สกู๊ปพิเศษ
‘ทมยันตี’ ยืมพล็อต Ziska สร้างรูป ‘อุบล’ ผีหัวขาดเฝ้าสมบัติ!
ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม ณ โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ กำลังมีละครเวที “พิษสวาท เดอะมิวสิคัล” ที่สร้างจากผลงานอมตะของ “ทมยันตี” (วิมล ศิริไพบูลย์) นักแสดงละครเวทีเรื่องนี้ ประกอบด้วย “แก้ม” กุลกรณ์พัชร์ เมอร์นาร์ด (ลูกสาวของทิพยวรรณ ปิ่นภิบาล /อุบล-สโรชินี) , “ตู่”-ภพธร สุนทรญาณกิจ (อัคนี - พระอรรค) , “ชิน”-ชินวุฒ อินทรคูสิน (เชษฐา), “ดาว”-ณัฐภัสสร สิมะเสถียร (ทิพอาภา) , “ชาย” -ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ (พันตรีดนัย) ฯลฯ
“พิษสวาท .... จะขาดใจตาย เธอให้พิษร้าย เธอทำได้อย่างไร เธอทำร้ายชีวิตคนรักด้วยความโหดร้าย ตัดรักด้วยความเลือดเย็น แต่ฉันไม่ยอมตัดความเคียดแค้นใจ จะปลดโซ่ตรวนจากความมืดมนทรมาน จะใส่โซ่ตรวนชีวิตเธอตลอดกาล ความแค้นในใจอันยาวนาน เรื่องราวทุกอย่าง อีกเพียงไม่นาน จะต้องสะสาง ...”
พิษสวาท เคยสร้างเป็นหนัง-ละครโทรทัศน์ มาหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2514 เมื่อ 10 ปีก่อน(พ.ศ. 2556) เคยเป็นละครโทรทัศน์ที่เราคุ้นเคยและประสบความสำเร็จมาแล้ว นำแสดงโดย ป้อง-ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ และนุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี ร่วมด้วย เจษฎ์พิพัฒ ติละพรพัฒน์ , เรวิญานันท์ ทาเกิด เรื่องราวของความรัก ความแค้น อาฆาต ลึกลับ ข้ามภพ ข้ามชาติ ที่ “อุบล” นางละครหลวง ยื่นคำร้องขอความยุติธรรมต่อพระยายมราชว่า นางถูกขุนศึกซึ่งเป็นสามี หลอกล่อด้วยความรัก ล่ามโซ่ตรวน – ตัดหัว-จองจำให้เฝ้าสมบัติของแผ่นดิน นับแต่วันเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 (2310) จวบจนถึงปัจจุบัน
ปัจฉิมวาจาของ “อุบล”
กล่าวว่า “เรา... ผู้มีนามว่า อุบล ผู้ร้องขอความยุติธรรมจากสรวงสวรรค์ ผู้ทนทุกข์ทรมานด้วยความรักและหน้าที่ ผู้ไม่เคยพบแสงสว่างแห่งชาติภพ ณ บัดนี้... เราจะเลือกผู้มาทำหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์แผ่นดิน ผู้มาทำหน้าที่ชี้ขาดวิญญาณ ผู้ปฏิญาณตนว่า จะกระทำตนเพื่อแผ่นดิน คำที่เราเลือกนี้จะเป็นคำตายที่เราไม่ขออุทธรณ์ต่อสิ่งใดต่อไป ใครก็ตามที่เราเลือกจะต้องทำหน้าที่ตนไปจวบจนกว่าไฟบรรลัยกัลป์จะแล่นล้างสี่หล้าให้พินาศลงสิ้น!” (พิษสวาท เล่ม2 สนพ. บ้านวรรณกรรม หน้า 641)
ท่ามกลางความรัก ความแค้น อาฆาต พยาบาท ลึกลับนี้อิงอยู่กับฉากหลังของสภาวะบ้านเมืองในช่วงกรุงแตก อุบล มีลักษณะคล้ายผีเฝ้าสมบัติ หรือ “ปู่โสมเฝ้าทรัพย์” เมื่อคราวสิ้นกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่ามากมายรวมถึงปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แต่นักวิชาการชั้นหลังว่า เรื่องผีเฝ้าสมบัติไม่น่าจะมีจริง เพราะไม่ปรากฏบันทึกในเรื่องนี้แต่อย่างไร แต่มีสื่อบันเทิงที่สนับสนุนความเชื่อนี้ ปรากฏในหนังและละครบางเรื่อง เช่น ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ และ พิษสวาท เป็นต้น
ทมยันตีกับอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
ทมยันตีมีนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ชาตินิยมอยู่หลายเรื่อง อาทิ ทวิภพ, อตีตา, เลือดขัตติยา, ร่มฉัตร, กษัตริยา และอธิราชา ซึ่งทุกเรื่องเป็นที่ชื่นชอบของชนนิยายฝ่ายอนุรักษ์นิยม และไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม เธอยังยืนหยัดในเรื่อง “คนดีย์- ภักดี” ไม่เสื่อมคลาย ! เพราะทมยันตี เติบโตและถูกปลูกฝังมาเช่นนี้แต่เล็ก ครอบครัวทางฝ่ายพ่อ เป็นครอบครัวนายทหารเรือ, ส่วนทางแม่นั้น เป็นสาวชาววังในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
“ความรักชาติ” เป็นอุดมการณ์ของทมยันตี นอกจากจะสะท้อนผ่านงานเขียน ความสัมพันธ์ของเธอกับชาติ ศาสนา กษัตริย์ นี้ไม่คิดจะเปลี่ยน ! ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่เธอและพันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (หัวหน้าสถานีฯ) , ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ จะร่วมสนับสนุนระบอบทหาร ผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 น้ำเสียงของเธอในยุคนั้น จิก กัด เป็นตัวตึง! ในฝ่ายขวา ความเชื่อทางอุดมการณ์ที่เห็นต่างนำไปสู่ขัดแย้งของคนสองกลุ่ม จนเกิดโศกนาฏกรรม ฝ่ายผู้กุมกำลังทหารเข้าสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในงานเขียน “กว่าจะถึงวันนี้ของทมยันตี” โดย วิศวนาถ หน้า 8-9 กล่าวว่า
“ฝ่ายตระกูลศิริไพบูลย์ พ่อดิฉันเป็นทหารหมด จึงสอนเกียรติศักดิ์ของทหารนั้นคือ รักษาแผ่นดิน ตระกูลดิฉันสอนกันมาอย่างนั้น ให้รักแผ่นดิน ไม่มีเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินดูแลเรา เราจะเป็นสุขได้อย่างไร มันอยู่ในเลือดของดิฉัน ดิฉันคิดว่า เราเป็นข้าของแผ่นดิน รักแผ่นดินนี้เป็นอย่างยิ่ง ทุกเม็ดดินบนปฐพีนี้ของไทย บรรพกษัตริย์ไทยของเราทรงรักษาไว้ ดิฉันในฐานะข้าแผ่นดินจึงขอทำหน้าที่รักษาไว้ หน้าที่นี้สลักอยู่ในใจดิฉันมานานแล้ว ตั้งแต่เกิดจนรู้ความ เชื่อว่าจะต้องทำเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดินโดยไม่หวังจะได้สิ่งตอบแทน เราต้องทำเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดินและพระมหากษัตริย์ มีงานใดทำถวายได้ก็จะทำโดยไม่รั้งรอ ไม่ต้องให้ท่านมาสั่ง อย่าว่าแต่ถวายชีวิตเลย มีร้อยหัวก็น้อมถวาย เพราะเราเป็นหนี้แผ่นดิน หนี้ต้องชดใช้ตามหน้าที่ในฐานะข้าของแผ่นดิน”
ประวัติศาสตร์ของทมยันตีคือ ประวัติศาสตร์แบบเรียนที่ฝังอยู่ในระบบการศึกษาและความเชื่อของไทยมานาน โลกสมัยใหม่ การศึกษาประวัติศาสตร์มีมุมมองที่แตกต่าง หลากหลาย วิชาประวัติศาสตร์ไม่ใช่สูตรสำเร็จอย่างโบราณ การตั้งคำถาม ค้นคว้าหาคำตอบ จะเห็นประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ต่างจากประวัติศาสตร์ท่องจำเป็นสูตรสำเร็จ
ทมยันตีโตมากับยายและแม่ที่มักจะเล่า อ่านนิทาน วรรณคดีให้ฟังเสมอ หนังสือที่เธออ่าน อย่าง งานของสุนทรภู่, งานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ งานของหลวงวิจิตรวาทการ ตั้งแต่ “ประวัติศาสตร์สากล” รวมถึงเรื่องสั้น และงานอื่นๆ นามปากกาแรกของเธอ “โรสลาเรน” (กุหลาบราชินี) ก็มาจากเรื่องสั้นของหลวงวิจิตรฯ ซึ่งนางเอกเป็นนักร้องโอเปร่า
ยืมพล็อต นางรำ-สุสานอียิปต์-สมบัติอยุธยา
ยังมีนักเขียนอีกหลายคนที่เธอนิยมอ่าน หนึ่งในนั้นคือ วรรณกรรมของ Marie Corelli (แมรี่ คอเรลลี่ ค.ศ. 1855-1924 /พ.ศ. 2398-2467) นักเขียนชาวอังกฤษสมัยวิกตอเรียน มองจากนิยายของทมยันตี “เงาและพิษสวาท” เชื่อกันว่ามีแรงบันดาลใจมาจาก “The Sorrows of Satan” และ “ Ziska”
นิยายเรื่อง Ziska ที่ทมยันตี “ยืมพล็อต” มาดัดแปลงเป็น “พิษสวาท” และ Ziska เคยแปลไทยโดย อมราวดี (ลัดดา ถนัดหัตถกรรม) ในชื่อ “กงเกวียน”
การยืมพล็อต เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในแวดวงวรรณกรรม ใช่ว่า ทมยันตี จะทำคนเดียวเมื่อไร ยังมีนักเขียนไทย- นวนิยาย อีกหลายเรื่องที่อยู่กันข่ายนี้ !
เรื่อง Ziska เหตุเกิดที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เป็นเรื่องของ “ศิสกา ชาร์มาเซล” นางรำราชวัง และ “อแรกซีส” นักรบผู้ยิ่งใหญ่ เธอมอบทั้งหัวใจให้กับเขา แต่เขากลับตอบแทนเธอด้วยความตาย เมื่อเจอผู้หญิงคนใหม่ วิญญาณของศิสกาจึงเต็มไปด้วยความแค้นตั้งแต่ชาติที่แล้ว และเฝ้ารอการแก้แค้นจนถึงชาตินี้ ในขณะที่ พิษสวาท เป็นเรื่องของ “อุบล” นางละครหลวงที่ถูกพระราชทานเป็นเมียของพระอรรค นักรบแห่งอยุธยา แม้รายละเอียดจะแตกต่างกันไป อุบลคิดว่า ทิพ เป็นเมียอีกคนของพระอรรค และหนีไปกับพระอรรคด้วยกันตอนกรุงแตก โดยฆ่าและทิ้งให้เธอเฝ้าสมบัติมานานถึง 200 กว่าปี !
ผู้หญิงลึกลับนางหนึ่งเลื่องลือในเรื่องความงามและความร่ำรวย โดยไม่มีใครรู้ว่า เธอเป็นใครและมีที่มาอย่างไร ทราบกันต่อมาว่า เธอคือ “เจ้าหญิงศิสก้า” จิตรกรหนุ่มใหญ่ชาวฝรั่งเศส “อาร์มังค์ แจร์วาส” พบเธอครั้งแรกในงานเต้นรำของชนชั้นสูงที่โรงแรมราชวังเกชิเรห์ เธอสวมชุดนางรำโบราณที่ “อะแรกซีส” นักรบโบราณโปรดปราน แจร์วาสต้องมนตร์รักเจ้าหญิงศิสกาทันที เหมือนกับเคยเจอเธอที่ไหนมาก่อน
แจร์วาสถูกเจ้าหญิงศิสกาเชิญไปที่วังเพื่อวาดภาพของเธอ แต่ภาพวาดนั้นกลับมีใบหน้าบูดเบี้ยวน่ากลัว ขณะที่แจร์วาสคลั่งรักในตัวเธอ แต่เธอกลับบอกว่า ไม่เหลือความรักให้กับผู้ใดอีกแล้ว ! แจร์วาสยอมขัดแย้งกับเดนซิล เมอเรย์ เพื่อนรุ่นน้อง และเลิกกับ เฮเลน เมอเรย์ น้องสาวของเดนซิลที่เคยชอบกันอยู่
ต่อมามีงานเลี้ยงที่โรงแรมมีนาเฮ้าส์ ภายในงาน ศิสกา ชาร์มาเซล แสดงระบำ “ดอกบัวหลวง” และมีงานโชว์รูปของ “ศิสกา ชาร์มาเซล และ อะแรกซีส” พร้อมบอกเล่าว่า เธอถูกอะแรกซีสใช้มีดปักอกถึงแก่ความตายเมื่อหมดรัก แต่ภาพของอแรกซีส นักรบโบราณ มีใบหน้าเหมือนกับอาร์มังค์ แจร์วาสไม่ผิดเพี้ยน เนื้อเรื่องดำเนินไปถึงตอนจบ ศิสกา ลวงแจร์วาสลงไปใต้สุสานพีระมิด
และนี่คือ “ห้องเก็บสมบัติ” ของเรื่อง Ziska
“ในห้องสี่เหลี่ยมกว้างขวาง ซึ่งมีกำแพงและเพดานอันประดับด้วยทองวาววับ พื้นห้องก็ปูด้วยแผ่นทองสี่เหลี่ยม และทางด้านสุดของห้องนั้นมีหีบทองทึบหีบหนึ่ง ฝังเพชรพลอยเป็นลวดลายแปลกๆ งดงามจนเต็มพืดไปหมดทั้งหีบ ทำให้มันส่งแสงวูบวาบเป็นประกายเหมือนแสงเพลิงลุก ถ้วยทอง แจกันทอง เสื้อกระเป๋าทองสำรับหนึ่ง สร้อยคอสร้อยข้อมือทองสลับเพชรนิลจินดากองสุมอยู่ตามริมกำแพง และกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นห้อง โล่กลมทำด้วยงาช้างหุ้มทองโล่หนึ่ง รวมทั้งดาบใส่ฝักประดับเพชรอันหนึ่งพิงไว้กับหัวหีบศพ ซึ่งแสงมหัศจรรย์ทั้งหลายดูเหมือนกับว่า แผ่นซ่านออกมาจากสิ่งเหล่านั้น แจร์วาสคงก้าวเดินต่อไปด้วยหัวใจอันเต้นระทึกไม่เป็นส่ำ พลางจ้องดูความมโหฬารล้ำลึกอันแวดล้อมเขาอยู่นั้นด้วยความตื่นตกใจ ปากก็พร่ำรำพันไปโดยไม่รู้ตัว” (กงเกวียน พิมพ์ครั้งที่ 5 สนพ. ดอกหญ้า หน้า 235-236)
แจร์วาสสำนึกผิดที่เคยก่อขึ้นเมื่ออดีตชาติ และพร้อมจะอยู่กับเธอแม้ในโลกของความตาย ศิสกาจึงให้อภัยกับการกระทำในอดีต ทั้งคู่จึงพ้นจากกงเกวียนที่ติดพันกันมานับพันปี
สร้างรูป ‘อุบล’ ผีหัวขาดเฝ้าสมบัติ!
ทมยันตี ร่างโครงลงรายละเอียด แต้มสีสัน ให้กับผู้หญิงโบราณนางหนึ่ง สมมุติชื่อ “อุบล” เป็นนางละครหลวง ! ซึ่งมีต้นขั้วจาก “นางศิสกา” นางระบำจากเมืองอียิปต์โบราณ และอุโมงค์สมบัติในอยุธยาที่กล่าวอ้างไว้ ก็คือ การจำลองจากห้องเก็บสมบัติในสุสานใน นวนิยาย Ziska
พิษสวาท เป็นนวนิยายที่สนุกจริง ครบรส และถึงใจ ! โดยสอดแทรกความเชื่อของคนไทย เรื่อง ภพภูมิ, ภูติผี ปีศาจ , เทวดา , บาปบุญคุณโทษ, ชาตินี้-ชาติหน้า, การลงทัณฑ์ จาก “ไตรภูมิพระร่วง” บทพระราชนิพนธ์โดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 สมัยสุโขทัย มาเติมสีสัน แต่นักวิชาการยุคใหม่เชื่อว่า วรรณคดีศาสนาเรื่องนี้ เขียนขึ้นโดยปราชญ์สมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อประโยชน์ในการปกครอง!
พิษสวาท เริ่มที่ “อัคนี” ได้รู้จักกับผู้หญิงลึกลับชื่อ “สโรชินี” (กายทิพย์ของอุบล) ที่อ้างว่า อัญมณีสีแดง (ทับทิมสีเลือด) ที่พบในศพของคนร้ายเป็นชิ้นส่วนศิราภรณ์ของเธอ เรื่องราวพัวพันอยู่กับอีก 2 คนคือ เชษฐ์ เพื่อนรุ่นน้องของอัคนี และ ทิพอาภา คู่หมั้นของอัคนี อัคนีเหมือนรู้จักผู้หญิงคนนี้มาก่อนแต่นึกไม่ออก ต่อมาทุกคนรู้จักและกล่าวขวัญถึงสโรชินีในงานการกุศลในฐานะผู้ทำนายอดีต ตามด้วยการแสดงที่รับบทปีศาจ ในชื่อ “อุบล” นางละครหลวง ผู้ถูกสาปให้เฝ้าสมบัติแผ่นดิน ต้องการนำบุคคลหนึ่งไปเป็นตัวตายตัวแทน และกล่าวกับอัคนีว่า ต้องมอบชีวิตคืนให้เธอ ที่บ้านอยุธยา สโรชินีเล่าถึงความเหี้ยมโหดของสามีนักรบ ที่ฆ่าได้แม้กระทั่งเมียที่รักเขาที่สุด
อุบลเชื่อว่า พระอรรคสิ้นรัก เขาตัดหัวและให้เธอให้เฝ้าสมบัติ โดยเขาหนีไปมีความสุขกับทิพ แม้กระทั่งชาติภพปัจจุบัน อัคนียังเป็นคู่หมั้นกับทิพอาภา อุบล ขอความยุติธรรมจากพระยมราชให้ลงโทษ และคืนชีวิตที่เป็นอิสระให้กับเธอ พระยายมราช ให้โอกาสอุบลได้พิสูจน์ความจริงว่า พระอรรคมีหญิงอื่น และเป็นต้นเหตุของการหลอกลวง ล่ามโซ่ตรวน ฟันคอ และสาปให้เธอเฝ้าสมบัติ หากอุบลพิสูจน์ความจริงที่กล่าวอ้างได้ พระอรรคต้องชดใช้คืนชีวิตและวิญญาณ รับคำสาป เฝ้าสมบัติชาติแทนเธอ
เรื่องดำเนินถึงทั้ง 3 คนมายังอยุธยาตามคำเชิญ อุบลพาทุกคนมารับคำพิพากษา ความจริงคือ สมบัติชาติจำนวนมากนี้ ไม่อาจฝากใครได้ นอกจากผู้ไว้ใจได้ ส่วนตัวเขามีภาระปกป้องแผ่นดินไทยจนวาระสุดท้ายและเสียชีวิต หาได้ไปมีความสุขกับทิพดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างไร เหตุนี้ อุบลจึงคืนคำร้องแด่พระยายมราช ขอเฝ้าสมบัติชาตินั้นต่อไป คืนสู่ความเป็นทิพย์ อิสระหลุดพ้นจากความผูกพันและอาฆาตแค้น ส่วนอัคนีอุปสมบทตลอดชีวิต ...
นี่คือ “ผู้หญิง” คนหนึ่งในนวนิยายของทมยันตี ซึ่ง “ผู้หญิง” ในนิยายหลายเรื่อง มีแง่มุมของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม มีบุคลิกเข้มแข็ง เชื่อมั่น ไม่ยอมแพ้กับบุรุษเพศ เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“ดิฉันต้องการพิสูจน์ศักดิ์ศรีของความเป็นผู้หญิงด้วยการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเกียรติยศของตนเองและลูก คงจะเป็นการย้ำให้เห็นว่า ดิฉันมีความคิดที่จะให้ความสำคัญกับสิทธิและหน้าที่ของผู้หญิงมากเพียงไร ผู้หญิงต้องต่อสู้กับปัญหาอะไรบ้างในชีวิต ซึ่งในนวนิยายหลายเรื่องที่ดิฉันเขียนขึ้นก็ได้พยายามสื่อให้เห็นอย่างมาก ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว”
เรื่อง“ยืมพล็อต” ถูกบันทึกไว้แล้ว!
Ziska และ พิษสวาท เคยถูกพูดถึงหลายครั้ง เช่น
-การศึกษาเปรียบเทียบโครงเรื่องและแนวคิดจากวรรณกรรมเรื่อง พิษสวาทและ Ziska ( A Comparative Analysis in Plot Structures and Themes of ‘Pitsawa’ and ‘Ziska’ โดย สุทธิณี พรหมกันดร อาจารย์ภาควิชาภาคภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ตีพิมพ์ในวารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2560
-มารี คอเรลลี กับนวนิยายและเรื่องสั้นของไทย โดย วินิตา ดิถียนต์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร Vol 6 No1-2 (1983) January – December 1983
และอื่นๆ
“พิษสวาท” ตีพิมพ์เป็นตอนๆครั้งแรกในนิตยสาร “สกุลไทย” รายสัปดาห์ มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี (ราวๆ ปี 2512-2514) รวมเล่มครั้งแรกในปี 2515 โดยสำนักพิมพ์ คลังวิทยา เป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จมาก ถูกจริตกับความเชื่อของคนไทยในเรื่องไสยศาสตร์ ชาติภพและกฎแห่งกรรม! ถูกนำมาผลิตซ้ำในหลากหลายรูปแบบนับไม่ถ้วน
แม้ “พิษสวาท” จะพ้องกับ “Ziska” แต่ก็เหมือนหนังคนละม้วนกับสิ่งที่ทมยันตีเคยเล่าผ่านมติชนออนไลน์ เมื่อปี 2559
“เมื่อ 30 ปีก่อน ตอนเขียนเคยเห็นพี่บัว (แม่อุบล ตัวละครหลักในพิษสวาท) แว้บๆ ตรงหางตา
ดิฉันนั่งอยู่ในบ้าน เห็นผู้หญิงใส่ชุดไทยยาวกรอมเท้า ชุดสีเทาๆ ฟ้าๆ เดินขึ้นไปข้างบน ดิฉันกำลังเขียนนิยายเลยวางปากกา ยืนเกาหัวสงสัยว่าอะไร เพราะเป็นคนไม่กลัวผี นี่คือข้อหนึ่ง”
ส่วนข้อสองนั้น คือ มีเพื่อนของเธอคนหนึ่งไปนั่งสมาธิแล้วได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าเป็นผู้เฝ้าสมบัติแผ่นดิน เสียชีวิตเนื่องจากโดนสามีฟันคอขาด ส่วนเรื่องราวนั้นกำลังมีผู้เขียนบอกเล่าอยู่ ... ตอนนั้นเพื่อนก็ไล่หาว่าใครเป็นคนเขียน สุดท้ายมารู้ว่าเป็นดิฉัน เขาบอกพี่อี๊ดอย่าเพิ่งพูดอะไร แล้วถามว่า พี่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องเฝ้าทรัพย์หรือเปล่า”
ทมยันตีเคยให้เหตุผลว่า “ภาษาอังกฤษ อ่านออกแต่แปลไม่ได้” !
“ดรามา -อาถรรพณ์- ประชาสัมพันธ์แฝง”
เรื่องต่อจากนี้ อาจจะมองว่าเป็นเรื่องบังเอิญ หรือ “ดรามา -อาถรรพณ์- ประชาสัมพันธ์แฝง” แล้วแต่ใครจะคิด ! แต่เรื่องแบบนี้ คนไทยเชื่อ และชอบเรื่องทำนองนี้ที่เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ ภูติผี-เทวดานักหนา
ครั้งที่1: ปี 2514 พิษสวาท เป็นละครครั้งแรก สร้างโดย “ศรีไทยการละคร” ของเทิ่ง สติเฟื่อง (บรรยงค์ เสนารักษ์) ทางช่อง 5 (เรียกว่า ช่อง 7 ขาว-ดำ ในสมัยนั้น) เพลงประกอบ เขียนคำร้องโดย เทิ่ง สติเฟื่อง ทำนองโดย ใหญ่ นภายน ขับร้องโดย บุษยา รังสี ละครเรื่องนี้วางจบที่ 3 ตอน แต่นางเอก “เสาวนีย์ สกุลทอง” ที่รับบท “สโรชินี-อุบล” เกิดประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจึงต้องตัดจบใน 2 ตอน มีข้อมูล ระบุว่า
“จนมาถึงเรื่อง “พิษสวาท (2514)” เสาวณีย์ได้รับบทเด่นเป็น “สโรชินี” หรือ “อุบล” บทตัวเอกของเรื่อง ไม่มีอะไรจะเป็นลางบอกเหตุเลยว่า ละครเรื่องนี้ จะเป็น “เรื่องสุดท้าย” ของชีวิตเธอ!
ข่าวช็อกวงการคือ เสาวณีย์ก็เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ด้วยพิษบาดแผลจากกระสุนปืนลั่น! ในปี 2514 นั่นเอง ขณะนั้นเธออยู่กับแฟนหนุ่มตามลำพัง แฟนหนุ่มของเธอยืนยันว่า เป็นอุบัติเหตุปืนลั่น ไม่มีใครทราบแน่นอนว่า เกิดอะไรขึ้น อุบัติเหตุ หรือฆาตกรรม?
ผมค้นไม่เจอว่า บทสรุปของเรื่องนี้เป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของเธอ คือการเล่าลือถึงอาถรรพ์ของบทประพันธ์เรื่อง “พิษสวาท” ว่าเธออาจจะมี “อันเป็นไป” เพราะแสดงเรื่องนี้ *ผมไม่แน่ใจว่า ตอนเธอเสียชีวิต เธอแสดงละคร “พิษสวาท” จบหรือยัง อย่าลืมว่าในยุคนั้น แสดงสด ไม่ได้บันทึกเทป บางกระแสบอกว่า ทางผู้จัดต้องตัดจบไปเลย เพราะไม่มีใครกล้ามาแสดงต่อแทนเธอ
**น่าเสียดายที่ “ดาวรุ่ง” ต้องดับไปอีกดวง ก่อนเวลาอันควร ถ้าไม่เสียชีวิต ด้วยความสวย บวกกับฝีมือ และผู้สนับสนุนที่ดีอย่าง เทิ่ง สติเฟื่อง เสาวณีย์ สกลุทอง ต้องขึ้นแท่นเป็นนางเอกละครแถวหน้าแน่นอน #ThaiMoviePosters ขอระลึกถึงดาราสาวสวยผู้ครั้งหนึ่งเคยให้ความบันเทิงคนมากมาย...” (*ข้อมูลจากหนังสือโลกดารา)
ครั้งที่ 2 : ปี 2517 จัดสร้างในนามของ “รณภพฟิล์ม” โดย รุจน์ รณภพ อำนวยการสร้างและกำกับการแสดง นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี , อรัญญา นามวงศ์, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช และรุจน์ รณภพ ในปีเดียวกัน พิษสวาทยังเป็นละครวิทยุของคณะอัชชาวดีของจีรภา ปัญจศิลป์ พี่สาวของไพโรจน์ สังวริบุตร อีกด้วย - ฉลุย ไม่มีเหตุอันใด!
ครั้งที่ 3 : ปี 2524 “พี่บัว” ถูกผลิตซ้ำอีกคราว โดย รัชนู บุญชูดวง ครั้งนี้เป็นละครโทรทัศน์ของช่อง 3 จัดสร้างโดย รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง และ วรยุทธ พิชัยศรทัต นำแสดงโดย สมภพ เบญจาธิกุล , รัชนู บุญชูดวง, ลินดา ค้าธัญเจริญ และอนุสรณ์ เตชะปัญญา ในเวอร์ชั่นนี้ รัชนู ผู้รับบท “อุบล” ได้ฝันถึงผู้หญิงในชุดโบราณ ชื่อ “บัว” ทั้งยังเกิดเหตุการณ์แปลกๆ ในกองถ่ายกับเธออีกด้วย
ในบทความของวินิตา ดิถียนต์ กล่าวใน “มารี คอเรลลี กับนวนิยายและเรื่องสั้นของไทย” หน้า
121 ว่า “เรื่องนี้ จะด้วยความเข้าใจผิด หรือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ตาม เมื่อนำไปเป็นละครโทรทัศน์ ได้มีการอ้างว่ามาจากเรื่องจริง และวิญญาณของอุบลนั้นมีตัวตนจริงจนปัจจุบันนี้ ผู้แสดงเป็นสโรชินีหรืออุบล อันได้แก่ รัชนู บุญชูดวง ถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า ฝันเห็นวิญญาณของอุบลมาปรากฏกายในลักษณะสตรีโบราณ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวเป็นอย่างมาก ในเรื่องนี้ ไม่ปรากฏว่า “ทมยันตี” ให้สัมภาษณ์ในทำนองชี้แจงว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน และไม่เคยเอ่ยถึง Ziska หรือ “กงเกวียน” เลยว่า เป็นที่มาของพิษสวาท”
ครั้งที่ 4 : ปี 2534 จัดสร้างโดยกันตนา ออนแอร์ทางช่อง 5 นำแสดงโดย เล็ก ไอศูรย์ , ลีลาวดี วัชรโรบล และ วรรณิศา ศรีวิเชียร โดย วรรณิศา ในบท ทิพอาภา เล่นได้ครึ่งเรื่องก็เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรงจนต้องถอนตัว ครึ่งเรื่องหลังจึงต้องให้ “ปัทมา ปานทอง” มาเล่นแทน
ครั้งที่ 5 : ปี 2559 ทางช่องวัน ประสบความสำเร็จมาก นำแสดงโดย ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์
และ นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี ไม่มีเหตุอันใด !
ครั้งที่ 6 : ปี 2566 ถึงเวลาของ อุบล นางละครหลวง ใน “พิษสวาท เดอะมิวสิคัล” ในรูปแบบของ
ละครเวทีเป็นครั้งแรก!
มารู้จัก “อุบล” แก้ม กุลกรณ์พัชร์ เรื่องนี้กัน !
ตัวละครหลักของ “พิษสวาท” คือ สโรชินี ซึ่งเป็นกายทิพย์ของอุบล (นางละครเมืองอยุธยา ช่วงเสียกรุง) ซึ่งตามมาทวงความยุติธรรมจากอัคนี (ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ ) หรือพระอรรคในชาติที่แล้ว ผู้รับบท อุบล/สโรชินี คือ “แก้ม กุลกรณ์พัชร์ โพธิ์ทองนาค” หรือ “แก้ม กุลกรณ์พัชร์ เมอร์นาร์ด” (ลูกสาวของ ทิพยวรรณ ปิ่นภิบาล)
แก้ม กุลกรณ์พัชร์ จบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกดุริยางคศิลป์ตะวันตก เป็นช่วงที่แก้มได้ศึกษาเรื่องการร้องเพลงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการร้องเพลงโอเปร่า หรือ อุปรากร หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ก็ได้รับโอกาสในการเล่นละครเวทีเรื่อง"สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล" ที่กำกับการแสดงโดย บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ โดยเริ่มจากการรับบทเป็นนักแสดงสมทบ ก่อนจะรับบทของ "คิม" ตัวละครหลักสำคัญในละครเพลงชื่อดัง "มิสไซง่อน เดอะมิวสิคัล" เวอร์ชั่นภาษาไทยคู่กับกัน-นภัทร ในปีถัดมา และมารับบทนางเอกเต็มตัวครั้งแรกกับ“เลือดขัตติยา เดอะมิวสิคัล”
จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านการแสดงมิวสิคัลโดยตรงที่ University of Surrey สถาบันสอนการแสดงชั้นนำแห่งหนึ่งของอังกฤษ ภายหลังจบการศึกษาปริญญาโท แก้มยังได้ไปออดิชั่นเพื่อร่วมเล่นละครเวทีเรื่อง “มิสไซง่อน” ในโปรดักชั่น UK Tour 2017 ของคาเมอรอน แมคอินทอช โปรดิวเซอร์ระดับโลก จนได้รับเลือกให้เป็นนักแสดงสมทบในที่สุด จากนั้นแก้มก็ได้รับการชักชวนจากเอเจนซี่ให้ไปร่วมออดิชั่นอีกครั้ง จนเธอมีโอกาสได้เข้าร่วมแสดงละครเวทีเรื่อง เดอะ คิง แอนด์ ไอ (The King and I) ซึ่งเปิดการแสดงที่ The London Palladium ประเทศอังกฤษ ซึ่งนับเป็นโรงละครที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษ ในย่าน West End เมื่อช่วงปี 2018 โดยแก้มได้รับเลือกให้ทำ 2 หน้าที่ คือเป็น Ensemble (นักแสดงหมู่มวล) และเป็น understudy หรือนักแสดงสำรองของตัวละครหลักในเรื่องอย่าง "ทับทิม" ซึ่งแก้มมีโอกาสได้แสดงความสามารถต่อสายตาผู้ชมถึง 2 รอบหลังจากนักแสดงหลักไม่สามารถขึ้นแสดงได้
ในปี 2019 แก้ม กุลกรณ์พัชร์ ได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นนักแสดงหลักในบท “ทับทิม” ใน เดอะ คิง แอนด์ ไอ (The King and I )โปรดักชั่น UK & Ireland Tour และได้เป็นโปรดักชั่น Tour มาเล่นที่ประเทศญี่ปุ่นที่ Theater Orb และได้แสดงร่วมกับ Ken Watanabe อีกครั้ง
ละครเวทีฟอร์มยักษ์แห่งปี “พิษสวาท เดอะมิวสิคัล” จะเปิดม่านการแสดงในเดือนมิถุนายนนี้ (14 มิถุนายน – 9 กรกฎาคม) ณ โรงละคร “เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์” สามารถติดตามข่าวสาร และความเคลื่อนไหวของละครเวทีเรื่องยิ่งใหญ่แห่งปี “พิษสวาท เดอะมิวสิคัล” ได้ที่ facebook : Scenario & Rachadalai เปิดขายบัตรแล้ววันนี้ ที่ “ไทยทิคเก็ตเมเจอร์” ทุกสาขาโทร. 02-2623456
หมายเหตุ ภาพประกอบบางส่วนจากอินเทอร์เนต