เกศสุรางค์ถามพุดตานถึง ‘ในหลวง ร.๙’ !
จะมีฉากนี้ในละครหรือไม่ ไม่แน่ใจ! แต่ความนี้ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “พรหมลิขิต” ของรอมแพง (จันทร์ยวีร์ สมปรีดา) เมื่อคราวที่การะเกด(เกศสุรางค์) ทราบความจาก ผิน-แย้ม บ่าวคนสนิทว่า มีสาวนางหนึ่งซึ่งมีหน้าลม้ายกับ “แม่นาย” โผล่มาแย่งชิง “คัมภีร์กฤษณะกาลี” กับหมื่นริด (หมื่นมหาฤทธิ์) ลูกแฝดน้องของนาง ที่บ้าน “ยายกุย” เจ้าของสวนผัก ในสังกัดออกญาวิสูตรสาคร ผู้เป็นสามีและพ่อของหมื่นริด คราแรกที่เกศสุรางค์พบและพูดคุยกัน ทราบว่า พุดตานข้ามภพจากกรุงเทพฯมายังอยุธยาเช่นเดียวกับเธอ ขณะที่เธอมาในปี 2552 แต่พุดตานมาในปี 2569 (อีก 3 ปีข้างหน้านะ) และอดไม่ได้ที่เกศสุรางค์จะถามถึงบ้านเมืองที่เธอเคยอาศัยอยู่ ... และนี่คือ เรื่องที่รอมแพงเขียนไว้ ! ในหน้า 257 – 258 (สำนักพิมพ์ แฮปปี้ บานานา)
“เมืองไทยยุคหนูเป็นอย่างไรบ้าง พัฒนาขึ้นมากไหม”
“จะว่าดีก็ดีค่ะ แต่อากาศร้อนขึ้นทุกวัน ยังดีที่มีเทรนด์ตื่นตัวกันทั้งโลกเรื่องปลูกต้นไม้ ต่อไปก็อาจจะดีขึ้นกว่านี้มั้งคะ”
“ดีจริง แล้วนี่หนูคิดจะทําไร่ทําสวนหรือจ๊ะ เห็นยกแปลงดินไว้ตั้งหลายแปลง”
“ค่ะ ตานจบทางด้านนี้มาค่ะ ก็เลยพอมีความรู้อยู่บ้าง แล้วก็ทํางานด้านตกแต่งสวนค่ะ เลยกะว่าจะทําไร่นาสวนผสม ดินจะได้ไม่จืดง่ายๆ แล้วคงจะเลี้ยงไก่เลี้ยงปลาด้วยค่ะ”
“เลิศค่ะ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง แล้วในหลวงทรงเป็นอย่างไรบ้าง ยังทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์อยู่หรือไม่จ๊ะ” พุดตานที่กําลังจะยิ้มชะงักยิ้มของตัวเองเล็กน้อย แต่แล้วก็ส่งยิ้มละมุนให้แก่คนตรงหน้าพร้อมกับตอบสั้น ๆ
“ค่ะ” ผลที่ได้คือยิ้มที่งดงามของคุณหญิงวิสูตรสาคร
“ตายจริง! คุณน้ามาตั้งนานแล้ว ตานยังไม่ได้ยกน้ำมาให้ดื่มเลย รอสักครู่นะคะ”
พุดตานรีบหันหลังเดินไปในเพิงครัว แล้วก็ถอนหายใจ ทั้งยังนึกลังเลว่าจะไปสารภาพว่าโกหกด้วยการบอกความจริงดีหรือไม่ หากเมื่อลองใคร่ครวญดูอีกทีก็ตัดสินใจปิดปากตัวเองไว้ ในยามที่รัชกาลที่ 9 สวรรคต เธออายุราวสิบขวบ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เธอฟื้นตัวจากอุบัติเหตุแล้วและจดจําเหตุการณ์ทั้งหมดได้เป็นอย่างดี เธอจึงทําใจที่จะบอกความจริงกับคุณน้าการะเกดไม่ได้จริงๆ ในเมื่อคุณน้าผู้นี้จากมาในปี 2552 อันเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ก็ควรให้ท่านจดจําช่วงเวลานั้นไว้ อีกทั้งท่านไม่น่าจะกลับไปยังช่วงเวลาของตัวเองได้แล้ว ก็คงจะดีกว่าสําหรับท่านที่จะไม่ต้องรับรู้ถึงการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยที่จงรักภักดี
นี่คือ ข้อความที่ปรากฎในนวนิยาย “พรหมลิขิต” หรือ บุพเพสันนิวาสภาค 2 ซึ่งกำลังเป็นละครโด่งดังในขณะนี้!