xs
xsm
sm
md
lg

Scoop พิเศษ : 4 บทเรียนชีวิตบนวิถีแห่งการแก้แค้นจากซีรีส์ “The Glory” ทั้ง 2 Part

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บทสรุปของการแก้แค้นที่ทุกคนรอคอยในซีรีส์ The Glory เดินทางมาจนถึงตอนจบเป็นที่เรียบร้อย ทำให้หลายคนฟินกับรสชาติของการแก้แค้น ที่มุนอึนดงได้วางแผนให้สาสมกับเลเวลความเลวของแต่ละคน และส่งผลให้ The Glory สร้างตำนานใหม่ให้วงการ K-Series ครองแชมป์อันดับ 1 หมวดรายการทีวีภาษาต่างประเทศทั่วโลกของ Netflix ภายในเวลาเพียง 3 วัน ด้วยยอดสตรีมมิ่งสูงกว่า 126.46 ล้านชั่วโมงภายในวีคแรก
แต่เคยสงสัยไหม? ว่าทำไมเราจึงมีความสุขกับการได้เห็นคนได้ล้างแค้นสมใจ The Glory ให้บทเรียนเรื่องการแก้แค้นอะไรกับเราบ้าง งานนี้ขอเก็บแง่คิดจากซีรีส์ The Glory ทั้งสองซีซั่นมาฝากกัน

1.ความพยาบาทเป็นของหวานที่สมองของเราโปรดปราน

ดังที่มธุสรเวอร์ชั่น ‘หมิว’ ลลิตา ปัญโญภาส เปรียบเปรยไว้ว่า “ความพยาบาทเป็นของหวาน” บ่งบอกถึง แม้การแก้แค้นจะอาศัยระยะเวลาในการวางแผนเตรียมการนายหลายปี แต่มันคุ้มค่าแก่การเฝ้ารอชมผลลัพธ์ที่แสนหอมหวาน เช่นเดียวกับของหวานที่ต้องเก็บไว้กินเป็นเมนูสุดท้ายไงล่ะ
 
ทำไมหนังหรือซีรีส์แนวล้างแค้นจึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก เราสะใจที่ได้เห็นจอห์น วิค ตามไล่ฆ่ามาเฟียและสู้กับเหล่านักฆ่าทั่วโลก เพื่อล้างแค้นให้กับหมาตัวโปรดของเขา เราลุ้นเอาใจช่วยมธุสรให้ตามเก็บเหล่าทรชนที่ข่มขืนเธอกับลูกสาว เรารู้สึกสะใจเมื่อเห็น “มุนอึนดง” วางแผนแก้แค้นเพื่อนร่วมรุ่นที่ทั้งบูลลี่และรังแกจนเธอเป็นแผลทั้งกายและใจ ว่าแต่ความสุขของการรับชมซีรีส์หรือหนังแนวนี้ สะท้อนอะไรภายในจิตใจของคนเราบ้าง...?

ในบทความ The Psychology of Revenge เมื่อปี 2018 กล่าวถึงการทดลองทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานของสมองควบคู่กับการสแกนสมองด้วยเครื่อง MRI พบว่า กลไกทางสมองของคนเราจะมีส่วนของการให้รางวัล (Brain Reward Center) ที่จะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) หรือ “สารแห่งความสุข” ออกมาเมื่อเรารู้สึกพึงพอใจหรือมีความสุข ซึ่งสมองจะหลั่งโดปามีนออกมาหลังจากที่ผู้ชมได้เห็นการแก้แค้นในหนังหรือซีรีส์ แม้แต่การจินตนาการถึงการแก้แค้นใครสักคน มันก็ทำให้เรามีความสุขพอๆ กับการตกหลุมรักเลยล่ะ
 
Matthew Grizzard ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัย The Ohio State University อธิบายว่า “เรามักจะรู้สึกดีเมื่อเห็นคนทำผิดได้รับบทลงโทษที่สาสม แม้บางครั้งมันอาจจะรุนแรงเกินกว่าที่ผู้กระทำสมควรจะได้รับ แต่เราก็รู้สึกสนุกและรื่นรมย์ไปกับการรับชมการแก้แค้น ถึงอย่างนั้นในชีวิตจริงผู้คนกลับชื่นชมคนที่ให้อภัยผู้อื่นมากกว่าคนที่แก้แค้นศัตรู แม้ว่ามันจะดูแล้วไม่สะใจเท่ากับการดูคนล้างแค้นกันในหนังก็ตามที”

อย่างไรก็ดีนักจิตวิทยายังบอกด้วยว่า แม้สมองของคนเราจะหลงใหลรื่นรมย์ในการรับชมซีรีส์ดราม่าฆ่าล้างแค้น แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีใครอยากตกเป็นเหยื่อของการรังแก ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากจะมานั่งคิดหาวิธีล้างแค้นผู้อื่น นอกจากคุณจะมีความผิดปกติบางอย่างในสมองและจิตใจ

2. “แก้แค้น” หรือ “ให้อภัย” การตัดสินใจบนทางแยกสำคัญของชีวิต

แม้ผู้ชมจะรู้สึกสนุกและลุ้นให้มุนอึนดงตามล้างแค้นอย่างสาสมใน The Glory แต่ตลอดทั้งเรื่องเราแทบไม่เห็นมุนดงอึมยิ้มมีความสุข หรือระเบิดหัวเราะสะใจหลังการแก้แค้นเลยสักครั้ง แล้วหลังจากการแก้แค้นสิ้นสุดลง เธอกลับรู้สึกชีวิตว่างเปล่าทันที มันสะท้อนให้เห็นว่า การแก้แค้นอาจไม่ได้หอมหวานหรือกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดปามีนเสมอไป ตรงกันข้ามชีวิตของเธอกลับไม่มีความสุขเลยด้วยซ้ำ เพราะตลอด 18 ปีมุนอึนดงต้องใช้ชีวิตอยู่กับการวางแผนแก้แค้นด้วยวิธีที่ซับซ้อน เหมือนเธอต้องวนเวียนอยู่กับภาพหลอนในอดีตซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในบทความ Forgive or Revenge โดยคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า การแก้แค้นเป็นช่องทางหนึ่งของการเรียกร้องความยุติธรรม เป็นการสั่งสอนคนที่คอยเอารัดเอาเปรียบหรือกดขี่ข่มเหงผู้อื่นให้เกิดความตระหนักรู้ตัว และแก้ไขพฤติกรรมทางลบของตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านจริยธรรมและคุณธรรม

ในซีรีส์คุณจะได้เห็นมุนอึนดงพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองรวมถึงเหยื่อคนอื่นๆ และสั่งสอนให้พวกนั้นเกิดความตระหนักรู้ด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า คนบางพวกไม่เคยเปลี่ยนแปลงและไม่เคยได้รับบทเรียนใดๆ ในชีวิต อีกทั้งก่อนล้างแค้นมุนอึนดงยังให้โอกาสในการกลับตัวกลับใจ ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากจะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สำนึกผิด แล้วยังสะท้อนให้เห็นการเอาตัวรอดในแบบของแต่ละคน ทั้งหมดจึงต้องชดใช้กรรมที่สมควรแก่การกระทำของตัวเอง

แท้จริงแล้วการแก้แค้นเป็นขั้วตรงกันข้ามของ “การให้อภัย” และเป็นหนทางที่ยากกว่าสำหรับเรา แม้จะไม่ลุกขึ้นมาวางแผนล้างแค้นแบบมุนอึนดง ไม่เกรี้ยวกราดแบบจอห์น วิค ไม่อำมหิตแบบมธุสร แต่บาดแผลของการถูกรังแกจะไม่มีวันลบเลือนไปจากใจ นอกจากคุณจะให้อภัยผู้ที่ทำร้ายเราได้อย่างแท้จริง เพราะการให้อภัยสะท้อนถึงบุคลิกภาพแบบเปิดกว้าง (Openness) ความเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ความนับถือตนเอง (High Self-esteem) และความเข้มแข็งของจิตใจ เพราะอย่างไรเสียการแก้แค้นก็มีราคาที่ต้องจ่าย หากคุณเลือกที่จะใช้มัน!

เหมือนเช่นที่มุนอึนดงเลือกหนทางของการแก้แค้น หลังลาออกจากโรงเรียน เธอพยายามฆ่าตัวตายอยู่หลายครั้ง ก่อนจะพลิกสถานการณ์สู่การเป็นนักสู้และ “ผู้ล่า” เธอใช้วิธีปั่นหัวและเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะกับนิสัยด้านลบของศัตรูแต่ละราย เริ่มจากซนมยองโอ (รับบทโดย คิมกอนอู) ที่โลภมากและเก็บกดจากการรับบทสุนัขรับใช้ เธอหลอกใช้ชเวฮเยจอง (รับบทโดย ชาจูยอง) แอร์โฮสเตสจอมทะเยอทะยานและฝันหวานถึงชีวิตระดับเฟิร์สคลาส เธอปล่อยให้ศัตรูทำลายชื่อเสียงและอนาคตกันเองจนอีซาร่า (รับบทโดย คิมฮีออรา) ต้องกลายเป็นศิลปินเมายาอนาคตดับ และสุดท้ายเธอก็ทำลายชีวิตของพัคยอนจินจนแหลกสลายไม่เหลือชิ้นดี

3. ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง “คนชอบรังแก” และ “คนอ่อนแอ”

The Glory ว่าด้วยเรื่องราวการแก้แค้นของมุนอึนดง (รับบทโดย ซงฮเยคโย) ครูสาวที่เติบโตมากับการบูลลี่และการกลั่นแกล้งอย่างรุนแรงในโรงเรียน ตั้งแต่การใช้คำพูดดูถูกจนถึงวิธีการโหดร้ายทั้งเอาที่หนีบผมร้อนๆ นาบไปที่แขนและขา ล่วงละเมิดทางเพศ แถมเธอยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากครูประจำชั้นจนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุเพราะพวกที่รังแกเธอเป็นลูกคนรวยผู้มีอิทธิพล ส่วนเธอเป็นเพียงเด็กยากจนที่มีแม่ใจดำคอยซ้ำเติมอีกที ทำให้เธอมีปมชีวิตทั้งจากที่บ้านและโรงเรียน และกลายเป็นคนที่เติบโตมาโดยไม่เคยได้สัมผัสกับ “ความรัก”

จากผลสำรวจของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Pisa) เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในหัวข้อ “What School Life Means for Students’ Lives” แบ่งหมวดหมู่ของการกลั่นแกล้งในกลุ่มนักเรียนออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การกลั่นแกล้งทางร่างกาย การกลั่นแกล้งทางวาจา การกลั่นแกล้งทางสังคม และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) โดยเหยื่อของการกลั่นแกล้งมักจะเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และส่วนใหญ่มีฐานะยากจน หรือมีปัญหาครอบครัว

การกลั่นแกล้งส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ ในมุมของ “ผู้ถูกกระทำ” ส่งผลกระทบให้ขาดสมาธิในการเรียนจนถึงขั้นไม่อยากไปโรงเรียนอีกเลย ส่วน “ผู้กระทำ” หรือคนที่ชอบรังแกผู้อื่น หากไม่ได้รับการอบรมหรือตำหนิตีเตียนจะส่งผลให้มีแนวโน้มเติบโตเป็นผู้ใหญ่นิสัยเสีย เช่นที่เพื่อนๆ ของพัคยองจินใน The Glory ที่ต่อให้โตเป็นผู้ใหญ่ก็กลายเป็นพวกทำตามอำเภอใจ มั่วเซ็กซ์ เมายา แสวงหาความร่ำรวยและชื่อเสียงโดยไม่สนวิธี รวมไปถึงการกระทำที่ร้ายแรงของพัคยอนจินถึงขั้นฆ่าคนตายโดยไม่รู้สึกผิด

ในทางจิตวิทยาพบว่า คนที่ชอบรังแกคนอื่นมักเกิดจากปมวัยเด็กในครอบครัว เช่น การไม่ได้รับความรัก ไม่มีเวลาเลี้ยงดูเอาใจใส่ ทำให้คนๆ นั้นหันมากลั่นแกล้งคนอื่นเพื่อเรียกร้องความสนใจในทางที่ผิด อีกทั้งสมองของพวกเขายังเชื่อมโยงกับกลไกการให้รางวัลตัวเอง หลังจากแกล้งคนอื่นแล้วจะรู้สึกมีความสุขเหมือนได้กินขนม รวมถึงคนขี้อิจฉา ความนับถือตนเองต่ำ (แม้จะแสดงออกเหมือนมั่นหน้ามั่นโหนก) คนที่เคยถูกรังแกมาก่อน คนที่คิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่นจนไม่เกรงกลัวใคร กระทั่งรับไม่ได้ที่เห็นคนอื่นแตกต่างจากตัวเอง

นอกจากนี้นักจิตวิทยายังค้นพบความเชื่อมโยงที่น่าสนใจของ “เหยื่อ” และ “คนรังแก” ที่แท้จริงแล้วต่างก็มีความนับถือตัวเองต่ำ (Low Self-Esteem) และโหยหาความรักความอบอุ่นจากครอบครัว จะแตกต่างกันที่การแสดงออก โดยมนุษย์เหยื่อมักจะไม่กล้าแสดงออก หงอๆ ห่อเหี่ยว ไม่สู้คน ไม่กล้าสบตา ไม่มั่นใจในตัวเอง หากพวกเขาไม่ลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองด้วยการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพให้ดูสง่าผ่าเผย กล้าหาญ และมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เด็กๆ ก็จะกลายเป็นเหยื่อของการรังแกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

4. ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องของผัวเมียที่คนนอกห้ามยุ่ง

นอกจากการกลั่นแกล้งในโรงเรียนจะเป็นประเด็นหลักที่นักเขียนมากฝีมืออย่าง “คิมอึนซุก” หยิบยกมาถ่ายทอดลงในซีรีส์ The Glory ความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สะท้อนแนวคิด “ชายเป็นใหญ่” ในสังคมของเกาหลีใต้เช่นกัน

สถิติของศูนย์ปฏิบัติกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเมื่อปี พ.ศ. 2564 ระบุว่า 81% ของผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว อันเกิดจากหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายรู้สึกถึงความมีอำนาจ และมีสิทธิ์ที่จะลงไม้ลงมือกับผู้หญิงได้อย่างไม่รู้สึกผิด เช่น การติดยาเสพติด ติดสุรา ความหึงหวง ความเครียด หรือต้องการรู้สึกมีอำนาจสูงสุดในครอบครัว

ส่วนในเรื่อง The Glory เราจะเห็นสามีของคุณป้าแม่บ้านที่ทั้งขี้เมา ติดการพนัน และรู้สึกอยากมีอำนาจเหนือภรรยา เขาจึงลงมือกระหน่ำทุบตีภรรยาและลูกจนกลายเป็นชนวนแห่งความแค้น และทำให้คุณป้าตัดสินใจเลือกหนทางแห่ง “ความตาย” เป็นการหลุดพ้นจากบ่วงกรรม ที่เธอและลูกสาวต่างต้องอดทนมาตลอดหลายปี

แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของ “ผัวเมีย” มุนอึนดงกลับตัดสินใจยื่นมือเข้าไปช่วยในฐานะ “คนนอก” ที่วางแผนฆาตกรรมให้คุณป้าแม่บ้านหลุดพ้นจากสามี แม้มันอาจจะเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง แต่เพราะผู้หญิงหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว มักจะกลัวการหลบหนีจึงต้องอดทนกับการเป็นกระสอบทรายให้สามีขี้โมโห เพราะกลัวว่าการหนีจะยิ่งทำให้เขาโกรธแค้นและตามฆ่ายกครัวก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี การที่คุณป้าแม่บ้าน (รับบทโดย คังฮยอนนัม) เลือกที่จะล้างแค้นสามีก็ทำให้ภารกิจของมุนอึนดงประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม เพราะหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคุณป้า ผู้พร้อมจะแปลงร่างเป็นนักสืบและยืนหนึ่งเคียงข้างร่วมล้างแค้นไปกับมุนดงอึน การล้างแค้นของเธอก็อาจเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น รวมถึงคุณหมอจูยอจอง (รับบทโดย อีโดยอน) ที่ทำให้เธอรู้จักความรักที่แท้จริง เขาสอนให้เธอเรียนรู้กลยุทธ์การเล่นหมากล้อม ที่เธอนำมาปรับใช้กับการวางแผนล้างแค้นจนผู้ชมทั่วโลกติดกันงอมแงม

แต่ในชีวิตจริงนักจิตวิทยาแนะนำว่า กรณีที่คนใกล้ตัวตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว ไม่ควรรอให้เหยื่อสะบักสะบอมเหมือนคุณป้าแม่บ้านเป็นอันขาด แต่ควรเปิดใจรับฟังโดยไม่ตัดสินหรือซ้ำเติมว่าเป็นความผิดของเหยื่อ และหาวิธีขอความช่วยเหลือเพื่อให้เหยื่อหลุดพ้นจากการทำร้ายร่างกาย รวมถึงสนับสนุนให้แจ้งความดีกว่าทนอยู่จนกลายเป็นความแค้นขั้นสุด และอาจพลั้งเผลอกลายเป็นผู้ลงมือฆาตกรรม หรือโชคร้ายก็อาจเสียชีวิต

เอาล่ะ! สำรวจบทเรียนชีวิตที่ได้จาก The Glory กันแล้ว สามารถตามไปรับชมทั้ง 2 Part ได้แล้วทาง Netflix



ร้อยเรียงเรื่องราว : Rassarin
อ้างอิงเรื่องและภาพ :
https://www.scienceofpeople.com/the-psychology-of-revenge/
https://theswaddle.com/revenge-or-forgiveness/#:~:text=Revenge%20is%20known%20to%20have,published%20in%20Communication%20Research%20journal.
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/forgiving-unforgiving-revenge
https://www.oecd-ilibrary.org/education/pisa-2018-results-volume-iii_acd78851-en
https://www.thevibes.com/articles/culture/87965/netflixs-the-glory-pt-2-ranks-no-1-in-global-top-10
https://netflixlife.com/2023/03/14/the-glory-just-became-one-of-netflix-most-viewed-shows-of-all-time/
https://mydramalist.com/

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์




































กำลังโหลดความคิดเห็น