สกู๊ปพิเศษ : ‘คุณพุ่ม’ กวีหญิงตัวตึง ปากเก่ง ค่อนเจ้านายในราชสำนัก!
เรื่อง “คุณพุ่ม” เจ้าของฉายา “บุษบาท่าเรือจ้าง” กวีหญิง ตัวตึง ฝีปากกล้า ไม่กลัวใคร ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เข้ามาเกี่ยวพันกับละครไทยหลายเรื่องในช่วงหลัง “คุณพุ่ม” ถูกพูดถึงในละครเรื่อง “หมอหลวง” EP.11 ทางช่อง 3 ซึ่งช่วงรัชกาลที่ 3 กวีฝ่ายชายที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 2 และคนไทยรู้จักดีคือ “สุนทรภู่” ได้บวชลี้ภัยในรัชกาลนี้ นักแสดงที่เล่นบทสุนทรภู่บวชในเรื่องนี้คือ เพ็ญเพ็ชร เพ็ญกุล
ช่อง 7 HD ละคร “เภตรานฤมิต” ผู้รับบทคุณพุ่มคือ “นิศาชล สิ่วไธสง”
ทั้งคุณพุ่มและสุนทรภู่ ยังถูกเขียนให้มีบทบาทร่วมแสดงในละคร“บุษบาลุยไฟ” ละครเรื่องล่าสุดของไทยพีบีเอส “บัว” ภัทรสุดา อนุมานราชธน รับบท “คุณพุ่ม” ส่วน สุนทรภู่ ผู้แสดงคือ “ทอม” จักรกฤต โยมพยอม ผู้เคยชนะแฟนพันธุ์แท้ “สุนทรภู่” มาแล้ว ละครเรื่องนี้ยังมีบุคคลในประวัติศาสตร์ท่านอื่น อาทิ หมอบรัดเลย์ (อาร์เธอร์ อภิชาติ กานโยซ์) และผู้เป็นภรรยา เอมิลี (ฟาริด้า วัลเลอร์ ) , เล่าเรื่องว่า นางเอกของเรื่อง “ลำจวน” (เฌอปราง อารีย์กุล) ผู้หญิงสามัญชน ผู้ใฝ่หาชีวิตลิขิตเอง ใส่ใจหาความรู้ เรียนหนังสือ ผิดจากผู้หญิงในยุคนั้น เธอมี “คุณพุ่ม” กวีหญิงเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต !
ประวัติศาสตร์ ช่วงรัชกาลที่ 3-4-5 เป็นรอยต่อการก้าวสู่สยามใหม่ ไทยเริ่มมีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกมากขึ้น มีนักปราชญ์ไทย อุดเรื่องเก่าสมัยโบราณด้วยการเติมความเชื่อ สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่อให้ต่างชาติยอมรับว่า สยามเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน แต่ไม่ได้รอบด้านอย่างที่ควรจะเป็น
ในช่วงรัชกาลที่ 3 ยังมีภาพยนตร์อย่าง “บุพเพสันนิวาส2” ซึ่งร่วมด้วยบุคคลประวัติศาสตร์หลายท่าน เช่น หมอบรัดเลย์, บาทหลวงปาลเลอกัวซ์, โรเบิร์ต ฮันเตอร์, สุนทรภู่ และ เสด็จในกรม ? และในเดือนสิงหาคมนี้ ภาพยนตร์ลึกลับ สืบสวน สอบสวนเรื่อง “แมนสรวง” ก็อยู่ในยุคนี้เช่นกัน และสร้างเรื่องราวให้เกิดในโรงละคร สถานเริงรมย์ในยุคนั้น เข้าใจว่า น่าจะได้แรงบันดาลใจจากโรงละครของหม่อมไกรสร ที่เป็น LGBTQ+ ในยุคต้นรัตนโกสินทร์
คุณพุ่มคือใคร !?
ประมาณกันว่า “คุณพุ่ม” น่าจะเกิดในช่วง พ.ศ. 2348-2350 เป็นลูกสาวของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุล “ภมรมนตรี” บ้านเดิมของพ่อเมื่อรัชกาลที่ 3 ยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ตั้งอยู่ที่บริเวณวัดคฤหบดีในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อกรมหมื่นฯ ทรงครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานบ้านหลวงที่บริเวณท่าพระ (ท่าช้าง วังหลวง) ให้พระยาราชมนตรีบริรักษ์
คุณพุ่ม ธิดาของพระยาราชมนตรีบริรักษ์เป็นกุลสตรี ได้รับการศึกษา ทั้งด้านอักษรศาสตร์, ประวัติศาสตร์ ศาสนา และโหราศาสตร์มาเป็นอย่างดี มีความรู้รอบตัวดีมาก มั่นใจในตัวเองสูง คุณพุ่มเมื่อแรกเป็นข้าราชการฝ่ายใน ตำแหน่ง “พนักงานพระแสง” รับราชการอยู่ระยะหนึ่ง เหตุที่ไม่สบายจึงขอลาออกมาอยู่บ้านพ่อ มีชื่อเสียงในแต่งกลอน สมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ชอบเล่นเพลงยาวและบทดอกสร้อยสักวา (สักรวา) กันอย่างแพร่หลาย เมื่อคุณพุ่มอยู่แพหน้าบ้านพ่อ ก็จะมีเจ้านายมาเล่นสักวากับคุณพุ่มอยู่เสมอ เช่น เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือ เจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) รวมถึงข้าราชการท่านอื่นๆ เช่น หลวงนายสิทธิ์ หรือ จมื่นไวยวรนาถ หรือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ในเวลาต่อมา
ในสมัยรัชกาลที่ 4 คุณพุ่มได้อาศัยพึ่งบารมีของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส , พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านารีรัตนา (ตามลำดับ หลังสิ้นบิดา) ทั้ง 3 พระองค์ล้วนเป็นโอรส-ธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับราชการในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ทรงชุบเลี้ยง ทั้งคุณพุ่มยังทำหน้าที่บอกสักวา
คุณพุ่มมีชื่อเสียงเป็นผู้บอกบทสักวาเรื่อง “อิเหนา” และมักได้รับการแจกตัวให้รับบท “บุษบา” ส่วนท่าเรือจ้าง เนื่องจากมีบ้านอยู่ละแวก “ท่าพระ” (หรือ ท่าช้าง) จึงมีฉายาว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” เมื่อสิ้นบุญผู้เป็นพ่อ ฐานะคุณพุ่มยากจนลงจนต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนกลอนขาย ไม่ปรากฏว่า รักหรือใช้ชีวิตคู่กับชายคนใด และ เสียชีวิตเมื่อใด
กรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์ผลงาน “กวีนิพนธ์คุณพุ่ม” เมื่อปี 2563 จำหน่ายในราคา 295 บาท ภายในเล่มได้รวบรวมผลงานกวีนิพนธ์ อาทิ เพลงยาวสามชาย, เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ, เพลงยาวนิราศวัดบางยี่ขัน, เพลงยาวคุณพุ่ม, เพลงยาวแม่ปุกสุขสวรรค์, เพลงยาวนิราศฮ่องกง (สำนวนที่ 1-2) รวมถึงภาคผนวก เพลงยาวชาววัง, บทเห่กล่อมพระบรรทม, เพลงยาวสามสิบชันษา ที่สันนิษฐานว่า เป็นผลงานของคุณพุ่ม
คุณพุ่มเป็นกวีหญิงฝีปากกล้า วาจาคมคาย สำบัดสำนวน โวหารไม่เป็นรองใคร ไม่เกรงกลัวกล้าต่อปากต่อคำ มีเกร็ดของท่านที่เล่ากันมา เช่น ครั้งหนึ่งคุณพุ่มเข้าแย่งเอาพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ! หรือ พูดเยาะผู้ใหญ่บางท่านด้วย “คำอธิษฐานของคุณพุ่ม ๑๒ ข้อ”
คำอธิษฐานของคุณพุ่ม ๑๒ ข้อนี้ ปรากฎใน “สาส์นสมเด็จ” เล่ม๑๓ ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พิมพ์ครั้งที่๑ พ.ศ. ๒๕๐๔ จัดจำหน่ายโดย องค์การค้าของคุรุสภา)
ซึ่งคำอธิษฐานของคุณพุ่ม ๑๒ ข้อนี้ คัดมาจากสมุดพกของพระองค์หญิงอาภา (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระราชชนนีในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี)
๑) ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่
๒) ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร
๓) ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี
๔) ขออย่าให้เป็นมโหรีของพระยาโคราช
๕) ขออย่าให้เป็นลูกสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย
๖) ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าอาภรณ์
๗) ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า
๘) ขออย่าให้เป็นดวงชตาของอาจารย์เซ่ง
๙) ขออย่าให้เก่งเหมือนคุณหญิงฟัก
๑๐) ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย
๑๑) ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง
๑๒) ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ
ละครออนไลน์ นำ “อธิบายคำอธิษฐานของคุณพุ่ม” ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่อยู่ในสาส์สมเด็จหน้า 202-206 มาลงไว้ด้วย
๑) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นคนชิดของเจ้าคุณผู้ใหญ่” นั้นไม่มีในสมุดพก แต่หม่อมฉันทราบเรื่องอยู่ เจ้าคุณผู้ใหญ่นั้นคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (ต้นสกุล สิงหเสนี) เล่ากันว่า เมื่อถืออาญาสิทธิเป็นแม่ทัพไปรบญวนในรัชกาลที่ ๓ นั้น ฆ่าคนง่ายๆ แม้จนคนรับใช้ใกล้ชิด ถ้าทำความผิดไม่พอใจก็ให้ฆ่าเสีย
๒) อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นคนใช้ของเจ้าพระยานคร” นั้น อธิบายในสมุดพกตรงกับที่เล่ากัน คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) ชอบใช้คนอย่างนอกรีตต่างๆ ดังเช่น เวลาไปเรือ ถ้าเรือแล่นช้าไม่ทันใจ ว่าเรือขี้เกียจให้ยกขึ้นคว่ำบนบกแล้วให้ฝีพายถองเรือทุกคน เรือก็กลัวเจ้าพระยานคร ไปไหนพายแล่นเร็วเสมอ
๓) อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นคนต้มน้ำร้อนของพระยาศรี” นั้น (ในสมุดพกเขียนว่า อย่าให้เป็นน้ำร้อนของพระยาศรี ไม่ได้ความ นึกได้ตามเคยได้ยินมาว่า “คนต้มน้ำร้อน” เช่นนั้นจึงจะได้ความ) พระยาศรีคนนั้นคือ พระยาศรีสหเทพ (เพ็ง) เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายกไปตั้งทัพอยู่เมืองเขมร ทางกรุงเทพฯ พระยาศรีไปเป็นราชเลขานุการกระทรวงมหาดไทย มีคนยำเกรงไปหาสู่มากทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องต้มน้ำร้อนเลี้ยงแขกตั้งวันละ ๒ กระถาง คนต้มไม่มีเวลาหยุดมือเลย
๔) อธิบายบทอธิษฐาน “ขออย่าให้เป็นมโหรีพระยาโคราช” นั้น คือ พระยานครราชสีมา (เห็นจะเป็นคนที่ชื่อว่าทองอิน ซึ่งภายหลังได้เป็นเจ้าพระยา เมื่อยกศักดิ์เมืองนครราชสีมาขึ้นเป็นเอก ในรัชกาลที่ ๓) อยากมีมโหรีเหมือนขุนนางผู้ใหญ่กรุงเทพฯ เก็บเอาเด็กผู้หญิงพวกลูกเชลย เป็นข่าบ้าง ลาวพวนบ้าง เขมรบ้าง ประสมวงหัดเป็นมโหรี เห็นจะกะมอมกะแมมเต็มทีจึงเป็นของสำหรับค่อนกัน
๕) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นลูกสวาสดิ์ของพระองค์ชุมสาย” นั้น ที่เรียกว่า ลูกสวาสดิ์ในที่นี้ เห็นจะหมายความเพียงว่าเป็นมหาดเล็กตัวโปรด จดอธิบายไว้ในสมุดพกว่า ใช้ไม่เลือกว่าการไพร่การผู้ดี แม้ที่สุดจนไกวเปลเด็ก
๖) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นฝีพายของเจ้าอาภรณ์” นั้น จดไว้ในสมุดพกว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์โปรดให้ฝีพายเรือลำทรงขานยาวร่ำไปจนหัวเรือเกยตลิ่ง (เห็นจะเป็นเมื่อจะเข้าเทียบท่า)
๗) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นละครของแม่น้อยบ้า” นั้น ไม่ทราบเลยทีเดียว ในสมุดพกก็ไม่บอกไว้
๘) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นดวงชตาของอาจารย์เซ่ง” นั้น อาจารย์เซ่งดูเหมือนจะเป็นพระ ในสมุดพกจดไว้ว่า เป็นผู้ชอบผูกดวงชะตา (เห็นจะมีชื่อเสียงในทางโหราศาสตร์) แม้จนหมาที่เลี้ยงไว้ออกลูกก็ผูกดวงชะตาลูกหมา
๙) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เก่งเหมือนคุณหญิงฟัก” นั้น ใครเป็นคุณหญิงฟักคนนั้น หม่อมฉันไม่เคยได้ยิน จดไว้ในสมุดพกว่า ถ้าโกรธอาจถึงแก้ผ้าได้ หม่อมฉันอยากจะขอให้ผ่อนลงมาเพียงขัดเขมรถึงง่ามก้น
๑๐) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นสมปักของพระนายไวย” นั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เมื่อยังเป็นจมื่นไวยนรนาถอยู่ในรัชกาลที่ ๓ สมปักไหมลายต่างกันตามชั้นยศเป็นของพระราชทานขุนนาง เมื่อทรงตั้งเป็นตำแหน่งสำหรับให้นุ่งเข้าเฝ้า โดยปกติขุนนางนุ่งผ้าสามัญ ต่อเมื่อถึงเวลาจะเข้าท้องพระโรงจึงสลัดผ้านุ่งสมปักไว้ที่วัง (ดูเหมือนมีรูปภาพขุนนางกำลังผลัดผ้าเช่นว่า เขียนไว้ที่พระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์) ออกจากเฝ้าก็ผลัดนุ่งผ้าเดิมกลับไปบ้าน ชรอยสมปักพระนายไวย จะใช้อยู่แค่ผืนเดียวนุ่งจนเก่า ไม่มีผืนสำรองสำหรับเปลี่ยน คุณพุ่มจึงแกล้งค่อน
๑๑) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง” นั้น เจ้าคุณวังคือ เจ้าจอมมารดาตานี รัชกาลที่ ๑ อันเป็นธิดาของเจ้าพระยามหาเสนาบุนนาค เกิดด้วยภรรยาเดิม และเป็นเจ้าจอมมารดาของกรมหมื่นสุรินทรรักษ ท่านชอบและชำนาญการร้อยดอกไม้มาก หม่อมฉันเกิดไม่ทันท่าน แต่ทันได้เห็นเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ เวลามีงานในวัง เคยเห็นหม่อมเจ้าหญิงในกรมหมื่นสุรินทรรักษ อันเป็นหลานและเป็นศิษย์ของเจ้าคุณวังเดินตามกันเป็นแถวตั้งห้าหกองค์เข้าไปร้อยดอกไม้ในงานหลวงเป็นนิจ ที่คุณพุ่มอธิษฐานขออย่าให้เป็นดอกไม้ของเจ้าคุณวัง คงหมายความว่า พอผลิก็ถูกเด็ดไม่ได้อยู่จนโรย
๑๒) อธิบายบทอธิษฐานว่า “ขออย่าให้เป็นระฆังวัดบวรนิเวศ” นั้น ธรรมดาวัดย่อมมีกลอง มีระฆัง กิจที่ตีกลองมีวันละ ๓ ครั้ง คือ ตีบอกเวลาเพลครั้ง๑ ตีบอกเวลาสิ้นเพลครั้ง๑ ตีบอกส่วนบุญแก่สรรพสัตว์เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วเวลาเย็นครั้ง๑ กิจที่ตีระฆังนั้น ตีเมื่อแสงอรุณขึ้นบอกให้พระสงฆ์ครองผ้าและเตรียมตัวออกบิณฑบาต ครั้ง๑ ตีเวลาพลบค่ำ เป็นสัญญาเรียกพระสงฆ์ให้ไหว้พระสวดมนต์ครั้ง๑ เมื่อทูลกระหม่อมทรงผนวชเสด็จครองวัดบวรนิเวศ เพิ่มการตีระฆังเรียกพระลงโบสถ์เช้า เวลา ๒ โมงกับเวลาค่ำ ๒ ทุ่มเป็นปกติ และให้ตีระฆังเป็นสัญญาณเรียกพระในกิจอย่างอื่นอีก ตกว่าระฆังวัดบวรนิเวศตีมากกกว่าวัดอื่นๆ คุณพุ่มจึงเอาไปเข้าในคำอธิษฐาน
คุณพุ่มนั้น หม่อมฉันเข้าใจว่า ท่านก็คงรู้จักตัวด้วย อยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นผู้บอกสักวาวงหลวงอยู่หลายปี ดูเหมือนฝากตัวกับทูลกระหม่อมปราสาทด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ดำรงราชานุภาพ
มารู้จัก “บุคคล” ในคำอธิษฐานเพิ่มเติม !
@ เจ้าคุณผู้ใหญ่คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี / 11 มกราคม พ.ศ. 2319 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2392) อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก และแม่ทัพใหญ่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ากันว่าเป็นผู้มีอาคมขลัง เหนียว คงกระพันชาตรีที่สุดสายวิชาวังหน้า เป็นต้นสกุล "สิงหเสนี" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานราชทินนามพิเศษ “เจ้าพระยาบดินทรเดชา” แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรง พระราชทาน “พระแสงดาบอาญาสิทธิ์” ต่อมาทางสมาชิกสกุลสิงหเสนี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเชิญไปไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่แผ่นดิน
@ เจ้าพระยานคร (น้อย) คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระนามเดิมคือ น้อย ณ นคร หรือ พระองค์เจ้าน้อย (27 สิงหาคม พ.ศ. 2319 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2382) เป็นพระราชโอรสองค์รองสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงปราง (ธิดาเจ้าพระยานคร) พระสนมเอก เป็นผู้มีบทบาทในการปราบกบฏเมืองไทรบุรี
@ พระยาศรี (เพ็ง) คือ พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นต้นสกุล ศรีเพ็ญ เป็นขุนคลังแก้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบทบาทสำคัญในการทำสัมปทานไม้สักขอน สร้างรายได้เข้าคลังหลวงมากมายมหาศาล
@ พระยาโคราช หรือ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) เกิดในปี พ.ศ. 2323 เป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงจวน เป็นแม่ทัพคนสำคัญของไทยในสงครามปราบกบฏเวียงจันทน์ และสงครามอานามสยามยุทธ มีบุตร-ธิดามากถึง 50 คน ในยุคนั้น วงมโหรี เป็นวงดนตรีสำหรับขับกล่อมให้ความบันเทิง เป็นพระราชานุกิจอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นเครื่องประดับฐานะของขุนนาง ไม่เฉพาะแต่ส่วนกลางเท่านั้น แม้แต่ขุนนางตามหัวเมืองก็นิยมมีมโหรีเช่นกัน คุณพุ่มถึงกับกล่าวค่อนว่า พระยานครราชสีมา อยากเล่นมโหรีเหมือนขุนนางในกรุงเทพฯ จึงนำข่าลาวเชลยมาหัด เป็นต้น
@ พระองค์ชุมสาย คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าชุมสาย เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเอมใหญ่ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาปนาเป็น "กรมหมื่นราชสีหวิกรม" ต่อมาทรงเลื่อนเป็น "กรมขุน" โปรดเกล้าฯ ให้ทรงกำกับกรมช่างศิลาในกรมช่างสิบหมู่ พระองค์สิ้นพระชนม์ เป็นต้นราชสกุลชุมสาย
@ เจ้าอาภรณ์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ (19 เมษายน พ.ศ. 2359 - พ.ศ. 2391) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงกำกับกรมพระคชบาลในรัชกาลที่ 3 เป็นต้นราชสกุลอาภรณ์กุล ปลายรัชกาลที่ 3 เกิดเรื่องกรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ ได้พัวพันด้วย ทรงถูกจองจำและสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคอหิวาตกโรค
@ แม่น้อยบ้า หนึ่งในธิดาของเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) เล่าว่า ลครของแม่น้อยต่างจากลครโรงอื่นๆ เนื่องจาก ลครโรงอื่นๆ เขาเล่นเอาเงิน แต่ลครของแม่น้อย รับตอบแทนแม้จะเป็นข้าว ปลา กะปิ หอม กระเทียม และเอาของเหล่านั้นมาแจกให้กับตัวลครในคณะ
@ อาจารย์เซ่ง ผู้นี้ ว่ากันไปหลายทาง บ้างก็ว่าเป็นพระ บ้างก็ว่าเป็นหมอดู บ้างก็ว่าเป็นคนทรง บ้างก็ว่า คือ “หลวงศรีปรีชา” (เซ่ง) !? เป็นโหรฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ หรือวังหน้า ได้แต่งหนังสือชื่อ “ศิริวิบูลกิตติ์” เป็นกลบทไว้หลายตอน เรื่องดูดวงนั้น ใครให้ดูก็ทักทายว่า ดวงชะตาดี จะถึงได้เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นขุนนางผู้ใหญ่บ้าง เป็นเศรษฐีบ้าง คนก็พากันหลงไปจ้างให้หมอดูเซ่งดูชะตา และคงได้เงินค่าตอบแทนเป็นอันมาก แต่สุดท้าย ถูกลงพระราชอาญา คุณพุ่มเรียนวิชาโหราศาสตร์มาจากอาจารย์เซ่ง และได้นำเอาความรู้และศัพท์แสงทางโหราศาสตร์มาใช้กับงานกวีนิพนธ์ เรื่อง “เพลงยาวแม่ปุกสุขสวรรค์” (หน้า 28 กวีนิพนธ์คุณพุ่ม) ดังตัวอย่าง
ฉันได้ดูคู่ควงดวงชะตา เสาร์มหาอุตม์ดีอยู่ที่คุณ
อาทิตย์เล่าเนาที่ราศีเมษ อุดมเดชดีสุดองค์อุดหนุน
อังคารเป็นปัตนิสริรุน พิเศษสุนทรยังอยู่มังกร
หนึ่งลออนรลักษณ์พักตร์เหมือนเขียน เกศาเศียรสุดเสน่ห์เหมือนเกสร ....
วาระสุดท้าย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ลงพระอาญาเนรเทศอาจารย์เซ่งไปสงขลาซึ่งเป็นบ้านเกิด ก่อนจะส่งไปที่พัทลุงอีกทอด เพื่อให้ห่างไกลจากผู้มีความเชื่อและเคารพนับถือในตัวอาจารย์เซ่งที่หากินกับความกลัว ความไม่รู้ ของชาวบ้าน
@คุณหญิงฟัก ชอบเล่นเบี้ย เวลาเข้าไปอยู่ในบ่อนเบี้ยมักทำกิริยาให้นายบ่อนมัวหลงดูที่ตัวท่านผู้หญิงฟัก จนเป็นช่องให้พรรคพวกลักเปิดโปดูได้ เป็นนักเลงที่รวยด้วยอุบายนี้
@ พระนายไวย ต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นามเดิม ช่วง (23 ธันวาคม พ.ศ. 2351 – 19 มกราคม พ.ศ. 2426) เป็นขุนนางตระกูลบุนนาค ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงต้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก เวลาเข้าเฝ้านุ่งผ้าสมปักพื้นเขียวอยู่ผืนเดียวไม่รู้จักเปลี่ยน
@ เจ้าคุณวัง คือ เจ้าจอมมารดาตานี เป็นธิดาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และคุณลิ้ม ธิดา “ตานี” เกิดในช่วงที่ปู่กลับมาจากราชการทัพที่เมืองตานี ท่านเจ้าพระยาฯ ถวายเป็นบาทบริจาริกาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์ ฝ่ายในเรียก เจ้าคุณวัง เจ้าจอมมารดาตานีถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลใดไม่สามารถสืบได้
@ ระฆังวัดบวรนิเวศ หลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ
ภาพ - เรื่อง บางส่วนจากอินเทอร์เน็ต
ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/
#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์