xs
xsm
sm
md
lg

DILOK VON SIAM 2023 : ละคร “ดิลกนพรัฐ” ผู้ปลงพระชนม์ตนเองในวัย 29 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



DILOK VON SIAM 2023 : ละคร “ดิลกนพรัฐ” ผู้ปลงพระชนม์ตนเองในวัย 29 ปี

เสียงปืนดังขึ้นนัดหนึ่ง อาจจะตามมาด้วยเรื่องเล่าและบันทึกมากมาย แต่เสียงปืน นัดนี้! ทำให้เรื่องราวของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี หรือ พระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ พระโอรสองค์ที่ 44 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกสร ปิดฉากลงและแทบหายไปจากประวัติศาสตร์... (ประวัติชีวิตโดยละเอียด สามารถเสิร์ชหาอ่านกันได้)

วันนี้ ! แอนไท-ธีสิส (Anti-Thesis) นำ “DILOK VON SIAM” กลับมาเล่นอีกครั้ง หลังจากเมื่อปี 2019 เคยจัดแสดงผลงานศิลปะการแสดงละครนิพนธ์ในรั้วมหาวิทยาลัย

“ดิลกนพรัฐ” แปลว่า “ศรีเมืองเชียงใหม่”

บันทึกเรื่องราวของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี (พระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ) ที่สืบค้น สิ่งที่เราจะได้คือ การกล่าวถึงชีวิตเมื่อเริ่มต้นและจบลงเมื่อปลงพระชนม์ตนเอง!

ชีวิตลูกครึ่ง “ล้านนา-สยาม” ในยามนั้น “คนชายขอบ” และ ความสัมพันธ์ของรัฐไทยส่วนกลางกับล้านนา ก็เป็นเรื่อง “การเมือง” ! มนุษย์ทุกคนต้องการและอยากให้คนอื่นเห็นใน “ตัวตน” ! และไม่ต้องการเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ของใครหรือผู้ใด ชีวิตของพระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ ผ่านความทุกข์มากมาย เกิดและเติบโตในวังหลวง ไม่เคยมีโอกาสไปเยือนแผ่นดินล้านนา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของญาติทางฝ่ายแม่ ระหว่างไปเรียนที่อังกฤษ ในปี 2443 ต้องกลับเมืองสยาม และพำนักอยู่นาน 8 เดือนด้วยเหตุที่พระมารดาล้มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระญาติฝ่ายมารดาในเวลาต่อมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยกล่าวว่า“…ชายดิลก เป็นคนตาสั้นข้างหนึ่ง ตามตํารา เขาก็จะไม่เอาเป็นทหารกันอยู่ ควรจะจัดให้เล่าเรียนฝ่ายพลเรือน ดิลกนั้นเป็นคนขยันในการเล่าเรียน มีไอเดียเป็นลาวๆ อยู่บ้าง ถ้าไม่มีความรู้อาจจะฟุ้งซ่านได้เล็กน้อย แต่เป็นคนไม่สู้กล้า ยังจะเอาเป็นแน่ไม่ได้ ด้วยอยู่ในเวลากําลังที่จะเปลี่ยนแปลง นี่แลเป็นการที่สังเกตได้ในอัธยาศัยทั้งเก่าทั้งใหม่ดังนี้ แต่ต้องสังเกตเมื่อเวลาเจริญขึ้นต่อไป เมื่อตรวจเห็นผิดถูกประการใด ขอให้บอกมาให้ทราบ แลคอยสังเกตตาไว้ จัดการป้องกันแลแก้ไขเข้าหา ให้ทางที่จะเสียหย่อน ไป ให้สิ่งที่หย่อนอยู่เจริญขึ้น” ตรงที่ทรงกล่าวว่า “มีไอเดียเป็นลาวๆ” เนื่องจากพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวที่มีเจ้าจอมมารดาเป็นชาวเหนือ ซึ่งในสมัยนั้นยังถือว่าเป็น “ลาว” ตามความคิดของรัฐไทยส่วนกลาง

เมื่อกลับอังกฤษ ปรากฏว่า เรียนตามพื่อนไม่ทัน จึงย้ายไปเริ่มต้นใหม่ที่เยอรมัน เรียนรู้ภาษาเยอรมันได้อย่างแตกฉานและสําเร็จชั้นมัธยม ในช่วง 2 ปีเท่านั้น ทรงคุ้นเคยและมักปรึกษากับพระสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ถึงขนาด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า พระสุริยานุวัตรเชื่อในชายดิลกเกินไป!

พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ เป็นคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ทรงจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทึบบิงเงน (University of Tubingen) และทรงทำพระวิทยานิพนธ์เป็นภาษาเยอรมันเรื่อง “เกษตรกรรมในสยาม: บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ” (ไพรวัลย์ โลโท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แปลเป็นภาษาไทย เมื่อต้นปีที่แล้ว และตีพิมพ์เป็นครั้งแรก)

มีเกร็ดประวัติหนึ่ง กล่าวว่า ในปี 2453 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะที่พระองค์ขับรถกลับวังพายัพ ปรากฏว่า มีรถรางคันหนึ่งไปชนรถที่พระองค์ทรงขับจนตกคลอง แทนที่พระองค์จะตั้งศาลชำระคดี กลับไปแจ้งความที่โรงพักให้ตำรวจตัดสินคดี อันผิดวิสัยของข้าราชการส่วนใหญ่ในสมัยนั้น

พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐเสกสมรสกับเจ้าศิริมา ณ เชียงใหม่ แม้ทั้งคู่จะรักกันมาก แต่ก็เพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น หลัง ร. 5 สวรรคตเพียงปีเดียว เจ้าศิริมาก็มาเสียชีวิตอีก เรื่องเล่าว่า เจ้าหญิงศิริมา พระชายา เสด็จไปที่พระราชวังสวนดุสิต โดยมีนางข้าหลวงชาวเหนือตามไปด้วย ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น นางข้าหลวงที่ว่ายน้ำไม่เป็นตกน้ำลงไปที่อ่างหยก เจ้าศิริมาลงไปช่วย แต่ไม่สำเร็จ จมน้ำทั้งคู่ ตกเย็น... พระองค์เจ้าดิลกฯ มารับพระชายากลับวังพายัพ (ริมถนนนครไชยศรี ฝั่งท่าพายัพ ใกล้แม่น้ำเจ้าระยา) แต่ไม่พบ ค้นกันอยู่นานจึงพบร่างของเจ้าสิริมาและนางข้าหลวงเสียชีวิตที่อ่างหยก!

ต่อมา ทรงล้มประชวร และได้ตัดสินพระทัยปลงพระชนม์เองด้วยพระแสงปืน สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2455 หลังทรงกรมได้เพียง 2 เดือน สิริพระชนมายุ 28 พรรษา

หนังสือ “เลาะวัง” ซึ่งเขียนโดย จุลลดา ภักดิภูมินทร์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์) ว่า "...ไม่ปรากฏว่าทรงมีหม่อมห้ามและโอรส ธิดา จึงไม่มีทายาทสืบสกุล" และ "ว่ากันว่า ทรงขัดข้องพระทัยเรื่องราชการงานเมือง เมื่อไม่ได้ดังที่ตั้งพระทัยดีเอาไว้ ก็ทรงน้อยพระทัย หุนหัน ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับรักๆใคร่ๆส่วนพระองค์แต่อย่างใด"....
เรื่องราวของพระองค์โดยสรุปแบบย่อๆก็จบลงเท่านี้ !

“DILOK VON SIAM 2023” คือ มิวสิคัลที่เกี่ยวข้องกับพระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ มองชีวิตประวัติศาสตร์ด้วยข้อมูลอันจำกัด ... หากแต่เวอร์ชั่นของ 2023 แตกต่างไปจากปี 2019 มีการปรับและเติมเนื้อหา ตลอดจนรูปแบบการนำเสนอที่เป็นอิสระจากกรอบเดิมๆ

ละครเรื่องนี้ กล่าวถึง ชีวิตหลังความตายชายดิลก ที่จบชีวิตลงด้วยสาเหตุไม่แน่ชัด ! ฝ่าย “เทวทูต” ทำการเชิญบุคคลที่พระองค์รู้จักมารวมตัวกันเพื่อเล่าเรื่องราวของชีวิต ค้นหาความจริง เป็นประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า....

บุคคลที่ชายดิลกรู้จักและไว้เนื้อเชื่อใจที่สุดคือ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และ พระสุริยานุวัตร

“พระราชชายา เจ้าดารารัศมี” เจ้าหญิงจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทในการรวมล้านนากับสยาม โดยการถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา ระหว่างที่ประทับ ณ ตำหนักในพระราชวัง โปรดการแต่งกายนุ่งผ้าซิ่นพื้นเมือง สวมใส่เสื้อกระบอก ห่มสไบเฉียง ไว้ผมยาวเกล้ามวยแบบพื้นเมือง ไม่โปรดการนุ่งโจงกระเบน ไว้ผมทรงดอกกระทุ่มดังชาววังทั้งหลาย หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตได้กลับไปพำนักที่เชียงใหม่จวบสิ้นอายุขัย

“พระสุริยานุวัตร” (เกิด บุนนาค) ผู้ถวายการดูแลพระโอรสในรัชกาลที่ 5 ระหว่างศึกษาในยุโรป เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของเมืองไทย และเป็นสามัญชนคนแรก หัวก้าวหน้า ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ลงนามในธนบัตร มีผลงานด้านการเปลี่ยนแปลงระบบเงินตรา ใช้สตางค์แทนอัฐ, เสนอแนวคิดให้ตั้งธนาคารชาติ และปฏิรูประบบภาษีโดยให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง นอกจากนั้น ยังประพันธ์ตำรา “ทรัพยศาสตร์” ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย ภายหลังได้รับการยกย่องให้เป็น “หนึ่งใน 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน” ประเภทสารคดี หมวด การเมือง, ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย , เศรษฐศาสตร์ หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2454 แต่ถูกรัฐบาลขอไม่ให้เผยแพร่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์ตำหนิหนังสือและผู้เขียน ในนามปากกา “อัศวพาหุ” ว่า "ตั้งใจยุแหย่ให้คนไทยเกิดฤศยาแก่กันและแตกความสามัคคีกันเท่านั้น" ซึ่งต่อมาเมื่อวิชาเศรษฐศาสตร์ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย จึงได้ตีพิมพ์เผยแพร่และจำหน่าย เช่น สำนักพิมพ์พิฆเนศ ในปี 2518 และปีที่แล้ว สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ได้จัดพิมพ์ โดยแบ่งเป็น 3 เล่มคือ ทรัพย์ศาสตร์เล่ม 1-2 และเล่ม 3 ชื่อ เศรษฐกิจ-การเมือง หรือเศรษฐวิทยา

“DILOK VON SIAM 2023” ทุกเรื่องราว ทุกตัวละครล้วนติดดิน สัมผัสได้ ไม่ได้เชิดชูให้เหนือจริง เป็นโลกวิสัยในคนในยุคปัจจุบันโดยแท้
......

“เมี่ยงคำ” ปานมาศ ทองปาน ผู้กำกับการแสดง เล่าที่มาของละครเรื่องนี้ให้ฟังว่า “ ก่อนจะเป็นงานธีสิสมันเคยเป็นงานวิชาอื่นมาก่อน เราต้องไปศึกษาวัฒนธรรม เราได้สิ่งต่างๆเกี่ยวกับเชียงใหม่มา แล้วเราก็ไปเจอเรื่องของคนๆหนึ่งที่เรารู้สึกสนใจว่า เราไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย แต่เค้าเป็นคนสำคัญนะ คือ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ลูกของ ร. 5 กับเจ้าจอมมารดาที่เป็นชาวเชียงใหม่ ชาวล้านนา เราสนใจเลยเอามาพัฒนาต่อ เขียนบทธีสิสทั้งเรื่อง แต่เราอยากส่งกำกับฯ ก็เลยต้องเขียนบทให้เสร็จก่อน เอาไปทำทั้งหมดเลย”

“ซึ่งมันเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับเรา มันไม่ได้เริ่มจากการที่ชั้นจะต้องทำเรื่องดิลกในปี 2023 แต่เรารู้สึกว่ามันผูกพันกับเรื่องดิลกมากกกว่าเรื่องอื่นๆ มันมีวัตถุดิบเดิมที่เราเอามามองใหม่ว่า เราจะสามารถทำอะไรใหม่ได้บ้าง มันอาจจะไม่ได้เริ่มจากเรื่องของดิลกนพรัฐโดยตรงเหมือนปี 2019 มันเริ่มจากการสร้างอะไรใหม่ในช่วงเวลานี้ มันเหมาะที่จะเอามาใช้ ... มันต่างกันมาก หนึ่ง มันเริ่มจากการที่เราอยากจะทำละครเรื่องนี้อีกรอบนึงใช่มั้ย เรากลับไปอ่านบท กลับไปดูคลิป เราในเวลานี้จะไม่เลือกทำแบบในเวลานั้นแล้ว พอเราโตขึ้น มันก็เหมือนเรามีช้อยส์อย่างอื่นที่อยากจะเล่า มีวิธีการอื่นๆที่เราสนใจมากขึ้น โอเค. งั้นเราจะแก้มันอย่างไร ก็พยายามค้นหาวิธีเล่าแบบใหม่ๆ กลับไปคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา คุยกับเพื่อน คุยกับคนที่เคยดูกับคนที่ไม่เคยดู ว่าเค้าสนใจอะไร”

“DILOK VON SIAM 2023” ถูกตีความใหม่ ไม่ใช่ละครอิงประวัติศาสตร์ ที่มีสูตรสำเร็จตั้งแต่เสื้อผ้า หน้า ผม ศัพท์แสง ลำดับชั้นที่แสนจะน่าเบื่อหน่าย และเข้าใจยาก ! พวกจารีตอาจจะร้องว่า ใส่เสื้อผ้าแบบนี้ได้อย่างไร ! ผิดยุค ผิดสมัย... ความพยายามฉีกขนบแบบเดิมๆ เอาวิถีชีวิตชาวบ้านมาพูดถึงชนชั้นปกครองทางประวัติศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ของโลกละครพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ไม่มีกรอบ และไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเวลา สถานที่ และนักแสดง

เรื่องราวของดิลกนพรัฐ ที่จัดแสดงที่ PoA White Box, Yellow Lane (อารีย์ ซอย 1) เป็นละครฉากเดียว มีนักแสดงเพียง 6 คนเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วย ปาณิศรา ขจีเศรษฐ์ (เทวทูต) , ณนัท ฤทธินาคา (ดิลก), ภคมน ดาระปรารมภ์ (ดารา), ตะวัน หิรัณยพงศ์ (สุริยานุวัตร), ธันยธร จันเสถียร (นักแสดง), เพลงขวัญ ปานเอี่ยม (นักแสดง)

ปาณิศรา ขจีเศรษฐ์ ผู้รับบท “เทวทูต” เห็นความต่างของ 2 เวอร์ชั่นว่า “เห็นกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปกับความคิด เหมือนคนที่ความคิดเห็นของเขาโดนกลบเสียง ซึ่งจริงๆเค้าอาจจะสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่ก็ได้”

ตะวัน หิรัญพงศ์ ในบท “สุริยานุวัตร” บอกว่า “ส่วนที่เราสนใจอยู่ที่ตัวละครของสุริยานุวัตรกับตัวดิลก ซึ่งทั้งคู่มีความคิดแบบหัวก้าวหน้ามาก แต่พอเราย้อนกลับมาดู เอ... มันเหมือนยังอยู่ที่เดิมกับเหตุการณ์ของประเทศไทย”

ณนัท ฤทธินาคา ผู้รับบท “ดิลก” และควบคุมการผลิตบอกว่า “เป็นการกลับมาเล่นละครในรอบ 4 ปี ตั้งแต่จบธีสิสไป 2019 ใช่มั้ย ก็ยังคุยกับเพื่อนตลอดว่าอยากเอาเรื่องนี้กลับมาทำในโอกาสที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งกว่าจะเหมาะสมก็ใช้เวลาถึง 4 ปี การกลับมาทำงานกับเรื่องนี้ รู้สึกตื่นเต้น ... บทแตกต่างไปจากเดิมน่าจะเกินครึ่ง เลยรู้สึกว่าน่าสนุก”

ละครเรื่องนี้ เนื้อเรื่องไม่ได้ราบเรียบเป็นเส้นแนวนอนเหมือนเราอ่านชีวประวัติจากการสืบค้น หากแต่มีการนำเอาตัวละคร “สมมติ” เข้ามา พูดและมองเรื่องราวชีวิตของพระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ เหมือนเส้นกราฟ มีขึ้น มีลง ไม่ได้สวยงามอย่างเทพนิยาย หากแต่มี “ปมชีวิต” เข้ามาเกี่ยวข้อง มรสุมชีวิต บอกเล่าถึง ความสุข-ทุกข์-อ้างว้าง-เปลี่ยว-เหงา และอื่นๆที่วงจรชีวิตมนุษย์ทุกผู้พึงมี โดยเฉพาะความต้องการ “การยอมรับ”! จากคนรอบข้างและสังคม

12 เพลงของมิวสิคัลเรื่องนี้ ประกอบด้วย Prologue สวัสดี-ลาก่อน , อยู่ตรงนั้น, ศรีเมืองเชียงใหม่, นักเรียนนอก, จดหมายสยามมินทร์, โปรตุเกส, วิทยานิพนธ์,ดร.ดิลก,รถไฟครึ่งทาง, สิ้น ร.๕ , สิริมา, สิ้นพระชนม์

ตัวละคร “ดารา” ผ่านเรื่องราว-เสียงเพลง บอกความในใจกับดิลกว่า
“ประดับยศ เรียกชายา แม้ศักดิ์ศรีเป็นเพียงเชลย”! และ / หรือ “ที่มีเหนือ เพราะมีกลาง หากไม่แบ่งเส้นทาง ก็มีเพียงแต่แผ่นดินที่ไม่รู้ว่าของใคร ถ้าฉันอยู่ที่บ้าน นั่นคือศูนย์กลางจิตใจ ไม่มีเหนือ ไม่มีใต้ มีแต่เชียงใหม่ล้านนา”
เพลง “รถไฟครึ่งทาง” ... หลังสิ้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าดารารัศมีขอกลับไปพำนักที่ล้านนา ชายดิลกมาส่งเพียงครึ่งทางเท่านั้น ไม่ได้ตามกลับแดนมาตุภูมิ แต่บางบันทึกว่า ได้ทรงตามเสด็จมาเยือนเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของชีวิต!

ภายใต้เสียงหัวเราะ - รอยยิ้ม ของผู้ชม ! ถ้ามองลึกลงไปในเนื้อหา จะเห็นว่า ชีวิตเป็นเรื่องน่าเศร้า! ไม่ว่าจะชนชั้นไหนก็ตาม !

สัปดาห์นี้ เหลือเพียง 3 รอบสุดท้าย !

รอบพิเศษจะมีในวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม “DILOK VON SIAM 2023- BACKSTAGE EXPLORATION เวลา 19.00 น. หลังจบการแสดง พบกับการ TALK TALK สุดพิเศษ กับผู้กำกับ นักแสดง ทีมงาน และนักแสดงจาก Cast 2019 ที่จะมาพูดคุย เปิดเบื้องหลังการทำละคอน และเม้าท์มอยกันแบบ Exclusive พร้อม After Party กรุบกริบ พอให้ม่วนใจ พิเศษสุด ๆ สำหรับผู้ชมในรอบนี้ Free 1 Drink ทุกที่นั่ง ให้ได้คุยไป จิบไป แบบจอย ๆ ฟีล ๆ
จองบัตรได้ที่ https://www.ticketmelon.com/antithesis/dilokvonsiam2023 หรือ Walk in มาซื้อที่หน้าโรงละคอนได้เช่นกัน

หมายเหตุ ผู้ชมที่จองบัตรรอบ 13 และ 14 พ.ค. ที่มีความประสงค์จะย้ายมาเป็น รอบ 12 พ.ค. สามารถติดต่อขอย้ายรอบได้ที่
LINE @antithesis (มีแอด)
ติดตามความเคลื่อนไหวของละคอน ตลอดทั้งโปรแกรมการจัดแสดง ได้ที่ FB: Anti-Thesis และ IG : antithesis_theatre

“DILOK VON SIAM 2023”  +  เทวทูต - ดิลก

เทวทูต

สุริยานุวัตร

ดารา



ดิลก - แม่

ดิลก - สิริมา





DILOK VON SIAM 2009













พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี (พระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ)

พระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ และพระมารดา เจ้าจอมมารดาทิพเกสร

“เกษตรกรรมในสยาม วิทยานิพนธ์ แปลไทยเมื่อไม่นานนี้

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

“พระสุริยานุวัตร”  (เกิด บุนนาค)

ทรัพย์ศาสตร์ สำนักพิมพ์พิฆเนศ

ทรัพย์ศาสตร์ จัดพิมพ์โดย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น