เปิดใจ “ก้าวหน้า-กิตติภัทร” กับการเติบโตด้านการแสดง
ในละครเรื่องล่าสุด “รถรางเที่ยวสุดท้าย”
กว่า 7 ปีบนเส้นทางบันเทิงของ “นักแสดงรุ่นใหม่” ที่มีโอกาสได้แสดงความสามารถด้านการแสดงในบทบาทต่างๆ ล่าสุดนักแสดงหนุ่มมากฝีมือ ก้าวหน้า-กิตติภัทร แก้วเจริญ กับผลงานละครเรื่องล่าสุด “รถรางเที่ยวสุดท้าย” ละครดีๆทั้งให้แง่คิดและความบันเทิง โดยความร่วมมือของ ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ร่วมกับ บริษัท สตาร์ฟีนิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กำกับการแสดงโดย ฝุ่น-จีรภา ระวังการณ์ ซึ่งวันนี้ดำเนินเรื่องมาถึงเกือบจะถึงบทสรุปแล้ว และแฟนๆ ละครก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดีด้วย
ก้าวหน้า-กิตติภัทร ได้รับโอกาสดีให้มารับบทเด่นของเรื่องในบท “นที” คนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ อยากจะคว้าความฝันของตัวเองให้ได้ ฐานะดี แต่ก็อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ด้วยนิสัยที่เป็นคนที่ประนีประนอมกับทุกอย่าง สามารถเข้ากับทุกคนได้ ในทุกๆ ช่วงวัย ทุกเพศ ทุกอายุ ยอมรับความคิดต่าง ความเห็นต่าง จนบางทีทำให้เขารู้สึกว่าสูญเสียความเป็นตัวเองไปในบางครั้ง
ก้าวหน้า บอกว่า ด้วยคาแร็กเตอร์นี้ทำให้เขาดูโตขึ้น พร้อมบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ และเส้นทางในวงการบันเทิงที่เขาจะก้าวต่อไปในอนาคต
คาแร็กเตอร์ของ นที แตกต่างจากตัวเองอย่างไรบ้าง
“ก็คล้ายๆ กันนะครับ บางครั้ง ก้าว ก็เป็นคนที่ยอมมากๆในสมัยก่อน แต่ว่าพอเราโตขึ้น เราได้เรียนรู้ที่จะยอมรับความต้องการของตัวเอง ยอมรับที่จะดื้อบ้าง อย่างเช่น บางทีเรายอมให้คนอื่นเลือกของสิ่งนั้นไปก่อน แต่ในใจจริงของเรา เราอยากจะขอเลือกก่อน แต่มาตอนนี้เราได้เรียนรู้ในตัวละครแล้วมาใช้ในชีวิตจริงว่า บางครั้งเราจะยอมอย่างเดียวไม่ได้ เราอาจจะต้องเอ่ยปากบอกถึงความต้องการของตัวเองบ้าง เพื่อให้คนอื่นได้รับรู้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดทั้งสำหรับตัวเรา และคนอื่น ไม่ใช่หาผลลัพธ์ที่ดีสำหรับคนอื่นอย่างเดียว”
มีการดีไซน์การแสดงของตัวละคร นที ไว้อย่างไร
“ก้าวมีโอกาสได้เล่นละครกับทางไทยพีบีเอสมาแล้ว ก็เลยทำให้เราเข้าใจสไตล์ของไทยพีบีเอสอยู่บ้าง ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสร้างสรรค์สังคม ดังนั้นพอเราได้อ่านบท เราก็จะเข้าใจง่าย แล้วเราก็คิดว่าเราอยากจะทำให้คาแรคเตอร์ดูมีมิติมากยิ่งขึ้น ก็เลยทำการบ้านหนักนิดนึง แล้วยิ่งได้มาเจอกับ พี่ฝุ่น ผู้กำกับฯ ซึ่งเขาให้โอกาสมากๆ จากที่เราได้ลองซ้อมอ่านบทกันแล้ว เรามาคุยคาแร็กเตอร์กัน พี่ฝุ่นบอกเลยว่า ให้ทำการบ้านมา อยากทำอะไรให้ลองทำมาก่อน แล้วเดี๋ยวพี่จะเซฟให้ มันเลยทำให้เราได้ทดลองเป็นตัวละครจริงๆ ก้าว ทำการบ้านด้วยการอ่านบทเยอะมากๆ แล้วก็วิเคราะห์บทพูดมากๆ ว่าในแต่ละคำที่ นที พูดออกมา หรือแม้แต่การพยักหน้า หรือไม่พยักหน้าหมายความว่าอย่างไร บางทีพยักหน้าเขาอาจจะไม่ได้ตอบว่าใช่ก็ได้ครับ”
ฉากที่รู้สึกว่าเล่นยากที่สุดในมุมของนที
“น่าจะเป็นตอนที่เราเล่นเป็น อารักษ์ (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) เป็นซีนในละครเวที ตอนที่ บริพัตร กับ มุกดา ขึ้นเครื่อง ซึ่ง 2 คนนี้ อารักษ์ สนิทและรักมากที่สุด คนนึงเป็นเพื่อนรักอีกคนเป็นคนที่เขารักเมื่อจากไปแล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าจะได้เจอกันอีกไหม เหมือนโลกเขาพังครับ และซีนนั้นเขาก็รู้สึกเหมือนโดนหักหลัง และเหมือนโลกนี้ไม่เหลือใครแล้วเขาต้องอยู่คนเดียว...โลกทั้งโลกพังถล่มลงมา ตอนแสดงเสร็จยอมรับว่าเป็นซีนที่รู้สึกภูมิใจครับที่เล่นได้ เพราะว่าเป็นอีกซีนที่ทำการบ้านมาหนักเหมือนกัน และน่าจะเป็นจุดที่ อารักษ์ แย่ที่สุดด้วย จริงๆ พี่ฝุ่นก็ไม่ได้มาบรีฟว่าจะต้องร้องไห้หรือเปล่า เขาให้ลองเล่นก่อน ถ้าไม่เอาค่อยแก้ แต่พอเล่นไปแล้วเขาซื้อก็เลยโอเค เต็มที่ครับ ซีนนั้นเป็นซีนที่เราถ่ายคิวหลังๆ ทำให้ภาพแฟลชแบ็คที่เราถ่ายกันมาตั้งแต่ต้นเรื่องยันมาถึงตรงนี้ มันอยู่ในสต๊อกของเราแล้ว พอเราแฟลชแบ็ค สิ่งที่เราเคยถ่ายเข้ามามันทำให้เราสามารถสื่ออารมณ์นี้ออกมาได้ง่าย”
มีเทคนิคในการเรียกน้ำตามั้ย
“ไม่รู้เหมือนกันครับ แต่จะบอกว่า ก้าว ไม่สามารถกำหนดน้ำตาข้างซ้ายข้างขวาได้นะ ซึ่งพี่ฝุ่นก็ไม่ได้ซีเรียสว่าต้องน้ำตาไหลข้างซ้ายหรือขวา ก็เลยปล่อยอารมณ์ออกมาเต็มที่ เป็นซีนที่อยากให้ดูกันมากๆ”
ฟังดูเหมือนชอบบทดราม่า
“เรียกว่ามีโอกาสได้เล่นบทดราม่าบ่อยดีกว่าครับ อาจจะเป็นเพราะว่า ผู้จัดฯ หรือผู้กำกับฯ เห็นซีนดราม่าจากงานเรื่องแรกที่เราเล่น แต่บทคอมเมดี้ก้าวก็เคยเล่น ก็ชอบก็สนุกดีเหมือนกันครับ แต่คอมเมดี้ยากกว่าอีกนะ เพราะว่ามันจะต้องมีจังหวะในการเล่น”
ถ้างั้นมีบทที่อยากเล่นบ้างมั้ย
“ได้หมดเลยครับ ก้าวเป็นคนที่ชอบทดลองมากๆ อยากลองทำอะไรหลายๆ อย่าง กับไทยพีบีเอส อยากบอกเลยว่าเป็นช่องที่ให้โอกาสก้าวได้ทำหลายอย่างมาก เรื่องที่แล้วไปพายเรือ ก้าวคิดว่าก้าวไม่มีโอกาสถ้าไม่ได้เล่นละครเรื่องนี้ก็คงไม่มีโอกาสไปพายเรือ 30 ฝีพายกับคนแข่งเรือพายจริงๆ ที่จังหวัดน่าน อย่างเรื่องนี้เราก็ได้มาเจอกับ อาหนิง นิรุตติ์ กับ อาหมู สมภพ เป็นโอกาสยากมากๆ ที่เราจะได้เจอกับนักแสดงรุ่นใหญ่และเก่งขนาดนี้ แล้ว อาหนิงกับอาหมู คือจะคอยสอนเราตลอด อาหนิงกับอาหมูจะเป็นคนที่ไดนามิคดีมาก การเล่นของเขาจะมีจังหวะที่เป็นเอกลักษณ์ น้ำเสียง การผ่อนเสียงหนักเบา แล้วก็เรื่องของอารมณ์ อาเก่งมาก ก้าว ก็อยากจะเล่นให้เก่งได้อย่างอาครับ ก็มีแอบดูการเล่นของอาเหมือนกัน เพราะว่าเราจะต้องเล่นเป็น อารักษ์ ตลอดเวลาที่เล่นกับอา ก้าวก็แอบสังเกตว่าอาเล่นยังไง คำพูดติดปากของอาหนิงด้วยครับ ก้าวรู้สึกว่าโชคดีมากเลยครับที่ได้ร่วมงานกับทั้งสองท่าน แล้วละครเรื่องนี้ก็ยังทำให้ความคิดของก้าวเติบโตด้วย รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสมาเล่นละครเรื่องนี้”
แล้วการร่วมงานกับตังตังและปอนด์ ซึ่งเป็นนักแสดงในรุ่นๆ เดียวกัน
“ก้าวเคยร่วมงานกับพี่ตังตัง ในละครเรื่อง ต้นไม้น้อยใหญ่ เป็นละครสั้น 1 ตอน ในเซ็ต เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปี ของไทยพีบีเอส ในเรื่องเราไปชอบเขา แต่เขาไม่ชอบเรา แต่ว่าเรื่องนี้เขามาชอบเรา แต่เราไม่ชอบเขา ก็เลยเป็นการแกล้งกันไป มีแซวกันครับ คือเราก็สนิทกันมาจากเรื่องนั้นแล้ว พอมีเรื่องนี้ติดต่อเข้ามา แล้วรู้ว่าพี่ตังตังเล่น ก็รู้สึกดีใจครับ ได้เจอกันอีกครั้ง นั่งคุยนั่งเมาท์กัน ส่วนปอนด์ได้มาเจอกันเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ตอนแรกก็เกร็งๆ แต่ว่าพอได้มาทำงานด้วยกันแล้วรู้สึกว่าเราคล้ายกันมาก แปลกมากคือ ก้าวเลี้ยงแมว แต่ปอนด์เลี้ยงหมา แต่ว่าชื่อ เปโซ เหมือนกัน สุดท้ายก็สนิทกันครับ”
ละครเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของคน 2 วัย มีความรู้สึกอย่างไรกับคน 2 วัย
“ก้าวรู้สึกว่าเราจะอยู่ด้วยกันในสังคมนี้ด้วยความเข้าใจกัน เห็นต่างได้แต่ว่าต้องเข้าใจกันครับ เหมือนว่าทุกคนมีความคิดหรือว่ามีทัศนคติเป็นของตัวเองได้ แต่สุดท้ายแล้ว ก้าวคิดว่าเราต้องมีความเข้าใจกันความเห็นอกเห็นใจกัน และความโอบอ้อมอารีมันจึงจะสามารถจูนเข้าหากันได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สังคมไทยกำลังเป็นปัญหา ปัญหาที่คนต่างวัยไม่เข้าใจกัน ก้าวคิดว่าเราสามารถพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ และเปิดใจทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่แค่เด็กที่จะต้องเปิดใจเข้าหาผู้ใหญ่ หรือว่าผู้ใหญ่ที่เปิดใจเข้าหาเด็ก แต่ว่าเราควรจะเปิดใจเข้าหากันอย่างจริงจังและจริงใจ”
ในเรื่องนี้จะมีการแต่งตัวพีเรียดด้วย เป็นละครซ้อนละครรู้สึกอย่างไรบ้างกับลุคนั้น
“ก็ชอบนะครับ ได้ใส่วิก แต่ว่าวิกอันนั้นร้อนมากเพราะว่าผมจะต้องยาวมาปิดถึงต้นคอ ก็เลยค่อนข้างที่จะร้อนนิดนึง แต่ว่าน่ารักก็ชอบครับ พี่ๆ บอกว่าเหมือน เจอรี่ F4 แต่ในเรื่องเรารับบทเป็น อาหนิง ตอนหนุ่มครับ ไม่รู้ว่าเหมือนหรือเปล่านะครับ”
คนดูจะได้อะไรจากการชมละครเรื่องนี้
“คนดูจะได้ความเข้าใจในความแตกต่างของช่วงวัย ก้าวว่าการพูดคุยกันด้วยเหตุผล และการยอมรับความแตกต่างเป็นสิ่งที่สำคัญมากในสังคมไทยและในทุกๆ สังคมเลย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะเจอคนต่างวัยต่างเพศต่างเชื้อชาติต่างศาสนา แต่ว่าเราเลือกที่จะยอมรับซึ่งกันและกันอยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน นี่เป็นสิ่งที่ก้าวอยากให้มันเกิดขึ้น คิดว่าถ้าทุกคนเข้าใจกันและยอมรับในความแตกต่างสันติภาพมันเกิดแน่นอน”
รู้มาว่า ก้าว มีความสามารถในการเล่นโขนได้ด้วย
“ใช่ครับ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ก้าว สามารถเล่นโขนได้ รำได้ ก้าวได้มีโอกาสเรียนโขนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอเข้ามากรุงเทพฯ ไม่ได้มีโอกาสได้เล่น ไม่ได้ไปรื้อฟื้นความรู้เก่า ๆ ถ้ามีโอกาสที่ทางไทยพีบีเอสได้ทำละครเกี่ยวกับโขน แล้วถ้า ก้าว ได้เล่นก็น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้กลับมารำอีกครั้งครับ”
อยากฝากทิ้งท้ายอะไรมั้ย
“ก้าวก็ขอฝากละครเรื่อง รถรางเที่ยวสุดท้าย ด้วยนะครับ พวกเรานักแสดงและทีมงาน รวมทั้งผู้จัดไทยพีบีเอส และบริษัท สตาร์ฟีนิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เราตั้งใจ ทุ่มเทกับละครเรื่องนี้มาก ฉากก็อลังการ ก้าวเชื่อว่าทุกคนที่ชมละครเรื่องนี้จะได้ข้อคิดและอะไรดีๆ กลับไปจากละครเรื่องนี้เยอะมากๆ ถ้าอย่างไรฝากติดตาม รถรางเที่ยวสุดท้าย วันศุกร์นี้เป็นตอนจบ เวลา 20.30 น. ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 ด้วยนะครับ”