“ราโชมอน” การโกหกเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรี!
ในแวดวงละครเวทีนั้น เรื่อง RASHOMON (ราโชมอน) by Ryūnosuke Akutagawa บทแปลไทยโดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผลงานลำดับที่ 5 ของเทศกาลละคร BU PLAYFEST 2023 ด้วยความร่วมมือจาก Concord Theatricals ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ทายาท ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ปราโมช
“ราโชมอน” มักจะพูดกันเสมอและบ่อยครั้งที่ถูกนำมาจัดแสดงในรั้วมหาวิทยาลัย นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง ... แม้ว่าวันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม เวลา 14.00 น. จะเป็นรอบสุดท้าย ณ Black Box Theatre โรงละครคือปัญญาแห่งประชาชน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เหตุใด ... ทุกคนมีความจริงที่บอกกล่าวไม่เหมือนกัน ทุกคนต่างมุ่งเน้นการโกหกเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรี
ละครออนไลน์ ขอนำบางส่วนจาก สูจิบัตร เรื่องนี้มาบันทึกไว้
ราโชมอน เวอร์ชั่นนี้ อรรถพล วงษ์ค้ำ เป็นผู้กำกับละครเวที และ ปฐมพร อัตนัย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย พร้อมมวลหมู่ผู้ทำงานมากมาย ส่วนนักแสดงทั้ง 9 คน ประกอบด้วย
พระ (เศรษวัฒณ์ พลสันติกุล) , คนตัดฝืน (นันทวัฒน์ ธรรมชาติถาวร), คนทำช้อง (ฉัตรภูพงศ์ หอมชะเอม), ซามูไร (ก้องภพ มณีโชติ), ตาโจมารุ (ธนาธิป บุญญะ), กินุเมะ (จิดาภา พงษ์พันธ์), สารวัตร (พัทธดนย์ จันทร์เทียน),ร่างทรง (ธนภัทร นีอำมาตย์),แม่กินุเมะ (เมธาวี นกสกุล)
เรื่องย่อ
เรื่องราวเริ่มที่หน้าประตูราโชมอน โดยมีพระ , คนตัดฟืน และคนทําซ้อง กําลังถกเถียงกันถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการตายของซามูไร เริ่มต้นจากเรื่องเล่าของตาโจมารุ จอมโจรผู้โด่งดังจากการก่อคดีมากมายทําให้มีชื่อเสียงที่ดังกระฉ่อนไปทั่วเมืองเกียวโต ได้ให้การสารภาพต่อศาลว่า เขาเป็นคนฆ่าซามูไรเอง เนื่องจากเขาต้องการภรรยาของซามูไร และตาโจมารุก็ถูกตัดสินประหารชีวิต, ต่อมาเป็นเรื่องของคําให้การของกินุเมะ ภรรยาของซามูไร เธอให้การต่อศาลว่าหลังจากที่เธอโดนข่มขืนโดยตาโจมารุแล้ว เธอกับตาโจมารุโต้เถียงกันอยู่พักหนึ่งแล้วจึงเดินออกไปด้วยความโมโห และหลังจากนั้นเธอก็ถูกสามีของเธอมองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม และด้วยความบันดาลโทสะ เธอจึงเผลอพลั้งมือฆ่าสามีของตนเอง และคําให้การสุดท้ายในศาลโดยผู้ที่อ้างตัวเป็นร่างทรงซามูไร เขาให้การกับศาลว่า ซามูไรนั้นฆ่าตนเองตายเพื่อรักษาเกียรติของซามูไร หลังจากถูกภรรยาและโจรป่าหยามเกียรติ หลังจากคําให้การทั้งสามคนได้จบลง เรื่องราวได้เกิดความสับสน ทําให้ไม่รู้ว่าใครพูดความจริงหรือใครที่โกหก ทําให้พระ คนตัดฟัน และคนทําซ้องมานั่งถกเถียงกันเพื่อหาคําตอบว่าอะไรคือความจริงกันแน่ และเมื่อตอนท้ายเรื่องก็ได้มีคําบอกเล่าสุดท้ายจากตัวละครใดตัวละครหนึ่ง ซึ่ง อาจจะเป็นความจริงมากที่สุดปรากฏขึ้น
Director's note โดย อรรถพล วงษ์ค้ำ ผู้กำกับละครเวที ว่า
“ในโลกนี้มีข้อเท็จจริงอยู่มากมาย แต่เราสามารถมั่นใจได้แค่ไหนว่าสิ่งที่เรารับรู้มานั้นมันเป็นความจริงที่สุด ในเหตุการณ์บางเหตุการณ์ถูกเล่าหรือถ่ายทอดผ่านมุมมองของคนหลายๆ คน เรื่องราวของเหตุการณ์นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามความคิด ทัศนคติ และมุมมองของผู้ถ่ายทอด และยิ่งเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดซ้ำๆ ผ่านผู้ถ่ายทอดคนใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ นั้น ยิ่งทําให้ความจริงที่สุดเลือนหายไปเรื่อยๆ ละครเรื่อง ราโชมอน เป็นละครที่แสดงให้เห็นอีกหนึ่งสถานการณ์ของการถ่ายทอดชุดความจริงมนุษย์ที่ต่างคนต่างมีความจริงในแบบของตนเอง และสุดท้ายแล้วละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้บอกว่าจริงๆ แล้วเรื่องที่ใครเล่านั้นเป็นความจริงที่สุดกันแน่ ปล่อยให้คนดูได้ไตร่ตรองและวิเคราะห์เอาเองว่า เราจะเชื่อความจริงของใครได้มากที่สุด ซึ่งนี่เป็นเสน่ห์ของละครเรื่องนี้ที่ผู้ประพันธ์ได้คิดและรังสรรค์ผลงานออกมาอย่างดีที่สุด
และผมก็หลงเสน่ห์ของบทละครเรื่องนี้ ผมได้รู้จักกับบทละครเรื่องนี้ในวิชาการแสดงชั้นปีที่ 2 ผมได้รับบทเป็นซามูไร ด้วยความชอบในวัฒนธรรมองประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้วเมื่อได้พบกับละครเวทีที่เป็นเรื่องราวของประเทศญี่ปุ่นแบบนี้จึงรู้สึกหลงไหลมาก และเมื่อยิ่งได้ทําการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับละครเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกเหมือนกําลังเล่นเกมไขปริศนาบางอย่างแล้วค่อยๆ เจอกุญแจปลดล็อกไปเรื่อยๆ ได้รู้อะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่เคยรู้และรู้สึกว่านี่คือการได้ศึกษาจริงๆ ผมนําบทละครเรื่องนี้มาทําเป็นละครในหลายๆ ครั้งเมื่อมีโอกาส ทั้งวิชาการกํากับการแสดง หรือ master class เมื่อมีโอกาสผมก็จะหยิบบทละครเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษาใหม่อยู่เรื่อยๆ และทุกๆ ครั้งที่หยิบมาทําผมมักได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกครั้ง อะไรที่เราคิดว่าเราเคยรู้แล้วพอกลับมาทําอีกเรากลับได้รู้เพิ่มอีก ได้เห็นมุมมองของคนอื่นๆ อีกไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่า ละครเรื่องนี้มันซ่อนปริศนาและปรัชญาหลายๆ อย่างของมนุษย์ไว้เยอะมาก สามารถ ค้นหาไปได้เรื่อยๆ และด้วยความที่บทละครเรื่องนี่ทรงคุณค่าและโด่งดังมากทําให้ถูกสร้างมาหลายครั้ง มันจึงเป็นความท้าทายของผมมากๆ ที่จะทําให้ ราโชมอน ของตัวเองเป็นที่จดจําของคนดู
อย่างไรก็ตาม ผม นักแสดง และทีมงานทุกคนตั้งใจและคาดหวังเป็นอย่างมากว่าจะทําให้คนดูชื่นชอบและจดจำ ราโชมอน ในเวอร์ชั่นที่พวกเราเป็นผู้ถ่ายทอดด้วยใจ ขอบคุณครับ”
Actor's note เศรษวัฒณ์ พลสันติกุล ซึ่งรับบท “พระ” กล่าวในบทละครว่า “ราโชมอนประตูผี แต่ก่อนก็สร้างไว้ใหญ่โตแข็งแรง แต่นานเข้าก็เสื่อมโทรมไป......เหมือนใจคน”
“ผมรับบทเป็น พระ ในเรื่อง ราโชมอน ครั้งแรกที่ได้รู้ว่าบทที่ตัวเองได้รับคือพระมาจากการเลือกของผู้กํากับก็แอบตกใจ เพราะก่อนหน้านี้ผมไม่ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องราโชมอนมาก่อน และผมติดภาพพระแบบที่เห็นอยู่ทั่วๆ ไปในปัจจุบัน ทําให้ผมแอบตั้งคําถามว่าตัวละครนี้จะดีมั้ย จะเล่นได้มั้ย แต่ผมก็ได้เปิดใจให้กับตัวละครตัวนี้ เพราะตัวละครนี้มีความน่าสนใจมากกว่าที่คิด ตัวละครนี้ทําให้ผมได้เรียนรู้ว่าอย่าตัดสินคนจากภายนอกเพียงอย่างเดียว เหมือนตอนแรกที่ผมได้ตัดสินตัวละครนี้ไปแล้ว ต้องดูหลายๆ ด้าน เพราะคนเราทุกคนไม่มีใครดีหรือชั่วไปซะหมด ทุกๆ คนมีสีเทาอยู่ในตัว และคนเราทุกคนมักจะมีเหตุผลสําหรับการกระทําของตัวเองเสมอ ไม่มีใครทําอะไรไปโดยที่ไม่มีเหตุผล ผมต้องขอบคุณตัวละครนี้ที่ทําให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจโลกใบนี้มากขึ้น นอกจากนี้ผมก็ได้เข้าใจถึงการกระทําของตัวละครนี้มากขึ้น ว่าทําไมต้องทําแบบนี้ ต้องพูดแบบนี้ และก็หวังว่าทุกคนจะเข้าใจตัวละครนี้เหมือนกับที่ผมเข้าใจด้วยเหมือนกัน
ในฐานะนักแสดงขอยอมจะรับว่ากดดันมากๆ เพราะว่าเรื่อง ราโชมอน เป็นเรื่องที่ดังและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทําให้รู้สึกกดดันและอยากจะทําให้ผลงานออกมาดีเป็นที่พอใจ แรงกดดันทําให้อยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ อยากจะสื่อสารแทนตัวละครที่ตัวละครต้องการจะสื่อสารให้ได้อย่างชัดเจน ต้องทําการบ้านอย่างหนักจนบางครั้งก็ท้อ เหนื่อยทั้งกายทั้งใจ ไม่อยากจะทําแล้ว ไม่สนุกเลย แต่สุดท้ายก็ต้องสู้เท่านั้น สู้เพื่อความตั้งใจของตัวเองที่อยากจะทํา อยากจะแสดง อยากจะให้ผู้ได้เห็นและได้เข้าใจเรื่องราวของเรื่อง ราโชมอน ผ่านตัวละคร พระ ในแบบฉบับของผมเอง สุดท้ายนี้อยากให้ผู้ชมได้เห็นถึงความตั้งใจ ความทุ่มเท ของทีมงานทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และก็ต้องขอบคุณทีมงานทุกคนเพราะถ้าไม่มีทีมงานก็จะได้มีเรื่อง ราโชมอน เกิดขึ้นมา”
Actor's note ฉัตรภูพงศ์ หอมชะเอม รับบท “คนทำช้อง” - “ข้าเองก็เป็นคนไม่มีอะไร แล้วก็ไม่ได้เป็นอะไรทั้งนั้น ข้าเลิกหลอกตัวข้าเองมานานแล้ว”
“ผมรับบทเป็น คนทําช้อง ผมได้รับบทนี้มาจากผู้กํากับที่เป็นคนเลือกให้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าคนทำช้องคืออะไร ผมก็เลยทําการค้นหาข้อมูลจนรู้ว่า คนทําช้อง แปลว่า คนทําวิกขายในสมัยเฮอัน ในตอนที่ได้รับบทนี้ ผมก็มีความคิดบางอย่างที่ว่า เลือกตัวละครนี้แล้วมันจะดีจริงๆ รึเปล่า จะเล่นได้มั้ย แต่พอได้ลองซ้อมครั้งแรก ผมกลับพบอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งความสนุกของตัวละคร background ต่างๆ ของตัวละครที่ดึงดูดความสนใจผม ทําให้ผมเกิด passion ที่อยากจะรับบทตัวละครนี้ มุมมองของตัวละครคนทําช้องที่มองโลกในด้านเดียวกับผม มนุษย์เราต่างคนต่างก็อยากจะเก็บความลับบางอย่างที่ไม่อยากให้ใครเห็น การโกหก หลอกหลวง เพื่อให้ตัวเองดูดีในสายตาคนอื่น การไม่สํานึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทําผู้อื่น การข่มเหง รังแก เหยียบย่ำผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี คนทำช้องได้ผ่านเรื่องราวชีวิตมามากมาย ประสบการณ์ต่างๆ ทําให้กลายเป็นคนที่มองทุกความเป็นจริงว่า มันคือธรรมชาติของมนุษย์ ชอบรับมัน และใช้ชีวิตอยู่กับมัน ในตัวตนของเขา ทําให้ผมตระหนักถึงชีวิตในปัจจุบัน ตัวละครนี้ทําให้ผมปรับเปลี่ยนมุมมองในการมองโลกใหม่ "จงใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณจะมีอํานาจ มีฐานะ สักแค่ไหน สุดท้ายคุณก็ต้องตายอยู่ดี” ผมหวังว่าทุกคนจะตามหาตัวตนของตัวเองเจอนะครับ
ในฐานะของนักแสดง ผมยอมรับว่า ละครเรื่อง ราโชมอน เป็นเรื่องที่กดดันผมมากๆ แต่แรงกดดันเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ทําให้ผมอยากที่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ตัวละครไม่ใช่แค่จินตนาการ แต่มันคือชีวิตอีกโลกหนึ่ง ที่ผมอยากจะเข้าไปเรียนรู้ การซ้อมแต่ละครั้ง มีความผิดพลาดหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยทําให้ผมยอมแพ้ในละครเรื่องนี้ สุดท้ายนี้ผมก็อยากให้ผู้ชมเห็นถึงความพยายาม ความตั้งใจ ของนักแสดง และทีมงานทุกคน และก็ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ทุ่มเททุกอย่าง เพื่อสร้างโปรดักชั่น ราโชมอน นี้ ขอบคุณครับ”
Actor's note จิดาภา พงษ์พันธ์ ผู้รับบท “กินุเมะ”
“ในเรื่อง “ราโชมอน” นี้นำเสนอโดยเล่าเรื่องจากปากคำของผู้คนที่ให้การ ส่งผ่านความรู้สึกโดยให้ผู้ชมเป็นตัวแทนศาล โดยให้ผู้ชมตัดสินว่าใครคือผู้ที่เลวร้ายสมควรถูกลงโทษ ซึ่งหากผู้ชมได้พินิจพิเคราะห์คําให้การแล้ว จะทราบทันทีว่าตัวละครทั้ง 3 ตัวนั้นโกหก สาเหตุของการโกหกนั้น เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ทําให้คนทั้ง 3 คน คือซามูไร ตาโจมารุ กินุเมะ ให้การเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีกันเอง เป็นที่วุ่นวายสับสน เมื่อเรารู้เรื่องราวจนจบ สิ่งสําคัญยิ่งกว่า คือ เพราะอะไรทําให้คนทั้งสามต้องแย่งกันเป็นคนฆ่า คําตอบคือ เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรี จึงเป็นเรื่องที่ค้างคาต่อมาว่า แท้จริงแล้ว การลุ่มหลงมัวเมาในเกียรติและศักดิ์ศรีทําลายล้างชีวิตของตนและคนรอบข้าง แต่เพราะเหตุใดคนทั้ง 3 ถึงเห็นผิดเป็นชอบได้ เพราะว่าสังคมและค่านิยมในขณะนั้นทําให้มนุษย์ลืมศีลธรรม จรรยาบรรณอันดีงามไป ไม่ละอายและเกรงกลัวที่จะทำบาป ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนมีการดําเนินชีวิตไม่เหมือนกัน แต่โดยรวมแล้วทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีกันคนละแบบ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เจอนั้นว่าศักดิ์ศรีของเราคืออะไร ดิฉันคิดว่าละครเรื่องนี้อาจสะท้อนหรือให้ผู้ชมคิดและไตร่ตรองเรื่องของการดําเนินชีวิตอยู่ในสังคมของตนเอง เพื่อให้ดูมีคุณค่าต่อสังคม ดังในบทละคร จะเห็นการกระทําของตัวละคร คือกินุเมะทําทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ได้เกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองกลับคืนมาจากผู้ชายทั้ง 2 ที่ดูถูกและเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง ดังนั้นดิฉันเลือกที่จะนําเสนอการกระทําของตัวละครกินุเมะ เพื่อจะเตือนใจให้ผู้ชมได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าที่ดีงามของจิตใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
จากการที่ได้ลองสวมบทบาทและศึกษาบทละครเรื่อง "ราโชมอน” แล้ว ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับการโกหกเพื่อศักดิ์ศรีของตัวเอง ที่เกิดจากสภาพสังคมที่ใครก็เชื่อใจกันไม่ได้ ต่างคนต่างต้องการอยู่รอด เมื่อดิฉันได้ศึกษาถึงตัวละครกินุเมะแล้วดิฉันได้เข้าใจในตัวละครนี้มากขึ้น ในด้านการที่ผู้หญิงถูกกดขี่ในสมัยนั้น ซึ่งเทียบกับเมืองไทยแล้วเมื่อก่อนผู้หญิงไทยก็โดนกดขี่ข่มเหงจากสามีและสังคมเหมือนกัน พอได้รู้อย่างนี้แล้วดิฉันจะได้นำมาปรับปรุงใช้ในชีวิตประจําวันเพื่อไม่ให้ใครมากดขี่ได้ รวมถึงการเข้าสู่ตัวละคร เนื่องจากบทละครเรื่องนี้เป็นบทละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) จึงค่อนข้าง ยากในการแสดง และในบทบาทของผู้หญิงญี่ปุ่นที่ทําทุกอย่างเพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเอง และตัวละครกินุเมะกับตัวดิฉันมีความแตกต่างกันมากๆ เนื่องจา กกินุเมะเป็นคนเจ้าเล่ห์ รู้จักใช้มารยาหลอกล่อผู้ชาย มีความเป็นผู้ดี เป็นผู้หญิงสูงศักดิ์ ซึ่งดิฉันเป็นคนที่มีนิสัยและท่าทาง การนั่ง การเดินต่างๆ ค่อนข้างคล้ายผู้ชาย ไม่ค่อยเรียบร้อยหรือดูสง่างามเหมือนกินุเมะ ซึ่งการได้มาสวมบทบาทเป็นกินุเมะเป็นเรื่องที่ท้าทายกับตัวดิฉันมากๆ แต่ดิฉันมีความตั้งใจที่จะนําเสนอตัวละครกินุเมะผ่านตัวดิฉันให้ผู้ชมได้ชม และอยากให้ผู้ที่มาชมละครเรื่องที่ประทับใจและมีความสุขค่ะ”
Costume design's note โดย ปฐมพร อัตนัย ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย กล่าวว่า
“ในยุคเฮอันเป็นยุคที่มีศิลปะการแต่งการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตั้งแต่สามัญชนไปจนถึงกษัตริย์ การแต่งกายที่บ่งบอกถึงฐานะ อาชีพ ความร่ำรวย ผ้าที่ใช้นำมาทําเครื่องแต่งกายก็สามารถสื่อได้ถึงยศศักดิ์ของผู้สวมใส่ได้เช่นกัน ถ้ากล่าวถึงการแต่งกายระดับชาวบ้านก็อย่างเช่น ตาโจมารุ พระ คนตัดฟืน คนทําซ้อง สารวัตร และร่างทรง แต่จะแต่งกายแตกต่างกันไปตามบทบาทตัวละคร ผ้าที่ใช้ทําชุดอาจจะมีลักษณะที่คล้ายๆ กัน แต่ความเก่าความเรียบร้อยจะแตกต่างกันเป็นอย่างมาก และนี่คือความยากของเรื่องนี้
ส่วนระดับสูงตั้งแต่ แม่กินุเมะ กินุเมะ และซามูไร จะมีความยากขึ้นมาอีกขั้นคือ แม่กินุเมะจะมีความเป็นแม่บ้านอยู่แต่ก็ยังต้องให้สมฐานะที่ลูกของตนเองเป็นภรรยาของซามูไร กินุเมะมาจากลูกแม่บ้านธรรมดาๆ แต่ด้วยความได้มาเป็นภรรยาของซามูไรจึงจะต้องมียศศักดิ์ขึ้นไปอีกขั้น การแต่งกายก็ต้องเป็นไปตามยศที่เปลี่ยนไป โดยในยุคเฮอันนั้นผู้หญิงที่มียศศักดิ์จะใส่เสื้อผ้าหลายชั้น ยิ่งมียศศักดิ์ที่สูงก็ยิ่งต้องใส่หลายชั้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าในระดับราชินีจะใส่ชุดถึง 15-20 ชั้นกันเลย กินุเมะจึงจะต้องมีการใส่ชุดหลายๆ ชั้นเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นถึงยศศักดิ์ที่นางเป็นอยู่ ส่วนซามูไรนั้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะของซามูไรในยุคเฮอันที่อาจจะมีไว้เพื่อบ่งบอกถึงความน่าเกรงขามก็เป็นได้ เอกลักษณ์ในการแต่งกายของเรื่องราโชมอนเป็นการทําให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นในยุคเฮอัน อาจจะมีการดัดแปลงต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับงบประมาณที่ตั้งไว้
ขอฝากเรื่อง ราโชมอน ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจทุกคนด้วยนะคะ ทั้งทีมงาน ผู้กํากับ ดีไซน์ พวกเราตั้งใจและทุ่มเทให้กับโปรดักชั่นนี้มากๆ อยากให้ทุกคนที่ได้ดูได้รับความสนุกสนานและข้อคิดที่เป็นประโยชน์แก่คนดูทุกคน ขอบคุณค่ะ”
ในวิกิพีเดีย ทำให้รู้ว่า ราโชมอนเริ่มจากการเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1950 แนวลึกลับอาชญากรรม ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของรีวโนซูเกะ อากูตางาวะ 2 เรื่อง คือ "ราโชมอน" (ที่มาของฉาก) และ "ในป่าละเมาะ" (ที่มาของตัวละครและเรื่อง)
ราโชมอนเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ อากิระ คูโรซาวะ (ผู้กำกับ) และภาพยนตร์ญี่ปุ่นทั้งหมดได้รับความสนใจจากผู้ชมชาวตะวันตก แม้จะฉายเพียงไม่กี่โรงก็ตาม และถือเป็นผลงานชิ้นเอกเรื่องหนึ่งของคูโรซาวะอีกด้วย
ในประเทศไทย ราโชมอนได้จัดการแสดงครั้งแรกหน้าพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2508 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาในวันที่ 23 เดือนและปีดียวกัน ได้จัดแสดงผ่านไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม โดยมีนักแสดง ดังนี้ พระ (สาหัส บุญ-หลง), คนตัดฟืน (ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์), คนทำช้อง (คึกฤทธิ์ ปราโมช), สารวัตร (เสริมพันธ์ สุทธิเนตร), ตาโจมารุ (อาคม มกรานนท์), ซามูไร (อาจิต รัศมิทัต), เมียซามูไร (สุพรรณ บูรณพิมพ์), แม่เมียซามูไร (มาลี เวชประเสริฐ), คนทรง (มนัส บุณยเกียรติ)
ราโมชอน เป็นผลงานชั้นดีเรื่องหนึ่งในวงการละครเวที ถูกนำมาเป็นแบบอย่างให้กับคนเรียนและทำละครเวทีในรั้วมหาวิทยาลัยสม่ำเสมอ และในปี 2554 หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุลได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อ “อุโมงค์ผาเมือง”