xs
xsm
sm
md
lg

Scoop พิเศษ : 6 อาการทางจิตในซีรีส์ “Daily Dose of Sunshine” แม้แต่คนที่ดูปกติก็ป่วยใจได้เหมือนกัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เรื่องย่อ “Daily Dose of Sunshine”



คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า Daily Dose of Sunshine I รับแดดอุ่น กรุ่นไอรัก (2023) เป็นซีรีส์ชุดกราวน์ที่ดูแล้วหม่นเศร้าและฮีลใจในเวลาเดียวกัน แม้เนื้อหาจะค่อนข้างหนักเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวช แต่ทั้งผู้กำกับและทีมเขียนบทก็ทำออกมาได้เข้าใจง่าย ถ่ายทอดวิถีชีวิตของหมอและพยาบาทในวอร์ดจิตเวช และช่วยให้รับรู้ถึงโลกของผู้ป่วยจิตเวชได้อย่างน่าสนใจ จนเราไม่อยากจะเชื่อเลยว่า นี่เป็นผลงานของผู้กำกับ ‘อีแจกยู’ จากซีรีส์ซอมบี้ชื่อดัง All of Us are Dead บวกกับฝีมือการเล่าเรื่องของผู้แต่งและเขียนบท ‘อีราฮา’ อดีตพยาบาลแผนกจิตเวชที่ลาออกมาเป็นนักวาดการ์ตูน และ ‘อีนัมกยู’ (จากผลงานการเขียนบท The Light in your Eyes)

Daily Dose of Sunshine จึงจัดอยู่ในหมวดซีรีส์น้ำดีแห่งปี 2023 ที่จะชวนคุณร่วมสำรวจแผนกจิตเวช ผ่านพยาบาลปี 3 นาม ‘จองดาอึน’ (รับบทโดย พัคโบยอน) พร้อม ๆ กับการสำรวจจิตใจตัวเองผ่านเรื่องราวของผู้ป่วยแต่ละคน เพราะใคร ๆ ก็ป่วยใจด้วยกันทั้งนั้น

เผลอ ๆ หลังดูจบ 12 ตอนทาง Netflix คุณอาจจะนำไปฮีลตัวเองและคนรอบข้างได้อีกด้วย

โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar Disorder)

ซีรีส์เริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ ‘โอรีนา’ สาวสวยเพอร์เฟ็กต์และมีชีวิตที่น่าอิจฉา เธอมีสามีที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่แล้วเธอกลับป่วยด้วยโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ทำให้เธอเปลือยกายกลางที่สาธารณะและวิ่งไล่ตามผู้ชายที่ไม่ได้รักเธอ แม่ของโอรีนาอับอายมากจนต้องส่งตัวเธอเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมยองแพทย์ และเป็นผู้ป่วยคนแรกๆ ภายใต้การดูแลของจองดาอึน

คุณหมอเจ้าของไข้อธิบายเหตุผลที่เธอป่วยด้วยโรคไบโพลาร์ เกิดจากการที่รีนาถูกเลี้ยงดูมาราวกับไข่ในหิน เธอไม่เคยขัดคำสั่งของแม่และไม่เคยทำอะไรเพื่อตัวเองเลย มองจากภายนอกชีวิตของเธอช่างโชคดีและควรจะมีความสุขเหลือล้น ทำให้รีนาอดคิดไม่ได้ว่า เธอช่างโชคดีอย่างที่ทุกคนบอกจริงหรือ? เธอมีความขัดแย้งในใจตลอดเวลา และเก็บกดความรู้สึกทุกอย่างไว้ข้างในจนปะทุออกมาในที่สุด

โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์เปลี่ยนแปลงสลับกันไปมาคือ อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (mania) และซึมเศร้าผิดปกติ (depressed) พบได้ร้อยละ 2-5 ของประชากร ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะซึมเศร้าบ่อยกว่าอารมณ์ดี และมีส่วนน้อยที่พบความก้าวร้าวรุนแรง เกิดได้จากพันธุกรรม สารสื่อประสาททำงานไม่สมดุล การเลี้ยงดูในวัยเด็ก ความเครียด และความผิดปกติของไทรอยด์ ส่วนเคสของรีนาเกิดจากการเลี้ยงดูอยู่ในขนบเกินไป สุดท้ายด้วยคำแนะนำของหมอและจิตใจที่อ่อนโยนของดาอึน ทำให้รีนากล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแม่ และแม่ก็เปิดใจรับฟังรีนามากขึ้น

Gaslighting และโรคกลัวสังคม (Social Phobia)

‘คิมซองซิก’ อดีตหัวหน้างานในออฟฟิศแห่งหนึ่งที่มีชีวิตเรียบง่าย กระทั่งเจ้านายใหม่เริ่มทรมานจิตใจเขาในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้ซองซิกเชื่อว่า ตัวเองไร้ค่าอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นพฤติกรรมของ Gaslighting การควบคุมทางจิตใจรูปแบบหนึ่ง (psychological manipulation) ด้วยการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของความคลางแคลงใจ ความสงสัย และไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ซองซิกนอนไม่หลับและกลัวการเข้าสังคม ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมปรับตัวหลังเผชิญความกดดันจากการทำงาน ส่วนโรคกลัวการเข้าสังคมมักเกิดขึ้นหลังจากเผชิญเหตุการณ์น่าอับอาย การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ความรุนแรงในครอบครัว การถูกกลั่นแกล้ง และล่วงละเมิดทางเพศ

อาการของซองซิกเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนเจ้านายก็เพิ่มดีกรีความรุนแรงทางคำพูดและการกระทำกับเขาจนกลายเป็นเรื่องชินชา เมื่อซองซิกต้องพรีเซ็นต์ผลงานสำคัญ เขาถึงกับต้องขอพักเพื่อเข้าห้องน้ำ ทำให้เจ้านายโกรธจัดและไม่อนุญาตให้ซองซิกเข้าห้องน้ำในเวลางานอีกต่อไป ทำให้เขาหมกมุ่นอยู่กับห้องน้ำและสะสมความเครียดทั้งกายใจจนซองซิกพยายามฆ่าตัวตาย สิ่งที่ซองซิกเผชิญเป็นเรื่องธรรมดาในวัฒนธรรมการทำงานของเกาหลีที่กดดันและทำงานหนักเกินไป แต่สุดท้ายเขาก็กลับมามีความหวังในการใช้ชีวิตด้วยการรักษาของหมอ และกำลังใจจากแมวตาบอดที่เขารับเลี้ยง

โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder)

ขณะที่ ‘ซงยูซาน’ (รับบทโดย จางดงยุน) เพื่อนสนิทของดาอึนที่แอบรักเธอข้างเดียวมาตลอด ต้องต่อสู้กับอาการแพนิคเพียงลำพัง จนทำให้เขาถึงกับลาออกจากงานประจำเพื่อมาสานต่อธุรกิจร้านไก่ทอดของพ่อแม่ จนเมื่ออาการแพนิคแสดงออกอย่างรุนแรงและทำให้ยูซานถึงกับหมดสติ เขาได้รับความช่วยเหลือจาก ‘ดงโกยุน’ (รับบทโดย ยอนอูจิน) ศัลยแพทย์ด้านทวารหนัก และดาอึน ที่ร่วมกันดูแลและช่วยให้เขาเข้ารับการรักษาตัวจนสามารถกลับไปทำงานออฟฟิศได้อีกครั้ง

ในเวลาเดียวกันพยาบาลฝึกหัด ‘ซึงแจ’ (รับบทโดย ยูอินซู) ก็ต้องเผชิญกับอาการเดียวกัน ซึงแจป่วยด้วยโรคแพนิคหลังจากทำการทดลองปิดหูและเป่าลมออกจากหลอด ซึ่งเขาปกปิดอาการนี้ไว้เพราะกลัวว่า จะไม่สามารถเป็นพยาบาลแผนกจิตเวชได้ สุดท้ายซึงแจยอมเข้ารับการรักษาตัวจนแข็งแรงทั้งกายใจ และกลับมาเป็นพยาบาลแผนกจิตเวชในตอนท้ายของซีรีส์

ภาวะตื่นตระหนก เป็นการตอบสนองต่อความกลัวโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มักจะเกิดขึ้นกระทันหันเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ หรือสถานการณ์อันตราย ซึ่งอาการรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 20-30 นาที อาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ หรือกินเวลานานเป็นชั่วโมง ผู้ป่วยจะรู้สึกสูญเสียการควบคุม หัวใจจะวาย หรือกลัวตาย แม้จะยังระบุสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่เชื่อกันว่า แพนิคอาจเกิดจากพันธุกรรม ความเครียดสะสม ความอ่อนไหวต่ออารมณ์ลบ สมองและระบบประสาททำงานผิดปกติ โดยปกติหลังผ่านสถานการณ์ตึงเครียดจะหายไปเอง

โรคสมองเสื่อม (Pseudodementia)

หลังจากรู้ว่าลูกสาวถูกรังแกที่โรงเรียน ‘จูยอง’ คุณแม่ที่ทำงานหนักและติดมือถือรุนแรงก็เริ่มมีอาการของโรคสมองเสื่อม เธอหลงลืมว่าลูกสาวของเธอถูกเพื่อนรังแกในโรงเรียน ลืมว่าตัวเองจะทำอะไร และหลงลืมทางกลับบ้าน เธอจึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยภาวะสมองเสื่อมอันเกิดจากความเครียดเกินไป ทั้งเรื่องการทำงานและการดูแลครอบครัว

ชีวิตของเธอคล้ายคลึงกับเรื่องราวของพยาบาลอาวุโสในหวอดจิตเวชอย่างมาก ทั้งคู่ต่างพยายามเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ และเวิร์คกิ้งวูแมนที่ประสบความสำเร็จ เพราะสังคมเกาหลีมักคาดหวังให้ผู้หญิงอยู่บ้านเลี้ยงลูกมากกว่า ก่อนที่พวกเธอจะตระหนักได้ว่า ไม่ควรจะตึงเครียดกับการใช้ชีวิตมากเกินไป และควรจะหาเวลาให้ตัวเองได้มีความสุขเสียบ้าง

โรคสมองเสื่อม (dementia) เป็นภาวะที่สมองทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน มักจะแสดงอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หลงลืมง่าย คิดเงินไม่ถูก หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย มีพฤติกรรมแปลกจากเดิม พูดหรือถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ลืมนัดสำคัญ ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น เป็นต้น โรคนี้มีทั้งรักษาหายขาดและไม่หายขาด ส่วนของจูยองสามารถหายได้ด้วยการรับประทานยาและการให้เวลากับตัวเองมากขึ้น

โรคหลงผิด (Delusions Disorder)

‘ฮารัม’ สาวบ้านจนที่เพิ่งเรียนจบและกำลังหางาน แต่กลับถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินเก็บ 30 ล้านวอนไปจนหมด ทำให้เธอคลุ้มคลั่งและและพยายามฆ่าตัวตาย ฮารัมเป็นคนไข้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของดาอึน แต่เธอกลับหลงผิดคิดว่าดาอึนเป็นคนขโมยเงิน 30 ล้านวอนของเธอไป และตามทวงเงินด้วยวิธีรุนแรงต่าง ๆ นานา จนดาอึนถึงกับไม่เป็นอันทำงานและแอบไปร้องไห้เงียบ ๆ คนเดียว แต่เธอก็ยังไม่ถอดใจและสามารถช่วยเหลือฮารัมจากอาการหลงผิดได้ในที่สุด

เช่นเดียวกับ ‘คิมซอวาน’ ชายหนุ่มที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการหลงผิด เพราะความเครียดในการสอบบรรจุข้าราชการไม่ผ่านถึง 7 ครั้ง ซอวานเป็นเหยื่อของแรงกดดันทางสังคมที่เชื่อว่า การเป็นข้าราชการจะนำไปสู่ความสำเร็จและชีวิตที่มั่นคง สุดท้ายหลังทุ่มเทมาหลายปีเขาก็ตัดสินใจเข้าร้านเกมส์ ทำให้เขาหลงผิดคิดว่าตัวเองอยู่ในโลกของเกมส์ตลอดเวลา หลังจากเปลี่ยนยาใหม่และการดูแลเอาใจใส่อย่างดีของดาอึน ทำให้เขาค่อย ๆ หายเป็นปกติและกลับไปใช้ชีวิตตามเดิม แต่เมื่อกลับสู่โลกแห่งความจริงอาการของเขาก็กลับมา และซอวานตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง จนทำให้ดาอึนกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้าและต้องเข้ารับการรักษาเช่นกัน

ภาวะซึมเศร้า (Depression)

หลังการเสียชีวิตของซอวานทำให้ดาอึนพยายามทำงานหนักเพื่อลืมความเศร้า แต่แล้วเธอเริ่มมีอาการผิดปกติ ไม่อยากลุกจากเตียงติดต่อกันหลายวัน ไม่อยากกินข้าว และไม่ใส่ใจรูปร่างหน้าตาของตัวเอง เหมือนคนยอมแพ้กับทุกสิ่งในชีวิต แม้จะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากแม่และยูซานที่พยายามหาของกินอร่อยๆ มาให้ แต่เธอก็ปฏิเสธทุกอย่างและเอาแต่นอนอยู่บนเตียงตลอดวัน กระทั่งคุณหมอดงโกยุนมาหาเธอตามนัดตอบตกลงขอเป็นแฟน เขาก็รู้ทันทีว่าเธอป่วยด้วยโรคซึมเศร้า และเขาก็ช่วยชีวิตเธอจากความพยายามฆ่าตัวตายได้สำเร็จ

จากพยาบาลแผนกจิตเวชดาอึนกลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชเสียเอง เพราะความจิตใจดี มีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเป็นพยาบาลที่ใส่ใจคนไข้มากกว่าคนอื่น ๆ ทำให้เธอซึมซับความเจ็บปวดจากความรุนแรงและการตายของคนไข้ ซ้ำร้ายเธอไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วยเป็นซึมเศร้า วันแล้ววันเล่าในโรงพยาบาลที่ดาอึนต่อต้านการรักษา กระทั่งคุณหมอทำให้เธอยอมรับอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้ และสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ

ถึงอย่างนั้น ดาอึนก็ต้องเผชิญหน้ากับบรรดาญาติของผู้ป่วยที่รู้ข่าวการป่วยด้วยภาวะจิตเวชของเธอ และรวมตัวกันขับไล่ดาอึนออกจากโรงพยาบาล แต่ด้วยหัวใจที่เข้มแข็งและความรักที่หมอ หัวหน้า และเพื่อนร่วมงานมีต่อเธอ ทำให้ดาอึนสามารถเอาชนะทุกคำครหาได้และยังทำหน้าที่พยาบาลหัวใจอบอุ่นต่อไป เพราะงานของดาอึนคือสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขและทำให้เธออยากตื่นขึ้นมาพบกับเช้าวันใหม่ พยาบาลมีความหมายต่อชีวิตของเธอ และการพรากสิ่งนั้นไปจากเธอก็อาจจะทำให้เธอซึมเศร้าอีกครั้ง

ซีรีส์ Daily Dose of Sunshine ทาง Netflix ยังมีอาการทางจิตเวชเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องนี้ตลอดทั้ง 12 ตอน นอกจากจะทำให้คุณเสียน้ำตาแล้ว ยังเข้าใจโลกของผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น ไม่แน่ว่า บางอาการอาจจะเป็นภาวะที่คุณเผชิญอยู่ก็เป็นได้

ร้อยเรียงเรื่องราว : Rassarin
อ้างอิงเรื่องและภาพ :

https://mydramalist.com/

https://fugitives.com/mental-health-talk-in-daily-dose-of-sunshine-season1-2023-kdrama/

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/

https://www.bumrungrad.com/th/about-us/bumrungrad-international-hospital

https://www.psy.chula.ac.th/th/

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์


























กำลังโหลดความคิดเห็น