สกู๊ปพิเศษ
‘มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗’ ไอดินกลิ่นฟาง แต่ไม่ย้อนยุค
มารู้จักตำนานและ ‘ครูรังสี’ ผู้กำกับฯเสือปืนไว!
เป็นจังหวะที่อดีตหนังในตำนาน “มนต์รักลูกทุ่ง” มาทั้งรูปแบบของมิวสิคัล “มนต์รักลูกทุ่ง ทองกวาว เดอะมิวสิคัล” ซึ่งจัดแสดงไปแล้ว และใหม่ล่าสุด ละคร “มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗” ซึ่งจะออนแอร์คืนนี้ วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ทางช่อง 3 เวลา 22.45 น. ผู้รับบท “คล้าว -ทองกวาว” ในเวอร์ชั่นนี้คือ มิว - ศุภศิษฎ์ จงชีวีวัฒน์ และ ชาล็อต ออสติน
มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗ นี้ แตกต่างจากทุกเวอร์ชั่น เพราะเป็นละครในยุคปัจจุบัน ไม่ได้เป็นละครพีเรียดดังเช่นในอดีต “สำรวย รักชาติ” ซึ่งเคยผ่านการกำกับฯ สมัยดาราวิดีโอ ทั้ง 2 เวอร์ชั่น ยุค “ตั้ว-ศรัณยู & น้ำผึ้ง-ณัฐริกา” (2538 - กำกับร่วมกับสยาม สังวริบุตร) และยุค “ป๋อ-ณัฐวุฒิ & กบ-สุวนันท์” (2548 สำรวย รักชาติ กำกับ) ทั้ง 2 เวอร์ชั่นนี้ “อาหรั่ง” ไพรัช สังวริบุตร เป็นผู้อำนวยการแสดง
สำรวย รักชาติ กล่าวว่า
“พอดีได้รับโจทย์มาว่าให้ มนต์รักลูกทุ่ง เป็นสมัยนี้ เราก็เลยคุยกันว่า ถ้าเราจะทำสมัยนี้ต้องมีชื่อพ่วงท้ายไปหน่อยคือ ๒๕๖๗ มันจะได้ไม่ไปตอกย้ำกับสมัยก่อน เราก็เคยทำกับช่อง 7HD มาสองเวอร์ชั่น พอมาเวอร์ชั่นนี้ คล้าวกับทองกวาว จึงต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สมัยก่อน คล้าว ต้องรันทดมากๆ พอได้โจทย์มาก็ต้องบิดเล็กน้อย แต่ยังต้องมีกลิ่นอายของลูกทุ่งอยู่นะ แต่ก็ไม่ได้มากเท่าไหร่ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราทำ มนต์รักลูกทุ่ง๒๕๖๗ ให้คนปัจจุบันดู เพราะรุ่นนั้นก็ผ่านมาตั้งเยอะละ เราไม่ได้คิดว่ามันจะเหมือนเดิมหรือเปล่า คิดแค่ทำให้มันดีที่สุด และเชื่อว่าคนดูรับได้ เพราะเราทำให้เด็กรุ่นนี้ดู ซึ่งเสน่ห์ของ มนต์รักลูกทุ่ง ที่ขาดไม่ได้คือ บรรยากาศลูกทุ่ง เรายังใส่กลิ่นอายตรงนี้ลงไป เป็นลูกทุ่งยุคปัจจุบัน ส่วนนักแสดงเค้าก็โอเค. ตั้งใจทำงาน ก็ขอฝากละครเรื่องนี้ด้วยครับ”
ติดตามกันว่า มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗ จะเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จไหม !
เป็นที่ยอมรับว่า ภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” มีเสน่ห์ เป็นตำนานของภาพยนตร์ไทยและผู้กำกับฯ รังสี ทัศนพยัคฆ์ (1 ธันวาคม 2469 – 7 ธันวาคม 2546) วันนี้ “ละครออนไลน์” หยิบหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ในภาคส่วนของ “มนต์รักลูกทุ่ง” เพียงบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง
ในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ เป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2547 ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม ทำให้เรารู้ว่า ครูรังสีเป็นคนพูดน้อย มีความสามารถหลายด้าน จนได้สมญานามในวงการภาพยนตร์ว่า “ผู้กำกับเสือปืนไว” และเป็นบรมครูแห่งเทคนิค “การถ่ายเจาะ” !
ชีวิตครอบครัว เช่าบ้าน โยกย้ายหลายครั้ง เคยอาศัยอยู่กับครอบครัวกมลวาทิน เคยเช่าบ้านในย่านบางมด, ดาวคนอง , สุขสวัสดิ์ เมื่อหนัง “มนต์รักลูกทุ่ง” (2513) ประสบความสำเร็จ ถึงมีบ้านช่องเป็นของตัวเอง มีสวนที่เมืองจันทบุรี และหนังเรื่องนี้เองที่ทำให้ครูรังสีได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากค่าลิขสิทธิ์ทั้งบทภาพยนตร์และเพลงในเรื่อง ! เหตุเพราะว่า ครูรังสีได้วางเพลงคอนเซ็ปต์เพลงทั้งหมดและว่าจ้างครูเพลงทั้งหลายให้แต่งเพลงเพื่อรองรับหนังเรื่องนี้ !
แม้ว่า มนต์รักลูกทุ่ง จะมีเกร็ดเรื่องเล่ามากมาย แต่ “ละครออนไลน์” ขอคัดและเรียบเรียงความคิดเห็นของ “อาหรั่ง” ไพรัช สังวริบุตร ที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้ เล่าสู่กันฟัง เพราะดาราวิดีโอคือ ผู้นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาแปรรูปเป็นละครโทรทัศน์ถึง 2 ครั้ง !
“ตอนที่จะทำละคร ผมก็เอาหนังไปดู ไปวิเคราะห์ว่า จะทำออกมาอย่างไรให้มันดัง อย่างที่ครูรังสีทำเอาไว้ ทีนี้เมื่อคิดถึง เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ยุคนั้นเป็นของดารา มิตรเนี่ยดังมาก ดังสุดๆ ใครก็ต้องหลงรักมิตร พอดังสุดๆ มาอย่างนั้นแล้ว มิตรไปร้องเพลงก็ลองคิดดูแล้วกัน ตรงนี้ไงที่ครูรังสีเขาอ่านออก ก่อนหน้านั้น มิตรไม่เคยร้องเพลงในหนังเรื่องไหนเลย มีแต่ร้องเล่นๆกับพวกเราเนี่ย พอมาเรื่องนี้มันเป็นเพลงตลกๆ สิบหมื่น ผมว่า มิตร เขาร้องได้นะ
ตอนคุยกัน มีหลายคนที่เขาจะเอานักร้องมาร้อง ผมบอกไม่ได้ เนื่องจากตอนนั้นที่มันดัง มันดังเพราะมิตรร้องเพลง ร้องจริงไม่จริงผมไม่รู้ล่ะ แต่มิตรร้องก็แล้วกัน แล้วคนก็ไปดู ผมเลยให้ตั้ว (ศรัณยู ) ร้องเอง มายุครุ่นตั้ว ผมก็ขอร้องให้ตั้วร้อง คนก็อยากฟัง เขาอาจจะร้องดีไม่เท่าพวกนักร้อง แต่คนอยากเห็นเขาร้อง ดารามาร้องน่ะ 80 เปอร์เซนต์ คนดูเขาก็ว่าเยี่ยมแล้ว เพราะเขาไม่ใช่นักร้อง คนก็ยอมรับก่อนที่เราจะทำนะครับ เราก็วิจัยว่า ครูรังสี แกทำยังไง ก็ได้ตรงเนี้ย ผมเถียงคอเป็นเอ็นเลย ไม่ได้ ต้องตั้วร้อง นักร้องมาร้องไม่ได้ คนเขาฟังนักร้องได้ทุกวัน แต่เขาดูดาราร้องเพลงไม่บ่อยครั้ง แล้วก็จริง ครูรังสีแกอ่านตรงนี้ออก ถ้าเราไปทำตามแก แล้วไม่ทำตามทุกอย่าง ตีไม่แตกเหมือนแก ครูรังสีทำบทนี่แกจะตีแบบฮาตลอด แกตีพ้อยน์แตก ... คิดดูซิครับ เรื่องที่แกคิดออกมาอย่างมนต์รักลูกทุ่งเนี่ย ทั้งเพลงทั้งอะไร จนเดี๋ยวนี้ยังไม่มีใครมาลบของแกได้ ผมมาทำตามแก ผมยังพลอยดีไปด้วยเลย ตรงนี้ต้องยกย่องครับ”
“มนต์รักลูกทุ่ง” เป็นละครโทรทัศน์ถึง 4 ครั้ง(ไม่นับรวมการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครเวที) 2 ครั้งแรก โดย ดาราวิดีโอ ในปี 2538 และ ปี 2548 จากนั้น ช่อง 3 มารับช่วงรีเมกเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2553-2554 ผลงานของ กอบสุข จารุจินดา นำแสดงโดย ปอ ทฤษฎี - จ๊ะ จิตตาภา และล่าสุด ครั้งนี้ ละคร“มนต์รักลูกทุ่ง ๒๕๖๗ ” โดยฝีมือการเขียนบทของ “วรวรรณ ชัยสกุลสุรินทร์” ภายใต้บรรยากาศของโรแมนติก คอมเมดี ในยุคสมัยของบรรยากาศในปัจจุบัน ส่วนเนื้อเรื่องจะบิด เพิ่ม เติม แต่งอย่างไรก็ต้องคอยดูกันไปในละคร!
รูปฟิตติ้งย้อนยุค เสื้อสีสันสดใส แสบสันต์ ผมเกล้าสูง ปล่อย “หอยเพชรา” (เรียกอย่างนี้จริงๆ) งอนแนบใบหูทั้งสองข้าง ถือเป็นการเล่าเรื่องราวตัวตนของมนต์รักลูกทุ่งรุ่นออริจินอลในปี 2513 และอีพีแรกในคืนนี้ จะใช้ธีม “งานวัด” ที่สนุกสนาน ครื้นเครง เพื่อให้ดูเป็นพีเรียดก่อนเข้าสู่ยุคปัจจุบัน
ถือโอกาสนี้ ทำความรู้จักกับ “ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์” เจ้าของเรื่อง พอสังเขปกันดีกว่า !
ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ บุตรของพระสรรสารากร ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกรมสรรพากร กับนางเติม ทัศนพยัคฆ์ เกิดที่เสาชิงช้า มีพี่ชายอีก 2 คนคือ รังสรร, รังสิต รังสีสมรสกับนางสุภาพ คังคะโรจนะ มีลูกชาย 2 คนคือ มหศักดิ์ และสุรศักดิ์ ทัศนพยัคฆ์
ครูเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนศรีจรุง (เสาชิงช้า) ซึ่งต่อมา โรงเรียนนี้ไฟไหม้และปิดกิจการไป ครอบครัวของของครูจึงย้ายมาอยู่ใกล้ๆวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ และเรียนต่อที่วัดมหาธาตุ และไปจบหลักสูตรมัธยมจากโรงเรียนเบญจมบพิตร รุ่นเดียวกับ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก
ผู้ที่พาครูในวัยเด็กวัย 8-9 ขวบมาคลุกคลีกับวงการหนังคือ “จำรัส สุวคนธ์” พระเอกสมัยนั้นที่มีความนับถือแม่ของเขา และพักอาศัยอยู่ที่ท่าพระจันทร์ จำรัส สุวคนธ์มักพาเขาไปกองถ่ายทำภาพยนตร์ จนบางครั้งก็มีโอกาสเข้าฉากด้วย ...
หลังจบชั้นมัธยม รังสี สอบติด เป็นนักเรียนนายเรือ รุ่น 7 ปี 2486 การเรียนสมัยนั้นลำบากมาก เพราะต้องเดินทางนานหลายชั่วโมง นั่งรถโดยสารไปบางปะกง ขึ้นเรือข้ามฟากไปที่บางปลาสร้อย จับรถต่อไปสัตหีบ ชั่วโมงการเดินทางเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้นักเรียนหลายคนในสมัยนั้นไปโรงเรียนนายเรือสายบ่อยๆรวมทั้งตัวครูรังสีด้วย
นักเรียนนายเรือ มักกล่าวคำปฏิภาณว่า “ ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร” หลังเลิกแถว ครูรังสีในวัยหนุ่มมักกล่าวขำๆว่า “ที่จริงต้องพูดว่า ตายในสนามรบ เป็นศพของทหาร” !
แต่อย่างไรก็ตาม โชคชะตาของรังสี ทัศนพยัคฆ์ถูกลิขิตให้มาเอาดีทางด้านการกำกับภาพยนตร์ และมีเหตุผลอื่นๆอีกหลายประการ ทำให้เขาต้องอำลาโรงเรียนนายเรือกลางคัน ไปทำงานกับบริษัทไทยเดินเรือทะเล ใช้ชีวิตฝ่าคลื่นลมล่องไปยังเมืองท่าของฮ่องกงบ้าง สิงคโปร์บ้างอยู่ 2 ปี จนมาพบเพื่อนนายเรือชื่อ “สมหมาย ศุขะพันธ์” ซึ่งเก่งในเรื่องดนตรี และเคยเป็นบัดดี้ช่วยจัดรายการวิทยุ และทำเพลงอยู่ที่วิทยุศาลาแดง เพื่อนคนนี้ได้ชักชวนครูรังสีไปทำงานกับ “บูรพาศิลป์ภาพยนตร์”
ขณะนั้นหนังเรื่อง “นิทรา-สายัณห์” ของบูรพาศิลป์ใกล้เสร็จ หนังเรื่องนี้สร้างจากบทประพันธ์ของ อิงอร เป็นหนังเรื่องแรกของนางเอก รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง และ สมบัติ คงจำเนียร ครูรังสีต้องไปวางแผ่นที่ศาลาเฉลิมกรุงทุกรอบ ครูรังสีเก็บเกี่ยวประสบการณ์การวางแผ่น และเริ่มเข้าใจว่า เพลงและดนตรีมีความสำคัญต่อหนัง เพราะจะช่วยดึงอารมณ์ของคนดู นอกจากนั้น ... ยังได้วิชา “นักพากย์” จาก “พันคำ” (พร้อมสิน สีบุญเรือง) ลูกชายของปรมาจารย์ทิดเขียว (สิน สีบุญเรือง) นักพากย์ชื่อดัง โดยในวันหนึ่ง ครูพันคำบอกให้รังสีพากย์นิทรา -สายัณห์ให้หน่อย แล้วก็หายตัวไป ผ่านรอบนั้น ครูพันคำบอกว่าใช้ได้ ที่แท้ ครูสอนโดยออกอุบายว่าไม่อยู่ แต่ไปแอบฟังอยู่ที่ชั้นล่าง ! แถมตั้งชื่อ “พรรณรังสี” ให้นักพากย์หน้าใหม่อีกต่างหาก
ครูรังสี ได้รับความไว้วางใจจาก “ฉลาง ประสงค์ผล” ผู้อำนวยการสร้างแห่งบูรพาศิลป์ ถ่ายทอดวิชาถ่ายภาพ และให้ก้าวเข้ามาเป็น “ผู้กำกับฯ ฝึกหัด” จากนั้นได้กำกับฯหนังเรื่องแรกคือ “ทาสรัก” จากบทประพันธ์ของ มนัส จรรยงค์ นำแสดงโดย รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังต่างประเทศที่เข้ามาฉายในเมืองไทยเป็นหนัง 35 มม.แล้ว สมัยสงคราม กองถ่ายหนังสงครามของสหรัฐอเมริกาและยุโรป จะใช้กล้อง 16 มม. เรียก “กล้องอายโม” สภาพกล้องดีและแข็งแรงมาก เมื่อภารกิจเสร็จสิ้น จึงขายกล้องและฟิล์มที่เหลือใช้ในราคาถูก คนไทยสมัยนั้นนิยมซื้อไว้ เริ่มต้นจาก หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ หรือ ท่านศุกรฯ เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำหนัง 16 มม.
ครูรังสีเป็นผู้กำกับคู่กับลูกสาวของฉลาง ประสงค์ผล ชื่อ “ประเทือง ประสงค์ผล” (ผู้กำกับหญิงคนแรกของเมืองไทย) หลังจากนั้นได้ออกจากบูรพาศิลป์ไปเป็นนักพากย์กับ “ครูน้อย กมลวาทิน” ....
ปี 2499 น้อย กมลวาทิน แห่งกมลศิลป์ภาพยนตร์จะสร้างหนังเรื่อง “สุดสายใจ” หมายตาให้ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง มาแสดงเป็นนางเอก คู่กับ เสถียร ธรรมเจริญ แต่เนื่องจากตัวนางเอกอยู่ในสังกัดของบูรพาศิลป์ จึงต้องอาศัยความคุ้นเคยของครูรังสีไปเจรจา ในที่สุดก็ได้ หลังภาพยนตร์เรื่องนี้ ครูได้แต่งงานกับ “หมู” สุภาพ คังคะโรจนะ ซึ่งเป็นดาราแสดงละครย่อย (ตลก) ในกลุ่ม ดอกรัก ก๊กเฮง ทั้งคู่รู้จักกันเมื่อถ่ายทำหนังของดอกดิน กัญญามาลย์เรื่อง “สุดที่รัก”
หลังปี 2500 เป็นต้นมา มีผลงานของครูรังสี ทัศนพยัคฆ์เป็นจำนวนมาก ครูเป็นผู้กำกับฯหนังผีเงินล้าน อย่าง “แม่นาคพระโขนง” ที่เสน่ห์ โกมารชุนเป็นผู้อำนวยการสร้างในนามของ “เสน่ห์ศิลป์ภาพยนตร์” แสดงโดย ปรียา รุ่งเรือง, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ในปี 2502 แม่นาคพระโขนงถูกวางให้เป็นหนังคั่นโปรแกรม ช่วง 14 วันก่อนปีใหม่ แต่ปรากฏว่า คนดูล้นหลาม แน่นทุกรอบจนหนังถอดโปรแกรมไม่ได้ ทำให้หนังที่วางไว้ต้องรอไปก่อน !
ปี 2505 ครูรังสี ร่วมหุ้นกับกิตติพงศ์ เวชภูญาณ, ดารณี ณ วังอินทร์ และอำนาจ สอนอิ่มศาสตร์ ตั้งจิตรวาณีภาพยนตร์ สร้างภาพยนตร์เงินล้านมากมาย
ปี 2512 ตั้งรุ่งสุริยาภาพยนตร์ โดยคนในครอบครัวถือหุ้น
ปี 2513 สร้างและกำกับ “มนต์รักลูกทุ่ง” ทำรายได้กว่า 6 ล้านบาท ฉายที่โคลีเซี่ยมนานถึง 6 เดือน ได้ชื่อว่าเป็นหนังระดับตำนานที่ถูกกล่าวขานถึงทุกวันนี้
จากกการรวบรวมผลงานของครูรังสีมีทั้งสิ้น 107 เรื่อง
ครูรังสี ทัศนพยัคฆ์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและเส้นโลหิตแตก โลหิตไหลลงกระเพาะอาหาร เสียชีวิตทันที เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2546 สิริอายุได้ 77 ปี