษ์ (เขียนเรื่องธรรมะ, ตอบปัญหาธรรม), เพียงเพ็ญ พีรพงษ์ (งานเขียนสำนวนลูกทุ่งอย่างไม้ เมืองเดิม,งานเขียนชิงรักหักสวาท) , รัก พงษ์มงคล, สไมย์ จำปาแพง, เรขา เหมลิขิต, กุญแจจีย์, เกื้อ ปรียา, โบราณ สนิมรัก, ชุมาลย์มงคล, อ้อยอิ่ง สวนสงบ, โบราณ นวทัศน์, โบราณ ใหม่เสมอ,ประพนธ์ พีรพงษ์, ป.แอ๊ค, แป๊ค รักพงษ์, ปฏิโสต....ฯลฯ (บางนามปากกาก็ใช้เพียงครั้งเดียว)
สู่ยุคเพลงดัง !
เมื่อปี 2495 ขณะอายุ 18 ได้เขียนเพลง “ผกาดั่งนารี” !และ 2 ปีต่อมา เพลง “ก่อนสิ้นแสงตะวัน” เป็นเพลงแรกที่ได้รับการบันทึกเสียง ใช้ชื่อ “ยุบลรัตน์” เขียนคำร้อง ให้ สวลี ผกาพันธุ์ (ผู้ล่วงลับ) เป็นผู้ขับร้องเป็นคนแรก อัดแผ่นในปี 2497 ณ ห้องอัดเสียงของบริษัทแผ่นเสียง DCJ นักร้องหลายคนนำมาร้องและบันทึกเสียงใหม่ เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง (ผู้ล่วงลับ) , วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์ (ผู้ล่วงลับ), รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, จนมาถึงรุ่นปัจจุบัน ภาพตะวัน ใบเจริญ จาก The Golden Song
เมื่อ 28 กันยายน 2497 ระหว่างที่เรียนเพาะช่าง ได้แต่งเพลง “ผู้แพ้” โดยใช้นามปากกกาว่า “รัก พงษ์มงคล” ภายหลัง “นริศ อารีย์” บันทึกเสียงและดังมาก วันหนึ่ง เขาขี่จักรยานส่งหนังสือพิมพ์ บังเอิญว่า บ้านนั้นเปิดเพลงนี้พอดี ปลื้มใจมาก จนอยากจะบอกว่า เพลงนี้เขาเป็นคนแต่ง แต่ใครจะเชื่อ จริงมั้ย !
“... แพ้เกมชีวีสิ้นดีทุกอย่าง แต่ก็ภูมิใจไม่จาง ที่จิตของเรามิเลวพ่ายตาม ยังยิ่งยงเป็นใจดวงงาม
แพ้ก็แพ้ชะตาทราม ดวงใจทรงความมั่นคง”
ท่านเล่าว่า “ทรงศรี เทวคุปต์” นางเอกคนดังของช่อง 4 เคยร้องผิดว่า “... แพ้ก็แพ้ชะตางาม” ท่านว่าไม่ใช่ๆ “ชะตาทราม” เถียงกันจน รัก รักพงษ์ต้องบอกว่า “เพลงนี้ผมแต่งเอง” ! แต่ไม่รู้ว่า นางเอกสาว เชื่อหรือไม่?
เพลง “ธารสวาท” แต่งเสร็จในปี 2498 เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมาก และมีการบันทึกเสียงหลายครั้งกับนักร้องหลายคน เช่น ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา (แผ่นเสียงตรา หงษ์ หมายเลขแผ่น S.W. 044 , K.S.S. 465) , สุเทพคอรัส (ที่ไพเราะที่สุด) , ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล, ไพจิตร อักษรณรงค์, วิชัย ปุณณยันต์, ดนุพล แก้วกาญจน์, กิตติคุณ เธียรสงค์ ฯลฯ
เพลง “ผู้ครองรัก” แต่งเสร็จและบันทึกเสียงโดย นริศ อารีย์ (แผ่นเสียงตรา อัศวิน หมายเลขแผ่น ( A. 16 ) , A.R.C. 0059) ในปี 2498 เป็นเพลงที่มีนักร้องนำมาขับร้องใหม่หลายคน อาทิ อุมาพร บัวพึ่ง, สุนารี ราชสีมา, อรวี สัจจานนท์ , อรวรรณ วิเศษพงษ์, ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล, จินตนา สุขสถิตย์ ฯลฯ
รัก รักพงษ์มีภาระในการเลี้ยงดูน้องๆหลายคน จึงทำงานหาเงินเป็นครูสอนตามโรงเรียนตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเพาะช่างด้วยซ้ำ เช่น โรงเรียนเบญจมราชาลัย, โรงเรียนอนุบาลปฐมวัย, โรงเรียนสุขุมวิท, โรงเรียนสตรีประชากร
เริ่มทำรายการเด็กที่ ช่อง 4 บางขุนพรหม!
เมื่อ รัก รักพงษ์ คลุกคลีอยู่กับชมรม “ดรุณสาร” ที่โรงพิมพ์สตรีสารของอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง ที่นี่เขาได้รู้จักกับ “นิภา ธรรมพิชา” ลูกสาวของเลอศักดิ์ ธรรมพิชา ที่ บริษัทไทยโทรทัศน์ตอนนั้น จำนง รังสิกุล ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ และโทรทัศน์ และ สมจิตร สิทธิไชย รองหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ต้องการทำ “รายการเด็ก” เล็งว่า นิภา น่าจะเหมาะ ! แต่เธอขอพ่วง “รัก รักพงษ์” ทำงานนี้ด้วย ดังนั้น รัก รักพงษ์จึงได้เข้าทำงานประจำที่ “ช่อง 4 บางขุนพรหม” หรือ บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัดตั้งแต่นั้น นั่นเป็นการบุกเบิกรายการ “คนเก่งรุ่นจิ๋ว” รายการเด็กของช่อง 4 บางขุนพรหม ต่อมาเมื่อนิภาป่วย และมาทำงานไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของเขา ! จนมีรายการเกี่ยวกับเด็กและวิชาการอื่นๆ เช่น คนกล้า, นักกีฬาน้อย, ปัญหาสาธิต,วาดเขียน, ถ่ายภาพ, สวนอักษร, ภาษาศิลป์, ลับสมอง,สิงสาราสัตว์, ต้นหมากรากไม้ ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังเล่นละครกับเขาด้วย เพื่อนร่วมงานในสมัยนั้น อาทิ สะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์, สมจินต์ ธรรมทัต, กำธร สุวรรณปิยะศิริ, ฉลอง สิมะเสถียร, อารีย์ นักดนตรี, ดาเรศ ศาตจันทร์ ฯลฯ
รัก รักพงษ์ ทำรายการบันเทิงอยู่ 2 รายการคือ “ชิงแชมป์นักร้อง หรือรายการ แมวมอง” ได้นักร้องดีๆในวงการเพิ่มขึ้น และ “รายการขวัญดาว” และได้บุกเบิกหนังสือชื่อ “วารสารขวัญดาว” หนังสือบันเทิงเล่มแรก ต่อมาเปลี่ยนชื่อตามแนวทางโดยเจ้าของโรงพิมพ์คือ ชวนไชย เตชศรีสุธี มีความเห็นว่า “ประชาชนชอบรูปดารา”! ดังนั้น จึงชวน รักษ์ รักพงษ์ทำหนังสือ “ดาราภาพ” ส่วนน้องชายของเขาคือ สุชาติ (สุชาย)ทำหนังสือดาราต่างประเทศชื่อ Starpics และไม่นานต่อมา ชวนไชยก็ผันตัวเองเป็นผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่อง “โทน” โดยมี “เปี๊ยก โปสเตอร์” เป็นผู้กำกับฯคลื่นลูกใหม่ ภายใต้บริษัท สุวรรณฟิล์ม
สร้างเพลงประกอบหนัง "โทน"
การร่วมกันทำหนังเรื่อง “โทน” (2513) ถือเป็นบทบาทสุดท้ายในชีวิตฆราวาสของรัก รักพงษ์ เชื่อหรือไม่ว่า เป็นครั้งแรกที่แผ่นเสียงมียอดขายรวดเดียวถึงพันแผ่น ! ที่ผ่านมา สูงสุดแค่ 300-500 แผ่นเท่านั้น ส่วนรายได้การฉายหนังครั้งนั้นสูงสุดมากถึง 6 ล้านบาท !
เพลงประกอบ 9 ใน 10 เพลงของภาพยนตร์เรื่อง “โทน” (ปิดเทอม, เริงรถไฟ, นางฟ้า, ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง, ชื่นรัก, อย่าบอน, กระต่ายเพ้อ, ดาวเหนือ,ขุนทอง) เป็นการแต่งเพลงของรักษ์ รักพงษ์ ยกเว้นเพลง “โทน” ที่เขียนโดย สุชาติ เทียนทอง เท่านั้น!
ตอนนั้น วงดิอิมพอสซิเบิ้ลเพิ่งชนะเลิศการประกวดดนตรีสตริงคอมโบถ้วยพระราชทาน ในปี 2512 มา เปี๊ยก โปสเตอร์ดึงมาร้องเพลงในหนังเรื่องนี้ เช่นเดียวกับ สังข์ทอง สีใส “เทพบุตรหน้าผี” ที่มาแจ้งเกิดกับการร้องเพลง “โทน” และ “อย่าบอน” และการแสดงในหนังเรื่องนี้ !
นอกจากนี้ โทน เป็นหนังเรื่องแรกของวงการหนังไทยที่เขียนบทให้ นางเอก คือ “อรัญญา นามวงศ์” ถูกขืนใจจากคนร้าย! เปี๊ยก เคยให้สัมภาษณ์ว่า บางทีกว่าที่ใครสักคนจะพบคู่แท้ อาจจะต้องผ่านชีวิตคู่มากกว่า 1 ครั้ง หรือ การสร้างบทบาทให้ “สังข์ทอง” คู่หูของพระเอก “ไชยา สุริยัน” เป็นคนหน้าตาอัปลักษณ์ เพราะต้องการสื่อให้เห็นความดีงามของคนที่จิตใจมากกว่ารูปร่างหน้าตา !
รัก รักพงษ์ มีภาระมาก และมีรายได้หลายทาง คิดเป็นเงินสุทธิราว 20,000 บาท/ เดือน และชีวิตฆราวาสก็สิ้นสุดเมื่อลาออกจากงานประจำที่บริษัทไทยโทรทัศน์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2513
เพลง สัจจะชีวิต ชาวอโศก
เส้นทางการขีดเขียนของรัก รักพงษ์ไม่เคยหยุด แม้ในช่วงบวช "สมณะโพธิรักษ์" ก็ยังมีเพลงแนวสัจจะชีวิต ! หรือ “เพลงอโศก” วางจำหน่ายประจำสม่ำเสมอเรื่อยมา ในหลายอัลบั้ม “ละครออนไลน์” ขอยกตัวอย่าง งานเพลงสัจธรรมชีวิต ชุด “อภัย” ที่เคยทำเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ทั้งเทปคาสเซ็ท และซีดี เนื่องจากชีวิตฆราวาสของรัก รักพงษ์ คลุกคลีกับคนในวงการบันเทิง จึงรู้จักคนมาก และพร้อมให้ความช่วยเหลือร่วมงานด้วย
ผลงานชุด “อภัย” นี้ ผู้จัดทำเป็นระดับมืออาชีพในวงการเพลงทั้งสิ้น มีคณะเรียบเรียงเสียงประสานหลายคน นำทีมโดย ปราจีน ทรงเผ่า และ ปฏิพล แก้วสุโพธิ์ บันทึกเสียงโดย จีรวัฒน์ ปานพุ่ม ฯ
นักร้องที่มาร่วมร้องเพลงชุดนี้ ล้วนแต่เคยมีผลงานเพลงของตัวเองมาแล้ว อาทิ
“ปรัชญ์ สุวรรณศร” ซึ่งเคยเป็นเจ้าของอัลบั้ม “คน” (2528) เพลงสร้างชื่อ คือ "อัฐใคร อัฐมัน" และเพลง “จุดเริ่มต้น...ทิม” เคยถูกใช้เป็นเพลงประกอบละคร “ไอ้ทิม มวยไทย” (ฐาปกรณ์ ดิษยนันทน์, รสริน จันทรา) ของค่ายกันตนาในปี 2526 มาแล้ว , เมื่อมาร่วมงานชุด “อภัย” ปรัชญ์ได้ร้องเพลง “คนหยาม ฟ้าไม่หยาม”!
“วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์” (25 พฤษภาคม 2453 – 28 พฤษภาคม 2558) ผู้ล่วงลับ นักร้องคู่บุญของชาวอโศกอีกคนหนึ่ง ชีวิตนักร้องเริ่มจากเป็นนักร้องประกวดทางช่อง 4 บางขุนพรหม โดยการสนับสนุนของครูรัก รักษ์พงษ์ เธอมีผลงานเพลงหลายอัลบั้ม , ร้องเพลงประกอบละครโทรทัศน์ของช่อง 7 สีหลายเรื่อง เช่น อีสา , สนิมสังคม, ปลาบู่ทอง, จำเลยรัก, บ้านทรายทอง, ดาบเจ็ดสีมณีเจ็ดแสง ฯลฯ เธอร้องเพลง แสงธรรมต้องทอบวร, สันติธรรม, อภัย (คำร้อง-ทำนองโดย หินชนวน อโศกตระกูล -ญาติธรรม) เป็นต้น นอกจากนี้เธอยังมีงานกับชาวอโศกอีกหลายชุด เช่น แพรแก้ว, ขวัญ เป็นต้น
“รุ่งพิรุณ เมธารมณ์ และ ผุสดี เอื้อเฟื้อ” สองสาว The Hot Pepper Singers ร้องเพลง “โถ... ข่าวลือ”
“สุทธินันท์ จันทระ “ นักร้องอีกคนที่ร่วมงานกับชาวอโศกมาแต่แรก เคยมีอัลบั้ม “ใครว่าเรื่องหมูๆ” และ Easy Jazz ของตัวเองมาแล้ว ปัจจุบัน คือ นักร้องประกวด The Golden Song ซีซั่น 5
ต้นฉบับเพลง "อภัย" ชุดนี้ หาซื้อและหาฟังยากแล้ว ใครสนใจฟัง (แต่ชื่อเพลงและชื่อนักร้องเป็นภาษาต่างดาว)
เชิญที่ >> https://archive.org/details/005TruthSongMP3/04
เพลงชุดนี้ "ละครออนไลน์" นำมากล่าวถึงเป็นกรณีตัวอย่างเท่านั้น ในอนาคตข้างหน้า บทเพลงแห่งสัจจะที่มีความหมายและความจริงของครูรัก รักพงษ์ หรือ “สมณะโพธิรักษ์” จะหมุนเวียน เป็น "คีตอณู" ที่หมุนเวียนในโลกที่ไม่แน่นอนนี้ !
สำหรับผู้สนใจ เรื่องราว "ขบถศาสนา" ของ “พระสมณะโพธิรักษ์”
>> https://www.youtube.com/watch?v=p1ysd0qmhIc&t=899s
ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/
#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์