สกู๊ปพิเศษ : “ท่านยม-มัจจุราช” คือมนุษย์ ก่อนเป็นเทวดา “สายดาร์ก” !?
“ท่านยม” – พญามัจจุราช เป็นเรื่องเล่า! มีฐานะเป็น”มนุษย์” เหมือนเราๆท่านๆนี่แหละ ไม่ได้เป็นเทพ-เทวดาที่ไหน ? โลกคู่ขนานมี “ท่านยม” หรือไม่ สุดจะคาดเดาไม่มีใครทราบ! แต่ “ท่านยม” จากอดีตหลายพันปีก่อนเปลี่ยนบทบาทมาหลายครั้ง จนเป็นราชาโลกเบื้องต่ำสายดาร์ก สู่ “ผู้ชี้กรรม พิพากษาชั่ว-ดีของมนุษย์” ในสังคมไทย ท่านยมยังถูกนักพยากรณ์สร้าง “ตัวตน” เพื่อทำนายทายทัก !? ก่อนจะเล่าความเชื่อเดิม มารู้จัก “พิภพมัจจุราช” ละครที่ “กันตนา” นำเอา “ตัวเอก” จากภาพยนตร์โทรทัศน์เมื่อ 55 ปีที่แล้วมาสร้างเรื่องใหม่ ด้วยยุคนี้ ความดี-ชั่วมักจะเป็น “สีเทา” ไม่ได้แจ่มชัด มีสีขาว-ดำเหมือนสมัยก่อน จับตาดู “ยมโลก” เวอร์ชั่นนี้ว่า จะล้ำ เท่าทันความฉ้อฉลของมนุษย์ยุค 5G หรือไม่ ไม่เช่นนั้นการค้นหาความจริงและสร้างบรรทัดฐานความยุติธรรมก็สูญเปล่า!
“พิภพมัจจุราช” (2566) มี “เวลล์” - ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก เป็นผู้ดำเนินรายการ เสนอเรื่องราวสมมุติของบุคคลและเหตุการณ์ต่างๆมาร้อยเรียงเป็นละคร “ส่งเสริมสังคม” พิภพมัจจุราช มีตัวละครหลักได้แก่ มัจจุราช (เคลลี่ ธนะพัฒน์) , สุวรรณ( เบิร์ด - ธราธิป สีหเดชรุ่งชัย) ผู้คุมบันทึกกรรมดี คู่ปรับของ สุวาน(หรูหรา - ปิยะวัฒน์ รัตนหรูวิจิตร) ผู้ถือสมุดหนังหมา กรรมชั่ววันนี้ จะถูกบันทึกเป็นคลิปวีดีโอ ส่วนยมทูตสายบู๊ ผู้พาวิญญาณ คือ ยมนา (บอส - ธวัชนินทร์ ดารายน) และยมทูตสาวสายบุ๋น ผู้มาใหม่ในเวอร์ชั่นนี้คือ ยมณี (ฟิล์ม - ฉัตรดาว สุปรีย์ชา)
ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 29 สิงหาคม ทางกันตนาได้จัดบวงสรวงลานหน้าท้าวเวสสุวรรณ วัดจุฬามณี จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้บริหารของกันตนาพร้อมนักแสดง และ "หมอปลาย -ณวราชา พินิจโรคากร" มาร่วมงานนี้ และจัดทำเหรียญ "ท่านท้าวพญายมราช" ที่ผ่านพิธีเทวาภิเษกจากวัดสุทัศน์ เพื่อให้แฟนๆ สามารถร่วมสนุกลุ้นของที่ระลึก โดยละครเรื่องนี้จะออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เริ่ม ตอนแรกในวันเสาร์ที่ 2 กันยายนนี้ เวลา 17.00-18.00 น. ทางช่อง 7 HD
“พิภพมัจจุราช” (2511) เป็นหนังทางโทรทัศน์เมื่อ 55 ปีที่แล้ว สร้างโดย “รัชฟิล์ม”
ปี 2502 พันเอก พยุง ฉันทศาสตร์โกศล (บิดาของ ละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล นักเขียนบทโทรทัศน์) หรือ ยศในตอนนั้นคือ ร้อยโท พยุง พึ่งศิลป์ ประจำการที่กรมทหารสื่อสารได้รับการคัดเลือกให้มาช่วยงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ขาว-ดำ) หรือ ช่อง 5 ในปัจจุบัน ได้เห็นช่องทางทางธุรกิจเพื่อตอบสนองการเติบโตของสถานี จึงชักชวน ชาญ มหสรรค์ (บักโอว แซ่เบ๊) ซึ่งเป็นพนักงานขายที่ร้านเจี่ยคีเซ็ง เยาวราช ซึ่งนำเข้าฟิล์มถ่ายรูปและภาพยนตร์มาขายให้ช่อง 5 จึงรู้จักกับพันเอกพยุง และชักชวนมาร่วมก่อตั้ง “ห้างหุ้นส่วน รัชฟิล์ม จำกัด” ในปี 2508 โดยคำว่า “รัช” มาจากภาษาอังกฤษว่า “rush” ซึ่งหมายถึง “รีบเร่ง”
ระยะแรก รัชฟิล์มนำเข้าภาพยนตร์ชุดของต่างประเทศ ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น ที่ได้รับความนิยมสูง เช่น หนูน้อยบีเวอร์, แม่ชีกายสิทธิ์, ทหารเรือมาแล้ว, พยัคฆ์ร้าย007, สิงห์ทะเลทราย, ไอ้มดแดง,เจ้าหุ่นคอมพิวเตอร์, ยอดหญิงชิงโอลิมปิค รวมถึงภาพยนตร์การ์ตูน เช่น แคนดี้จอมแก่น, ผึ้งน้อยพเนจร,เออิชิ สมองกล ต่อมาจึงผลิตภาพยนตร์ขาว-ดำในปี 2511 เช่น “พิภพมัจจุราช” และ “ชุมทางชีวิต” ฯลฯ
“พิภพมัจจุราช” หนังชุดจบในตอน เป็นเรื่องราวของกฎแห่งกรรม ออกอากาศยาวนานถึง 8 ปี ทางช่อง7 (ขาว-ดำ) ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2511 – 30 มกราคม 2518 มีความยาวถึง 368 ตอน และนำมาออกอากาศอีกครั้งในระบบฟิล์มสี ใช้ขื่อ “พิภพมัจจุราช’20” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2520 - 4 พฤษภาคม 2522 จำนวน 86 ตอน ตัวละครหลัก คือ พญามัจจุราช (สิงห์ มิลินทาศัย), สุวรรณ (จรัล พันธุ์ชื่น), สุวาน (อดินันท์ สิงห์หิรัญ) และยมทูตคือ เทียว ธารา (ชื่อจริงคือ วิวัฒน์ พาหุรักษ์) ในแต่ละตอนจะมีนักแสดงรับเชิญแตกต่างกันไป ในช่วง 8 ปีนี้ ตัวละครสุวรรณ-สุวาน เปลี่ยนไปหลายชุด ต่อมามีทั้ง พิศาล อัครเศรณี, บู๊ วิบูลย์นันท์, บุญเก็บ โอสถจันทร์ ร่วมแสดงด้วย
เพลงประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์ในยุคนั้น ทั้งของรัชฟิล์ม และสยามฟิล์ม (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ดาราฟิล์ม และดาราวิดีโอ ตามลำดับ) ต้องยกให้ ครูมนัส ปิติสานต์ เพลงละครดังๆหลายเรื่องมาจากฝีมือครูทั้งสิ้น เช่น พิภพมัจจุราช, หุ่นไล่กา, ปอบผีฟ้า, แม่นาคพระโขนง, ดาวพระศุกร์, ขวานฟ้าหน้าดำ,กระสือ, สี่ยอดกุมาร ฯลฯ
เล่าว่า วันหนึ่ง ครูมนัส นั่งทอดอารมณ์อยู่ใต้ต้นไทร หน้าช่อง 5 พอ. พยุง เดินมาบอกให้ช่วยแต่งเพลงประกอบ “พิภพมัจจุราช” ให้เสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ ให้เงินมา 6 พันบาท พอได้เงิน ครูก็นำไวโอลินคู่กาย เรียกแท็กซี่ที่หน้าช่อง 5 ไปพระปฐมเจดีย์ และบอกให้รถรอรับกลับด้วย เพียงเวลาไม่นาน เพลงก็เสร็จ และในวันส่งมอบ ได้เงินมาเพิ่มอีก 5 พันบาท คนร้องเพลงนี้คือ วิเชียร ภู่โชติ
พิภพมัจจุราช เวอร์ชั่นนี้ นำเพลงเดิม มา Cover ใหม่! โดย “เวลล์” - ดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ กัลย์จาฤก
พญายม มีมากมายหลายชื่อ แต่คำที่คนไทยคุ้นเคยเช่น มฤตยู มัจจุราช (เทพเจ้าแห่งความตาย), ธรรมราชา (เจ้าแห่งความยุติธรรม) พระกาฬ (เจ้าแห่งกาลเวลา) ฯลฯ หรือนิยมเอาคำว่า “ยม” (ยับยั้ง) ไปสมาสกับคำอื่นเป็น ยมบาล, ยมทูต, ยมราช เป็นต้น ภาพในจินตนาการ ดุร้าย ตาวาว กายเขียว ห่มแดง ถือกระบองยมทัณฑ์ และมียมบาศไว้ล่ามวิญญาณ วิมานปูด้วยเหล็กและทองแดง ขี่ควายเป็นพาหนะ
“ท่านยม” หรือ พญามัจจุราช ผูกเป็นเรื่องตั้งแต่สมัยพระเวท ราว 1,500-500 ปีก่อนคริสตกาล พระยม ไม่ใช่ชื่อแต่เป็น “ตำแหน่ง” เรื่องเล่าในยุคแรกเป็นเพียง “มนุษย์” ในโลกเท่านั้น ไม่ได้เป็นเทวดาจากธรรมชาติเหมือนองค์อื่นในยุคพระเวท และไม่ได้เป็น “เจ้านรก” เป็นมนุษย์คนแรกที่สิ้นชีวิตลงและเดินทางไปสู่ยมโลกก่อนคนอื่น แดนสนธยานี้อาศัยแสงเรืองจากฟ้า เพื่อไม่ให้คนตายอื่นๆต่อมาหลงทาง พระยมจึงมีหน้าที่พาวิญญาณอื่นไปยังแดนสงบแห่งนี้ให้มนุษย์ที่ตายแล้วมาพบกันอีก
พระยมถูกต่อยอดด้วยเรื่องเล่าไปเรื่อย เช่น เป็นกษัตริย์กรุงไพศาลี อธิษฐานไปเป็นราชาในโลกเบื้องต่ำพร้อมไพร่พล ไปทำหน้าที่ในยมโลก เป็นตุลาการ,ผู้คุม, เพชฌฆาต ฯลฯ นายทะเบียนชื่อ เจตคุปต์ เป็นผู้เปิดเรื่องราวของคนตายให้พระยมพิจารณาความดี-ความชั่ว ยมโลกเหนือเป็นแดนสงบสุข ส่วนยมโลกใต้เป็นแดนโหดร้าย มีนรกทั้งสิ้น 21 ขุม พระยมต้องดื่มน้ำทองแดงวันละ 3 ครั้งจนกว่าจะสิ้นกรรมไปเกิดใหม่ พระยมมีน้องสาวฝาแฝดชื่อ “ยมี” เคยชักชวนพี่ชายให้มีสัมพันธ์ด้วย แต่พระยมใช้ความดุร้ายต้านทานไว้ บางแห่งว่า พี่น้องคู่นี้มีสัมพันธ์กัน ต่อมามีเมียอีกหลายคน คัมภีร์ปุราณะว่า ยมี ต่อมาคือชื่อ “แม่น้ำยมุนา” หน้าที่ของยมีคือ เป็นตุลาการ ควบคุมนักโทษหญิง
เมื่อเทวดาสมัยพระเวทถูกลดบทบาทลง พระเป็นเจ้าองค์ใหม่ๆ เช่น พระศิวะ, พระนารายณ์, พระพรหม ถือกำเนิดขึ้น นิทานบางเรื่องเขียนให้มหาเทพข่มกันเองเพื่อชิงความเป็นใหญ่ รวมถึงข่มพระยมก็มี และเรื่องที่คนไทยรู้จักกันดี คือ “สาวิตรี”
นิทานโบราณ เรื่องหนึ่งว่า “อชามิลา” ทำกรรมชั่วตลอดชีวิตไม่นับถือพระเจ้า ก่อนตายเรียกชื่อ “นารายณ์” ซึ่งเป็นชื่อลูกชาย บังเอิญว่า พระนารายณ์เทพเจ้าได้ยิน ก็ส่งบริวารมาตามเสียงเรียก เมื่อยมทูตเห็นบริวารพระนารายณ์จึงไม่กล้าทำอะไร อชามิลาจึงรอดชีวิตจากความตาย ! อีกเรื่องหนึ่ง ชายคนหนึ่งบูชาพระศิวะทั้งกลางวันและกลางคืน ทุกลมหายใจภาวนาแต่นามพระศิวะ เขามีอายุขัยแค่ 16 ปีเท่านั้น เมื่อถึงกำหนด ยมทูตได้ใช้บ่วงลากชายผู้คนนี้ไปพิพากษา พระศิวะทราบ จึงบุกยมโลกช่วยสาวก เตะพระยมซะงั้น!
“สาวิตรี” เป็นบทละครร้อง พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นเรื่องแทรกในคัมภีร์ “มหาภารต” เมื่อปี 2539 ทาง Dass Entertainment เคยจัดละครร้องเรื่องนี้เมื่อเดือน เดือนตุลาคม ณ โรงละครกรุงเทพ กำกับการแสดงโดย ฉลาดเลิศ ตุงคมณี นำแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์, จีรวุฒิ จันทร์ฉายแสง และรัชนีกร พันธุ์มณี
เรื่องสาวิตรีเล่าว่า ท้าวอัศวบดี สวดมนต์สรรเสริญนางสาวิตรี ผู้เป็นชายาของพระพรหม อยู่ 18 ปี จนพระนางพอพระทัยจึงประทานพรให้ท้าวอัศวบดีมีบุตร ต่อมาพระมเหสีประสูติธิดา นามว่าสาวิตรี ครั้นเมื่อทรงเจริญวัย ท้าวอัศวบดีตรัสให้นางเลือกชายมาเป็นสวามี
แม้จะมีบุรุษชาติอาชาไนยสมบูรณ์พร้อมจากแว่นแคว้นใด นางก็ไม่เลือก แต่กลับเลือก “พระสัตยวาน” บุตรชายของกษัตริย์ตาบอดที่ลี้ภัยมาพำนักในป่า นักพรตประจำตระกูลบอกกล่าวแก่บิดาของนางว่า พระสัตยวานสมบูรณ์พร้อมคุณธรรม และความกล้าหาญ แต่มีอายุอีกเพียง 1 ปีเท่านั้นก็จะสิ้นชีพ แต่นางก็ยืนยันตามเจตจำนงเดิม ในวันสุดท้าย ... นางสาวิตรีขอตามสวามีเข้าป่าด้วย แต่เนื่องจากพระสัตยวานปวดหัวมากจึงนอนบนตักนาง นางรู้ว่าถึงเวลาแล้ว ! พระยมมาคล้องวิญญาณพระสัตยวานด้วยบ่วงบาศเดินทางสู่ทิศใต้ เมื่อพระยมหันหลัง พบนางสาวิตรีเดินตามมาด้วย นางเจรจาด้วยความชาญฉลาด พระยมชื่นชมในความภักดีบอกจะให้พรนางข้อหนึ่ง ยกเว้นขอชีวิตสามี นางจึงขอให้พ่อสามีมีพระเนตรมองเห็นอีกครั้ง , เส้นทางต่อมา นางก็ยังตามอีก นางหลอกล่ออีก พระยมให้ขอพร นางขอให้บิดาของพระสัตยวานได้บัลลังก์คืน, นางยังคงตามพระยมอย่างไม่ลดละ พระยมเห็นความกล้าหาญ ก็ให้นางขอพร นางขอให้มีลูกมากถึง 100 คน นางได้รับพรนั้น นางจึงบอกว่า นางจะมีลูกได้อย่างไรหากปราศจากสามี พระยมจึงต้องพ่ายแพ้ในความฉลาดของนาง ปล่อยวิญญาณของพระสัตยวานกลับสู่ร่าง เมื่อตอนพลบค่ำทั้ง 2 พระองค์จึงเดินทางกลับอาศรม ปรากฏว่า บิดาตาบอดได้กลับมามองเห็นเหมือนเดิม และต่อมา ผู้แย่งชิงสมบัติได้เสียชีวิตลง จึงได้กลับไปครองราชบัลลังก์ตามเดิม
พระยม ในฐานะ “เทพแห่งความตาย” เป็นนิทานโบราณที่ทุกชนชาติมีเหมือนกัน เรียกชื่อและมีเรื่องราวที่แตกต่างในรายละเอียด
กรีก เรียก เฮดีส หรือ ฮาเดส คือ ราชาแห่งโลกบาล เป็นเทพเจ้าแห่งนรกและความร่ำรวย
ญี่ปุ่น เรียก เอมมะ
พญายม คนจีนเรียก เหงี่ยมล่ออ๊วง และยังมีเทพช่วยงานในยมโลกอีกหลายพระองค์ บางแห่งว่า “เปาบุ้นจิ้น” กลางวันตัดสินคดีโลก กลางคืนตัดสินคดีโลกวิญญาณ
ในช่วงนี้ เป็นเดือน 7 จีน ทางยมโลกจะเปิดประตูนรกให้วิญญาณมาเยี่ยมญาติและรับบุญกุศลได้ ลูกหลานจะทำพิธีเซ่นไหว้ในเทศกาลสารทจีน (ปีนี้ ตรงกับ 30 สิงหาคม 2566) ในเทศกาลนี้ตามวัดในฝ่ายมหายานทั้งวัดจีน-วัดญวน รวมถึงศาลเจ้าของเทพเจ้าฝ่ายเต๋า และมูลนิธิสาธารณกุศลต่างๆ เช่น มูลนิธิปอเต็กตึ้งหรือโรงเจต่างๆ ก็จัดงานบุญทิ้งกระจาด แจกข้าวสาร อาหารแห้งทำทานแก่ผู้ยากไร้ และตามประเพณีนี้ จะตั้งรูป “ไต้ซือเอี้ย” นิรมาณกายหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นมัจจุราชในรูป “ราชาแห่งภูติผี” เป็นประธานเทศกาล มีหน้าที่กำกับไม่ให้ภูติผีแย่งชิงอาหารกัน
วันนี้ ถ้าเราพูดถึง พระยมหรือพญามัจจุราช ไม่มีใครพูดถึงมนุษย์คนแรกที่เสียชีวิตอีกต่อไป มีเพียงความเชื่อว่า “เทพเจ้าแห่งความตาย” นั้น ดุร้ายนัก! เป็นตุลาการตัดสินชี้ชะตา ลงโทษตามบุญ-บาปของมนุษย์ ! แต่น่าคิดว่า ทำไม ? ความชั่วร้ายในโลกกลับไม่ได้ลดลงเลย !
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจากอินเทอร์เนต
ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/
#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์