xs
xsm
sm
md
lg

สกู๊ปพิเศษ : "มิตร ชัยบัญชา" กับฝันที่ไปไม่ถึง! (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : "มิตร ชัยบัญชา" กับฝันที่ไปไม่ถึง!



ปีนี้ ครบรอบ 53 ปีแห่งการจากไปของอดีตพระเอก “มิตร ชัยบัญชา” ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เราจะเห็นเขาผ่านหนัง ‘มนต์รักนักพากย์” ในช่วงเวลาเคยรุ่งเรืองที่สุดของหนังไทยในอดีต ... ก่อน “มนต์รักนักพากย์” จะสตรีมมิ่ง ทาง Netflix ในวันที่ 11 ตุลาคม นี้ ... นับถอยหลังไป 3 วันคือ 8 ตุลาคม จะเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุของ มิตร ชัยบัญชา ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” ณ บริเวณหาดดงตาล พัทยา เป็นข่าวที่ช็อกแฟนๆของพระเอกหนุ่มเป็นอย่างมาก เพราะเขาคือ ผู้ฝากผลงานภาพยนตร์มากถึง 266 เรื่อง ... และ “ความฝัน” สุดท้าย เพื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่ไปไม่ถึง !

ในวาระกึ่งศตวรรษ (50 ปี) อิงคศักย์ เกตุหอม ได้รวบรวมประวัติของมิตร ชัยบัญชา ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ในรูปของ E book เหตุเพราะ ได้ฟิล์มขาว-ดำ ภาพถ่ายของมิตร ชัยบัญชา จากเยาวเรศ นิสากร นางเอกซึ่งเป็นคู่ชีวิตของ สมชาย จันทวังโส ช่างภาพบันเทิงมือหนึ่งสมัยนั้น เป็นผู้ถ่ายและเก็บไว้

ก่อนหน้านี้ อิงคศักย์ เคยรวบรวมเรื่องของมิตร ชัยบัญชาในรูปของหนังสือมาหลายเล่ม เรียกว่า เป็น ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง มิตร ชัยบัญชาคนหนึ่งของเมืองไทย ปัจจุบัน ได้สละเพศฆราวาส ตั้งใจบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ตลอดชีวิตที่วัดแห่งหนึ่งใน จ. ชลบุรี

ละครออนไลน์ นำบางเรื่องราวที่อยู่ใน E book เล่มนี้มาเรียบเรียงและเล่าสู่กันฟัง ...

ชีวิต “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกตลอดกาลผู้นี้ เป็นลูกคนเดียวของ พ่อ “ชม ระวีแสง” และ แม่ “สงวน อินเนตร” เกิดที่ อ. ท่ายาง จ.เพชรบุรี ตอนเกิดพ่อกับแม่เลิกกันแล้ว เมื่ออายุ 2 ขวบ แม่สงวนต้องมาทำงานที่พระนคร จึงกระเตงลูกไปให้ปู่กับย่าเลี้ยง ซึ่งปู่-ย่า เรียกหลานชายคนนี้ว่า “บุญทิ้ง” และนำหลานไปฝากเณรแช่ม ลูกชายอีกคน น้องชายของพ่อชมเลี้ยง ที่วัดท่ากระเทียม จนเณรอายุได้ 20 ก็ย้ายไปจำพรรษาที่วัดสนามพราหมณ์ ก็เอาบุญทิ้งวัย 5 ขวบติดสอยห้อยตามไปด้วย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บุญทิ้งอายุได้ 8 ขวบ เรียนหนังสือที่ โรงเรียนประชาบาล วัดจันทร์ “น้าเสงี่ยม” ซึ่งเป็นน้องสาวของนางสงวนพร้อมสามี มาที่วัด ขอรับบุญทิ้งไปอยู่พระนคร ณ บ้านเลขที่ 207 ถนนพะเนียง หน้าวัดแค หรือวัด สุนทรธรรมทาน นางเลิ้ง เรียนหนังสือที่ โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถ. หลานหลวง เปลี่ยนชื่อจาก “บุญทิ้ง” เป็น “สุพิศ นิลศรีทอง” ด้วยเหตุที่มาแต่ตัวจากเพชรบุรี สูจิบัตรไม่มี จึงทำเอกสารใหม่ เป็นลูกชายของ “เสงี่ยม และบรรจบ นิลศรีทอง” ซึ่งเป็นสามีของน้า เพื่อจะมีสิทธิ์เบิกค่าเล่าเรียน

ช่วงเรียน ม. 1 ได้ฝึกหัดมวยกับ ประสิทธิ์ แชมป์มวยราชดำเนิน ซึ่งมีค่ายมวยอยู่ในย่านบางลำพู เคยขึ้นชกมวยกับนักเรียนรุ่นใหญ่จนได้เหรียญทอง ตอน ม.4

ปี 2497 อายุครบ 20 ปี จบมัธยมหก กำลังจะเรียนต่อโรงเรียนจ่าอากาศโยธิน ดอนเมือง นางสงวน แม่แท้ๆก็มาทวงคืนลูกชายจากน้องสาว การโอน “บุตรบุญธรรม” จึงเกิดขึ้น! กลายเป็น “สุพิศ พุ่มเหม” นามสกุลนี้ เป็นนามสกุลของเฉลิม พุ่มเหม สามีใหม่ของนางสงวน แม่แท้ๆ จึงเป็นแค่ “ป้า” ซึ่งเขาเรียกแม่แท้ๆว่า “ป้า” มาจนวาระสุดท้าย

อายุ 22 ปี จบหลักสูตร 2 ปี ได้รับพระราชทานยศ “จ่าอากาศโท” บรรจุเป็นครูฝึกทหารประจำกองพันต่อสู้อากาศยาน กองทัพอากาศ ดอนเมือง เปลี่ยนชื่อจาก “สุพิศ” ที่ดูนุ่มนวล เป็น “พิเชษฐ์ พุ่มเหม” ฉายา “จ่ามหากาฬ” ผู้เคร่งครัดในระเบียบวินัยของไอ้เณรทั้งหลาย

พิเชษฐ์ พุ่มเหม ใช้เวลาราว 6 เดือนในการย่ำเดินไปตามโรงหนังต่างๆ เพื่อขอสมัครเป็น “พระเอกหนังไทย” ย้ำว่า “พระเอก เท่านั้น บทอื่นไม่รับ!” จนคนในวงการภาพยนตร์ขณะนั้นรู้กันทั่ว พิเชษฐ์สูง 186 ซม. สูงสมาร์ท ผิวขาวละเอียด ผมหยักศก สันจมูกโด่ง ริมฝีปากได้รูปงดงาม ...

จ่าอากาศโทสมจ้อย ได้พา “พิเชษฐ์” ไปรู้จักกับ “กิ่ง แก้วประเสริฐ” นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา “ก. แก้วประเสริฐ” จากนั้นกิ่งก็นัด “ประทีป โกมลภิศ” ผู้กำกับฯ ให้มาดูตัวกันที่โรงแรมผ่านฟ้า ถนนนครสวรรค์ จากนั้น ประทีป ก็นัด “รังสรรค์ ตันติวงศ์” ผู้อำนวยการสร้าง “ชาติเสือ” ให้มาดูตัวว่าที่พระเอกกันที่โรงแรมเวียงใต้ บางลำพู วันนั้น รังสรรค์ควักเงินให้ 3 พันบาท เพื่อให้มิตรไปปรับลุค ตัดผม ซื้อเสื้อ กางเกง รองเท้า เตรียมเป็นพระเอกใหม่ของวงการภาพยนตร์ ประทีปถามเขาว่า สิ่งใดสำคัญสุดในชีวิต เขาตอบว่า “เพื่อน”! นั่นคือ ที่มาของคำว่า “มิตร” และความภาคภูมิใจคือ “ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราช” ประทีปจึงตั้งนามสกุลที่ใช้ในการแสดงว่า “ชัยบัญชา”

“ชาติเสือ” สร้างจากบทประพันธ์ของ อรวรรณ เป็นหนังเรื่องแรกของพระเอก มิตร ชัยบัญชา ในบท “ไวย ศักดา” แสดงคู่กับเรวดี ศิริวิไล ในปี 2501 เป็นหนัง 16 ม.ม.พากย์สด ถ่ายทำกันที่ โคกสำโรง จ. ลพบุรี ฉายเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ณ เฉลิมกรุงและเฉลิมบุรี กวาดรายได้ 8 แสนบาท เป็นพระเอกใหม่ที่เปล่งรัศมี และคนพูดถึงกันทั้งพระนครตั้งแต่นั้น ...

ปีถัดมา คือ “จ้าวนักเลง” จากบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต เป็นหนังที่มิตร ชัยบัญชาสวมบท โรม ฤทธิไกร สวมหน้ากาก “อินทรีแดง” คู่กับ อมรา อัศวนนท์ ด้วยทีมงานชุดเดิมจาก “ชาติเสือ” ถ่ายภาพโดย ไพรัช สังวริบุตร เป็นหนัง 16 ม.ม. พากย์สด ฉายที่ เฉลิมกรุงและเฉลิมบุรี

ผู้จัดการส่วนตัวของมิตร คือ บำเทอง โชติชูตระกูล ทั้งคู่คบหาเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เรียน ป. 1

ในปี 2504 เมื่อเขาอายุได้ 27 ปี พ่อแท้ๆ “ชม ระวีแสง” เดินทางมาพบลูกชายที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง มิตร ชัยบัญชา ดีใจมาก พร้อมอุปการะ จ่ายเงินเดือน, ปลูกบ้าน, ซื้อที่ดินทำกินให้ แต่เขาต้องมีปากเสียงกับแม่แท้ๆเป็นครั้งคราว เพราะแม่ไม่ให้อภัยพ่อ ขนาดไม่เผาผีกัน ! ปลายปีนี้ มิตร ประสบอุบัติเหตุขับรถชนเข้ากับรถขนควาย เจ็บหนักกว่า 2เดือน เล่นเอาคนทำหนังหายใจไม่ทั่วท้อง

ในปีเดียวกันนี้ เอก หรือนามแฝงว่า “ปัทมา เชาวราษฎร์” ชนะเลิศจากการประกวด “เทพธิดาเมษาฮาวาย” ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และได้รับการชักชวนจากศิริ ศิริจินดา และ ดอกดิน กัญญามาลย์ ให้มาเล่นหนัง “บันทึกรักของพิมพ์ฉวี” คู่กับ มิตร ชัยบัญชา โดยดอกดิน เป็นผู้ตั้งชื่อในวงการแสดงว่า “เพชรา เชาวราษฎร์” ต่อมา เจน จำรัสศิลป์ ให้ฉายาว่า “นางเอกสาวนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง” แฟนหนังถูกใจกับคู่พระ-นางนี้มาก และกลายเป็นแม่เหล็กที่ใครๆอยากจะได้ “ดาราคู่ขวัญ” นี้ร่วมแสดงในงานของตน

มิตร พูดเสมอว่า ไม่ใช่เพราะเขาหล่อกว่าพระเอกคนอื่น แต่เขาได้รับการอุปการะจากคนดูหนังไทย ซึ่งเขาถือว่าคนดูหนังไทยเป็นผู้มีพระคุณที่เขาจะไม่มีวันลืม ในแต่ละวันจะมีจดหมาย จ่าหน้าซองถึงมิตร ชัยบัญชา ไม่ต่ำกว่า 30 ฉบับส่งมาที่บ้านนางเลิ้ง เขาตั้งญาติๆให้มาช่วยดูแลจดหมายเหล่านี้ ด้วยการบันทึกที่อยู่ของแฟนๆทุกคนเก็บไว้ , ส่งรูปถ่ายตอบแทนกลับไป , ช่วงปีใหม่จะส่ง ส.ค.ส. ไปให้ทุกคน!

ที่กองถ่ายจะอยู่กินแบบง่ายๆ ในกองกินกันอย่างไร เขาก็กินอย่างนั้น ไม่ต้องมีอะไรพิเศษ เขาขอแค่ให้เพื่อนร่วมงานทำงานตรงต่อเวลา เท่านั้นพอ เพราะในแต่ละวัน เขาทำงานและไม่เคยผิดจากเวลานัดหมาย ! ฉะนั้น ... ถ้าเขารับนัดหมายเมื่อไหร่ จัดไฟ จัดฉาก รอได้เลย ไม่มีผิดพลาด ใน 1 เดือน เขาทำงานทุกวัน ทั้งงานราชการและงานภาพยนตร์ ยกเว้น วันที่ 15 ของทุกเดือน ที่เขาขอหยุดเพื่อพักผ่อนบ้าง ! เหตุผลที่เขาต้องทำงานทุกวัน ไม่ใช่แค่รายได้ส่วนตัว หากแต่เขาเห็นใจเจ้าของหนังที่มักจะไปกู้หนี้ยืมสินมา ดังนั้น ถ้าหนังเสร็จไม่ทันเวลา ภาระการจ่ายดอกเบี้ยก็จะติดตามมา การคืนเงินต้นได้เร็วเท่าไหร่ หนังก็จะได้กำไรมากขึ้น

เมื่องานภาพยนตร์มีมากขึ้น พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ พุ่มเหม ตัดสินใจยุติงาน “ทหารอากาศ” เมื่อ 31 พฤษภาคม 2506 แสดงหนังเพียงอย่างเดียว ! เช่นนี้ ทำให้เขามีเวลาในการแสดงหนังมากขึ้น ในจำนวนหนังทั้งสิ้น 52 เรื่องในปีนั้น เป็นหนังที่เขาแสดงเสีย 18 เรื่อง ชาวบ้านทุกคนมีสิทธิ์เห็นมิตร ชัยบัญชาในภาพยนตร์เท่านั้น งานบันเทิงอื่นๆ เช่น งานโชว์ตัว , ร้องเพลง, โทรทัศน์ ไม่รับทั้งสิ้น แต่จะขอรับแค่งานกุศลเท่านั้น ในช่วงที่เขามีชีวิตอยู่ได้บริจาคเงินร่วมกับเพื่อนนักแสดงให้กับวัดและมูลนิธิมากมาย ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่ม “กฐินดารา” นี่คือ มาตรฐานของพระเอกยอดนิยมคนนี้

ปี 2507 มีหนังไทยเข้าฉายจำนวน 41 เรื่อง เป็นหนังของมิตร ชัยบัญชาเสีย 16 เรื่อง

จากปี 2501 ที่เริ่มต้นแสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก จนถึงปี 2507 มีหนังทั้งสิ้น 57 เรื่อง แสดงคู่กับนางเอกถึง 24 คน และทุกเรื่องเป็นหนังในระบบ 16 ม.ม.ทั้งสิ้น

ปี 2508 ละโว้ภาพยนตร์ ของเสด็จพระองค์ชายเล็ก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ได้ติดต่อให้มิตรเป็นพระเอกหนังใหม่ ในระบบ 35 ม.ม. เรื่องแรกของชีวิต ที่สามารถบันทึกเสียงของนักแสดงลงไปในฟิล์มได้เลย ต่างจาก 16 ม.ม. ที่ต้องพากย์สด
“เงิน เงิน เงิน” เป็นหนังเพลง แสดงคู่กับ เพชรา เชาวราษฎร์ ถึงขนาดโฆษณาว่า
“เพลงพราว...ดาวพรู...ดูเพลิน เมื่อได้ชม เงิน เงิน เงิน ฉายแล้วจ้า...เฉลิมเขตร์ ไม่รวยก็ปิ๋ว...หนังมาตรฐาน ระบบซูเปอร์ซีเนสโคป สีอิสต์แมน เต็มจอยักษ์เฉลิมเขตร์ ฟัง 14 เพลงเพราะ จาก 15 ยอดนักเพลง - เพลงพราว ดาวพรู ดูเพลิน 62 ดารา 14 เพลงเอก ทั่วโลกยอมรับแล้วว่า "เงิน เงิน เงิน" เป็นหนึ่งไม่มีสอง! 35 ม.ม.เสียงในฟิล์ม ซุปเปอร์ซีเนสโคป สีอิสต์แมน” และหนังเรื่องนี้ทำรายได้สูงสุดในปี 2508 และ เป็นหนังที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ โดยหอภาพยนตร์ ปี 2555

ปีนี้ หนังเข้าทั้งสิ้น 67 เรื่อง แสดงโดยมิตร ชัยบัญชามากถึง 34 เรื่อง คู่กับนางเอกเพียง 2 คนเท่านั้นคือ เพชรา เชาวราษฎร์ และ พิศมัย วิไลศักดิ์
นับเป็นปรากฏการณ์ที่พระเอกคนหนึ่งได้ขับเคลื่อนหนังไทยด้วยพลังศรัทธาของแฟนหนังอย่างแท้จริง

ในปี 2509 เมื่อเขาอายุ 32 ปี จำนวนหนังไทยทั้งสิ้น 71 เรื่อง เป็นของมิตรถึง 38 เรื่อง และแสดงคู่กับเพชรา เชาวราษฎร์ถึง 30 เรื่อง จนในที่สุด สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงต้องมอบรางวัล “ดาราทอง” ให้กับเขา ดังนั้น เขาจึงเป็นคนแรก และคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ เมื่อคืนวันที่ 24 มีนาคม 2510

แล้วเขาก็ได้เปลี่ยนนามสกุล จาก “พุ่มเหม” มาเป็น “พิเชษฐ์ ชัยบัญชา” ปี 2510 หนังทั้งสิ้น 71 เรื่อง เป็นของมิตรถึง 37 เรื่อง

ไม่เพียงแต่เป็นดารานักแสดงเท่านั้น เขายังพยายามทุกทางในการผลักดันอุตสาหกรรมหนังไทยอีกด้วย ไม่ว่าจะแก้ปัญหากองถ่ายเงินหมุนเวียนไม่ทัน เขายินดีให้หมุนเงินไปใช้ก่อน โดยไม่มีดอกเบี้ย ขอเพียงแต่ผู้หยิบยืม “รักษาคำพูด” เท่านั้น จะคืนวันไหน ต้องวันนั้น ปี 2511 เป็นหนังของมิตร 36 เรื่องในจำนวนหนังทั้งหมด 84 เรื่อง

ปี 2512 กระแสหนังจีนกำลังภายในจากไต้หวันและฮ่องกงไปแผ่กระจายไปยังชุมชนไชน่าทาวน์ทั่วโลก เกิดกลุ่มธุรกิจไทย-จีนร่วมมือกันสร้างหนัง ด้วยการเอามิตร ชัยบัญชาไปเป็นพระเอก สัญญาเริ่มต้นที่ค่าตัว 1 แสนบาท ถ่ายหนังที่บ. ชอว์บาร์เดอร์ ฮ่องกง โดยบินไปทริปละ 7 วันต่อครั้ง และขณะที่ถ่ายทำเรื่องแรกคือ “อัศวินดาบกายสิทธิ์” เวอร์ชั่นที่ฉายในไทย นางเอกคือ เพชรา เชาวราฎร์ ส่วนเวอร์ชั่นที่ฉายในต่างประเทศ นางเอกคือ มิส กว่าน หลิง ระหว่างที่มิตรเล่นอยู่นั้น ได้เซ็นสัญญาว่าจ้างอีก 2 เรื่องติดกันคือ “จอมดาบพิชัยยุทธ” ซึ่งลือชัย นฤนาท ไปแสดงแทนคู่กับสุทิศา พัฒนุช และ “ดาบคู่สะท้านโลกันต์” ไชยา สุริยัน คู่กับเพชรา เชาวราษฎร์ ในปีนี้ มีหนังทั้งสิ้น 81 เรื่อง มีหนังของมิตรเข้าฉาย 35 เรื่อง หนัง “อัศวินดาบกายสิทธิ์” หรือชื่อเดิมที่วางไว้คือ “อภินิหารดาบทองคำ หรือ ดาบอาญาสิทธิ์” ซึ่งมาเปลี่ยนในภายหลัง และฉายหลังจากที่มิตร เสียชีวิต

ปี 2513 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายนั้น เขาอายุ 36 ปี ความฝันของเขาอย่างหนึ่งคือ มี “โรงหนัง ชัยบัญชา” ! ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาสังเกตว่า ในเทศกาลสำคัญๆ หนังต่างประเทศจะเข้ามาฉายในโรงหนังใหญ่ๆ หนังไทยเสียโอกาสในการทำรายได้ ดังนี้ เขาจึงต้องการสร้างโรงหนังชัยบัญชาที่ทันสมัย มีบันไดเลื่อนแห่งแรกของไทย มีลานจอดรถ และมีร้านค้าต่างๆรอบโรงหนัง การก่อสร้างจะใช้เวลาเพียง 2 ปี และฉายแต่หนังไทยเท่านั้น ที่ตั้งของโรงหนังแห่งนี้ คือบริเวณ ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า นั่นเอง และกำหนดวางศิลาฤกษ์ในเดือน ตุลาคม ! … นี่คือ ความฝันอันแสนงดงามของเขาที่ไปไม่ถึง !

เดือนพฤษภาคม 2513 ภาพยนตร์ “มนต์รักลูกทุ่ง” หนังไทยในประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่งของมิตร -เพชรา ซึ่งมีเพลงทั้งสิ้น 14 เพลง ฉายที่โคลีเซี่ยม นานถึง 6 เดือน กวาดรายได้มากถึง 7 ล้านบาท และรายได้ทั่วประเทศมากถึง 13 ล้านบาท เป็นหนังที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์แห่งชาติ โดยหอภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่เขาเป็นผู้กำกับการแสดง และหนังที่เขาแสดงเป็นเรื่องสุดท้าย การโหนบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ทำให้เกิดอุบัติเหตุร่างตกพื้นระหว่างการถ่ายทำ ณ หาดดงตาล พัทยา หนังสือพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศเสนอข่าวร่วมเดือน ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ที่วัดแค นางเลิ้ง พิธีพระทานเพลิงศพ วันที่ 21 มกราคม 2514 เคลื่อนศพจากวัดแคไปวัดเทพศิรินทราวาส มีประชาชนร่วมไว้อาลัยมากถึง 3 แสนคน มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า เป็นงานศพสามัญชนที่มีคนไปร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ !

กาลเวลาหมุนเวียนผ่านมาแล้ว กว่า 50 ปี วันนี้ หากคุณได้มีโอกาสเข้าไปที่วัดแค นางเลิ้ง ก็จะเห็น “หุ่นจำลอง” ที่ยังหลงเหลือและหลบอยู่มุมหนึ่ง ไม่ได้สะอาดสะอ้านนัก คนสมัยนี้ อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เขาคือใคร มีที่มาอย่างไร เกี่ยวข้องกับวัดแคนางเลิ้งอย่างไร ? สังเกตสักหน่อยจะพบว่า ในบ้านพักชาวบ้าน หรือร้านค้าย่านนี้ที่ตั้งมานาน จะมีรูปบูชา 3 บุคคลที่เกี่ยวข้องกับถนนเส้นนี้ไว้สักการะ นั่นคือ หลวงปู่ธูป วัดแค นางเลิ้ง , กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และ มิตร ชัยบัญชา เพราะทั้งสามมีเรื่องเล่ามากมายบนพื้นที่แห่งนี้ ...

ภาพ - ข้อมูล : อินเทอร์เน็ต

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์

มิตร ชัยบัญชา







มิตร ชัยบัญชา – เพชรา เชาวราษฎร์



เพชรา - มิตร - เยาวเรศ นิสากร


มิตร – เพชรา

มิตร - พิศมัย วิไลศักดิ์

“ชาติเสือ” หนังเรื่องแรก ในการแสดงของ มิตร

“จ้าวนักเลง” หนังเรื่องที่ 2 สุภาพบุรุษผู้สวมหน้ากากอินทรี !

หนังไทยกลุ่มหน้ากากอินทรี ของมิตร ชัยบัญชา







“อินทรีทอง” หนังที่มิตรเป็นผู้กำกับเรื่องแรก และเป็นการแสดงในเรื่องสุดท้ายในชีวิต

“เงิน เงิน เงิน” หนังเพลงและเป็นหนังเรื่องแรกที่มิตรแสดงในระบบ 35 ม.ม. ของละโว้ภาพยนตร์ มีรายได้สูงสุดในปี 2508

ภาพยนตร์อื่นๆของมิตร “เพชรตัดเพชร”

จุฬาตรีคูณ

“มนต์รักลูกทุ่ง” หนังเพลงที่โด่งดังมาก กวาดรายได้ทั่วประเทศถึง 13 ล้านบาท ในปี 2513

“อัศวินดาบกายสิทธิ์”  ถ่ายทำที่ชอว์ บราเดอร์ เป็นการร่วมมือของไทย-จีน เซ็นสัญญาเล่น 3 เรื่อง แต่เล่นได้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น อีก 2 เรื่องต้องให้ ลือชัย นฤนาถ, ไชยา สุริยัน , สุทิศา พัฒนุช เล่นแทน

 “อินทรีทอง” ที่มิตรจบชีวิตด้วยฉากนี้ เมื่อ 8 ตุลาคม 2513

หนังสือพิมพ์ทุกสำนักสมัยนั้นที่ลงข่าวการเสียชีวิตร่วมเดือนของมิตร ชัยบัญชา พระเอกยอดนิยม




กำลังโหลดความคิดเห็น