xs
xsm
sm
md
lg

สกู๊ปพิเศษ : ชีวิตรถขายยา ดูหนังไม่สะดุดต้องซื้อยานะพี่น้อง! (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : ชีวิตรถขายยา ดูหนังไม่สะดุดต้องซื้อยา!



วันนี้ “มนต์รักนักพากย์” กล่าวย้อนถึงหนังไทยในยุค 16 ม.ม. ซึ่งนักพากย์คือ ชีวิตที่วิ่งขนานไปกับฟิล์มที่ไหลเคลื่อนไปเป็นภาพที่แล่นบนจอผ้าขาวผืนใหญ่ข้างหน้า ในค่ำคืนที่มิดมืด!

มันเป็นเรื่องนานมาแล้ว .... หนังในเมืองไทยมีการพัฒนาการมายาวนาน ... ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ซึ่งเคยตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สามยอดในปัจจุบัน หนังเงียบ ขาว-ดำ สั้นๆเพียงนาทีเดียว ถูกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2440 มีผู้ชมราว 600คน เพื่อเป็น “ความบันเทิงใหม่” แทนการชมละคร ครั้งนั้น นาย เอส.จี. มาร์คอฟสกี เป็นคนแรกที่นำหนังมาฉาย และต้องฉายในสถานที่ปิด ไม่ได้โล่งแจ้งอย่าง “หนังเร่” ในเวลาต่อมา

ต่อมา เมืองไทยสร้างหนัง และเมื่อหนังถอดโปรแกรมจะผ่านไปยังจังหวัดห่างไกล ในรูปของ “หนังเร่” ซึ่งอาจจะเป็นหนังกลางแปลง ที่เจ้าภาพจ้างไปฉาย ในงานศพ งานบวช งานบุญศาลเจ้า ให้ชาวบ้านดูฟรี , หนังล้อมผ้า ซึ่งกั้นล้อมรอบบริเวณที่ฉายหนังด้วยการขึงผ้า หรือ สังกะสี หรือ เสื่อ คนดูต้องเสียเงินค่าดู หรือเอาสิ่งของมาแลกเป็นค่าดู , หนังขายยา ดูฟรี แต่จะแทรกการขายสินค้าเป็นระยะ อยากดูหนังต่อต้องซื้อของ นี่คือ ข้อแลกเปลี่ยน! ขาย “ยาสามัญประจำบ้าน” จำพวก ยาแก้ปวด, ยาอม, ยาหม่อง, ยาบำรุง บางบริษัทจะขายสินค้าทั้งอุปโภค-บริโภค สินค้าราคาไม่สูง ชาวบ้านจ่ายได้ ไม่ว่าจะขายสากกะเบือยันเรือรบ เรียกรวมๆว่า “รถขายยา” ทั้งนั้น

หนังขายยาคันเก่าๆ ข้างรถจะเพ้นท์ข้อความโฆษณาสรรพคุณของสินค้าให้สะดุดสายตาคน รถขายยาอาจจะมีรูปแบบอื่น เช่น เรือ และเกวียน ! ขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งจะไปว่าใช้พาหนะใดสะดวกที่สุด ตัวรถขายยาบนหลังคาจะติดตั้งลำโพง 2 ตัวยี่ห้อ ฮอร์น ด้านในจะติดตั้งเครื่องฉายขนาด 16 ม.ม. เครื่องขยายเสียง รวมถึงอุปกรณ์อื่น เช่น เครื่องปั่นไฟพร้อมตัวแปลงสัญญาณ โครงเหล็ก ข้าวของที่ทำให้เกิดเสียง บทพากย์ และผืนผ้าขาวเป็นจอหนัง

ตัวอย่างรถขายยา เช่น ห้างโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เรียกรถเคลื่อนที่คันนี้ว่า “หน่วยปลูกนิยม” เรียกเรือ ว่า “หน่วยเรือ” ขายยาแก้ท้องเสียอย่าง กฤษณากลั่น ตรากิเลน, ยาทัมใจ ฯลฯ , ห้าง เยาวราช ขายหมากหอมเยาวราช , ยาแก้ปวดตราถ้วยทอง ,ยาลดไข้เด็ก, แป้งหอมเย็นไอซีลีน ฯ , รถของถ่านไฟฉายตราห้าแพะ , ห้างถ้วยทองโอสถ, ห้างเพ็ญภาค ขายยาสตรีเพ็ญภาค, ยาดองเหล้าตราพระยานาค เป็นต้น

“ละครออนไลน์” ยกตัวอย่าง “รถหนังขายยาสตรีเพ็ญภาค” ซึ่งเป็นรถที่มีอายุเก่าแก่คันหนึ่งของประเทศไทย จัดแสดงไว้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย ณ หอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มีที่มาของรถคันนี้ว่า

พ.ศ. 2484-2488 นายเจือ เพ็ญภาคกุล เจ้าของร้านขายยาเก่าแก่ยี่ห้อ “เพ็ญภาค” เป็นผู้คิดจัดทำขึ้น โดยซื้อรถยี่ห้อดอดจ์ (Dodge) ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาเคยใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนำออกขายทอดตลาดหลังสงคราม นำมาแต่งรถสำหรับเร่ฉายหนังขายยา ตั้งแต่ปี 2492

พ.ศ. 2492-2520 รถหนังขายยาห้างเพ็ญภาค มีตัวถังสีฟ้าสดใส ตะเวนไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ก่อนจะชำรุดทรุดโทรม และปลดระวางในช่วงปี พ.ศ. 2520

เมื่อปลดระวางแล้ว ทางห้างได้นำไปเก็บที่สวนย่านคลอง 3 รังสิต ปทุมธานี ตั้งใจว่าจะบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ของห้างฯในอนาคต

พ.ศ. 2529 รถหนังขายยาคันนี้ได้เข้าแสดงฉากหนังขายยาในภาพยนตร์เรื่อง “พลอยทะเล” ของเชิด ทรงศรี

ปี 2543 หอภาพยนตร์แห่งชาติได้จัดทำพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย จึงขอรับบริจาครถหนังขายยาคันนี้จากบริษัท ห้างขายยาเพ็ญภาค (ตราพระยานาค) โดยนายสุรชัย ไทยชาติ ผู้จัดการห้าง ยินดีมอบรถเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์โดยผ่านรถคันนี้

ด้วยงบสนับสนุนของภาครัฐที่มีจำกัด ทำให้การซ่อมแซมในระยะแรกไม่สำเร็จ ยืดเยื้อมาถึงปี 2547 ก็ได้ “ประสิทธิ์ ดีศิลปกิจ” ผู้จัดการ บริษัท อีซูซุ อึ้งง่วนไต๋สุพรรณ จำกัด ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่รุ่นบุกเบิกของหอภาพยนตร์แห่งชาติ เมื่อ 20 ปีก่อนทราบเรื่อง จึงอาสานำรถคันนี้ไปดำเนินการบูรณะให้เองที่จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มจึงทำสำเร็จ และส่งมอบแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติในวันที่ 21 มกราคม 2549

รถหนังขายยาคันนี้ กลายเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หนังไทยที่บ่งบอกเวลาที่ผ่านมาในยุคหนึ่ง เมื่อ 74 ปีที่แล้ว

หนังขายยาเหล่านี้ จัดสรรความบันเทิงด้วยหนังที่มี “มิตร-เพชรา” แสดงนำ ไปยังสถานที่ห่างไกลความเจริญ ทำเช่นนี้ทำให้เสียงโฆษณาขายของหนักแน่น สามารถเรียกคนมาดูหนังได้มากกว่า ในสมัยนั้น โรงภาพยนตร์ในตัวเมืองมีน้อย ไม่คุ้มที่ชาวบ้านต้องเสียค่าเดินทาง เสียค่าตั๋ว , ทั้งโทรทัศน์ก็เข้าถึงยาก .... การตอบรับหนังขายยาจึงล้นหลาม นอกจากความสนุกแล้ว ยังเป็นสื่อกลางให้คนหนุ่มสาวหลายคู่มาพบเจอรู้จักกัน จนเป็นผัวเมียกันในเวลาต่อมา

หนังขายยา ส่วนใหญ่ใช้นักพากย์คนเดียว และต้อง “ขายของเก่ง” ! มีจิตวิทยาในการพูดหว่านล้อม ชักจูง ออดอ้อน ให้คนที่มาดูหนังให้ซื้อสินค้ากลับไปด้วย การฉายหนังจะหยุดพักเป็นช่วงๆเพื่อขายของ “แหม ... ไม่ซื้อได้ไง หนังกำลังมันส์ ซื้อยานะ...พี่น้อง รับรองดูหนังไม่สะดุด” ! มีรายได้เข้าเป้า หนังจะฉายต่อจนจบ แน่นอน

ชีวิตของคนในรถขายยาเหล่านี้ ค่ำไหนนอนนั่น ! ที่ไหนที่พอหลับนอนได้ บ่อยครั้งต้องอาศัยศาลาวัดนอนพักค้าง ตอนเช้า เรียกชาวบ้าน ขายของ “ส่งท้าย” อีกรอบ ก่อนเดินทางสู่หมู่บ้านอื่นๆต่อไป

พวกกะล่อน ลิ้นทอง ป้อสาวๆก็มี ดังจะเห็นได้จากหนัง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” (2544) ที่มาไข่ทิ้งไว้ ! (ผลงาน เป็นเอก รัตนเรือง สร้างจากบทประพันธ์ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ชมได้ทาง Netflix)

ในหนัง “มนต์รักนักพากย์” มีประโยคหนึ่งที่ หัวหน้ามานิตย์ (เวียร์ ศุกลวัฒน์) พูดกับภาพถ่ายของพระเอก มิตรว่า “ผมเป็นนักพากย์ขายยยา ผมพากย์เสียงคุณทุกวันเลยครับ”
เหมือนไม่มีอะไร แต่“นักพากย์” ในอดีต ย่อมเข้าใจความหมายอันลึกซึ้งซึ่งอวลในประโยคนี้เป็นอย่างดี

นิทรรศการ “รถหนังขายยา” หอภาพยนตร์แห่งชาติ มีชื่อ “มานิตย์ วรฉัตร” หัวหน้าหน่วยหนังขายยา ซึ่งตรงกับชื่อ “หัวหน้ามานิตย์” ในหนังเรื่องนี้ แค่ พ้องชื่อ และ / หรือ นำเกร็ดบางเรื่องราวในช่วงชีวิตนักพากย์มาแปลงเรื่องราวใส่ใน “ตัวละคร” ในหนังเรื่องนี้

ไหนๆแล้ว เรามารู้จัก “มานิตย์ วรฉัตร” กันหน่อย !

มานิตย์เป็นหลานชายเจ้าของโรงหนังเฉลิมกิจวัฒนา อ.เมือง จ. ยโสธร สนใจหนังมาตั้งแต่เด็ก เมื่อพ.ศ. 2510 อายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พากย์ “ขุนโจร 5 นัด” เป็นเรื่องแรก ได้ค่าแรง 20 บาทต่อเรื่องก่อนขยับเป็น 50 บาท

ปี 2515 ใช้ชื่อ “รวีวรรณ” ร่วมทีมพากย์โกญจนาท ซึ่งเป็นนักพากย์ที่โด่งดังในภาคอีสาน และต่อมาเป็นที่ปรึกษาทีมพากย์พันธมิตร การใช้ไหวพริบของนักพากย์นั้นสำคัญมาก เขาเล่าว่า เมื่อพากย์หนังไทยเรื่อง “ชุมทางเขาชุมทอง” ที่โรงหนังวารินชำราบ จ. อุบลราชธานี ปรากฎว่า หนังพากย์สดเป็นรอบที่ 4 แล้ว ผู้ช่วยในทีมง่วงนอน ฉากยิงปืนใส่กันอย่างดุเดือด ผู้ช่วยเผลอใส่เสียงหมาหอน ! เขาไหวตัวทัน ส่งเสียง “เห้ย...ใครไปยิงโดนหมาวะ” ผู้ชมชอบใจส่งเสียงฮากันทั้งโรง พลิกสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดี

ที่โรงหนังเจริญรัตน์ จ.อุดรธานี พากย์หนังฝรั่งเรื่อง “คอนวอย” เผลอเสียดสีตำรวจ ตำรวจเชิญตัวไปคุยและกักตัวไว้ ในข้อหาหมิ่นประมาท เจรจาไม่เป็นผล ! แต่ชาวบ้านโดยเฉพาะคนขับตุ๊กตุ๊ก สามล้อไม่พอใจ อยากดูหนัง เลยรวมตัวกันล้อมโรงพัก เรี่ยไรได้เงิน 2,000 บาท เสียค่าปรับแทน แล้วพามานิตย์นั่งรถสามล้อแห่กลับมาพากย์หนังต่อ

เมื่อปี 2520 มาทำงานกับบริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) เป็นฝ่ายโฆษณาภูมิภาค ตำแหน่งนักพากย์โฆษณา ออกเร่ฉายหนังกลางแปลงตามภาคอีสาน ได้เงินเดือน 5 หมื่นบาท และเบี้ยเลี้ยงวันละ 3 พันบาท

ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นนักพากย์ จนถึงวัยเกษียณ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงกับวงการหนังมาโดยตลอด เขารู้ว่า ฟิล์มหนังและการพากย์สดจะเริ่มสูญหายไป เขารักในสิ่งนี้ จึงต้องการอนุรักษ์และรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า ได้เห็นฟิล์มและเครื่องฉายหนังระบบ 8 ม.ม. 16 ม.ม. และ 35 ม.ม. ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต, ได้เห็นบทภาพยนตร์ ใบเซ็นเซอร์ และอุปกรณ์ในอดีต จึงก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 ที่บ้านในอำเภองาว จังหวัดลำปาง โดยดัดแปลงบ้านไม้หลังเก่าจำลองเป็นห้องฉายหนังเล็กๆ จุคนได้ประมาณ 30-40 คน ผนังห้องประดับด้วยโปสเตอร์หนังทั้งใหม่และเก่าที่หาชมได้ยาก มีเครื่องฉายหนังฟิล์มที่ทยอยซื้อเก็บไว้ หนังฟิล์มที่โด่งดังในอดีต อาทิ เพชรตัดเพชร, แม่นาคพระโขนง, วัลลี, เรือนแพ และสารคดีต่างๆ รวมกว่า 500 เรื่องอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ นี่คือ ตัวอย่างของ “มานิตย์ วรฉัตร” นักพากย์คนหนึ่งในยุคนั้น

ปัจจุบัน มีกลุ่มอนุรักษ์ หนังฟิล์ม และหนังกลางแปลง ซึ่งจะจัดฉายหนังในวาระต่างๆ เช่น ในเดือนนี้ ซึ่งตรงกับการเสียชีวิตของ “มิตร ชัยบัญชา” จะมีการฉายหนังประเภทนี้อยู่หลายโปรแกรม หลายสถานที่ เช่น พิพิธภัณฑ์มิตร ชัยบัญชา จังหวัด พิษณุโลก เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมผ่านมานี้ มีกิจกรรมฉายหนัง ในวาระครบรอบ 53 ปี หรือ ถ้าใครอยากรู้เรื่องเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับหนังไทยในอดีต ประเภทหนังฟิล์ม ติดตามได้จาก เพจ “ชุมทางหนังไทยในอดีต” ของ มนัส กิ่งจันทร์ , กลุ่มวันหวานวันวาน ซึ่งจะพบเรื่องราวที่จะพาคุณท่องไปในอดีต ... กับการตามหาม้วนฟิล์มหนังเก่าๆที่เคยรุ่งเรืองของหนังไทย รวมถึงฉากของหนัง และดาราต่างๆของหนังไทยในอดีต
นอกจากนี้ ระหว่างที่กรุงเทพฯ นี้ กำลังมีเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และสมาคมหนังกลางแปลงแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหนังถึง 22 เรื่อง ตลอดทั้ง 6 สุดสัปดาห์ ใน 7 สถานที่ เริ่ม 7 ตุลาคม -12 พฤศจิกายน 2566 ณ หัวลำโพง, ลานคนเมือง, ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง),สวนลุมพินี, การประปา แม้นศรี และดาดฟ้าลาซาล ติดตามรายละเอียดได้ที่ เพจ กรุงเทพมหานคร

มารู้จัก “เพ็ญภาค” กันหน่อย !
ห้างขายยาเพ็ญภาค ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2460 โดย ‘นายเจือ เพ็ญภาคกุล’ ก่อนหน้านี้ นายเจือ ทำงานอยู่ที่ห้างขายยาโอสถสภา เต็กเฮงหยู ซึ่งชอบพอกับ ‘สว่าง โอสถานุเคราะห์’ ลูกสาวของนายห้าง ต่อมาตัดสินใจแยกตัวออกมาทำธุรกิจเอง แล้วนำนามสกุลมาตั้งเป็นชื่อบริษัท ยาตัวแรกที่ผลิตคือ ยากฤษณากลั่นเพ็ญภาค, ยาแก้ปวดท้อง ก่อนจะผลิต ‘ยาน้ำสตรีเพ็ญภาค’ ตราพญานาค รูปสาวโบราณบนกล่อง คือ ภรรยาคนที่สองของนายเจือ นั่นเอง ยาน้ำสตรีเพ็ญภาคเป็นยาสตรีเจ้าแรกของเมืองไทย เริ่มขายในชุมชนชาวจีน เนื่องจากห้างขายยาเพ็ญภาคในยุคแรกนั้นเป็นแค่ห้องแถวเล็กๆ ตั้งที่สี่แยกวัดตึก ใกล้กับเยาวราช หลังปี 2500 ย้ายมาตั้งที่ซอยวัดสามพระยา ย่านบางลำพู และปรุงตัวยาอื่นๆขยายกิจการ ปี 2518 เปลี่ยนจาก “ห้างขายยา” เป็น “บริษัทขายยาเพ็ญภาค” , สุรชัย ไทยชาติ (ผู้มอบรถขายยาให้หอภาพยนตร์) เป็นลูกเขยของนายเจือ ซึ่งสมรสกับยุคลวดี เพ็ญภาคกุล ลูกสาวคนโตของนายเจือ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เพ็ญภาค ประกอบด้วย ยาสตรีเพ็ญภาค , ยาสตรีเพ็ญภาค สูตร 2 , ยาสตรีเพ็ญภาค สกัด ชนิดแคปซูล, เครื่องดื่ม วิตามินซี มะขามป้อม ซีซ่า , เครื่องดื่มสมุนไพร ตราพญานาค , ยาบำรุงร่างกาย ตราพญานาค เป็นต้น

รูป - ข้อมูล : อินเทอร์เน็ต

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์













ต้นโพธิ์ใหญ่ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สามยอด เคยเป็นที่ตั้งของ โรงละครมงคลบริษัท หรือ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ

“ที่เกิดภาพยนตร์ในสยาม”

หนังกลางแปลง

หนังล้อมผ้า

โฆษณาสินค้าข้างรถ บ. เยาวราช

รถของ บ. เยาวราช จำกัด

ประชาชนรายล้อมรถขายยาของโอสถสภา(เต๊กเฮงหยู)

คันขายยาคันเก่าของยาสตรีเพ็ญภาค

นายเจือ เพ็ญภาคกุล ผู้บุกเบิก

นิทรรศการ “รถหนังขายยา” พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย  หอภาพยนตร์แห่งชาติ

รถขายยาของห้างเพ็ญภาค

รถขายยา พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ





ประสิทธิ์ ดีศิลปกิจ บริษัท อีซูซุ อึ้งง่วนไต๋สุพรรณ จำกัด

รถขายยาคันเก่าก่อนซ่อมแซมของยาสตรีเพ็ญภาค เคยปรากฏในหนัง “พลอยทะเล” ปี 2529

มานิตย์ วรฉัตร ผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์หนังกลางแปลง ศูนย์อนุรักษ์ภาพยนตร์ย้อนยุค”

มนัส กิ่งจันทร์

พิพิธภัณฑ์มิตร ชัยบัญชา จ. พิษณุโลก














กำลังโหลดความคิดเห็น