xs
xsm
sm
md
lg

“ศัลยา VS พรหมลิขิต” (ยกที่หนึ่ง) มีคลิป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : “ศัลยา VS พรหมลิขิต” (ยกที่หนึ่ง)

ละคร “พรหมลิขิต” ตอนที่ 26 จบบริบูรณ์ในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม กลับมีเสียงสะท้อนที่ค่อนข้างรุนแรงและเสียงดัง! ทีมละครถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะบทโทรทัศน์ “ละครออนไลน์” ได้คุยถึงละครเรื่องนี้ ในบ่ายวันพุธที่ 20 ธันวาคม กับอาจารย์แดง ศัลยา สุขะนิวัตต์ เกิดขึ้นก่อนที่เธอจะลั่นระฆังในเฟซบุ๊ก ยกที่หนึ่ง! ในวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม



พรหมลิขิต 2566

ยกที่หนึ่ง
พรหมลิขิตตอนจบรวบรัดเกินไป
นิยายเขียนคำว่า “จบบริบูรณ์ “ หลังจากฉากแต่งงานของพ่อริดเและพุดตาน
ต่อจากนั้นนิยายเขียนว่า “ตอนพิเศษ”ความยาว 4 หน้าหนังสือ
ในเมื่อเป็นตอนพิเศษ
จึงไม่เพิ่มไม่ลดไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ
บทละครจึงเหมือนนิยายทุกประการ
คำว่ารวบรัดเกินไปจึงขอมอบให้ตอนพิเศษของนิยายเรื่องนี้

ยังมียกต่อๆไป
1)คาแรคเตอร์ของพ่อริด เรื่องนี้ต้องพูดกันยาว
2) คาแรคเตอร์คนอื่นๆ : ไม่เหมือนนิยายแน่หรือ
3) ตัวละครหาย : คนเขียนบทหรือนิยายกันแน่ที่ทิ้งตัวละคร
4) เหตุการณ์พุดตานถวายตัวที่ไม่มีในนิยาย : ทำไม
5) บทอาฆาตแค้นของจันทราวดีต่ออทิตยาที่หายไป : เพราะอะไร
6 ศรีปราชญ์ : ตัวละครเจ้ากรรมตั้งแต่บุพเพสันนิวาส : มีและไม่มีเพราะอะไร
7) การเคารพบทประพันธ์และการเคารพวิถีการเขียนบทละคร: ศาสตร์ที่แตกต่างกัน
8)บทละครเหมือนนิยาย หรือต่อยอดจากนิยาย เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ : ต้องคำนวณ
9) การวิพากษ์วิจารณ์รวบยอดที่รุนแรงและไม่เป็นวัตถุวิสัย
ฯลฯ

และ “รอมแพง” เจ้าของบทประพันธ์ก็ได้โพสข้อความตอนหนึ่งในวันเดียวกันว่า

“ขอน้อมรับความผิดพลาดของนิยายพรหมลิขิต ที่ทำได้ดีที่สุดเท่านี้ และน่าจะไม่ดีพอที่จะทำเป็นละคร จึงทำให้ทีมละครโดนวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก รวมไปถึงความอ่อนด้อยในการตอบคำถามของพิธีกรและนักข่าวก็ยิ่งสร้างลำบากใจให้กับผู้เขียนบทและทีมละครที่ทำดีที่สุดแล้ว เป็นความผิดของดิฉันเองค่ะ....”

แน่นอนว่า แฟนคลับทั้ง 2 ฝ่ายก็มีความเห็นที่แตกต่างกันไป ผู้อ่านสามารถ เข้าไปอ่านในเพจของ Salaya Sukanivatt และ รอมแพง เพื่อประกอบข่าว !

อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตต์ คลุกคลีอยู่กับการเขียนบทโทรทัศน์มานานร่วม 40 ปี มีจุดเริ่มต้นที่ “ดาราวิดีโอ” ซึ่งเธอเป็นหลานแท้ๆของ “อาหรั่ง” ไพรัช สังวริบุตร เคยเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาก่อน ผ่านการดัดแปลงนิยายมาเป็นบทโทรทัศน์มากมายนับไม่ถ้วน กับงานเขียนหลากหลายแนว ของนักเขียนทั่วฟ้าเมืองไทย ทมยันตี , กฤษณา อโศกสิน, ว. วินิจฉัยกุล, โบตั๋น, ศรีฟ้า ลดาวัลย์ , ถ่ายเถา สุจริตกุล , กิ่งฉัตร, ศุภร บุนนาค ฯลฯ เป็นผู้เขียนบทละครพีเรียดมือหนึ่งคนหนึ่งของเมืองไทย ละครเหล่านี้คงเคยผ่านตาผู้ชมกันมาบ้าง คู่กรรม, นางทาส, สายโลหิต, รัตนโกสินทร์ ,นิรมิต, แผลเก่า, ดอกส้มสีทอง, จำเลยรัก, เมียหลวง ฯลฯ ล้วนแต่เคยผ่านมือเธอมาแล้วทั้งสิ้น และได้รับรางวัลต่างๆจากสถาบันต่างๆมากมาย

จากความสำเร็จของ “บุพเพสันนิวาส” ทางช่อง 3 เมื่อปี 2561 ที่โด่งดังเป็นพลุแตก ! ทำให้บรอดคาซท์ไทยเทเลวิชั่น ของ “หน่อง” อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ตัดสินใจสร้างภาคต่อ คือ “พรหมลิขิต” ที่ถ่ายทำกันตั้งแต่ปี 2564 และมาออกอากาศก่อนสิ้นปีนี้ แม้ว่า ก่อนหน้านี้จะเคยคั่นด้วยภาคแยกเป็นหนังเรื่อง “บุพเพสันนิวาส 2” !

“บุพเพสันนิวาส-พรหมลิขิต”
นวนิยายเรื่อง “บุพเพสันนิวาสและพรหมลิขิต” มีพล็อตที่เกี่ยวข้องกับความรักอันสดชื่น ผสมแฟนตาซีเล็กน้อย และแทรกด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา (พระนารายณ์, พระเพทราชา, พระเจ้าเสือ, พระเจ้าท้ายสระ) ซึ่งเกร็ดประวัติศาสตร์นี้ ใน “บุพเพสันนิวาส” มีมากกว่า “พรหมลิขิต” !

การดัดแปลงนวนิยายเป็นบทโทรทัศน์ ไม่ได้ยาก แต่ต้องคิดว่า จะทำให้ละครสนุกได้อย่างไร ?
“ในทางละครเป็นเรื่องหนักใจมาก เนื้อหาของนวนิยายทั้ง 2 เรื่อง จะเล่าไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีประเด็นอะไรที่เป็นเรื่อง Conflict ใหญ่โต จึงต้องหาอะไรที่มันเป็นจุดขัดแย้งอะไรบ้าง อย่างเช่น จะชวนกันไปเที่ยว เราต้องหาประเด็นที่อาจจะต้องลุ้นหน่อย เช่น ชวนครั้งแรกไม่ไป แล้วก็มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ต้องไป ทำนองนี้ เป็นสถานการณ์หนึ่ง แต่ถ้าไม่มีสถานการณ์พวกนี้ ละครจะไม่สนุก” อาจารย์ศัลยาบอกเคล็ดลับการเขียนบทละครกับ “ละครออนไลน์”
“เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อยุธยาในนิยาย ด้วยเอกสารทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้อย่างนั้น แต่ในการทำละคร เราต้องหาเหตุผลมารองรับ ต้องค้นเยอะ”

ปรับ 2 ประเด็น”ถวายตัว-เมียพระราชทาน"!
พ่อริด ในนวนิยาย เป็นพระเอกที่ไม่มีอุปสรรคใดๆเลย! ชีวิตราบเรียบ ไม่ต้องต่อสู้เพื่อตัวเอง เพื่อนางเอก หรือเพื่ออะไรทั้งสิ้น ทั้งขุนหลวงท้ายสระ ก็รู้ว่า ทั้ง 2 คนรักกัน พ่อริดจึงได้พุดตานมาอย่างสบายๆ

“ในประเด็นแบบนี้ราบเรียบเกินไป เป็นละครไม่สนุก ต้องปรับและตัดสินใจโดยไม่ลังเลใน 2 ประเด็นนี้ คือ เอาพุดตานไปถวายตัวกับขุนหลวง , ให้แพรจีนไปเป็นเมียพระราชทานของพ่อริด ซึ่ง 2 ประเด็นนี้ไม่มีในนิยาย!”

“ได้คุยกับคุณหน่องว่า ประเด็นความรักของพระเอก-นางเอกมันเฉยและนิ่งมาก ตามวิถีการเขียนบทละคร อันนี้ไม่เวิร์กแน่นอน ต้องปรับ มันเลี่ยงไม่ได้ เป็นการเปลี่ยนที่มั่นใจว่าไม่ผิด! แจ้งคุณหน่องว่า จะเปลี่ยนนะ แต่ไม่ได้บอกในรายละเอียด เราเป็นคนที่เคารพในบทประพันธ์เสมอมา ตัวนักประพันธ์ก็ต้องเคารพวิถีการเขียนบทละครด้วย” ศัลยา กล่าวกับ “ละครออนไลน์”

คิด Sub Plot เพิ่มให้ “แม่กลิ่น-หมู่สง"
ใน “บุพเพสันนิวาส” มีตัวละครชื่อ “แดง” เป็นบ่าวของแม่หญิงจันทร์วาด เสียชีวิตจากการจมน้ำ เพราะเหตุการะเกดสั่งบ่าว “ผินกับแย้ม” ให้ล่มเรือแม่หญิง ! “แดง” มาเกิดใหม่เป็นตัวละคร “แม่กลิ่น” ! ที่มีความโกรธแค้นพุดตานอย่างมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ !

ดังนั้น แม่กลิ่นจะเป็นตัวละครที่จะมาขยายเรื่องเวรกรรมที่กระทำต่อกันไว้ในอดีตชาติ จนมาถึงฉากจมน้ำและต้องช่วยกันจนรอดชีวิตในปัจจุบัน ทำให้พุดตานรู้เหตุผล จากนั้น แม่กลิ่นก็หายไปจากนิยาย

อีกเหตุผลหนึ่งคือ นักแสดงที่รับบท แม่กลิ่น-หมู่สง เป็นนักแสดงที่ทุกคนรู้จัก
“เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะเป็นความรับผิดชอบของเรากับผู้จัด, เรากับช่อง, เราเป็นเหมือนผู้ผลิตสินค้าตัวนี้ออกมา ทำให้สมกับที่ได้วัตถุดิบ (นักแสดง) นี้มา เพราะฉะนั้น จึงต้องคิดซับพล็อตของคนคู่นี้ขึ้นมา
“อาจจะถูกใจบางคนและไม่ถูกใจบางคน เพราะมันไม่เหมือนในนิยาย และอันนี้ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนนิยาย แต่เพิ่มเพื่อให้มันสมบูรณ์”

ไม่ใช่แค่แม่กลิ่นหรือหมู่สง ในนิยายเรื่องนี้มีหลายตัวละครที่ไม่มีจุดจบ แต่เมื่อเป็นละคร มันต้องปิดทุกตัวละคร

รวบรัด -จบเร็ว!
เมื่อละครออนไลน์ พลิกนวนิยาย”พรหมลิขิต” พบว่า
หน้า 527 - จบบริบูรณ์ (หลังพ่อริดแต่งงานกับพุดตาน)
หน้า 528 เริ่มต้น “ตอนพิเศษ” และ จบ ในหน้า 531
หน้า 532 – 524 บันทึกฉบับนี้ คุณหญิงวิสูตรสาครเป็นผู้เขียน
หน้า 535 เป็นภาคผนวก (หนังสืออ้างอิง)

อาจารย์ศัลยา กล่าวกับ “ละครออนไลน์” ว่า “หนังสือมันจบบริบูรณ์ ณ วันที่พุดตานแต่งงานกับพ่อริด และเขียนว่า จบบริบูรณ์ และหน้าต่อไปของหนังสืออีก 3 หน้าครึ่ง เป็นตอนพิเศษ”
“เราเขียนตอนพิเศษให้ตามนั้นแทบจะทุกคำ ตอนพิเศษเพิ่มเติมให้รู้ว่า เขาแต่งงาน มีลูกกี่คน ก่อนกรุงแตกฯจะอพยพแบบยกครัวไปอยู่ที่อื่น แล้วก็มีเรื่องพ่อเรืองตาย ซึ่งพ่อเรืองในนิยายมีอยู่นิดหน่อย ประปราย เป็นไข้ป่าจากที่ไหนก็ไม่รู้ รักษาอย่างไรก็ไม่รู้ อยู่ๆก็ตาย”

ศัลยา ยอมรับว่า ตอนพิเศษ มันรวดเร็ว รวบตึง ไม่เนียน และไม่ราบรื่น ทั้งมีแรงสะท้อนที่ค่อนข้างรุนแรง และเสียงดัง!

“พรหม(ไม่ได้)ลิขิต” ภาคแยก - แยกย้าย! ...

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์




































กำลังโหลดความคิดเห็น