Thai PBS & Documentary Club สะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่าน VIPA Film Festival
ไทยพีบีเอส ร่วมมือกับ Documentary Club จัดเทศกาลภาพยนตร์ VIPA Film Festival เปิดวงเสวนา “3 เรื่อง 3 วัน 3 ประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ” สะท้อนมุมมองผ่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ร่วมวิเคราะห์และชวนตั้งคำถามถึงชีวิต “คนทำงานในโลกยุคใหม่ บทบาทมนุษย์แม่ และความเป็นอยู่ในเมืองใหญ่” ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบสารคดี ดูฟรีกับ 3 ภาพยนตร์สารคดีระดับโลกผ่านแอปพลิเคชัน VIPA แพลตฟอร์มสตรีมมิงสัญชาติไทยจากไทยพีบีเอส ได้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2566
กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า VIPA ได้ร่วมมือกับ Documentary Club ชุมชนสำหรับคนรักหนังสารคดี ร่วมกันคัดสรรเนื้อหาคุณภาพสอดคล้องกับทิศทางการสะท้อนปัญหาสังคม โดยนำเสนอผ่านสารคดีสะท้อนความเหลื่อมล้ำในกิจกรรมเทศกาลภาพยนตร์ VIPA Film Festival ระหว่างวันที่ 21 - 23 กรกฎาคม 2566 พร้อมจัดกิจกรรมเสวนาสะท้อนมุมมองความเหลื่อมล้ำผ่านภาพยนตร์สารคดี จำนวน 3 เรื่อง เพื่อร่วมพูดคุยในประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกัน
นอกจากนี้ VIPA ยังเปิดพื้นที่นำเสนอเนื้อหาสารคดีคุณภาพที่หาชมได้ยาก ผ่านระบบสตรีมมิงคุณภาพสูง ตั้งเป้าไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อให้โอกาสผู้ผลิตคอนเทนต์ไทยสร้างสรรค์ผลงานเผยแพร่สู่สายตาผู้ชม พร้อมยังมีบริการพิเศษให้ทุกกลุ่ม (VIPA For All) ด้วยบริการ “เสียงบรรยายภาพ” หรือ Audio Description (AD) ช่วยให้คนตาบอดเข้าใจภาพผ่านการรับฟังเสียง นอกจากนี้ยังมีบริการ “ภาษามือ..ใหญ่เต็มจอ” หรือ Big Sign และ “คำบรรยายแทนเสียง” หรือ Closed Caption (CC) เพื่อคนหูหนวก
ข้อมูลภาพยนตร์สารคดีสะท้อนความเหลื่อมล้ำ 3 เรื่อง 3 มุมมอง ประกอบด้วย
•After Work เป็นสารคดีฝีมือการกำกับของ อีริก แกนดินี (Erik Gandini) ผู้กำกับลูกครึ่งสวีเดน - อิตาลี ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของปัญหาการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงาน เมื่อเทคโนโลยีและ AI เข้ามาแทนที่ แล้วมนุษย์ไม่มีงานทำ เราจะใช้ชีวิตกันอย่างไร? สารคดีที่ชวนให้มองย้อนไปสำรวจว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ศตวรรษที่ผ่านมา มนุษย์ถูกทำให้เชื่อว่า “งาน” คือ “ความหมายของการดำรงชีวิตอยู่” จนดูเหมือนว่าเราจะไม่หลงเหลือจินตนาการถึง “งาน” ในรูปแบบอื่นได้อีกต่อไป
•May I Quit Being a Mom? สารคดีเกี่ยวกับแม่มือใหม่ที่เผชิญกับอาการซึมเศร้าหลังคลอด และต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจในการเลี้ยงลูกพร้อมกับเยียวยาตัวเองจากความทรงจำเรื่องแม่ที่ฆ่าตัวตาย เป็นสารคดีที่จับประเด็นของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องเสียสละ และร้องไห้ขอความช่วยเหลือจากสังคมรอบข้างไปพร้อมกัน
•Push สารคดีที่ถ่ายทอดปัญหาผ่าน Leilani Farha ผู้รายงานพิเศษของ UN ด้านสิทธิที่อยู่อาศัย ได้เดินทางทั่วโลกเพื่อค้นหาว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เมืองใหญ่กลายเป็นสถานที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย ทั้ง ๆ ที่ “การมีที่อยู่อาศัยถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ” แต่กลับพบว่า ราคา “บ้าน” กำลังพุ่งสูงขึ้นในทุกประเทศ ทำให้บางคนต้องถูกขับไล่ออกจากเมืองเนื่องจากปัญหาราคาที่อยู่อาศัย
สามารถรับชมพร้อมกันครั้งแรกในประเทศไทยได้ในงาน VIPA Film Festival และทางแอปพลิเคชัน VIPA พร้อมกันตั้งแต่ 21 กรกฎาคมนี้ สำหรับผู้ที่เข้าร่วมรับชมที่โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub. ยังได้ร่วมกิจกรรมเสวนาใน 3 ประเด็นวาระความเหลื่อมล้ำ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านร่วมเสวนา ครั้งแรกจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 18.00 น. หัวข้อ “คนทํางานในสังคมทุนนิยม” โดยมี รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส และ ฉัตรชัย พุ่มพวง ตัวแทนสหภาพคนทำงาน ร่วมกันสะท้อนปัญหาแรงงานไทยในยุคการเปลี่ยนแปลง พร้อมฉายภาพยนต์สารคดีเรื่อง After Work ที่พูดถึงปัญหาแรงงานในโลกยุคใหม่
สำหรับประเด็นที่สอง จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.30 น. ฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง May I Quit Being a Mom? พร้อมกับการร่วมเสวนาโดย ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะ เด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ร่วมเป็นวิทยากร สะท้อนปัญหา “วิถีมนุษย์แม่ ดิ้นรนต่อสู้เพื่อลูก”
และประเด็นสุดท้าย สารคดีเรื่อง Push จัดฉายพร้อมเสวนาในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2566 เวลา 15.30 น. โดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และ รศ. ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ร่วมเป็นวิทยากรสะท้อนปัญหาความยากลำบากในการเข้าถึงบ้านในเมืองใหญ่
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ VIPA Film Festival ณ Doc Club & Pub. ซอย สาทร 2 แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. สามารถลงทะเบียนร่วมชมสารคดีและเสวนาได้ที่ LINE @VIPAdotMe ที่ www.thaipbs.or.th/LINEVIPA จำกัดวันละ 50 ที่นั่งเท่านั้น! หรือรับชมสดการเสวนาผ่านทาง www.VIPA.me , แอปพลิเคชัน VIPA, Facebook และ YouTube VIPAdotMe