xs
xsm
sm
md
lg

Review ซีรีส์ : “The Days - วันวิบัติ” [2023] ตีแผ่ทุกความจริงจาก “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





“The Days I วันวิบัติ” ซีรีส์ 8 ตอนของ Netflix Original จากญี่ปุ่น ทำหน้าที่เหมือนบันทึกเหตุการณ์จริงของ “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ตลอด 7 วันของหายนะครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ซีรีส์เปิดเผยถึงความล้มเหลว ความสิ้นหวัง ความเสียสละ และความกล้าหาญ ผ่านการต่อสู้จนนาทีสุดท้ายเพื่อหยุดยั้งการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งแม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าก้าวล้ำเรื่องเทคโนโลยีและเคร่งครัดในระเบียบปฏิบัติอย่างญี่ปุ่น ก็ไม่อาจจะหยุดยั้งมหันตภัยครั้งนั้นไปได้ หากคุณพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เรามาเปิด Netflix แล้วค่อยๆ ใช้เวลาศึกษาภัยพิบัตินี้ไปด้วยกัน...

วันธรรมดาๆ ก่อนแผ่นดินไหวและสึนามิจะทำลายทุกสิ่ง

อันที่จริงวันที่ 11 มีนาคม 2011 ก็เหมือนเช่นทุกวันในฟุกุชิมะ ซีรีส์เริ่มต้นด้วยชีวิตประจำวันของพนักงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Tokyo Power Electric Company (TEPCO) ที่ต่างก็ทำหน้าที่อย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีอะไรผิดพลาดหรือตกหล่นจากคู่มือปฏิบัติงานทั่วไป โดยไม่มีใครคาดคิดว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงจากนั้นทั้งเมืองฟุกุชิมะจะตกอยู่ในสถานะ ‘เมืองร้าง’ ที่ประชากรกว่า 1.6 แสนคนต้องอพยพหนีภัยนิวเคลียร์ภายใน 24 ชั่วโมง

ซีรีส์เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9 ความรุนแรงสูงสุดระดับ 7 แรงมากเสียจนแกนโลกขยับจากแนวเดิมและรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ 4 ที่ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก แรงสั่นสะเทือนสร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างมาก ก่อนที่อีกหนึ่งชั่วโมงจากนั้นคลื่นสึนามิสูงกว่า 13 เมตรก็โหมกระหน่ำข้ามแนวกำแพงกั้นที่มีความสูงเพียง 10 เมตรเข้ามาซ้ำเติม

เหตุการณ์ให้เลวร้ายขึ้นไปอีก เมื่อระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหายจนไฟดับทั้งโรงงาน ทำให้ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้รับความกระทบกระเทือนจนไม่สามารถทำงานได้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตกอยู่ในสถานะวิกฤตทันที แต่ที่แน่ๆ จะต้องมีพนักงานกลุ่มหนึ่งอาสาเสี่ยงภัยไปตรวจเช็กระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

ซีรีส์ได้เปิดเผยถึงความจริงของชีวิตเมื่อกลุ่มพนักงานอายุน้อยอยากจะออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อไปอยู่กับครอบครัว ตรงข้ามกับพนักงานอาวุโสที่พร้อมจะเสียสละเพื่อปกป้องฟุกุชิมะให้ปลอดภัยจากมหันตภัยนิวเคลียร์

หลังจากนั้นซีรีส์ก็พาเราเข้าสู่ความโกลาหลและการรับมือกับภัยพิบัติครั้งประวัติศาสตร์ โดยมี มาซาโอะ โยชิดะ (โคจิ ยาคุโช) ผู้จัดการโรงไฟฟ้าในช่วงนั้น รับหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ต่างๆ และรายงานแบบนาทีต่อนาทีให้กับนายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ (ฟูมิโยะ โคฮินาตะ) ที่เวลานี้เขานั่งไม่ติดเก้าอี้และร้อนใจเป็นอย่างมาก

ซีรีส์ตัดสลับไปมาระหว่างความวุ่นวายภายในศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีคอยติดตามสถานการณ์อย่างเคร่งเครียด ผู้ชมจะรับรู้แนวทางการแก้ไขปัญหาและร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ผ่านมุมมองของทีมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งบางคนก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ได้รับผิดชอบในตำแหน่งสูง ส่วนผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เคร่งครัดในกฎระเบียบคล้ายกับจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ จนทำให้การตัดสินใจล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์

คนธรรมดาๆ ก็กลายเป็น ‘ฮีโร่’ ผู้เสียสละเพื่อประเทศชาติ

ขณะที่โลกภายนอกกำลังร้อนใจกับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในทุกนาที แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับมีเพียงพนักงานกลุ่มเดียวที่รับหน้าที่เป็นฮีโร่และความหวังของประเทศชาติ เพื่อกอบกู้วิกฤตให้คลี่คลายลงด้วยดี แม้จะไม่มีข่าวดีให้พวกเขาใจชื้นเลยสักครั้ง แต่พนักงานที่หลงเหลือก็ยังยิ้มสู้กับปัญหาด้วยใจที่ไม่ยอมแพ้ เพราะทุกย่างก้าวในโรงไฟฟ้าล้วนเต็มไปด้วยอันตราย สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไหนจะต้องเสี่ยงชีวิตไปหมุนวาล์วระบบหล่อเย็นเพื่อป้องกันการหลอมละลายนิวเคลียร์

ถึงอย่างนั้น พนักงานที่เหลือก็ยังอดทนต่อสู้ด้วยใจที่กล้าหาญราวกับจิตวิญญาณของซามูไร แล้วยังรับมือกับปัญหาด้วยความสงบนิ่งและรอบคอบอย่างมาก เราจึงไม่เห็นชาวญี่ปุ่นในเรื่องสติแตกจนคลุ้มคลั่งหนีเอาชีวิตรอด ตรงกันข้ามพวกเขากลับดูควบคุมอารมณ์ได้ดี มีสติในการแก้ไขปัญหา แม้จะรู้ว่าทุกนาทีมีชีวิตเป็นเดิมพัน

แม้ผู้ชมทั่วโลกจะรู้อยู่แล้วว่า ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะจบลงด้วยการระเบิดหลายต่อหลายครั้งสร้างความเสียหายให้อาคารหลายหลังพังทลายลง สารกัมมันตรังสีรั่วไหลสู่ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐบาลญี่ปุ่นต้องประกาศอพยพผู้คนอย่างเร่งด่วน และประกาศห้ามเข้าพื้นที่เพิ่มเติม แต่ซีรีส์ก็ชวนให้ลุ้นระทึกไปกับปฏิบัติการแบบนาทีต่อนาที มีบางตอนที่เนิบช้าและน่าอึดอัดไปบ้าง แต่ซีรีส์ก็สื่อให้เห็นภาพรวมทั้งจากมุมมองของคนที่อยู่ใจกลางวิกฤต และคนที่อยู่ในระดับผู้บริหารประเทศได้อย่างครบถ้วน

บทเรียนจาก “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ที่โลกได้เรียนรู้

หลังเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกิชิมะ ทั่วโลกต่างตื่นตัวและมีข้อถกเถียงต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อย่างมาก แม้วิกฤตการณ์เลวร้ายครั้งประวัติศาสตร์จะผ่านพ้นมานานกว่าทศวรรษแล้วก็ตาม ถึงอย่างนั้นทั่วโลกยังคงนำบทเรียนจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมาเป็นกรณีศึกษาอย่างต่อเนื่อง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่รายงานในปี 2013 ระบุว่า ภัยพิบัตินิวเคลียร์จะไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในภูมิภาค ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังบอกด้วยว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากกัมมันตรังสีในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากภูมิภาคโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต่ำมาก

ถึงอย่างนั้น ในปี 2022 คนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่ 6 คนที่เติบโตในช่วงเหตุการณ์ภัยพิบัติได้รวมตัวกันยื่นฟ้องบริษัท TEPCO เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายหลังป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยเชื่อว่าเป็นผลกระทบจากรังสีที่ตกค้างจากการระเบิดของโรงไฟฟ้า รวมถึงการตรวจพบปลาทะเลจากญี่ปุ่นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อย่างไรก็ดี หน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นได้อนุมัติให้โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะปล่อยน้ำ 1.3 ล้านตันลงทะเลได้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ค. 2021 หลังจากถูกเก็บไว้ในถังขนาดใหญ่ภายในโรงงานมานานกว่าสิบปี

ไหนจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการไม่พร้อมรับมือกับเหตุการณ์เลวร้ายทั้ง TEPCO และรัฐบาลญี่ปุ่น คณะกรรมการสอบสวนอิสระที่รัฐสภาญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นได้ข้อสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็น “ภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์อย่างแท้จริง” ทั้งยังกล่าวโทษถึงความล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า แต่ในปี 2019 ศาลญี่ปุ่นได้ตัดสินให้อดีตผู้บริหารของ TEPCO ทั้ง 3 คนพ้นผิดจากข้อกล่าวหาประมาทเลินเล่อ

ทุกวันนี้ฟุกุชิมะยังอยู่ในสภาพเมืองร้างและมีเสียงประกาศเตือนภัยจากส่วนกลางเป็นระยะๆ แม้ในปี 2022 รัฐบาลญี่ปุ่นจะยกเลิกคำสั่งพื้นที่ห้ามเข้าของหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากนิวเคลียร์ และทำให้ชาวเมืองได้กลับไปเยี่ยมบ้านอีกครั้งในรอบ 11 ปี ถึงอย่างนั้นชาวเมืองต่างก็ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังอย่างมาก และมีเพียงคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ตัดสินใจกลับบ้าน ด้วยหวังว่า วันหนึ่งฟุกุชิมะจะกลับมามีลมหายใจอีกครั้ง

เป็นเวลากว่า 12 ปี นับจากเหตุภัยพิบัติฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 หลังจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นรองก็แค่เหตุการณ์ภัยพิบัติเชอร์โนบิล (ปี ค.ศ.1986) ในที่สุดผู้ชมทั่วโลกก็จะได้รับรู้เรื่องจริงจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ผ่านการเล่าเรื่องราวอย่างซื่อตรงและเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่มุมที่ไม่สวยงามและการทำงานที่ผิดพลาด เราจึงได้เห็นความตึงเครียด ความกดดัน และความกล้าหาญ ราวกับซีรีส์สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ฮีโร่ที่ยอมเสี่ยงภัยปกป้อง ‘ฟุกุชิมะ’ บ้านเกิดของพวกเขา โดยพวกเราสามารถรับชมซีรีส์ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

ร้อยเรียงเรื่องราว : Rassarin
อ้างอิงเรื่องและภาพ :
https://www.heavenofhorror.com/reviews/the-days-2023-netflix-series/ https://www.radiotimes.com/tv/drama/the-days-netflix-true-story/ https://www.leisurebyte.com/netflix-the-days-review-koji-yakusho-series/

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์






















กำลังโหลดความคิดเห็น